วีรพงษ์ รามางกูร ‘ฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจไทย 2020’

หมายเหตุนายวีรพงษ์ รามางกูร อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาเรื่อง “ฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจไทย 2020” ที่พรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 3 มีนาคมที่ผ่านมา มีรายละเอียดดังนี้

วิกฤตเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบมาจากภาวะเศรษฐกิจโลก วิกฤตที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบกับโครงสร้างทางเศรษฐกิจของไทย การเมืองไทยเป็นมหาวิกฤตการณ์ โดยวิกฤตเศรษฐกิจส่วนใหญ่ มักจะเป็นพื้นฐานของการเกิดวิกฤตในส่วนอื่นๆ ด้วย

เป็นที่ทราบกันดีว่า ประเทศไทยต้องพึ่งพาการส่งออกเป็นหลักในการสร้างรายได้ การส่งออกมีมูลค่ากว่า 70% ของรายได้ประชาชาติ เพราะฉะนั้นใครที่พูดว่าการส่งออกไม่สำคัญ แสดงว่าไม่เข้าใจโครงสร้างของเศรษฐกิจไทย เมื่อได้ยินรองนายกฯ ฝ่ายเศรษฐกิจของรัฐบาลนี้พูดว่า การส่งออกไม่มีความสำคัญ เราสามารถสร้างความต้องการภายในเพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้ ถือเป็นคำพูดที่โง่เขลา และเป็นคำพูดที่ไม่มีความรู้เรื่องในโครงสร้างเศรษฐกิจไทยอย่างแท้จริง สมมุติว่าประเทศไทยไม่มีการส่งออกและไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวในประเทศไทยเลย รายได้ประชาชาติของเราจะเหลือเพียง 30% ของรายได้ประชาชาติในขณะนี้เท่านั้น จะเกิดวิกฤตการณ์ขึ้นอย่างแน่นอน เพราะไทยถูกขนานนามว่า เป็นประเทศที่เศรษฐกิจนำโดยการส่งออกสินค้าและบริการ ทำให้ในช่วงที่เศรษฐกิจโลกดี เศรษฐกิจไทยก็จะดีไปด้วย ในช่วงที่ตลาดสินค้าเกษตรหรือสินค้าอุตสาหกรรมดี มีราคาสูงราคาสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรมของไทยก็จะดีไปด้วย สินค้าทุกชนิดที่ไทยส่งออกและนำเข้า ไทยไม่สามารถเป็นผู้กำหนดราคาเองได้ ราคาที่เป็นเหรียญสหรัฐเป็นไปตามราคาของตลาด ไม่ว่าจะเป็นข้าว น้ำตาล ยางพารา มันสำปะหลัง แต่ราคาที่เป็นเงินบาท เป็นสิ่งที่เราสามารถกำหนดเองได้พอสมควรผ่านทางอัตราแลกเปลี่ยน ทำให้ในช่วงที่ค่าเงินบาทอ่อน แม้ว่าราคาสินค้าในต่างประเทศจะไม่ได้ปรับราคาขึ้น แต่ราคาสินค้าในประเทศก็จะมีราคาแพงขึ้น แต่หากช่วงใดที่เงินบาทแข็ง แม้ว่าราคาสินค้าในต่างประเทศจะไม่เปลี่ยนแปลง แต่ราคาสินค้าภายในประเทศก็จะมีราคาที่ต่ำลงเป็นของธรรมดา

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไม่มีความรู้ในเรื่องนี้สาเหตุมาจากคำให้สัมภาษณ์ของผู้ว่าการแบงก์ชาติ ที่พูดว่าอัตราแลกเปลี่ยนไม่มีผลต่อการส่งออกหากผมเองเป็นนายกรัฐมนตรีจะหาทางปลดผู้ว่าการแบงก์ชาติ ไม่วิธีใดก็วิธีหนึ่ง แม้ว่าแบงก์ชาติจะเป็นอิสระก็ตาม

Advertisement

สถานการณ์ในลักษณะนี้เริ่มมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว แรกเริ่มมาจากสหรัฐ ก่อนจะแพร่ไปยัง           ภูมิภาคอื่นๆ การชะลอตัวของเศรษฐกิจในสหรัฐ ส่งผลกระทบหนักมากกับการส่งออกของจีนที่ในระยะหลังๆ จีนกลายเป็นหัวรถจักรของเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ เนื่องจากจีนกลายเป็นผู้ผลิตที่ถือเป็นโรงงานหลักของภูมิภาคนี้ ส่วนสหรัฐและยุโรปกลายเป็นผู้บริโภคสินค้าและบริการต่างๆ แทน ส่งผลให้ไทยได้รับประโยชน์อย่างมาก โดยสินค้าสำเร็จรูปต่างๆ ที่ไทยผลิตสามารถส่งออกไปขายยังสหรัฐและยุโรปได้ ในขณะเดียวกัน การผลิตของเราก็ขยายจากการผลิตสินค้าสำเร็จรูปมาสู่สินค้าที่เป็นวัตถุดิบ และกึ่งวัตถุดิบเพื่อส่งออกให้จีนและญี่ปุ่น แต่ขยายตัวไปยังจีนมากกว่า เพราะญี่ปุ่นกลายเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ที่สุดในจีน และการที่ไทยเคยได้รับขนานนามว่าเป็น “เยนโซน” เนื่องจากเงินที่ผ่านมา เงินเยนแข็งค่ามากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ญี่ปุ่นจึงต้องหาทางย้ายฐานการผลิตและไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศเป้าของญี่ปุ่น สะท้อนได้จาก 70% ของอุตสาหกรรมสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย ถูกติดแบรนด์ขายในนามของญี่ปุ่น ถือเป็นเรื่องที่แปลกมาก

ประเทศไทยได้ขยับขยายจากการที่เป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและสินค้ากึ่งเกษตร เช่น ข้าว ยางพารา น้ำตาล กลายมาเป็นสินค้าประเภทอุตสาหกรรมมากขึ้น ภาคการเกษตรมีผลผลิตในรายได้ประชาชาติเพียง 10% อีก 40% เป็นผลผลิตจากภาคอุตสาหกรรม และอีก 50% เป็นผลผลิตจากภาคบริการ ภาคบริการที่มีความสำคัญมากคือ ภาคการเงิน การธนาคาร การส่งออก การนำเข้าการค้าปลีก และค้าส่ง ขณะนี้จึงถือว่าประเทศไทยไม่ใช่ประเทศที่ด้อยพัฒนาหรือประเทศที่กึ่งพัฒนาเท่านั้น แต่เป็นประเทศที่อยู่ในระดับกำลังพัฒนาขั้นสูง และอีกไม่นานก็คงจะพ้นจากการเป็นประเทศกึ่งพัฒนา กลายเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วตามหลังประเทศมาเลเซีย แต่บังเอิญเราโชคร้าย เพราะได้เกิดการปฏิวัติรัฐประหารก่อน ทำให้ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจที่จะถีบตัวขึ้นไปต้องหยุดชะงักไป เพราะโลกของโลกาภิวัตน์เป็นโลกที่สินค้าไร้พรมแดน ไม่ว่าจะเป็นสินค้าสำเร็จรูปหรือสินค้าต้นทุนก็มีการเกาะกลุ่มเป็นวงการค้า หรือที่เรียกว่าเป็นเขตเศรษฐกิจเสรีต่างๆ แต่ในสายตาของประชาคมโลก ไทยยังมีระบอบการปกครองที่ล้าหลัง ปกครองด้วยระบอบเผด็จการทหาร เป็นที่รังเกียจของประชาคมโลก ในเวทีการค้าการเจรจาและการลงทุนระหว่างประเทศ ผู้นำของไทยไม่สามารถเดินตามไปได้ เพราะเห็นว่ายังมียศนายพลนำหน้าอยู่ ในโต๊ะการเจรจานั้น มีอยู่เพียงประเทศเดียวที่มียศแบบนี้ เพราะแม้แต่เมียนมาเอง รัฐบาลก็เป็นพลเรือนเป็นส่วนใหญ่

ระบอบการปกครองของประเทศไทยที่ว่านี้ ไม่เหมือนกับระบอบการปกครองของประเทศอารยะเหล่านั้น     ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ดึงรั้งถ่วงไม่ให้ประเทศสามารถก้าวผ่านไปเป็นประเทศที่เจริญแล้วได้ เดิมคาดว่า ประเทศไทยจะเป็นเสือตัวที่ 5 ต่อจาก ฮ่องกง สิงคโปร์ ไต้หวัน และเกาหลีใต้ แต่จากการรัฐประหารครั้งล่าสุดทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างชะงักและล่าช้าไปหมด การที่รัฐบาลปัจจุบันสืบเนื่องมาจากรัฐบาลทหาร และเชื่อว่าระบอบการปกครองไม่มีความสำคัญนั้นถือเป็นเรื่องที่ไม่จริง เพราะการที่รัฐบาลไทยไม่สามารถเดินทางไปเจรจาการค้าแบบพหุภาคีได้เป็นเหตุให้ภาวะเศรษฐกิจของไทยอยู่ในระดับที่ถดถอยลง การส่งออกประสบปัญหา ในขณะที่รัฐบาลไม่เข้าใจบทบาทของอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ โดยในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2562 สกุลเงินบาทถือเป็นเงินที่แข็งค่าสุดในโลก ไม่ได้แข็งค่าที่สุดเพียงแค่ในอาเซียนเท่านั้น ถือเป็นความผิดพลาดที่สุดของรัฐบาลชุดนี้ที่ไม่ยอมดูแลผู้ส่งออกไทย ทั้งที่อัตราแลกเปลี่ยนเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด คิดว่าอัตราการแลกเปลี่ยนไม่สำคัญ ทำให้ตัวเลขการส่งออกถดถอยลงอย่างต่อเนื่องกลายเป็นล้าหลังที่สุดในอาเซียน และกำลังจะติดลบในด้านมูลค่า

Advertisement

เราเคยหวังพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวจะเป็นตัวอุ้มชูเศรษฐกิจไทย ชดเชยการส่งออกสินค้า ก็ปรากฏว่าเราได้ทำหลายสิ่งหลายอย่างที่เป็นลบกับการท่องเที่ยวและการส่งออกของไทยเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเทศจีน เมื่อมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นเรือนักท่องเที่ยวจีนล่มที่ภูเก็ต เราก็ได้พูดจากระทบกระเทือนจิตใจของคนจีน เมื่อมีโรคระบาดในจีน เราก็ทำบางอย่างที่กระทบกระเทือนใจคนจีนในหลายสิ่งหลายอย่างโดยไม่ตระหนักว่า ในภาคการท่องเที่ยวนั้น จีนถือเป็นตลาดหลักที่ใหญ่และสำคัญที่สุดของประเทศและเป็นตลาดที่ไทยหวังพึ่งพาในการสร้างรายได้เข้าประเทศ โดยมีคนถามว่า เมื่อใดเศรษฐกิจไทยจะฟื้นได้

ก็ต้องถามต่อว่า เมื่อใดเศรษฐกิจโลกจะฟื้นคืนได้ โดยในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา มีข่าวออกมาว่า นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ออกมาเล่นงานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่วางแผนจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 2 ครั้งในปี 2563 ประธานาธิบดีสหรัฐได้ใช้คำพูดรุนแรงบอกว่า ไม่เห็นด้วยที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในปีนี้ เศรษฐกิจของสหรัฐกำลังจะดิ่งหัวลง เมื่อประธานาธิบดีออกมาส่งสัญญาณดังกล่าว ทำให้ดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์อ่อนไหวเป็นพิเศษ ปรับระดับลดลงอย่างต่อเนื่อง ตลาดหุ้นไทยที่ปรับตัวลงตามตลาดหุ้นสหรัฐอยู่แล้ว ยิ่งมาเจอกับการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ทำให้ดัชนีหุ้นไทยร่วงหนัก รวมถึงดัชนีราคาหุ้นไทยต่ำสุดในรอบ 4 ปี ยังคาดว่า หากต่อไปเดือนหน้าก็อาจจะต่ำสุดในรอบ 5 ปี ถัดไปก็จะต่ำสุดในรอบ   6 ปี เพราะยังไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ว่าจะเป็นอย่างไร

แม้ว่าเศรษฐกิจโลก ประเทศไทยจะไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะเป็นผู้รับราคาตลาดโลก ไม่ใช่ผู้ตั้งราคาให้กับสินค้าเกษตรหรือสินค้าอุตสาหกรรม แต่ความเข้าใจเศรษฐกิจโลก และโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยมีความสำคัญอย่างยิ่ง หากรัฐบาลไทยไม่มีความเข้าใจ และมีทรรศนะที่แปลกๆ โดยหากไม่มีความเข้าใจแล้วจะวางยาเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้อย่างไร สถานการณ์เศรษฐกิจในครั้งนี้แปลกประหลาดกว่าสถานการณ์เศรษฐกิจในช่วงภาวะเศรษฐกิจซบเซาหลายครั้งที่ผ่านมา ภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซามักจะติดตามมาด้วยการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และขาดดุลการชำระเงิน การส่งออกจะซบเซาด้วย แต่เราจำเป็นต้องนำเข้าจะไม่ซบเซาด้วย และสามารถขยายตัวในอัตราที่สูง จึงเป็นเหตุให้เกิดการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และทำให้เกินดุลการค้าเพิ่มขึ้น แต่ภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาในครั้งนี้อันเนื่องมาจากการซบเซาของการส่งออกปรากฏว่าการนำเข้าหดตัวมากกว่าการหดตัวของการส่งออกจึงเป็นเหตุให้ดุลการค้า และดุลบัญชีเดินสะพัดไม่ขาดดุลมาก เงินบาทจึงไม่อ่อนตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจจึงกลายเป็นว่าภาวะเศรษฐกิจซบเซาแต่เงินบาทแข็ง

ทำให้มีการไหลเข้าของเงินจากกองทุนต่างๆ ในตลาดพันธบัตรรัฐบาล เป็นเหตุให้พันธบัตรรัฐบาลมีราคาสูงขึ้น ผลตอบแทนจึงมีน้อยลง ปกติผลตอบแทนต่อการลงทุนระยะยาว ในตราสารระยะยาว ควรจะมีมากกว่าตราสารระยะสั้น การที่ดอกเบี้ยระยะยาวต่ำลงเช่นนี้ เท่ากับว่าตลาดมีความกังวลว่า ภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาจะยังอยู่กับเราไปอีกนาน เป็นเครื่องชี้ไปข้างหน้าว่า ภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาจะอยู่กับเราอีกนานหรือไม่นานนั้น ให้ดูอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น และระยะยาว ที่เป็นดัชนีชี้วัดที่ใช้กันทั้งโลก ขณะนี้อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรระยะสั้นและระยะยาวมีอัตราใกล้เคียงกัน จึงสะท้อนให้เห็นถึงการที่คนส่วนใหญ่มองว่า ภาวะเศรษฐกิจซบเซาจะยังอยู่กับเราไปอีกนาน จึงนำเงินเข้าไปเก็บในที่ปลอดภัยมากขึ้น

มีหลายครั้งที่ฟังรัฐบาลพูดถึงภาวะเศรษฐกิจแล้วอยากปิดทีวีเพราะฟังไม่รู้เรื่อง แต่ไม่ได้ต้องการกล่าวโทษรัฐบาลทั้งหมด เพราะเรื่องเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายมากนัก แต่เรื่องที่ไม่ง่ายนั้น การเป็นผู้นำประเทศที่ดีจะต้องหาคนดีมีฝีมือในด้านเหล่านั้นมาใช้งาน

เพราะฉะนั้นไม่ว่ารัฐบาลจะมีงบประมาณขาดดุลก็ไม่เพียงพอ การเกินดุลบัญชีการค้าทำให้หลายคนคาดว่าเงินบาทจะแข็งและนำเงินเข้ามาฝากไว้ จึงทำให้แบงก์ชาติแทรกแซงในการนำเงินบาทออกไปซื้อเงินสหรัฐเก็บไว้ เพื่อไม่ให้ค่าเงินบาทแข็งค่าเกินไป โดยสถานการณ์ในขณะนี้ทุนสำรองระหว่างประเทศมากขึ้นต่อเนื่อง แบงก์ชาติไม่ได้นำเงินไปซื้อเงินสหรัฐเก็บไว้ทั้งหมด ทำให้เงินบาทแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง จนเมื่อเกิดโรคระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ค่าเงินบาทอ่อนค่าทันที เพราะตลาดเชื่อว่านักท่องเที่ยวจีนจะหายไปหมด ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดลดลง ค่าเงินจึงอ่อนค่าลง จึงไม่ได้เป็นผลงานของรัฐบาลทำให้ค่าเงินบาทอ่อน แต่เป็นผลจากโควิด-19 เมื่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจเป็นแบบนี้ สิ่งที่ต้องทำคือ ในเมื่อทราบว่าราคาสินค้าส่งออกและนำเข้าของไทยเป็นเหรียญสหรัฐ ถูกกำหนดโดยตลาดโลก ดีมานด์และซัพพลายในตลาดโลก เราเป็นคนยอมรับในอัตราราคาเหล่านั้น ส่วนราคาที่ชาวไร่ชาวนาจะได้รับเกี่ยวข้องกับอัตราแลกเปลี่ยน ค่าเงินบาทยังแข็ง ราคาสินค้าไม่ว่าจะเป็นราคาสินค้าเกษตรหรืออุตสาหกรรม จะมีราคาต่ำ
แต่หาเงินบาทอ่อนค่า ราคาสินค้าก็จะสูงขึ้น

เคยประเมินไว้เล่นๆ ว่า หากต้องการให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวที่ 4% เงินบาทจะต้องอยู่ที่ 33 บาทต่อเหรียญสหรัฐ หากต้องการให้ขยายตัวที่ 5% เงินบาทจะต้องที่ 35 บาทต่อเหรียญสหรัฐ แต่หากเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ที่ 30 บาทต่อเหรียญสหรัฐ การขยายตัวทางเศรษฐกิจจะเท่ากับ 0% เพราะฉะนั้นอัตราการแลกเปลี่ยนจึงมีความสำคัญมาก สิ่งที่ห่วงในตอนนี้นั้น ไม่ได้ห่วงการที่พ่อค้าไม่เก่งหรือพ่อค้าไม่รู้เรื่อง แต่ห่วงการไม่รู้เรื่องของรัฐบาลมากกว่าที่จะได้ผ่านวาระต่างๆ รวมถึงเป็นห่วงในเรื่องข้อรังเกียจของรัฐบาลทหารหรือรัฐบาลที่สืบเนื่องมาจากรัฐบาลทหาร จะรุนแรงมากขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง เพราะประเทศต่างๆ จะหาทางป้องกันตนเอง จะใช้วิธีในการกีดกันทางการค้า อาทิ สหรัฐ ที่นำร่องในการกีดกันสินค้าไปก่อนแล้ว และจะมีการกีดกันทางการค้าแพร่ไปในหลายๆ ประเทศทั่วโลก องค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) ไม่ได้มีผลกระทบกับสหรัฐ เพราะเป็นประเทศใหญ่ แต่จะมีผลกับประเทศเล็กๆ เช่น ไทยที่หากหันไปทำในลักษณะนี้ ก็จะถูกดับเบิลยูทีโอเล่นงานไปแล้ว

การที่เศรษฐกิจเป็นอย่างนี้ ค่าเงินบาทแข็งขึ้น จะทำให้การส่งออกขยายตัวช้าลง และการที่เงินบาทอ่อนค่าลงครั้งนี้ เป็นเพราะการคาดการณ์ที่ผิดพลาด การเกิดไวรัสโควิด-19 ไม่ได้อยู่ในโมเดลของการประมาณการ นักท่องเที่ยวจีนหายไปหมด การที่ตัวเลขการส่งออกตกจากที่เคยขยายตัวน้อยบ้างมากบ้าง แต่ก็ขยายตัว  แต่ตอนนี้กลายเป็นหดตัว การที่คาดการณ์ไว้ว่าจะอาศัยการท่องเที่ยวเข้ามาเป็นตัวช่วย ทุกอย่างผิดพลาดหมด เพราะฉะนั้นภาวะเศรษฐกิจข้างหน้านี้จะกลายเป็นปี 2562 เผาหลอก ต้นปี 2563 เผาจริง ปลายปี 2563 เก็บกระดูกไปลอยอังคารได้ จึงอยากให้เตรียมรับมือไว้ สิ่งที่พูดทั้งหมดไม่ใช่ความรู้สึกที่ไม่ชอบรัฐบาล แต่มาจากความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับมาตลอดเป็นเวลานาน

สุดท้ายเรื่องความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยและจนเป็นเรื่องที่ไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ เพราะเราจะต้องแข่งขันกับต่างประเทศ มาตรการที่จะลดความเหลื่อมล้ำในเรื่องของทรัพย์สินและรายได้เป็นมาตรการที่จะลงโทษผู้ผลิตและผู้ลงทุน ทำให้ฐานะทางการแข่งขันของประเทศไทยเทียบกับต่างประเทศด้อยลง ทั่วโลกจึงหันไปลดความเหลื่อมล้ำในด้านของคุณภาพชีวิตของประชาชน ไม่ใช่ลดความเหลื่อมล้ำในเรื่องทรัพย์สินและการหารายได้เพราะหากสังเกตให้ดีถ้าจะพูดถึงความเหลื่อมล้ำให้ถูกต้อง จะต้องเข้าไปลดความเหลื่อมล้ำในเรื่องคุณภาพชีวิต ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปลดความเหลื่อมล้ำในด้านรายได้และทรัพย์สิน เพราะคนที่หารายได้สูง แสดงว่าเป็นคนเก่ง และคนที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปข้างหน้าก็คือคนเก่ง แล้วจะไปลงโทษเขาทำไม เราควรต้องใช้คนเหล่านั้น แต่จะต้องหันไปลงโทษคือ ผู้บริโภคที่ผลิตน้อยแต่บริโภคมาก

คนกลุ่มนี้ควรต้องหันไปเก็บภาษีมากขึ้น คนที่ผลิตมากแต่บริโภคน้อย ไม่ควรไปเก็บภาษีมากๆ ทั่วโลกจึงหันไปเก็บภาษีจากการบริโภคมากขึ้น เป็นรากฐานของอัตราภาษีเงินได้ ทั้งนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image