ในความเคลื่อนไหวที่ปรากฏ…: โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

 

ผมคิดว่าความเคลื่อนไหวนั้นที่หลายฝ่ายถามหามาหลายปีในที่สุดก็ลงถนนไปในระดับหนึ่งแล้ว
แต่จริงๆ แล้ว ถ้าจะพูดให้เฉพาะขึ้น อาจจะกล่าวว่า ความเคลื่อนไหวนั้นได้เปิดตัวออกมาให้เห็นทางกายภาพน่าจะชัดเจนกว่า

ผมหมายถึงว่า การเคลื่อนไหวในวันนี้ยังไม่ถึงกับลงถนน แต่ได้ปรากฏตัวให้เห็นแล้ว

ที่ยังไม่ลงถนนนั้นหมายถึงว่ายังจำกัดวงอยู่ในสถานศึกษา ยังไม่ได้ออกจากสถานศึกษาเสียทีเดียว

Advertisement

ความเข้าใจเช่นนี้อาจทำให้เราได้เห็นมิติใหม่ที่ว่า การเคลื่อนไหวนั้นจะต้องลงถนนไหม เหมือนอย่างที่เราเคยเข้าใจไหม? ขณะที่เดิมเรามักเข้าใจว่า “ความเคลื่อนไหวที่ปรากฏ” นั้นต้องหมายถึงการลงถนน

ผมกลับเห็นว่าการเคลื่อนไหวในปัจจุบันนั้นทำให้เราต้องมาทำความเข้าใจพื้นที่ในการเคลื่อนไหวเสียใหม่

จากเดิมที่เราไม่ค่อยได้ให้ค่ากับโลกออนไลน์ หรือโลกไซเบอร์สักเท่าไหร่ เมื่อสิบกว่าปีก่อน เพราะเรามีความเชื่อว่าโลกไซเบอร์ หรือโลกออนไลน์นั้นแยกขาดจากโลกออฟไลน์ และมักจะมองว่าโลกออนไลน์นั้นไม่จริงแท้ เพราะใครอยากทำอะไรก็ได้

Advertisement

นอกจากนั้นแล้ว เรามักจะมองว่าโลกออนไลน์นั้นเป็นโลกที่ไม่ได้สะท้อนความเป็นตัวแทนที่แท้จริง ด้วยว่าสัดส่วนของประชากรที่อยู่ในโลกออนไลน์นั้นมีสัดส่วนที่ไม่สะท้อนโลกออนไลน์

ด้วยว่าในยุคแรกนั้น โลกออนไลน์หมายถึงโลกของคนมีคอมพิวเตอร์ หรือเข้าถึงคอมพิวเตอร์ได้ (เช่นที่ทำงานหรือสถานศึกษา) มีกลุ่มประชากรบางช่วงอายุที่เข้าถึงได้มากกว่าช่วงอายุอื่น

ขณะที่ในวันนี้ ประเด็นเรื่องของการเข้าถึงโลกออนไลน์เปลี่ยนไป จากคอมพิวเตอร์สู่มือถือและอุปกรณ์อย่างอื่นที่คนเข้าถึงได้ง่ายขึ้น และวงกว้างขึ้น โลกออนไลน์มีความซับซ้อนหลายพื้นที่ย่อย ทั้งเว็บ เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ไลน์กรุ๊ป รวมทั้งกลุ่มประชากรก็หลากหลายขึ้น จนแทบจะเรียกว่ามีโลกย่อยๆ มากกว่าหนึ่งเดียว และในวันนี้เราเริ่มรู้แล้วว่าโลกออนไลน์กับโลกออฟไลน์นั้นไม่ใช่โลกที่แยกจากกัน และโลกออนไลน์ไม่ใช่เพียงส่วนขยายของโลกออฟไลน์อีกต่อไป

โลกออนไลน์อาจจะจริงกว่าโลกออฟไลน์ที่ต้องซ่อนตัวเองมากกว่า ยิ่งมีการกวาดล้างตรวจสอบโลกออนไลน์โดยรัฐมากเท่าไหร่ก็ยิ่งตอกย้ำว่าโลกออนไลน์นั้นจริงและสำคัญมากขึ้นเท่านั้น

สำหรับผม โลกออนไลน์นั้นคือ “ถนน” ที่เขาลงกันมานานแล้ว จนถนนที่คนอีกกลุ่มหวาดกลัว อาจเป็นเพียงส่วนที่ไหลล้นจากภาวะท่วมท้นของความขัดแย้งในโลกออนไลน์ ซึ่งปัจจุบันทวิตเตอร์น่าจะร้อนแรงที่สุดและไวต่อกระแสสังคมมากที่สุด

พูดง่ายๆ ก็คือ ถนนที่เรากล่าวถึงกันนั้น ความจริงเต็มล้นมานานแล้ว เพียงแต่เราไม่ได้สังเกต เพราะยังวางจุดสนใจที่ถนนจริงๆ ทั้งที่ถ้านับจำนวนคนในโลกออนไลน์ที่มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน ความหนาแน่น และเข้มข้นของกิจกรรมก็ยิ่งเห็นชัดว่ามีมากจนรับมือยากแล้ว

ประการที่สอง การพยายามอ้างอิงกับปรากฏการณ์การแสดงออกในรั้วมหาวิทยาลัยในรอบนี้เข้ากับเหตุการณ์การเมืองในประวัติศาสตร์ของบ้านเรานั้น เป็นเรื่องของจินตนาการที่ต่างฝ่ายต่างก็ให้ไป ทั้งที่ในจินตนาการของผมเองผมรู้สึกว่าคนที่เคลื่อนไหวออกมาในวันนี้เขาอาจไม่ได้มีทิศทางและเป้าหมายอะไรที่มุ่งมาดไปขนาดนั้น เช่นจะโค่นล้มรัฐบาล หรือจะเปลี่ยนระบอบ

แน่นอนว่าพวกเขาไม่พอใจกับสภาพทางการเมืองและสังคมที่มีอยู่ แต่ไม่ได้หมายความว่าพวกเขามีสูตรสำเร็จอะไรในการเคลื่อนไหวว่าจะต้องการนำไปสู่เป้าหมายอะไรเหมือนที่เกิดขึ้นในอดีต

ไม่ใช่พูดเพื่อปกป้องการเคลื่อนไหว หรือวิจารณ์ว่าพวกเขาไม่ได้มีเป้าหมายที่ชัดเจน แต่ในการชุมนุมในรอบนี้ย่อมมีความคล้ายคลึงบางส่วนกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ผ่านมา นั่นก็คือ การเคลื่อนไหวนั้นเป็นการเคลื่อนไหวที่จะมีทิศทางหรือพัฒนาไปได้ด้วยการมีปฏิสัมพันธ์กับแรงตอบสนองจากคนหลายกลุ่มหลายฝ่าย

นับจากอดีตที่ผ่านมา การเคลื่อนไหวทางการเมืองนั้นไม่ได้เกิดขึ้นมาแบบม้วนเดียวจบเสมอไป แต่การเคลื่อนไหวทางการเมืองนั้นมีทิศทางได้หลายทาง ขึ้นอยู่กับแรงสนับสนุน แรงต้าน หรือแรงเฉยด้วย

กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ เมื่อพิจารณาการเคลื่อนไหวทางการเมือง จะต้องพิจารณาทั้งในส่วนของการเคลื่อนไหว การไม่เคลื่อนไหว และการที่ฝ่ายตรงข้ามนั้นเคลื่อนไหวตอบโต้ด้วย

อย่างในกรณีการเอาเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 มาเป็นตัวอย่าง ว่านี่จะทำให้เกิดเหตุการณ์แบบนั้นขึ้นอีกครั้งหรือไม่ ผมเห็นว่าเด็กรุ่นใหม่นี้ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 เป็นต้นแบบมานานแล้ว โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาเงื่อนไขพัฒนาการทางประวัติศาสตร์และการศึกษาประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 เอง ผมคิดว่าเรื่อง 14 ตุลาในฐานะหมุดหมายนั้นไม่ได้อยู่ในจินตนาการของเด็กรุ่นนี้ เท่ากับเหตุการณ์
6 ตุลา 2519 ที่พวกเขารับรู้ผ่านสื่อออนไลน์และการเชื่อมโยงเหตุการณ์ 6 ตุลา เข้ากับอนาคตของพวกเขา อย่างนั้นตั้งแต่สี่ปีก่อน ที่ปฏิกิริยาของรัฐที่มีต่อทั้งการรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลา ในแง่ของการมองอนาคต และการเชื่อมโยงกับเรื่องราวการปิดกั้นไม่ให้โจชัว หว่อง เข้ามาในประเทศไทยในงานเล็กๆ ของนิสิตนักศึกษา

การตั้งคำถามถึงเก้าอี้และความรุนแรงต่อ “เจ้าโต” ในสื่อออนไลน์ทำให้ความเข้าใจถึงปฏิกิริยาต่อต้านการเปลี่ยนแปลงของสังคมและความเห็นต่างของผู้มีอำนาจและกองเชียร์ของพวกนั้นกลายเป็นส่วนหนึ่งของการรับรู้ที่ต่อเนื่องมาในชีวิตประจำวันของคนรุ่นใหม่รุ่นนี้

กอปรกับการสืบทอดอำนาจอันยาวนานของระบอบเผด็จการที่ยังรวมไปถึงการสืบสานอำนาจเผด็จการในการจัดการฝ่ายตรงข้ามในหลายรูปแบบ ย่อมมีผลจ่อจินตนาการทางการเมืองของคนรุ่นใหม่อย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะเมื่อพวกเขาเห็นวิธีการขจัดความเห็นต่าง รวมทั้งลักษณะของการประกาศข้อยกเว้นมากมาย

พูดอีกอย่างก็คือ คำว่า “สองมาตรฐาน” ที่เคยเป็นคำหลักของการเคลื่อนไหวเมื่อหลายปีก่อนของเสื้อแดง นั้นถูกให้ความหมายใหม่

สองมาตรฐานนั้น เอาเข้าจริงในยุคนี้คือการสร้างข้อยกเว้น

การสร้างข้อยกเว้นคือการประกาศอำนาจเผด็จการ

การพูดถึง “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” ก็ไม่จำเป็นต้องยึดโยงกับบริบทกำเนิดของคำนี้ในสมัยก่อนที่นักการเมืองถูกประหารชีวิตจากเผด็จการทหาร

แต่อาจมีความหมายไปถึงการตั้งคำถามกับสภาวะยกเว้นทั้งปวงในประเทศนี้ที่ทำให้อนาคตของพวกเขาไม่ชัดเจน และพวกเขาเปราะบางต่อความมั่นคงอื่นๆ นอกเหนือจากความมั่นคงของรัฐที่ราวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่พวกเขาไม่มีส่วนร่วมในการกำหนด

ที่พูดเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะมองว่าฮ่องกงคือตัวแบบในการต่อสู้ เพราะสุดท้ายแล้วชัยชนะของฮ่องกงในแง่ของการตรึงกำลังกับมหาอำนาจใหญ่จีนได้คือการเชื่อมประสานการต่อสู้ข้ามช่วงชั้นและช่วงวัยประชากร และสร้างสำนึกร่วมใหม่ในการต่อสู้ รวมถึงแรงกดดันจากสังคมโลก

ในอีกด้านหนึ่งนักเคลื่อนไหวบางคนมีความตระหนักถึงโมเดลของเทียนอันเหมินเช่นกัน ดังนั้น การรับรู้ของผู้เคลื่อนไหวจำนวนมากจึงไม่ใช่เรื่องของการไล่ตามความงดงามในอดีตแบบที่หลายคนมีจินตนาการว่านี่คือฟ้าสีทอง นี่คือช่วงเวลาอันมีค่าที่เราจะนำพลังนี้ไปทำอะไรสักอย่างดี ขณะที่คนเคลื่อนไหวจำนวนไม่น้อยเขารู้สึกระแวดระวังการเคลื่อนไหวของเขามากกว่ากองเชียร์พวกเขาเองเสียอีก ..

ประการที่สาม การเคลื่อนไหวครั้งนี้มีความแตกต่างที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือมีลักษณะของการสร้างเครือข่ายเชิงแข่งขันที่สร้างสรรค์ ที่ผมเรียกว่า creative and competitive network ซึ่งมีลักษณะที่ปฏิเสธแกนนำ และการสร้างขบวนการขับเคลื่อนในแบบเดิมๆ

หมายถึงว่า การเคลื่อนไหวของนักศึกษาในอดีตนั้น อาจจะมีสองยุคใหญ่ คือ มีการเคลื่อนไหวแบบในระบบผ่านการรวมศูนย์ของสหพันธ์ตัวแทน เช่น สนนท. ในอดีตอันไกลโพ้นที่ต้องประชุมกันระหว่างองค์กรตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้ง

หรือในยุคต่อมาที่การเคลื่อนไหวมีลักษณะเป็นหลุ่มอิสระหลากหลายสถาบันในนามของ “กลุ่มกิจกรรม” มากกว่า “องค์กรนักศึกษา”

การเคลื่อนไหวในรอบล่าสุดนี้มีลักษณะของการมีทิศทางแต่ไม่มีแผนเคร่งครัดจากการประชุมผ่านมติ มีลักษณะปฏิเสธการนำและการแทรกแซงของกลุ่มกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งที่อยากจะเข้ามาอ้างผลงานและการกำหนดทิศทางการนำ นอกจากนั้น ยังมีลักษณะที่ต้องสร้างความร่วมมือในเชิงการแข่งขันที่สร้างสรรค์ เช่นการเรียกร้องว่า เพื่อนๆ ออกมาร่วมกัน และแข่งกันสร้างสรรค์รูปแบบกิจกรรม และ #แฮชแท็ก สถาบัน ซึ่งเริ่มลงไปสู่ระดับของเด็กมัธยมมากขึ้น

การโจมตีว่ามีคนอยู่เบื้องหลังการชุมนุมนั้นยังไม่เกิดพลังมากนัก ตราบใดการชุมนุมเป็นการกระจายตัวในโลกกายภาพ แต่รวมตัวเชิงประเด็นทั้งในโลกกายภาพและโลกออนไลน์ซึ่งเป็นพื้นที่ใหญ่ของการชุมนุมมาโดยตลอด

นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงเรื่องของการเน้นการทำสิ่งที่เรียกว่า “do it yourself” มากขึ้น โดยไม่ต้องมีนกหวีด ตีนตบ มือตบ หรือเสื้อและสัญลักษณ์จากแกนนำ แต่เปิดให้แต่ละคนได้เขียนข้อความสร้างสรรค์ขึ้นมาเอง และแพร่กระจายข้อความเหล่านั้นลงในสื่อโซเชียล

นอกจากนั้นข้อความจำนวนมากยังมีลักษณะเป็น “โค้ดลับ” ที่เปิดเผยตัวต่อสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นอักษรย่อ หรือภาษาเฉพาะกลุ่ม อาทิ ภาษาลู ซึ่งไม่ใช่ภาษาที่เป็นทางการ การต่อสู้ในแบบนี้ (subversive มาก) นับวันจะปรากฏออกมามากขึ้น และเป็นสิ่งที่พ้นไปจากแบบแผนการต่อสู้และการเอาผิดทั่วไป เช่น การหมิ่นประมาท ความหยาบคาย และข่าวปลอม

ประการที่สี่ การต่อสู้ในรอบนี้มีลักษณะของการขยายวงการต่อสู้ที่กว้างขวางขึ้น ทั้งกับระบอบที่พวกเขาเห็นว่าครอบพวกเขาอยู่ กับตัวบุคคล และกับกลุ่มสนับสนุนระบอบเผด็จการ

การเคลื่อนไหวในรอบนี้ข้ามพ้นการต่อสู้เพื่ออนาคตใหม่ไปสู่การเคลื่อนไหวเพื่ออนาคต การคว่ำอนาคตใหม่เป็นฟางเส้นสุดท้าย แต่ไม่ใช่สิ่งที่พวกเขาทวงคืน ไม่มีข้อเรียกร้องให้เปลี่ยนคำตัดสิน หรือให้นำพรรคอนาคตใหม่กลับมา

พวกเขารู้แล้วว่าอนาคตใหม่กลายเป็นอดีต แต่อนาคตของเขาไม่มี

การปะทะกับสลิ่มโดยตรงนั้นแม้จะมีคนพยายามออกมาตั้งข้อสังเกตว่าถือเป็นการโจมตีและ bully คนเห็นต่างหรือไม่ แต่ในมุมของพวกเขาเห็นว่ามันเป็นเรื่องทั่วไป เพราะสลิ่มเคยทำสิ่งเหล่านี้กับคนกลุ่มอื่นมาก่อน และพวกเขามองว่าตำแหน่งทางสังคมและการเมืองของพวกเขานั้นต่ำกว่า เพราะพวกเขาถูกกด ดังนั้นการจัดหนักกับสลิ่มจึงเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการท้าทาย ปลดปล่อย และตัดท่อน้ำเลี้ยงแก่เผด็จการ

ใครสนับสนุนเผด็จการเป็นอันโดนหมด…ว่างั้นล่ะครับ

ยิ่งสลิ่มดิ้น โครงสร้างจริงของสังคมจะยิ่งเปิดเผยตัว และการปะทะในโลกทางความคิดและโลกออนไลน์ก็จะเข้มข้นมากขึ้น รวมทั้งกิจกรรมรวมตัวต่างๆ อาจมีทิศทางที่เพิ่มขึ้น

ประการสุดท้าย สมรภูมิของมหาวิทยาลัยและโรงเรียนจะเริ่มเข้มข้นขึ้น ผู้บริหารย่อมจะต้องหนักใจ ไม่นับการถูกขุดอดีตของตัวเอง ไม่นับแรงกดดันจากฝ่ายผู้มีอำนาจ จากสมาคมศิษย์เก่า จากฐานคณาจารย์ที่สนับสนุนตัวเองให้ขึ้นสู่อำนาจ และไม่นับอนาคตในหน้าที่ผู้บริหารของตน รวมทั้งภาระหน้าที่ที่จะต้องดูแลนิสิตนักศึกษาของตนด้วย (ในกรณีที่ห่วงใยพวกเขาอย่างแท้จริง)

การประกาศความเป็นกลาง การอ้างอิงสถานการณ์โรคระบาด การไม่ให้ฝ่ายไหนแสดงความเห็นทางการเมืองอาจจะเป็นทางรอดระยะสั้นที่เริ่มทำกัน แต่ก็จะยิ่งลากพาความขัดแย้งไปสู่โลกออนไลน์ และไม่ได้ทำให้ความขัดแย้งสิ้นสุดลง หากแต่ปัดให้พ้นตัว

ขณะที่การเริ่มไล่ล่าครูอาจารย์ที่เชื่อว่ามีอิทธิพลทางความคิดกับเด็กๆ นั้นก็ดูเป็นหนึ่งในแนวทางที่อยากทำ หรือถูกบีบให้ทำ หรือเริ่มทำแล้ว ทั้งที่ในวันนี้ จะเชื่อหรือไม่ก็ตามก็ขอบอกว่า พวกที่เราเรียกว่าเด็กรุ่นใหม่นั้น เขาไม่ได้เชื่อใครที่อยู่ในตำแหน่งที่สอนเขาหรอกครับ เขารับรู้ข้อมูลทุกอย่างจากทุกฝ่ายแล้วก็เอาไปคิดของเขาเอง กับกลุ่มและเครือข่ายของเขา ที่พูดเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่าเขาถูกเสมอ แต่การสื่อสารกับเขานั้น ท่าทีสำคัญกว่าเนื้อหา เพราะเนื้อหาเขาหาได้หลายที่ แต่ท่าทีที่มองเขาเป็นเด็ก เป็นคนที่อยู่ตรงข้าม หรือมองเขาว่าเขาคือความหวังนั้น เขาไม่ได้เชื่อเราหรอกครับ อย่างมากเขาก็รับฟังแล้วไปคุยกันเองเสียมากกว่า

เอาเป็นว่าตอนนี้ก็ดูการคลี่คลายตัวของสถานการณ์ให้ดีแล้วกันครับ ถ้าจะโต้กลับก็คิดให้มากๆ เพราะรอบนี้ยืดเยื้อแน่ เพราะความขัดแย้งมันกระจายตัวไปในทุกปริมณฑลในสังคมแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image