ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี…ท่านเป็นใคร? : โดย พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

ผู้เขียนขอสารภาพ…ไม่ทราบจริงๆ ว่า “บุรุษผู้ยิ่งใหญ่” ท่านนี้เป็นชาวต่างชาติ… เคยได้ยินชื่อเสียงเรียงนามแบบผ่านไป-ผ่านมาในหลายโอกาส เข้าใจแบบ งูๆ ปลาๆ ว่าอีตา “คนไทย” คนนี้ เชี่ยวชาญงานศิลปะ มีชื่อเสียงโด่งดัง เกิดในเมืองไทย…

ชื่อแบบนี้ นามสกุลที่ไพเราะเช่นนี้.. จะเป็นชนชาติไหนมิได้เด็ดขาด.. นอกจากเป็น “คนไทย”

มาทราบภายหลังว่า ท่านผู้นี้ คือ ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร…ท่านเป็นใคร มาจากไหน?

คอร์ราโด เฟโรชี (Corrado Feroci) เป็นชาวอิตาลี เกิดเมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ.2435 (ตรงกับช่วงรัชสมัยในหลวง ร.5) ที่เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี

Advertisement

บิดาคือ นายอาตูโด เฟโรชี และมารดาคือ นางซานตินา เฟโรชี ประกอบธุรกิจการค้า ชีวิตในวัยเด็กเติบโตมาในเมืองฟลอเรนซ์ มหานครแห่งความงดงาม เมืองที่กำเนิดศิลปะเรอเนซองส์ ชื่อก้องของอิตาลี

อาคาร สถานที่ ถนน รูปปั้น ในฟลอเรนซ์ ดาษดื่นไปด้วยงานศิลปกรรม เหมือนเทวดาเนรมิต

หนุ่มน้อยเฟโรซี ถูกหล่อหลอม หลงใหลได้ปลื้ม สนใจในวิชาศิลปะมาตั้งแต่เด็ก โดยเฉพาะผลงานประติมากรรมของ ไมเคิลแอนเจโล (Michelangelo) และโลเรนโซ กีแบร์ตี (Lorenzo Ghiberti)

Advertisement

ไม่มีอะไรมาหยุดความทะเยอทะยานได้…เขามีความตั้งใจแน่วแน่ ใฝ่ฝันที่จะศึกษาวิชาศิลปะและจะเป็นศิลปิน แม้บิดามารดาไม่เห็นด้วย ด้วยต้องการให้มาเป็นทายาทสืบทอดธุรกิจของครอบครัว

เมื่อพ่อแม่ไม่สนับสนุน ก็ต้องหาเงินเรียนเอง… หนุ่มเฟโรชี สมัครไปเป็นลูกมือช่วยงานศิลปินที่มีชื่อเสียงตามสตูดิโอต่างๆ ของเมืองฟลอเรนซ์ เพื่อหาเงินและสร้างประสบการณ์

พ.ศ.2451 ได้เข้าศึกษาในสถาบันศิลปะแห่งนครฟลอเรนซ์ (Accademia di Belle Arti di Firenze) หลักสูตร 7 ปี และจบการศึกษาในปี พ.ศ.2458 ในขณะที่มีอายุ 23 ปี

หนุ่มหล่อเฟโรซี สำเร็จการศึกษาด้วยคะแนนเกียรตินิยมอันดับที่หนึ่ง และได้รับประกาศนียบัตรช่างปั้น ช่างเขียน

ต่อมาได้สอบคัดเลือกและได้รับตำแหน่งเป็น “ศาสตราจารย์ประจำราชวิทยาลัย” ตั้งแต่วัยหนุ่ม

ผู้ร่วมงาน ลูกศิษย์ และผู้คนทั้งปวงให้การยอมรับนับถือว่าศาสตราจารย์ท่านนี้ คือ ของจริง มีความรอบรู้ทางด้านประวัติศาสตร์ศิลป์ วิจารณ์ศิลป์และปรัชญาโดยเฉพาะมีความสามารถทางด้านศิลปะแขนงประติมากรรมและจิตรกรรมเป็นอย่างสูง

ผลงานของท่าน ได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดออกแบบอนุสาวรีย์จากรัฐบาลอิตาลีหลายครั้ง อาทิ ผลงานอนุสาวรีย์ผู้กล้าในสงครามโลกครั้งที่ 1 บนเกาะเอลบา (Elba) เป็นต้น

พ.ศ.2466 (หลังสงครามโลกครั้งที่ 1) ทุกประเทศในยุโรปบอบช้ำ จากสงคราม เศรษฐกิจตกต่ำ ข้าวยากหมากแพง ชาวอิตาลีทั้งปวงก็พลอยลำบากยากจน

โชคชะตาฟ้าลิขิต…ศ.เฟโรซี คือ เพชรเม็ดงาม ที่พระเจ้ามองเห็น

ศ.เฟโรซี เป็นผู้ชนะการประกวดการออกแบบเหรียญ “เงินตราสยาม” ที่จัดขึ้นในทวีปยุโรป

ช่วงเวลานั้น…ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลวง ร.6 ซึ่งทรงมีพระประสงค์ ต้องการบุคลากรที่เชี่ยวชาญในด้านศิลปะตะวันตก เพื่อที่จะเข้ามารับราชการในสยาม

สยามประเทศในเวลานั้น ยังไม่มีรากฐานงานศิลปะ ยังไม่มีโรงเรียนช่างปั้นและยังไม่มีการสอนอย่างเป็นทางการ มีแต่ความเก่งเฉพาะตัวบุคคล บ้านเมืองยังไม่มีงานศิลปะปรากฏ

ในหลวง ร.6 โปรดเกล้าฯ ให้ติดต่อไปยังประเทศอิตาลี เพื่อสรรหาบุคคลพิเศษที่มีความสามารถในการสร้างงานประติมากรรมแบบตะวันตกได้ และต้องมาวางหลักสูตรการศึกษาได้

รัฐบาลอิตาลีจึงส่ง คุณวุฒิและผลงานของ ศ.เฟโรซี ให้ทางการสยามมาพิจารณา

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจิตรเจริญ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงเป็นบุคคลสำคัญในการคัดเลือก และแล้ว ศ.เฟโรซี ถูกคัดเลือกให้มาปฏิบัติงาน รับราชการในสยาม

14 มกราคม พ.ศ.2466 ศาสตราจารย์หนุ่มหล่อ ฝีมือขั้นเทพชาวอิตาเลียน เดินทางถึงแผ่นดินสยามพร้อมกับภรรยา คือ นางฟันนี วิเวียนนี และบุตรสาวโดยทางเรือ ต่อมาได้รับการบรรจุเข้ารับราชการเป็นช่างปั้นประจำกรมศิลปากร กระทรวงวัง

ศาตราจารย์หนุ่มจากอิตาลี อายุ 32 ปี ที่ไม่เคยมีใครรู้จักมาก่อน ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอาจารย์สอนวิชาช่างปั้นหล่อ แผนกศิลปากรสถานแห่งราชบัณฑิตยสภา ในปี พ.ศ.2469

รัฐบาลสยามทำสัญญาให้รับราชการในสยามเป็นระยะเวลา 3 ปี ด้วยอัตราเงินเดือน 800 บาท ก็เป็นที่ฮือฮาไม่น้อย สำหรับเงินจำนวนขนาดนี้ ขณะที่ยังไม่มีใครเห็นฝีมือฝรั่งคนนี้มาก่อน

ท่านได้มีโอกาสเข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เกิดการทดสอบ.. ท่านได้ประทับเป็นแบบให้ปั้น… อาจารย์หนุ่มจากเมืองฟลอเรนซ์โชว์ผลงานชิ้นแรกได้ประทับใจ…เป็นที่ประจักษ์ต่อผู้คนแบบฮือฮา

กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ จึงกราบบังคมทูลฯ เชิญให้ในหลวงรัชกาลที่ 6 ให้ทรงมาเป็นแบบจริง ให้แก่ ศ.เฟโรซี โดยปั้นเฉพาะพระพักตร์ เพื่อทดสอบฝีมืออีกครั้ง…

ผลงานการปั้น เป็นที่พอพระราชหฤทัยอย่างยิ่งนัก และเป็นที่ยอมรับของคนในกระทรวงแบบไร้ข้อกังขา

เมื่อเชื่อฝีมือกันแล้ว…ก้าวแรก คือการวางหลักสูตรอบรมให้แก่ผู้ที่สนใจในวิชาประติมากรรมซึ่งส่วนมากจบการศึกษามาจากโรงเรียนเพาะช่างโดยไม่เก็บค่าธรรมเนียมใดๆ …เรียนฟรี

ซึ่งต่อมาบุคคลที่ผ่านการอบรม ก็เป็นกำลังสำคัญของกิจการงานปั้นหล่อของกรมศิลปากร ทำให้ทางราชการสยามรีบขยายผลแห่งความสำเร็จ…สยามได้คนเก่งจริง ได้ “เพชรเม็ดงาม” มาครอบครอง จึงได้ขอให้ท่านวางหลักสูตรการศึกษารูปแบบเดียวกันกับสถาบันศิลปะในยุโรป

การวางระบบการศึกษาเป็นไปอย่างราบรื่น และทำงานศิลปะให้กับทางราชการ ผลงานทุกชิ้นล้วนตระการตาต่อชาวสยาม…

ท่านมีผลงานที่โดดเด่น เช่น พระราชานุสาวรีย์ของสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ที่สวนลุมพินี อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี พระพุทธรูปประธานที่พุทธมณฑล อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ พระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ที่วงเวียนใหญ่ พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และพระบรมราชานุสาวรีย์ของกษัตริย์ไทยอีกหลายพระองค์

ผู้เขียนเอง..ก็เพิ่งทราบผลงานอันยิ่งใหญ่ของท่าน

พ.ศ.2485 ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศอิตาลีแพ้สงคราม ชาวอิตาเลียนในประเทศไทยจึงตกอยู่ภายใต้กติกาของผู้แพ้สงคราม และเมื่อญี่ปุ่นบุกสยามเมื่อ 8 ธันวาคม 2488 กองทัพญี่ปุ่นต้องการแรงงานไปทำงานสร้างสะพานข้ามแม่น้ำแควที่กาญจนบุรี

รัฐบาลไทยใจถึง พึ่งได้…เจรจากับญี่ปุ่น ขอควบคุมตัวอัจฉริยะท่านนี้ไว้เอง เพื่อคุ้มครองดูแล ไม่ต้องไปถูกเกณฑ์เป็นเชลยศึกให้สร้าง ทางรถไฟสายมรณะ และสะพานข้ามแม่น้ำแคว เมืองกาญจนบุรี

หลวงวิจิตรวาทการ คือ บุคคลสำคัญที่ได้ดำเนินการทำเรื่องราวขอโอนสัญชาติจากอิตาเลียน รีบเปลี่ยนมาเป็นสัญชาติไทย

เปลี่ยนชื่อของท่าน จากนายคอร์ราโด เฟโรซี เป็น “ศิลป์ พีระศรี” เป็นชาวสยามเต็มตัว…หมดเรื่องหมดราว…นี่คือ คนไทย

ครอบครัวของท่านประสงค์เดินทางกลับประเทศอิตาลีพร้อมลูกชายและลูกสาว แต่ตัวท่านขออยู่ในประเทศสยามด้วยความเสียสละเพื่องานและการศึกษาที่กำลังไปได้สวย

ท่านผู้นี้ คือ ผู้วางรากฐานการศึกษา และริเริ่มก่อตั้งวิทยาลัยช่างศิลป์

ท่านได้ริเริ่มวางรากฐานมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2488 การเรียนศิลปะ ศาสตราจารย์ศิลป์กล่าวว่า การศึกษาศิลปะต้องใช้เวลามาก อย่างน้อยต้อง 8 ปี แต่ในระดับปริญญาตรี ใช้เวลา 5 ปี ท่านจึงสนับสนุนให้ตั้งโรงเรียนศิลปศึกษา หรือโรงเรียนเตรียมมหาวิทยาลัยศิลปากร

พ.ศ.2495 สามารถเปิดเป็นโรงเรียนศิลปศึกษาขึ้น และพัฒนาต่อยอดต่อมาจนถึงทุกวันนี้…

ขออ้างอิงข้อมูลจาก The Cloud เมื่อ 21 กันยายน 2561 ที่สัมภาษณ์ คุณอรรถทวี ศรีสวัสดิ์ ศิษย์เก่ารุ่นที่ 7 ซึ่งเข้าศึกษาคณะจิตรกรรมประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อ พ.ศ.2500 และเป็นลูกศิษย์รุ่นรองสุดท้ายที่ได้เล่าเรียนวิชาศิลปะกับอาจารย์ศิลป์

“…ท่านสอนให้ขยันหมั่นเพียร และท่านก็เป็นตัวอย่างที่ดีเสมอมา ชีวิตของอาจารย์ฝรั่งคนนี้…เช้าปั่นจักรยานจากบ้านพัก เมื่อถึงมหาวิทยาลัยเดินตรวจดูความเรียบร้อยทุกห้อง ทุกคณะ สอนคาบเช้า เที่ยงรับประทานอาหารที่ห่อมาจากบ้าน ได้แก่ แซนด์วิชและกล้วยสุก นอนพักประมาณ 15 นาที จากนั้นช่วงบ่ายทำงานราชการ เป็นแบบนี้ทุกวัน ตั้งแต่ 1 โมงเช้าจนถึง 1 ทุ่ม…”

3 คำคมของท่านที่ถูกบันทึกไว้เป็นนิรันดร์ “นายไม่อ่านหนังสือ นายจะรู้อะไร” “ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น” และ “พรุ่งนี้ก็สายเสียแล้ว”

ผลงานของท่าน ประดุจการหว่านเมล็ดพันธุ์ให้แก่คนไทยเพื่อที่จะออกไปสร้างศิลปะเพื่อแผ่นดินไทย ในขณะเดียวกัน ศ.ศิลป์ก็ได้ศึกษาศิลปะไทยอย่างลึกซึ้ง เนื่องจากต้องการให้คนไทยรักษาความงามของศิลปะไทยเอาไว้…

ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้ถึงแก่กรรมที่โรงพยาบาลศิริราชด้วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2505 สิริรวมอายุ 69 ปี 7 เดือน 29 วัน อยู่ในประเทศไทย 38 ปี

ทุกวันที่ 15 กันยายนของทุกปี เป็นวันคล้ายวันเกิดของท่าน จึงได้รับการกำหนดให้เป็น “วันศิลป์ พีระศรี” เพื่อรำลึกถึงครูผู้อุทิศตนทั้งชีวิต เพื่อนักเรียนและศิลปะจนวินาทีสุดท้าย

คิดเล่นๆ ย้อนอดีตไปว่า… ถ้าวันโน้น ราชการสยามมัวแต่เล่นพรรคเล่นพวก รังเกียจ อิจฉา กีดกันฝรั่ง ตะบี้ตะบันสนับสนุนแต่คนกันเอง ใจแคบ ประติมากรรมหลายชิ้นในบ้านเมืองนี้คงไม่ปรากฏให้เราได้เห็น…

คนไทยทั้งปวง..ขอคารวะท่านครับ…

อาจารย์ศิลป์ พีระศรี ผู้เป็นบิดาแห่งวงการศิลปะสมัยใหม่ของประเทศไทยและผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image