พ่อลูกเกษียณอายุพร้อมกัน ตั้งใจจะเรียนปริญญาโททางประวัติศาสตร์ด้วยกัน : โดย โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

ผู้พิพากษาแจ๊ก ไวนสไตน์

การเป็นผู้พิพากษาในประเทศสหรัฐอเมริกานั้นมี 2 แบบ คือ

1) ผู้พิพากษาระดับมลรัฐซึ่งประเทศสหรัฐอเมริกาประกอบด้วยมลรัฐ 50 มลรัฐ ซึ่งแต่ละมลรัฐก็มีวิธีการได้มาซึ่งผู้พิพากษาที่แตกต่างกันแต่ส่วนใหญ่การจะเป็นผู้พิพากษาระดับมลรัฐได้นั้นต้องสมัครเข้ารับเลือกตั้งและต้องได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน โดยมีวาระการดำรงตำแหน่งซึ่งมลรัฐส่วนใหญ่กำหนดไว้ที่ 4 ปี แล้วจึงเลือกตั้งใหม่อีกทีหนึ่ง ผู้พิพากษาสามารถอยู่ในตำแหน่งได้ตลอดไปตราบเท่าที่ประชาชนยังเลือกตั้งให้กลับไปเป็นผู้พิพากษาอยู่

2) ผู้พิพากษาระดับสหรัฐ (รัฐบาลกลาง) นั้นแตกต่างกับผู้พิพากษาของมลรัฐเพราะผู้พิพากษาระดับสหรัฐนั้นไม่ต้องเลือกตั้งหากแต่ได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาและต้องได้รับการรับรองจากวุฒิสภาด้วยคะแนนเสียงข้างมากของสมาชิกวุฒิสภา เมื่อผู้พิพากษาระดับสหรัฐทั้งหมดนี้นั้นเมื่อผ่านการกระบวนการเลือกตั้งแล้วก็จะดำรงตำแหน่งไปตลอดชีวิต นอกจากจะลาออกเองหรือถูกกระบวนการอิมพีชเมนต์ปลดออกจากตำแหน่ง ทั้งนี้ เพื่อที่จะให้ผู้พิพากษาระดับสหรัฐเหล่านี้ทำงานได้เป็นอิสระจริงๆ เพื่อการคานอำนาจกับฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารนั่นเอง

นอกจากนี้ ผู้พิพากษาระดับสหรัฐนั้นมีจำนวนน้อยกว่าผู้พิพากษาของมลรัฐมาก โดยมีจำนวนเพียง 870 คน แต่ก็ไม่ค่อยจะครบเต็มตามจำนวนเนื่องจากกระบวนการแต่งตั้งผู้พิพากษานั้นกินเวลายาวนานเพราะบางทีประธานาธิบดีก็ยังไม่แต่งตั้งผู้พิพากษาเสนอมายังวุฒิสภา บางทีวุฒิสภาก็ไม่รับรองผู้พิพากษาที่ประธานาธิบดีเสนอมา และบางทีผู้พิพากษาก็ตายหรือลาออกเป็นจำนวนมากแต่งตั้งใหม่ไม่ทัน ดังนั้น ในปัจจุบันประเทศสหรัฐอเมริกาจึงมีผู้พิพากษาระดับสหรัฐอยู่ไม่ถึง 870 คน แบ่งเป็นผู้พิพากษาศาลชั้นต้น 673 คน ผู้พิพากษาชั้นอุทธรณ์ 179 คน และผู้พิพากษาศาลฎีกาจำนวน 9 คน

Advertisement

สำหรับจำนวนคดีความแล้ว ปรากฏว่าคดีความส่วนใหญ่จะอยู่ที่ศาลระดับมลรัฐประมาณ 95% ของคดีความทั้งประเทศสหรัฐอเมริกา ส่วนศาลสหรัฐนั้นจะมีคดีความที่เกี่ยวกับข้อพิพาทระหว่างเอกชนที่มีภูมิลำเนาอยู่ต่างมลรัฐกันหรืออาชญากรข้ามเขตแดนมลรัฐ รวมทั้งเรื่องการตีความรัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกาที่มีอยู่ฉบับเดียวที่ใช้มากว่า 200 ปีแล้ว (ไม่เหมือนประเทศไทยที่มีรัฐธรรมนูญฟุ่มเฟือยที่สุดในโลก) แต่เนื่องจากสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศใหญ่อันดับ 4 ของโลกประกอบด้วยมลรัฐ (ประเทศ) ถึง 50 มลรัฐ มีประชากรถึง 328,239,523 คน ดังนั้น เมื่อเทียบกับจำนวนผู้พิพากษาสหรัฐซึ่งมีจำนวนเพียง 870 คน ผู้พิพากษาแต่ละคนจึงต้องทำงานหนักมากทีเดียว

ที่เล่ามาเสียยืดยาวนี้ก็เพื่อที่เขียนถึงผู้พิพากษาระดับสหรัฐประจำศาลชั้นต้นประจำเขตตะวันออกของนิวยอร์กชื่อนายแจ๊ก บี.ไวนสไตน์ ได้ลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมานี้ โดยผู้พิพากษาแจ๊ก ไวนสไตน์ ขณะนี้มีอายุ 98 ปี แบบว่าทำงานหนักมากเช่นการนั่งพิจารณาคดีนานๆ ไม่ไหวเสียแล้ว

ผู้พิพากษาแจ๊ก ไวนสไตน์ ยังเปิดเผยอีกว่าเมื่อเกษียณอายุตัวเองแล้วก็จะไปเรียนปริญญาโททางประวัติศาสตร์ต่อ เพราะว่าสนใจที่จะเรียนรู้ถึงการต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมืองของคนผิวดำทั้งหมดในรูปภาพใหญ่ ซึ่งตัวเองนั้นมีส่วนเกี่ยวข้องอยู่ตั้งแต่การเรียกร้องความเท่าเทียมกันทางการศึกษาระหว่างคนผิวขาวกับคนผิวดำในคดีที่มีชื่อเสียงในประวัติศาสตร์คือ Brown v. Board of Education of Topeka, 347 U.S. 483 (1954) เพราะว่าถึงปัจจุบันนี้แล้วคนผิวดำก็ยังไม่ได้รับความเท่าเทียมทางกฎหมาย เศรษฐกิจและสังคมเท่าชาวอเมริกันผิวขาวเลย ผู้พิพากษาแจ๊ก ไวนสไตน์ เชื่อว่าเขาจะได้คำตอบจากการเรียนประวัติศาสตร์เพื่อค้นคว้าหาสาเหตุเพื่อเขียนวิทยานิพนธ์ปริญญาโทนั่นเอง โดยจะเข้ามหาวิทยาลัยไปเรียนพร้อมลูกชายซึ่งมีอาชีพเป็นแพทย์และเกษียณอายุในเวลาไล่เลี่ยกันเพื่อจะได้ช่วยกันเรียน

Advertisement

อนึ่ง มีความสับสนในเรื่องปริญญาทางกฎหมายของสหรัฐอเมริกา คือบรรดาผู้จบปริญญาตรีทางกฎหมายจากสหรัฐอเมริกาใช้ชื่อปริญญาตรีว่า “Juris Doctor (J.D.) แทน LL.B. ดังนั้น คนไม่รู้เรื่องก็จะเรียกพวกนี้ว่าดอกเตอร์และพวกนี้ผู้มีความละอายก็มักจะเขินๆ มักจะปฏิเสธแบบตะกุกตะกักว่าพวกเขาไม่ใช่ดอกเตอร์อะไรหรอกเนื่องจากไม่ได้จบปริญญาเอกทางกฎหมายจริงๆ สาเหตุก็คือทาง ก.พ.อเมริกันใช้หลักเกณฑ์การให้เงินเดือนตามปริญญาเหมือนของไทยนั่นแหละ ดังนั้น ก็เลยให้เงินเดือนผู้จบปริญญาตรีทางกฎหมายเท่ากับผู้จบปริญญาตรีสาขาอื่นๆ ทั้งๆ ที่การที่จะเรียนปริญญาตรีทางกฎหมายได้นั้นก็ต้องจบปริญญาตรีสาขาใดๆ ก็ได้จึงจะมีสิทธิเรียนได้ (เหมือนปริญญาตรีทางกฎหมายภาคบัณฑิตของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั่นแหละ) คือเรียนแต่กฎหมายอีก 3 ปีถึงจะได้ปริญญาตรีทางกฎหมาย สรุปว่าจะเรียนจบปริญญาตรีทางกฎหมายต้องใช้เวลาอย่างน้อย 7 ปี แล้วจะเทียบเงินเดือนให้กับปริญญาตรีสาขาอื่นๆ ที่ใช้เวลาเรียนเพียง 4 ปีได้ยังไง?

ดังนั้น โรงเรียนกฎหมายทั้งหมดของสหรัฐอเมริกาเลยพร้อมใจกันเปลี่ยนชื่อปริญญาตรีทางกฎหมายจาก LL.B. เป็น Juris Doctor (J.D.) เสียเลย เอากับเขาซี แล้วปริญญาเอกทางกฎหมายเลยต้องให้เป็นดอกเตอร์ทางวิทยาศาสตร์กฎหมายแทน (Doctor of Juridical Science, S.J.D.) ส่วนปริญญาโททางกฎหมายก็ยังคงเป็น LL.M. อยู่เหมือนเดิม

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image