เดินหน้าชน : วิกฤตโควิดระวังรบ.ล้ม? : โดย นายด่าน

สถานการณ์การระบาดไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 กลายเป็นวิกฤตที่ยังลุกลามไปในหลายประเทศทั่วโลก ด้วยยอดของผู้เสียชีวิต และผู้ติดเชื้อที่ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ส่วนในบ้านเราแม้จำนวนผู้เสียชีวิตและติดเชื้อจะไม่ได้มากเช่นในหลายประเทศ แต่แนวโน้มมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น

สวนทางกับมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลที่ใช้ควบคุม ป้องกันการแพร่ระบาด

ในขณะที่การบริหารจัดการในภาพรวมถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไร้ประสิทธิภาพในหลายเรื่อง และ “ไม่ได้สร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนได้เลยว่ารัฐบาลจะเป็นที่พึ่งได้ในยามสถานการณ์ไม่ปกติเช่นนี้”

Advertisement

อย่างเรื่อง “หน้ากากอนามัย” ที่รัฐบาลน่าจะบริหารจัดการได้ง่ายที่สุด กลับกลายเป็นสิ่งที่ประชาชนจับต้องได้ถึงความล้มเหลวในการบริหารจัดการ

ทั้งเรื่องของหน้ากากอนามัยขาดแคลน ประชาชนหาซื้อไม่ได้ มีการกักตุนสินค้าและขายกันในราคาที่สูงลิ่ว

แม้กระทรวงพาณิชย์จะมีการควบคุมราคากลางขาย แผ่นละ 2.50 บาท

Advertisement

มีการออกประกาศเป็นสินค้าควบคุมในการนำเข้าและส่งออก

แม้ช่วงระยะแรกที่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในไทย จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯและ รมว.พาณิชย์ ออกมายืนยันเองว่า “กำลังการผลิตหน้ากากอนามัยทั้งระบบมี 10 โรงงานใหญ่ ผลิตได้รวมเดือนละ 100 ล้านชิ้น แต่มีความต้องการใช้ในประเทศเฉลี่ยเดือนละ 30 ล้านชิ้น ถ้าหากสถานการณ์ยังไม่พัฒนาในทิศทางที่ดีขึ้น และความต้องการใช้จะเพิ่มจาก 30 ล้านชิ้น เป็น 40 และ 50 ล้านชิ้นต่อเดือน ก็ไม่น่ามีปัญหา”

แต่ทั้งหมดสวนทางกับสภาพความเป็นจริง

แถมปัญหาหน้ากากอนามัยขาดแคลนยังขยายวงไปยังกลุ่มโรงพยาบาลรัฐ เอกชน ที่เป็นกำลังหลักในการรักษา เฝ้าระวังผู้ติดเชื้อ ทำให้มีการเปิดระดมทุนรับบริจาคหน้ากากอนามัยทางโซเชียลมีเดีย เพื่อส่งไปให้โรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ

และยิ่งมีการออกมาเปิดโปงเครือข่ายที่เกี่ยวโยงกลุ่มนักการเมือง ฉวยโอกาสกักตุนหน้ากากอนามัยขายเอากำไร

ยิ่งตอกย้ำความล้มเหลวในการบริหารจัดการของรัฐบาล

และหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะถูกนำไปเปรียบเทียบกับการบริการจัดการของประเทศอื่นๆ

ในขณะที่เรื่องของ “มาตรการกักกันกลุ่มแรงงานจากเกาหลีใต้ และบุคคลที่มาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง” แม้จะมีการออกกฎหมาย ออกระเบียบมาควบคุมเพื่อกักตัว 14 วัน

แต่ในทางปฏิบัติก็ยังมีปัญหาในหลายๆ ด้าน ที่ชัดเจนคือ การที่ภาครัฐไม่สามารถควบคุมกลุ่มคนเหล่านี้ให้อยู่ในที่พัก หรือบ้านได้ทั้งหมด

และยิ่งนโยบายที่ปรับเปลี่ยนไปมาในการสั่งกักตัวกลุ่มแรงงาน หรือผีน้อย ที่เดิมภาครัฐจัดหาที่กักกัน ก่อนจะสั่งปิดศูนย์กักกันไม่กี่วันถัดมา และให้ส่งตัวไปกักกันที่บ้าน

ยิ่งสร้างความสับสนแก่ประชาชน

เหล่านี้คือภาพสะท้อนปัญหาของรัฐบาลว่ารับมือสถานการณ์ในยามที่ไม่ปกติได้ดีแค่ไหน

การที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ออกแถลงการณ์ขอให้ประชาชนเชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะรับมือกับวิกฤตโควิด-19 ได้นั้น

ต้องถามกลับไปว่าที่ผ่านมารัฐบาลสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนได้มากแค่ไหน

แม้การระบาดของไวรัสโควิด-19 จะเป็นสิ่งที่อยู่เหนือการควบคุม ทั่วโลกได้รับผลกระทบหมด

ยามนี้รัฐบาลต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าเป็นที่พึ่งของประชาชนได้ ไม่เช่นนั้นแล้ววิกฤตไวรัสอาจจะลุกลาม ทำให้รัฐบาลล้มครืนได้

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image