จิตวิวัฒน์ : เหตุกราดยิงและความทุกข์ในหัวใจ‘แม่’ สู่การรับฟังเพื่อเยียวยา : โดย พรรัตน์ วชิราชัย

จิตวิวัฒน์ : เหตุกราดยิงและความทุกข์ในหัวใจ‘แม่’ สู่การรับฟังเพื่อเยียวยา : โดย พรรัตน์ วชิราชัย

จิตวิวัฒน์ : เหตุกราดยิงและความทุกข์ในหัวใจ‘แม่’ สู่การรับฟังเพื่อเยียวยา : โดย พรรัตน์ วชิราชัย

หนึ่งเดือนล่วงไปแล้วนับจากเหตุการณ์กราดยิงที่โคราชซึ่งสะเทือนขวัญคนทั้งประเทศ ในช่วงวันที่ 8-9 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ขณะที่ความหวาดกลัวและความกังวลอย่างรุนแรงของหัวใจบางดวงมีโอกาสได้เปิดเผยและคลี่คลาย บทความนี้เขียนจากประสบการณ์สั้นๆ ที่ผู้เขียนได้ร่วมสังเกตการณ์การทำงานกับผู้ประสบเหตุในกิจกรรม “สนทนาเยียวยาใจ” ที่มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แม่ เครือข่ายชีวิตสิกขา และกลุ่มศิลปะบำบัดโคราช (Korat Art Care) ร่วมกันจัดขึ้นในวันที่ 18 และ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ณ บ้านเรียนละครมรดกใหม่ จังหวัดนครราชสีมา

แม่ส้ม อรวรรณ เดชหิรัญสุวรรณ มาเข้าร่วมเวิร์กช็อปพร้อมลูกชายฝาแฝดวัยแปดขวบสองคน เล่าให้ฟังว่า เธอ สามี และลูกๆ คือหนึ่งในหลายครอบครัวที่ติดอยู่ในห้างเทอร์มินอล 21 ในคืนเกิดเหตุ ครอบครัวของเธอไปซื้อของที่ห้างตั้งแต่ช่วงบ่าย ยังไม่ถึงเวลาอาหารเย็นดีลูกทั้งสองก็บ่นหิว พ่อแม่ลูกจึงเข้าไปกินโดนัทกัน ระหว่างรับประทานก็ได้ยินเสียงปืนดัง ปังๆ ๆ ๆ ผู้คนกรูกันไปดูว่าเกิดอะไรขึ้น แล้วก็บอกว่ามีคนยิงกัน พนักงานร้านโดนัทเรียกแม่ส้มและครอบครัวเข้ามาอยู่หลังรั้วเหล็กทันทีและปิดไฟเงียบ จากที่คิดว่าแป๊บเดียวคงจบก็กลายเป็นข้ามคืน ในคืนที่ยาวนาน เธอกอดปลอบลูก และรับรู้ข่าวจากน้องพนักงานในร้านที่คอยดูเรื่องผ่านมือถือ พร้อมกันนั้นก็ได้ยินเสียงปืนตลอดคืน แม้ว่าเจ้าหน้าที่ทหารจะเข้ามารักษาความปลอดภัยพร้อมอาวุธครบมือในเช้าวันต่อมา และทุกคนในครอบครัวเธอปลอดภัย แต่อาการหวาดผวายังอยู่กับเธอทั้งยามหลับและยามตื่นหลังจากนั้น

แม่ส้มเล่าถึงร่องรอยบาดแผลในใจจากเหตุการณ์สะเทือนขวัญว่า คืนแรกที่ได้กลับมานอนบ้าน ลูกๆ ผวาทั้งคืนเพราะได้ยินเสียงปืนในหัวตลอด หลังจากคืนนั้นเด็กๆ จึงค่อยหลับได้ ขณะที่แม่นอนหลับไม่สนิทแทบทั้งอาทิตย์ ในหัวเต็มไปด้วยความคิดวิตกกังวลไม่หยุด กลัวว่าจะมีเหตุอะไรขึ้นอีก คอยดูข่าวและเสพสื่อตลอดเวลา แล้วก็คิดฟุ้งไปว่า ถ้าเกิดเหตุขึ้นอีกแล้วเธอไม่อยู่กับลูกจะเป็นอย่างไร ผู้คนถามไถ่ บางคนก็พูดตลกๆ ว่า ถ้าวันนั้นครอบครัวไม่อยากกินโดนัทก็ไม่เจอเรื่องแบบนี้ แม่ส้มจึงเริ่มโทษตัวเอง และวนคิดกับคำว่า “ถ้า” ถ้าวันนั้นเป็นอย่างนั้น ถ้าวันนั้นทำแบบนี้ ฯลฯ

Advertisement

ส่วนลูกชายแฝดของแม่ส้มกลับเล่าให้คนอื่นฟังถึงเรื่องราววันนั้นราวกับเป็นเรื่องสนุก “ถ้าหนูเจอโจรนะ หนูจะยืนรับกระสุนอย่างนี้ๆ เลย ปังๆ ๆ ๆ” บ้างก็เล่นกันเองเป็นตำรวจจับผู้ร้าย ใช้มือสองข้างเป็นปืนแล้วยิงเฮดช็อตเข้าที่หัวอีกฝ่ายใส่กันไปมา สิ่งเหล่านี้ยิ่งทำให้เธอกังวลว่าลูกจะซึบซับความรุนแรงเข้าไปในใจมากขนาดไหน และเธอควรทำเช่นไร

นอกจากความวิตกกังวล อารมณ์ที่เกิดกับแม่ส้มคู่ไปกันคือความโศกเศร้าสะเทือนใจ เพราะผู้เสียชีวิตหลายคนเธอก็รู้จักคุ้นเคย ทุกครั้งที่ได้ยินเรื่องการสูญเสียของแม่และเด็ก เธอจะร้องไห้

วันที่ 13 กุมภาพันธ์ ห้าง Terminal 21 จัดกิจกรรม Korat Stronger Together เพื่อปลอบขวัญชาวโคราชขึ้นในพื้นที่เกิดเหตุ แม่ส้มไปร่วมกิจกรรมด้วย ทันทีที่เห็นประตูทางเข้า เธอร้องไห้ มือสั่น ใจสั่น เห็นหน้าพนักงานร้านโดนัทก็ร้องไห้ เธอเข้าพบคุณหมอจิตเวชจากกรมสุขภาพจิตที่มาเปิดโต๊ะบริการที่ห้างในวันนั้น ได้ทำแบบสอบถามทางจิตวิทยา และได้รับยาแก้วิตกและยานอนหลับกลับบ้าน ทว่าเธอตัดสินใจไม่กินยา เพราะลูกชายคนหนึ่งของเธอยังนอนไม่ค่อยดี บางคืนก็สะดุ้งตื่นกลางดึก หากไม่มีใครตื่นอยู่ข้างๆ ให้อุ่นใจลูกก็จะแย่ หากแม่กินยานอนหลับ ย่อมไม่สามารถรับรู้ความเป็นไปของลูกได้เต็มร้อย

Advertisement

แม่ส้มเล่าว่า หลังจากมาร่วมกิจกรรมสนทนาเยียวยาใจครั้งแรก เก้าวันหลังเกิดเหตุ เธอรู้สึกว่าตัวเองได้กลับบ้าน กลับสู่ความอบอุ่นปลอดภัย และฟื้นฟูใจสู่ความเป็นปกติได้อีกครั้ง

แม่ส้มบอกว่า ในกิจกรรมครึ่งวันนั้น เธอได้อยู่ในบรรยากาศที่ผ่อนคลาย มีคนรับฟังเธอด้วยหัวใจ ไม่ตัดสิน พร้อมกับชี้ให้เห็นสิ่งที่เธอทำได้ดีอยู่แล้ว อีกทั้งมีพื้นที่ให้ลูกแฝดทั้งสองของเธอพูดคุย ระบายสิ่งที่ยังฝังใจ และมีกิจกรรมศิลปะบำบัดให้เด็กๆ ทำ อีกทั้งยังมีอาสาสมัครของผู้ศึกษาโฮมีโอพาธีมาให้คำปรึกษาและจ่ายยาให้เพื่อดูแลพลังงานชีวิตอีกด้วย

“มาตรงนี้ทำให้เรารู้สึกอบอุ่นใจ เพราะบรรยากาศมันเป็นบ้าน เราได้พูด ได้ระบายสิ่งที่อยู่ในใจ มีคนรับฟังและให้คำปรึกษา โดยเฉพาะเรื่องลูก จนทำให้เราคลายใจได้ว่า เด็กๆ เขามีกลไกในตัวเองที่จะวางเรื่องราววันนั้นลงผ่านการเล่น เราปล่อยให้เขาเล่นได้ แต่ต้องย้ำขณะที่เขาเล่นกันว่า คนที่เล่นยิงปืนกันตรงนี้เป็นใคร พาให้เด็กๆ กลับมาที่ความเป็นตัวเขาเองเสมอๆ และเล่นอย่างรู้เนื้อรู้ตัว ครูดลชวนเด็กๆ ทำสมาธิผ่านการให้เด็กๆ นอนหงายแล้ววางผลส้มบนท้อง ให้เขาดูว่าหายใจอย่างไรแล้วส้มที่อยู่บนท้องจะไม่ตก ให้เล่นวางเหรียญบนพื้นเป็นแนวตั้ง ลูกๆ ก็จับเหรียญตั้งได้จำนวนมาก เราและลูกได้ทำสมาธิผ่านการเล่น ซึ่งมันเข้าใจง่าย และลูกก็กลับเอาไปทำที่บ้านได้”

พอหมดความกังวลเรื่องลูกๆ ใจแม่ส้มก็คลาย และมีเวลาดูแลสุขทุกข์ในใจตนเองมากขึ้น แม้ทุกวันนี้เธอจะยังมีภาวะใจแกว่งๆ คือหงุดหงิดง่ายและเผลอคิดกังวลอยู่บ้าง แต่แม่ส้มก็เข้มแข็ง และรู้ดีว่า ทั้งตัวเธอ สามี และลูกๆ ยังต้องดูแลเรื่องราวในใจที่เกิดขึ้นนี้ต่อไปในระยะยาว

ทางด้าน ครูดล-ธนวัชร์ เกตุวิมุติ ผู้นำกลุ่มอาสาสมัครฟังเป็นบุญของเครือข่ายชีวิตสิกขา มาทำกิจกรรมรับฟังผู้ประสบเหตุ เล่าถึงการมาร่วมกิจกรรมของแม่ส้มว่า ช่วยทำให้คนอีกมากได้เข้าร่วมกิจกรรมด้วย “ด้วยความที่เป็นต่างพื้นที่ เราจึงต้องใช้เวลาจูนกันในครั้งแรก ครั้งแรกมีคนมาไม่กี่เคส แม่ส้มคือหนึ่งในนั้น วันแรกที่เจอกัน แม่ส้มยังตกใจและวิตกกังวล โดยเฉพาะเรื่องลูกเขา เราก็ฟังเขา พูดคุยกัน เขาก็บอกว่าได้รับพลังงานอย่างที่ไม่เคยได้รับมาก่อน จากเสียงของแม่ส้ม จึงบอกต่อกันไปปากต่อปากถึงกิจกรรมในรอบที่สอง ทำให้เคสอีกหลายสิบเคสได้รับการดูแล”

ส่วน ขวัญ-วรรณิศา เอี่ยมละออง นักกิจกรรมด้านศิลปะเด็กในพื้นที่ และเป็นหนึ่งในกลุ่มโคราชอาร์ตแคร์ แม้ไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุโดยตรง แต่ขวัญก็พบว่าคนโคราชตกใจและหวั่นไหวอย่างยิ่งกับเหตุการณ์ในคืนนั้น ทุกนาทีเต็มไปด้วยข่าวลือและข่าวจริงสับสนปนเป สุดท้ายคือเธอตัดสินใจปิดรับข่าวสารและเข้านอน แม้เรื่องจะจบลงในวันรุ่งขึ้น แต่อาการตื่นกลัวของผู้คนยังไม่หมดไป เธอจึงชวนพิพิธภัณฑ์แม่ ซึ่งเป็นเครือข่ายกัลยาณมิตรที่ทำงานร่วมกัน ลงมาช่วยกันทำงานกับคนในพื้นที่ พิพิธภัณฑ์แม่จึงชวนครูดลและทีมอาสาสมัครซึ่งเป็นเครือข่ายกัลยาณมิตรออกมาทำงานด้วยกัน พื้นที่รับฟังง่ายๆ ที่รับฟังกันด้วยหัวใจ จึงเกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน

“ขวัญคิดว่าจุดที่ทุกคนช่วยกัน มีอะไรก็เอามามอบให้กัน ทำให้คนโคราชกลับมายืนขึ้นได้อีกครั้ง ทุกคนช่วยกันเดินต่อด้วยการให้ ผ่านสิ่งที่ตัวเองมีคนละเล็กละน้อย กิจกรรมนี้ก็เช่นกันต้องขอบคุณทุกคนมากๆ ที่ทำให้มันเกิดขึ้น”

และ แม่เช็ง-ขวัญพัฒน์ วิวัฒน์วิชา ผู้จัดการมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แม่ ที่ประสานงานและระดมทุนอย่างรวดเร็วจากเพื่อนๆ ของพิพิธภัณฑ์มาเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดกิจกรรม ค่าเดินทาง และค่าอาหารสำหรับอาสาสมัครและผู้เข้าร่วมกิจกรรม บอกว่าในการทำงานเพื่อส่งต่อความรัก กำลังใจ และการเยียวยาสำหรับคนโคราชครั้งนี้ ทีมงานทุกคนได้รับพลังงานกลับมาเติมเต็มด้วยเช่นกัน และสัมผัสได้ถึงความรักของทุกคนที่มีส่วนร่วมในกิจกรรมที่ส่งต่อถึงกันและกันอย่างแท้จริง

“เรารู้สึกอิ่มใจที่มีโอกาสได้ช่วยอะไรบ้างแก่ชาวโคราชที่เราพอจะทำได้ ขณะเดียวกันเราก็รับการเติมเต็มทางจิตใจด้วย และอยากให้ช่วยกันสร้างพื้นที่ของการส่งต่อความรักความห่วงใยเช่นนี้ในที่อื่นๆ อีก ทั้งยามวิกฤต และในพื้นที่ความสัมพันธ์ปกติ เช่นความสัมพันธ์ของครอบครัว คู่รัก เพื่อนร่วมงาน ซึ่งต้องการพื้นที่การรับฟังกันและกันเพื่อเยียวยาหัวใจเช่นกัน”

พรรัตน์ วชิราชัย
www.thaissf.org, twitter.com/jitwiwat

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image