จิตวิวัฒน์ : เพราะ‘ว่าง’ จึง‘วาง’ : โดย พระไพศาล วิสาโล

จิตวิวัฒน์ : เพราะ‘ว่าง’ จึง‘วาง’ : โดย พระไพศาล วิสาโล

จิตวิวัฒน์ : เพราะ‘ว่าง’ จึง‘วาง’ : โดย พระไพศาล วิสาโล

ปล่อยวางเป็นธรรมสำคัญประการหนึ่งของพุทธศาสนา ถามว่าทำไมถึงต้องปล่อยวาง ก็เพราะว่า ไม่มีอะไรที่ยึดมั่นถือมั่นได้ ทำไมไม่มีอะไรที่ยึดมั่นถือมั่นได้ ก็เพราะว่า ไม่มีอะไรที่เป็นตัวเป็นตน ทุกอย่างล้วนแล้วแต่ไม่ใช่ตัวตน เรียกว่าอนัตตา

ไม่ใช่ตัวตน หรือไม่มีตัวตน ไม่ได้แปลว่าไม่มีอะไรเลย หลายอย่างจับต้องได้ เช่น พื้นกระดาน เสาเรือน แม้กระทั่งร่างกายของเรา แม้กระนั้นสิ่งเหล่านี้ก็ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน เป็นอนัตตา ความหมายอันหนึ่งก็คือ เราไม่สามารถเป็นเจ้าเข้าเจ้าของได้ หรือไม่สามารถบังคับบัญชาได้ ในโลกนี้ไม่มีอะไรที่เราบังคับบัญชาได้แม้แต่อย่างเดียว เช่น ร่างกายนี้ เราจะสั่งให้มันไม่แก่ ไม่ป่วย ก็สั่งไม่ได้ เวลามันหิว สั่งให้หยุดหิว ก็สั่งไม่ได้ เวลามันปวดเมื่อย เราสั่งให้มันหยุดปวดเมื่อย เราก็สั่งไม่ได้

จิตใจก็เหมือนกัน เราสั่งให้มันหยุดฟุ้งซ่าน หยุดเศร้า หยุดเครียด หยุดกลัว ได้ไหม สั่งให้มันหยุดเบื่อ หยุดกลัว หยุดเครียด ได้ไหม เราสั่งไม่ได้ แต่ฝึกได้ เหมือนกับเราฝึกหมา เราสั่งมันให้เป็นไปตามใจเราไม่ได้ แต่ฝึกได้ อันนี้คือความหมายหนึ่งของอนัตตา

Advertisement

ความหมายที่ลึกไปกว่านั้นของคำว่าอนัตตาก็คือ ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน หรือไม่มีตัวตนของมันเอง บ้านก็ไม่มีตัวตน ตัวตนที่เป็นบ้านจริงๆ นั้นไม่มี คำว่าบ้านเป็นคำสมมุติที่ใช้เรียกส่วนประกอบต่างๆ เช่น หลังคา เสา ฝาเรือน พื้นกระดาน เมื่อมารวมกัน เราก็เรียกว่าบ้าน แต่ตัวตนของบ้านจริงๆ ไม่มี ถ้าเรารื้อ เอาหลังคา เสา ฝาเรือน พื้นกระดานออกไปหมด ก็ไม่เหลืออะไร มีแต่ความว่า

เปล่า จึงเรียกว่าว่างเปล่าจากตัวตน

“ตัวฉัน” ก็เช่นกัน มันเป็นแค่คำสมมุติ ตัวตนที่เป็นตัวฉันจริงๆ ไม่มี ถ้าคิดว่า ก็ให้ชี้ว่า ตัวเราอยู่ไหน ไม่ว่าชี้ตรงไหนก็ไม่ใช่ตัวเรา แต่เป็นลำตัว หน้าอก หัว แขน ขา ชี้ตรงไหนก็ไม่ถูกตัวเรา หาตัวเราไม่เจอ อันที่จริงแม้กระทั่งหน้าอก หัว แขน ขา ก็ไม่ใช่ตัวตน ที่เราเรียกว่านั่นว่านี่ล้วนแต่เป็นสมมุติทั้งนั้น เช่น ลองชี้ว่าหัวอยู่ไหน ไม่ว่าชี้ตรงไหนก็ไม่ใช่หัว แต่เป็นกระหม่อม หน้าผาก แก้ม จมูก หู ไม่ว่าชี้ไปตรงไหน ก็ไม่ถูกหัว แต่ไปถูกสิ่งอื่นแทน

Advertisement

หัวไม่ใช่ตัวตน ตัวตนที่เป็นหัว ไม่มี หัวเป็นแค่คำที่ใช้เรียกอวัยวะต่างๆ เช่น หน้าผาก กระหม่อม ตา จมูก หู แก้ม ที่มารวมกัน สิ่งอื่นๆ ก็เช่นกัน ที่เราเห็นหรือเรียกว่านั่นว่านี่ล้วนเป็นสิ่งสมมุติ แต่ตัวตนที่แท้ของมันไม่มี เสื้อก็คือคำสมมติที่ใช้เรียกผ้าที่นำมาตัดให้เป็นรูปเป็นร่าง ผ้าที่ตัดแบบหนึ่งเราเรียกว่าเสื้อ ถ้าตัดอีกแบบหนึ่งก็เรียกว่ากางเกง ถามว่าเสื้ออยู่ไหน ลองชี้ดู พอชี้ไป ก็เจอผ้า ตุ๊กตาอยู่ไหน พอชี้ไปก็เจอพลาสติก แต่บ่อยครั้งเราติดกับคำสมมุติจนมองไม่เห็นความจริงที่ลึกไปกว่านั้น จึงมีคำพูดว่า “มองเสื้อไม่เห็นผ้า มองตุ๊กตาไม่เห็นยาง”

อีกตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ง่าย เราลองกำมือดู มือที่กำเราเรียกว่ากำปั้น แต่ถามว่าตัวตนของกำปั้นมีไหม ไม่มี ไม่เชื่อก็ลองแบมือออกดูสิ กำปั้นหายไปแล้ว เหลือแต่ความว่างเปล่า ที่จริงกำปั้นเป็นคำสมมุติที่ใช้เรียกมือที่รวบเข้าหากัน แต่ตัวตนของกำปั้นไม่มี

คำหนึ่งที่คู่กับคำว่าอนัตตา คือ “สุญญตา” แปลว่า “ว่าง” คำว่า “ว่าง” ในที่นี้คือว่างจากตัวตน คือ ไม่มีตัวตน ทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีตัวตนของมันเอง มันเกิดขึ้นได้จากการที่มีส่วนประกอบต่างๆ มารวมกัน รถเกิดขึ้นได้เมื่อมีส่วนประกอบนับพันชิ้นมารวมกัน เช่น พวงมาลัย ล้อ เพลา หม้อน้ำ ตัวถัง เมื่อรื้อเอาส่วนประกอบต่างๆ เหล่านี้ออกหมด ก็จะเหลือแต่ความว่างเปล่า หาตัวตนจริงๆ ของรถไม่เจอ

ร่างกายเราเกิดขึ้นได้เพราะ นอกจากมีหัว มีแขน มีขา มีลำตัว แล้ว ข้างในยังมีปอด มีสมอง มีตับ ไต และอวัยวะต่างๆ ร้อยแปด รวมทั้งของเหลว เช่น เลือด น้ำเหลือง หากแยกเอาสิ่งต่างๆ ออกไปหมด ก็ไม่เหลือร่างกาย อันนี้เรียกว่าตัวตนของร่างกายจริงๆ ไม่มี มันเกิดขึ้นได้จากการรวมกันของส่วนประกอบต่างๆ เรียกว่ามีเหตุปัจจัยต่างๆ มารวมกัน สิ่งทั้งหลายทั้งปวง ไม่ว่ารูปธรรมหรือนามธรรม มีขึ้นได้ก็เพราะเหตุปัจจัยมาทำหรือปรุงแต่งให้เกิดขึ้น

ยกตัวอย่าง นามธรรมเช่น เวทนาหรือความรู้สึกสุข-ทุกข์ก็ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัย เวลาเรากินอาหารอร่อย หรือมีลมเย็นพัดมาเบาๆ สุขเวทนาหรือความรู้สึกสุขก็เกิดขึ้น สุขเวทนาเกิดขึ้นได้เพราะมีเหตุปัจจัยคือ อาหารอร่อย หรือลมเย็นพัดมาต้องตัว รวมทั้งตอนนั้นใจไม่ได้นึกกังวลกับเรื่องใด สุขเวทนาเกิดขึ้นเองไม่ได้ อย่างนี้ก็เรียกว่ามันไม่ใช่ตัวตน ถ้าเป็นตัวตน มันต้องเกิดขึ้นเองได้ นึกอยากเกิดก็เกิด นึกอยากไปก็ไป แต่ความจริงไม่เป็นเช่นนั้น เมื่อมีเหตุปัจจัยถึงพร้อม มันจึงเกิด เมื่อเหตุปัจจัยดับ มันก็ดับ

ความกลัวก็เช่นกัน มันเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน เพราะเกิดขึ้นไม่ได้ ต้องมีเหตุปัจจัยมาปรุงให้เกิดขึ้น เช่น อยู่คนเดียว กลางคืน มีเสียงไม่คุ้นเคยดังขึ้น หรือมีพายุพัดกระโชก แถมนึกปรุงแต่งไปต่างๆ นานา จึงเกิดความกลัวขึ้นมา จู่ๆ ความกลัวจะเกิดขึ้นเองไม่ได้ ถ้าหากอยู่ท่ามกลางผู้คนมากมาย มีเพื่อนฝูงแวดล้อม หรือดูหนังฟังเพลงจนเพลิน ความกลัวก็หายไป ถึงตอนนั้นจะตามหาความกลัวว่ามันอยู่ไหน ก็หาไม่เจอแล้ว เพราะเหตุปัจจัยที่ทำให้กลัวนั้นดับไปแล้ว เป็นเพราะความกลัวเกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย มันจึงไม่ใช่ตัวตน เรียกอีกอย่างว่า ความกลัวเป็นอนัตตา ว่างเปล่าจากตัวตน

เป็นเพราะทุกอย่างไม่มีตัวตนของมันเอง เพราะขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยต่างๆ มากมาย มันจึงไม่คงที่ ไม่คงตัว เหตุปัจจัยแปรเปลี่ยนไปเมื่อใด มันก็เสื่อมสลายหรือดับไป ถ้าเรายึดติดถือมั่นว่ามันเที่ยง เป็นตัวตน คงที่ เราก็จะทุกข์ ผิดหวัง เศร้าโศก โกรธแค้น ถ้าไม่อยากเป็นทุกข์ ก็ไม่ควรยึดติดถือมั่นในสิ่งทั้งหลาย

พูดอย่างนี้ไม่ได้หมายความว่าให้ทิ้งหรือไม่สนใจไยดีสิ่งต่างๆ ตราบใดที่มันยังมีประโยชน์ ก็ใช้มัน แต่ใช้ด้วยใจที่ปล่อยวาง คือไม่ยึดติดถือมั่น เพราะรู้ว่ามันจะแปรเปลี่ยน เสื่อมสลาย หายไปเมื่อใดก็ได้ เมื่อเหตุปัจจัยแปรเปลี่ยนไป หากวางใจได้อย่างนี้ เมื่อมันแปรผันไป ใจก็ไม่ทุกข์

พระไพศาล วิสาโล
www.thaissf.org, twitter.com/jitwiwat

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image