คอลัมน์หน้า 3 : พลังใหม่ การเมือง #ไม่เอา ‘รัฐประหาร’ พื้นที่ใหม่ การเมือง

ข่าวลือ “รัฐประหาร” สะท้อนอุณหภูมิทางการเมือง สะท้อนความรู้สึกในทางสังคมอันเป็นความเคยชิน 1 ที่ต่อเนื่องมาอย่างยาวนาน

นั่นก็คือ เมื่อถึงทางตันก็นึกถึง “รัฐประหาร”

เหมือนกับเสียงกู่ร้องอันดังขึ้นในการชุมนุมของ “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” ก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549

เหมือนกับเสียงกู่ร้องของ กปปส.ก่อน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะออกมา

Advertisement

เพียงแต่ลักษณะเอบี ABNORMAL อย่างหนึ่งของสถานการณ์ในเดือนมีนาคม 2563 ที่มีข่าว “รัฐประหาร” ดังกระหึ่ม

เท่ากับให้ “รัฐประหาร” รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กระนั้นหรือ

กระนั้น ปฏิกิริยาที่โต้กลับอย่างทันทีทันควันและขยายตัวอย่างรวดเร็วไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการขยายตัวของ FLASHMOB

Advertisement

นั่นก็คือ การติด#ต้านรัฐประหาร

การติด#ต้านรัฐประหารเป็นเรื่องอันเกิดขึ้นในพื้นที่ “จำเพาะ” และยังไม่แพร่ขยายออกมายังพื้นที่สื่อกระแสหลักของสังคม

ไม่ว่า “โทรทัศน์” ไม่ว่า “หนังสือพิมพ์”

แม้แต่การจะเขียนถึง#ต้านรัฐประหารอันติดเทรนด์ของทวิตเตอร์อย่างต่อเนื่องก็ไม่สามารถระบุรายละเอียดของ “ข้อความ” ได้

แต่เป็นที่รับรู้อย่างกว้างขวางว่า “เป้าหมาย” เป็นใคร

เพราะสังคมรับรู้อยู่เป็นอย่างดีว่า การดำรงอยู่ของคณะรัฐประหารนับแต่เมื่อเดือนกันยายน 2549 ต่อเนื่องมายังเดือนพฤษภาคม 2557

มีความจริงอย่างไร

เป็นใครที่กุมอำนาจทางทหารเอาไว้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เป็นใครที่สามารถก่อให้เกิดการรัฐประหารได้ในทางเป็นจริง

นั่นก็เท่ากับ “รัฐประหาร” ตัวเอง

ประวัติศาสตร์สอนให้รู้ว่า มีแต่ทหารเท่านั้นที่จะสามารถก่อรัฐประหารได้และได้อย่างสำเร็จเด็ดขาด และทหารในที่นี้ความหมายคือ “ทหารบก”

“พลเรือน” อาจก่อรัฐประหารได้

เหมือนที่พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ก่อรัฐประหารโดยรัฐธรรมนูญเมื่อเดือนเมษายน 2476 แต่ในที่สุดก็ถูกรัฐประหารซ้อนในเดือนมิถุนายนปีเดียวกัน

“ทหารเรือ” อาจคิดก่อรัฐประหารได้

เหมือนที่กลุ่มทหารเรือพยายามกระทำในเดือนมิถุนายน 2494 แต่ในที่สุดก็ถูกปราบและกลายเป็น “กบฏแมนฮัตตัน” ในที่สุด

จึงมีแต่ “ทหารบก” เท่านั้นที่สามารถ

ในความเป็นจริงนับแต่รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา อำนาจก็อยู่ในมือของ “คสช.” และรัฐบาลปัจจุบันก็พื้นฐานมาจาก “คสช.”

ใครกันเล่าที่บังอาจจะโค่น “คสช.”

แม้ว่าสังคมจะรับรู้มาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2557 แล้วว่าอำนาจทางการทหาร อำนาจทางการเมืองอยู่ในมือของกลุ่มใด

รู้ว่าใครสามารถทำ “รัฐประหาร” ได้

แต่กระแสต้านรัฐประหารอันสำแดงผ่าน#ก็เป็น 1 ในปรากฏการณ์ที่ท้าทายต่อรัฐประหารไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า#ของแต่ละมหาวิทยาลัยที่แสดงออกในปลายเดือนกุมภาพันธ์

นี่คือการแสดงตัวของ “พลังใหม่” บน “พื้นที่” ใหม่ทางการเมือง

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image