สถานีคิดเลขที่ 12 : ‘วิกฤตโควิด-19’

สถานการณ์การแพร่ระบาดของ “โควิด-19” ในประเทศไทย กลายเป็นเรื่องใหญ่ที่น่าวิตกกังวลของผู้คนมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ
ประการหนึ่ง เป็นเพราะตัวเลขผู้ติดเชื้อที่พุ่งสูงขึ้นเด่นชัดตลอดช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา โดยมีผู้มีชื่อเสียงในสังคมรวมอยู่ด้วย
กลายเป็นว่าสถานการณ์ในไทยขณะนี้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์วิกฤตในซีกโลกตะวันตก ที่กำลังเผชิญหน้ากับการแพร่ระบาดครั้งใหญ่อยู่ ณ ปัจจุบัน
ด้วยเหตุนี้ “โควิด-19” จึงไม่ใช่ “ไข้หวัดธรรมดา” สำหรับสังคมไทยอีกต่อไป

อีกประการหนึ่ง หากเปรียบเทียบกับหลายประเทศเพื่อนบ้านแถบเอเชียที่สามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดได้อย่างอยู่มือและมีสติยิ่งขึ้น รวมทั้งมีมาตรการรองรับความเสียหายด้านอื่นๆ ซึ่งเกิดขึ้นต่อเนื่องจาก “ไวรัสโคโรนา”
กลับดูเหมือนว่าการรับมือ “โควิด-19” ของรัฐบาลไทยในช่วงที่ผ่านมา จะเต็มไปด้วยความสับสน ไร้ทิศทาง กำกวมคลุมเครือ และขัดแย้งกันเองอยู่เป็นประจำ
กระทั่งก่อให้เกิดความไม่มั่นใจ ไม่เชื่อใจรัฐบาล ในหมู่ประชาชนจำนวนมหาศาล ผู้กำลังตื่นกลัวและหวั่นไหวถึงขีดสุด
ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ จากคณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เพิ่งให้สัมภาษณ์กับมติชนทีวีและมติชนสุดสัปดาห์เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเปรียบเทียบว่า “ไวรัสโคโรนา” เป็นตัวเร่งที่ทำให้ประชาชนมองเห็นความ   ไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลชุดนี้และรัฐไทยโดยรวมได้ชัดเจนขึ้น ภายในระยะเวลาอันสั้น
การจัดลำดับความสำคัญของปัญหาไม่ได้, นโยบาย-ทิศทางการดำเนินงานที่สะวิงไปมาตามผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มเฉพาะส่วนชนิดวันต่อวัน ตลอดจนการเกิดความขัดแย้งกันเองในระหว่าง (ผู้นำ) หน่วยงานราชการ
ล้วนแสดงให้สังคมไทยประจักษ์ว่า “ระบบการทำงาน” ของภาครัฐนั้นมีปัญหาและปราศจากเอกภาพ

ภาวะด้อยประสิทธิภาพดังกล่าวยังถูกกระหน่ำซ้ำเติมด้วยข่าวคราว “การฉวยประโยชน์” ดังกรณี “หน้ากากอนามัย” ที่ปรากฏขึ้นท่ามกลางความเดือดร้อนขาดแคลนของสังคม และสภาพการณ์ที่ประชาชนต้องเผชิญหน้ากับปัญหาสุขภาพความเป็นความตาย
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์เอ่ยเตือนว่าแม้คนไทยอาจยอมรับ “เรื่องผิดปกติไม่ชอบธรรม” หลายๆ อย่างได้  แต่คนไทยมัก “โกรธ” และยอมรับเรื่องราวทำนองนี้ไม่ได้

ดังนั้น นับแต่ต้นปีที่ผ่านมา รัฐบาลที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพรรคพลังประชารัฐ จึงกำลังเจอกับ “วิกฤตสำคัญ” สองเรื่องที่ซ้อนทับกันอยู่
ข้อแรก คือ “วิกฤตความชอบธรรม” ซึ่งผูกติดอยู่กับที่มาของรัฐบาลชุดนี้ ที่ไม่ได้เริ่มต้นด้วยกลไก-ขั้นตอนปกติในทางการเมืองระบอบเสรีประชาธิปไตย
ข้อสอง คือ “วิกฤตไร้ประสิทธิภาพ” ที่ปรากฏชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ ผ่านการรับมือ “โควิด-19” การสื่อสารกับสาธารณชนในประเด็นดังกล่าว และภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอันเป็นผลพวงจากโรคระบาด
เมื่อ “วิกฤต” สองประการได้บังเกิดขึ้นและเคลื่อนตัวมาบรรจบกัน นั่นหมายความว่ารัฐบาลกำลังตกอยู่ใน “ภาวะอันตราย”!

Advertisement

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image