ภาพเก่าเล่าตำนาน : ลาวร้อยเขื่อน โดย พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

ลาวร้อยเขื่อน…เป็นเรื่องจริงของเพื่อนบ้านที่ต้องยกมาชื่นชมโสมนัส เป็นความเก่งกาจที่กำหนดยุทธศาสตร์ชาติได้อย่าง “ชาญฉลาด-ทำได้จริง” ดินแดนเหนือจรดใต้ของลาวเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกทะเลที่เรียกว่า Landlocked Country

สงครามกลางเมืองลาว (พ.ศ.2496-2518) ที่ยาวนานราว 22 ปีเศษ ประชาชนลาวบอบช้ำบาดเจ็บล้มตายเสียหายย่อยยับ มหาอำนาจเข้าไปประลองกำลังทำสงครามกัน มีคนตายหลายหมื่น…พื้นที่ในแผ่นดินลาวยังระเกะระกะ ดาษดื่นไปด้วยระเบิดยักษ์ที่ทิ้งจากเครื่องบิน

บางพื้นที่ เป็นหลุม เป็นบ่อน้ำขนาดใหญ่จากฤทธิ์ระเบิด

งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา เมื่อสงครามจบลง ลาวมีโอกาสฟื้นฟูบูรณะประเทศ ลาวตั้งเป้าจะขอเป็น “หม้อไฟแห่งเอเชีย”

Advertisement

ความสำเร็จทุกอย่างในวันนี้ มีจุดเริ่มต้นจากวันวาน….

ปี พ.ศ.2514 เขื่อน “น้ำงึม” อันมหึมา เป็นเขื่อนแห่งแรกที่สร้างเสร็จโดยความช่วยเหลือจากรัฐบาลญี่ปุ่น ทำให้เกิดแหล่งน้ำขนาด 370 ตร.กม. สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าใช้ในประเทศลาวได้เป็นครั้งแรก ส่วนพลังงานไฟฟ้าที่เหลือจำหน่ายให้กับประเทศไทย

มโหฬารงานสร้าง เขื่อนน้ำงึมสูง 70 เมตร ยาว 468 เมตร กลายเป็นแหล่งทำประมงขนาดใหญ่ น้ำท่าอุดมสมบูรณ์ มีประกายแห่งความหวัง ประชาชนลาวเริ่มมีไฟฟ้าใช้ มีไฟขายให้ไทย เขื่อนน้ำงึมกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม เกิดธุรกิจการค้า เงินทองไหลมาเทมา ประชาชนมีน้ำทำการเกษตร

Advertisement

สปป.ลาว ได้ที่ปรึกษาเก่งขั้นเทพ เขียนยุทธศาสตร์ประเทศเพื่อความสมบูรณ์พูนสุขของประชาชน เมื่อมีภูเขาสูงทางตอนเหนือยาวเป็นแถบแบบสุดขอบฟ้า… ลาวมองเห็น “จุดแข็ง” ของตัวเอง จึงตั้งเข็มมุ่งไปยัง “การสร้างเขื่อนกั้นน้ำ” เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าใหญ่น้อย

ที่วางแผนไว้…ลาวจะมีเขื่อนได้ราว 100 เขื่อน

ที่ผ่านมา “ลาว” ลงทุนร่วมกับประเทศพี่เบิ้มมากหน้าหลายตา รวมทั้งไทย สร้างรายได้มหาศาลจากการขายไฟฟ้าจากพลังน้ำและพลังความร้อนใต้พิภพ

แถมดินแดนแคว้นลาว ยังล้นหลามเนืองนองไปด้วยแร่ทองแดง ทองคำ และถ่านหิน

“ลาว” มีชื่อเป็นทางการว่า สปป.ลาว หรือสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ภาษาอังกฤษ คือ Lao People’s Democratic Republic เพื่อนบ้าน หนึ่งมิตรชิดใกล้

ไทย-ลาว มีพรมแดนทั้งทางบกและทางน้ำติดต่อกับไทยยาวเหยียดประมาณ 1,800 กม.

ลาวเป็นดินแดนภูเขาสูงเสียดฟ้า แม่น้ำ ป่าไม้ ที่ยังเขียวอุดม แร่ธาตุ มีฝนตกชุกที่ผลิตน้ำจืดได้อย่างเหลือเฟือ

ลาว เคยเผชิญกับสงครามกลางเมืองที่รบกันเองและรับผลกระทบรุนแรงจากสงครามเวียดนามรวมแล้วกว่า 22 ปี บ้านเมืองและสังคมบุบสลาย ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะพัฒนาประเทศให้ฟื้นจากความยากจน

ลาว เคยเป็นประเทศที่ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด (Least Developed Countries) ตั้งแต่ปี พ.ศ.2514 ด้วยเหตุนี้ ลาว จึงวางเป้าหมายที่จะต้องหลุดพ้นจากการเป็นประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุดให้ได้ภายในปี พ.ศ.2563

ภูมิประเทศที่เป็นภูเขา เทือกเขา เกือบทั้งประเทศ คล้ายกับเวียดนาม ดินแดนแห่งเขาสูงแห่งนี้ เป็นพื้นที่หลักที่เติมน้ำให้แก่แม่น้ำโขง ซึ่งต้นน้ำของแม่น้ำโขงเกือบครึ่งหนึ่งอยู่ในจีน

ประชาชนของลาวราว 6 ล้านคนเศษ มากมายหลายเผ่าพันธุ์ เบาบางอยู่กระจัดกระจายตั้งถิ่นฐานบนพื้นที่สูง ป่าไม้ถูกอนุรักษ์ไว้อย่างเข้มแข็งให้ลูกหลานได้ชื่นชม

มีคำกล่าวว่า…“ลาวน่าจะเป็นสวิตเซอร์แลนด์ของอาเซียน” รัฐบาลลาววางแผนจะเป็นแหล่งผลิตพลังงานไฟฟ้า วางกรอบ วางแผนกับตัวเอง ที่จะต้องสร้างเขื่อนนับร้อยแห่ง

เขื่อน (ภาษาอังกฤษ : dam) เป็นสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่สำหรับกั้นทางน้ำ เพื่อใช้ในการเก็บกักน้ำและป้องกันอุทกภัยรวมถึงผลิตกระแสไฟฟ้า ส่วนบนของเขื่อนจะประกอบไปด้วยส่วนที่เรียกว่า “ทางน้ำล้น” สำหรับให้น้ำที่สูงกว่าระดับที่ต้องการไหลผ่านไปที่ฝั่งปลายน้ำ

แม่น้ำโขงที่ยาวราว 5 พัน กม. ไหลผ่านหล่อเลี้ยงผู้คนใน 6 ประเทศรวมทั้งลาว

หลายปีที่ผ่านมา…พี่จีนที่ร่ำรวย เริ่มสร้างเขื่อน ในลำน้ำโขง “ในเขตดินแดนของตัวเอง” ไปแล้ว 7 เขื่อน ชีวิตของผู้คนทั้งหลายที่อยู่นอกแผ่นดินจีน บริเวณกลางน้ำ ปลายน้ำ เริ่มใจวาบหวิวเพราะคนคุมก๊อกน้ำ ปล่อยมาก-น้อยอยู่ในเมืองจีน

ระดับน้ำในแม่น้ำโขง ขึ้นกับการบริหารจัดการการปล่อยน้ำของจีน ถ้าจะเรียกว่า “เป็นความกรุณา” ของจีนก็ไม่น่าจะผิดอะไร

ปริมาณน้ำโขงจะมาก จะน้อย ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของจีน มีผลกระทบไปทั่วหล้า รวมถึงประเทศไทย

ลองกลับมาชำเลืองดู กายภาพของ ลาว ดินแดนแห่งเขาสูงร้อยเขื่อน

พื้นที่ 70% ของประเทศลาว เป็นเทือกเขาและที่ราบสูงส่วนใหญ่อยู่ทางตอนเหนือของประเทศ ลาวมีพื้นราบบ้างในบริเวณตอนกลางและภาคใต้ของประเทศ

ส่วนที่สูงที่สุดของประเทศเรียกว่าภูเบี้ย (Phou Bia) สูง 2,820 เมตร (สูงกว่าดอยอินทนนท์ของไทย 700 ฟุต) ตั้งอยู่ที่เมืองไซสมบูรณ์ แขวงเวียงจันทน์ ลาว แบ่งพื้นที่การปกครองออกเป็น 16 แขวง และหนึ่งเขตกำแพงนคร คือกำแพงนครเวียงจันทน์

สิ่งที่ยากเย็นเข็ญใจแสนสาหัส คือ การสำรวจว่า ลาวมีประชากรอยู่ที่ไหน และมีเท่าไหร่กันแน่

การสำรวจเมื่อปี พ.ศ.2552 ประชากรลาวมีประมาณ 6.1 ล้านคน แบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ ลาวลุ่ม ลาวเทิง และลาวสูง

ผู้เขียนเคยมีโอกาสทำงานใกล้ชิดกับนายทหารผู้ใหญ่ และข้าราชการของลาวในด้านความมั่นคงเป็นระยะเวลายาวนาน ได้ยินได้ฟังว่า บางทีคนลาวเองก็ฟังกันเองไม่รู้เรื่องและมักจะหยอกล้อกันเสมอว่า “อย่าขายไฟฟ้าแพงนัก” ก็ถือว่าถูกอกถูกใจ

เทือกเขาสูงค่อนประเทศ ป่าเขียวขจี ลำน้ำหลายสิบสาย ฝนตกชุกชุ่มฉ่ำ ปัจจัยเหล่านี้ คือ พลานุภาพที่ทำให้ลาวกลายเป็นแหล่งผลิตกระแสไฟฟ้าขายไปยังประเทศเพื่อนบ้าน และลาวจะขอร่ำรวยแบบยั่งยืน

ที่ตั้งเขื่อนที่ผลิตกระแสไฟฟ้าขาย และกำลังก่อสร้าง ปรากฏตามภาพครับ….

ตามแผนงาน ในปี พ.ศ.2563 ประเทศลาวจะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังน้ำได้ถึง 20,000 เมกะวัตต์ จากเขื่อนที่สร้างกั้นลำน้ำสาขาต่างๆ นับจำนวนกว่า 100 แห่ง

ลาว จะเป็นผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนี้ ประเทศไทยเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่รับซื้อกระแสไฟฟ้าจากลาว

เมื่อสิ้นปีที่ 2560 ผ่านมา ลาวผลิตไฟฟ้าทั้งจากพลังน้ำและพลังความร้อน ก่อสร้างแล้วเสร็จ รวมทั้งหมด 42 โครงการ และกำลังจะแล้วเสร็จอีก 9 โครงการ ซึ่งจะทำให้ลาวมีเขื่อนผลิตไฟฟ้า กับโรงไฟฟ้าถ่านหินรวมกันเป็นกว่า 90 แห่งในปี พ.ศ.2563

จนถึงปัจจุบันทั้ง 42 โครงการ มีกำลังผลิตรวมกันทั้งสิ้น 6,300 เมกะวัตต์ สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 35 พันล้านกิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี และจะเพิ่มขึ้นเป็นทั้งหมด 14,000 เมกะวัตต์ในอีก 3 ปีข้างหน้า ขณะที่การก่อสร้างเขื่อนอีกหลายแห่งกำลังดำเนินต่อไป

เรื่องกระจุกกระจิก อุบัติเหตุก็เกิดขึ้นบ้าง แต่ได้รับการแก้ไข

รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาวเพิ่งทำพิธีเปิดใช้ เขื่อนเซเสด-3 อย่างเป็นทางการวันที่ 6 ม.ค. 2559 ที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าจะเริ่มปั่นไฟเข้าสู่ระบบ มาตั้งแต่เดือนก.ค. 2558 เขื่อนขนาด 23 เมกะวัตต์แห่งนี้อยู่ในแขวงสาละวัน เป็นแห่งที่ 3 ที่สร้างกั้นลำน้ำสายเดียวกัน รวมมูลค่า 50.7 ล้านเหรียญ ถือหุ้นใหญ่โดยกลุ่มนอรินโก (NORINCO) จากจีน

ถึงแม้ว่าจะผลิตพลังงานได้มากมายก็ตาม ในปี 2560 ลาว ที่มีประชากรเพียง 6 ล้านคนเศษ อาจต้องการใช้ไฟฟ้าเพียง 1,579 เมกะวัตต์เท่านั้น และจะเพิ่มขึ้นเป็นเพียงประมาณ 2,862 เมกะวัตต์ในปี 2563

ไฟฟ้าส่วนที่เหลือจากการใช้ในประเทศทั้งหมด จะส่งขายให้แก่เพื่อนบ้าน เพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศ ไทยเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่สุด

ลาวขาย-ไทยซื้อ… ประชากรมากขึ้นก็ต้องการใช้ไฟฟ้ามากขึ้น ปัจจุบันเครื่องปรับอากาศ ราคาก็ไม่แพงนัก โลกร้อนขึ้นทุกหัวระแหง วัดเกือบทุกแห่ง ห้องน้ำ ห้องส้วมตามวัดใหญ่ๆ ยังขอติดแอร์ให้เย็นฉ่ำ ความต้องการไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นตลอดเวลา

การซื้อขายกระแสไฟฟ้าระหว่างไทย-ลาว เป็นความร่วมมือด้านพลังงานสองฝ่าย ที่ดำเนินต่อเนื่องมาเป็นเวลา 4 ทศวรรษ

มีการคุยกันสนุกๆ ว่า ลาวสร้างเขื่อนที่ไหน จำนวนเท่าไหร่ แทบไม่มีใครจำได้ เรื่องจริงนะครับ… เกือบ 100 เขื่อน จำกันไม่ได้ว่า เขื่อนไหน อยู่ที่ใด ขนาดเท่าใด ใครสร้าง ใครลงทุน ?

ความมั่นคงด้านพลังงานและไฟฟ้าคืออนาคตของทุกประเทศ ยังไงๆ ทุกประเทศก็ต้องใช้ไฟฟ้าเพิ่ม…ลาวจึงมุ่งมั่น ดำรงความมุ่งหมายที่จะขายไฟฟ้าเป็นหลัก …

กลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่เข้าไปลงทุนในลาว คือ ไทย จีน ญี่ปุ่น รัสเซีย มาเลเซีย เกาหลี นอร์เวย์ สหรัฐอเมริกา เบลเยียม เวียดนาม

แบตเตอรี่แห่งเอเชีย สามารถสร้างเขื่อนที่มีกำลังผลิตรวมกันจาก แม่น้ำสายต่างๆ โดยไม่รวมแม่น้ำโขงได้ถึง 26,000 MW เป็นอย่างน้อย

ผู้เขียนขออ้างอิง หนังสือพิมพ์เวียงจันทน์ไทม์ เมื่อ 13 มิ.ย. 2562 ที่รายงานว่า “…รัฐบาลไทยและลาวบรรลุข้อตกลงที่ในการซื้อขายกระแสไฟฟ้าจากเดิม 2,100 เมกะวัตต์ เป็น 7,000 เมกะวัตต์…

…ทั้งนี้ ไทยและลาวยังมีโครงการความร่วมมือในการสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำอีกหลายแห่ง ทั้งที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้างและอยู่ในระหว่างขั้นตอนของการเจรจา อาทิ โรงไฟฟ้าไซยะบุรี โรงไฟฟ้าถ่านหินหงสา โรงไฟฟ้าพลังน้ำเซเปี่ยน เซน้ำน้อย ซึ่งอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างเกือบทั้งหมด ลาวสั่งซื้อจากไทย…”

เวียดนามที่อยู่ชิดติดกับลาว มีความต้องการไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 13% ต่อปี ก็เป็นลูกค้าของลาว ในขณะที่ความต้องการคาดว่าจะถึง 4,500 เมกะวัตต์ในปี 2563 และ 13,410 เมกะวัตต์ในปี 2573…

ลาวยังประกาศว่า พ.ศ.2563 จะส่งออกไฟฟ้า 200 เมกะวัตต์ไปยังพม่า และที่ผ่านมาลาวยังขายไฟฟ้าให้ประเทศมาเลเซีย ผ่านโครงข่ายสายไฟแรงสูงของไทย..ต่อลงไปถึงสิงคโปร์โน่น

“แบตเตอรี่แห่งเอเชีย” เกิดขึ้นแล้ว

ขอชื่นชม ยินดี ในความสำเร็จอัน มั่งคั่ง ยั่งยืนของพี่น้องชาวลาวครับ…

ข้อมูลบางส่วนจาก https://lao.voanews.com/a/laos-today-electricity-dividend/4908814.html?

พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image