ภาพเก่าเล่าตำนาน : สิ่งสวยงามนี้…ชาวอิตาลีออกแบบ : โดย พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

ขณะที่เขียนต้นฉบับนี้… อิตาลีกลายเป็นดินแดนที่มียอดผู้เสียชีวิตจาก COVID-19 “พุ่งแรง” แซงหน้ายอดคนตายประเทศอื่นๆ ไปแบบที่โลกตกตะลึง

บทความตอนนี้ขอชวนพูด ชวนคุย เรื่องชาวอิตาลีกันนะครับ…

คนไทยจำนวนไม่น้อยเคยไปเที่ยว ไปศึกษาในอิตาลี ประเทศที่มีรูปร่างเหมือนรองเท้าบู๊ตยื่นลงไปในทะเล เป็นดินแดนเก่าแก่ มีอารยธรรมกว่า 3 พันปี เป็นเมืองแห่งความงดงามทางสถาปัตยกรรม ตึกรามบ้านช่อง ถนนหนทาง รูปปั้น น้ำพุ ถูกออกแบบให้อ่อนหวาน สง่างาม แฝงด้วยปรัชญา น่าเกรงขาม เหมือนเทวดามาสร้างไว้

สังคมอิตาลีล้ำหน้าโดดเด่นเรื่องแฟชั่น ชอบเรื่องสวยๆ งามๆ ชาวอิตาลีล้วนสนุกสนานเฮฮา พิถีพิถันเรื่องอาหารการกิน เหล้า ไวน์ ชาวอิตาลีชายหญิงหน้าตาดี คนทั่วโลกรู้จักสปาเกตตี รวมถึงรถยนต์ราคาโคตรแพงจากอิตาลี

Advertisement

ถึงแม้จะไกลโพ้นกับประเทศไทยแบบคนละซีกโลก หากแต่โบราณนานมาชาวอิตาลีและชาวสยามมี “สัมพันธภาพพิเศษ” ผูกพันรัญจวนกันมายาวนาน ไทย-อิตาลี พื้นฐานการผสมผสานทางวัฒนธรรมที่หลายท่านอาจจะนึกไม่ถึง…

อนุสาวรีย์ รูปปั้น อาคาร สถานที่ราชการ ในประเทศไทยที่สวยงาม เชิดหน้าชูตา มองเมื่อใดมิรู้เบื่อ ล้วนเป็นฝีมือของทีมงานชาวอิตาลี ครั้งสมัยรัฐบาลสยามไปจ้างมาทำราชการสมัยในหลวง ร.5

ชาวอิตาลี..รุ่งเรืองมาก่อนประเทศอื่นในทวีปยุโรป กรุงโรมเคยเป็นศูนย์กลางความเจริญของจักรวรรดิโรมัน เป็นแหล่งกำเนิดอารยธรรม การเมือง การปกครองของโลกตะวันตก

Advertisement

อิตาลีแย่และย่อยยับที่สุดตอนที่แพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 บอบช้ำยากจนไปหลายทศวรรษ

พ.ศ.2440 เมื่อในหลวง ร.5 เสด็จฯกลับจากประพาสยุโรป ทรงมีพระประสงค์จะสร้างบ้าน สร้างเมือง จัดระบบการปกครองให้ทันสมัย เพื่อมิให้ตกเป็นอาณานิคมของประเทศมหาอำนาจ

ทั้งสถาปนิก วิศวกร ประติมากร จิตรกร มัณฑนากร ชาวอิตาลีคือชนชาติที่เป็นตัวเลือกและได้รับการยอมรับจากราชสำนัก…

ลองมาย้อนอดีต ชื่นชม “ผลงาน” ของกลุ่มสถาปนิกชาวอิตาลี ที่ผู้เขียนขออ้างอิงข้อมูลจาก มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 16-22 สิงหาคม 2562 ….

อาคารศาลาว่าการกระทรวงกลาโหม ข้างวัดพระแก้วฯ แรกเริ่มใช้เป็นโรงทหาร เป็นสถาปัตยกรรมสไตล์นีโอคลาสสิก ออกแบบก่อสร้างโดย โยคิม กราสซี่(Joachim Grassi) ช่วงปี พ.ศ.2425-2427

อาคารธนาคารแห่งประเทศไทย ภายในมีวังตั้งอยู่สองแห่ง คือวังบางขุนพรหม และวังเทวะเวสม์ วังบางขุนพรหมประกอบด้วยตำหนักใหญ่สร้างตามสไตล์บาร็อก โดยมาริโอ ทามาคโน (Mario Tamagno) ในปี พ.ศ.2444 ส่วนจิตรกรรมฝาผนังเป็นผลงานของคาร์โล ริโกลี (Carlo Rigoli)

ธนาคารไทยพาณิชย์ (สาขาตลาดน้อย) อันนิบาล ริกอตติ (Annibale Rigotti) เป็นผู้ออกแบบ เป็นธนาคารที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศไทยตั้งแต่ ปี พ.ศ.2453

อาคารบริษัท อีสต์ เอเชียติก (East Asiatic) สร้างตามสไตล์นีโอเรอเนสซองซ์ในปี พ.ศ.2444 เป็นผลงานของอันนิบาล ริกอตติ

อาคารที่งามเฉิดฉายที่ชาวอิตาลีสร้างผลงานไว้อีก คือ…

ทำเนียบรัฐบาล (เดิมชื่อบ้านนรสิงห์) สร้างเมื่อ พ.ศ.2469 ในรัชสมัยในหลวง ร.6 ออกแบบโดยสองสถาปนิกคือ มาริโอ ทามาคโน และอันนิบาล ริกอตติตามแบบฉบับศิลปะโกธิกตอนปลายของเวนิชคาโดโรพาลาสโซ

พระตำหนักวังสวนกุหลาบ สร้างโดย มาริโอ ทามาคโน

งานชิ้นโบแดงที่สุดอลังการ โดดเด่นเป็นสง่าในแผ่นดินสยาม เป็นที่ยกย่องของคนทั่วโลกคือ พระที่นั่งอนันตสมาคม

สถาปนิกมาริโอ ทามาคโน และอันนิบาล ริกอตติ ออกแบบสร้างพระที่นั่งแห่งนี้โดยใช้หินอ่อนคาร์ราราจากอิตาลี ตัวอาคารและกำแพงประดับด้วยภาพวาดของกาลิเลโอ ชินี (Galileo Chini) และคาร์โล ริโกลี(Carlo Rigoli) ประติมากรรมของวิตตอรีโอ โนวี(Vittorio Novi) และหลานชาย รูดอล์ฟโฟ โนลลี (Rodolfo Nolli)

พระที่นั่งอภิเศกดุสิต และพระที่นั่งอัมพรสถาน สถาปนิกคือ มาริโอ ทามาคโน

พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน แปลว่า พระราชวังแห่งความรักและความหวัง ในหลวงรัชกาลที่ 6 ทรงออกแบบพระราชวังไม้สักทองแห่งนี้ด้วยพระองค์เอง โดยมีสถาปนิกชาวอิตาเลียน เออร์โคล แมนเฟรดี (Ercole Manfredi) เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง

พระราชวังพญาไท ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่ของโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ก็ถูกออกแบบโดยสถาปนิกอิตาลี สร้างเสร็จ พ.ศ.2452

พระราชวังสราญรมย์ ก่อสร้างในปี พ.ศ.2409 โดยสถาปนิกชาติอื่น ก่อนที่จะมีการปรับเปลี่ยนในภายหลัง โดยคาร์โล อีลเลกรี วิศวกรชาวอิตาเลียน

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป์ เป็นผลงานของคาร์โล อีลเลกรี

มิวเซียมสยาม หรือพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ (Museum Siam) พ.ศ.2464 ตัวอาคารออกแบบโดยสถาปนิก มาริโอ ทามาคโน ร่วมกับวิศวกร กอลโล (E.G. Gollo) และกวาเดรลลี (Guadrelli) ส่วนลวดลายตกแต่งออกแบบโดย วิตโตริโอ โนวี

วังจักรพงษ์ ออกแบบคนแรกโดย เออร์โคล แมนเฟรดี ปี พ.ศ.2452

วังปารุสกวัน ก่อสร้างปี พ.ศ.2449 ออกแบบโดย มาริโอ ทามาคโน เริ่มใช้เป็นพิพิธภัณฑ์ตำรวจตั้งแต่ปี พ.ศ.2556 เป็นต้นมา

วัดซางตาครู้ส สถาปนิก อันนิบาล ริกอตติ และมาริโอ ทามาคโน สร้างโบสถ์หลังที่สองในสไตล์นีโอบาร็อก ในปี พ.ศ.2459

วัดนิเวศธรรมประวัติราชวรวิหาร วัดราชบพิธ วัดราชาธิวาสราชวรวิหาร วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม อันสวยหวานก่อสร้างในปี พ.ศ.2442 โดยเออร์โดล แมนเฟรดี

สถานีรถไฟหัวลำโพง เฉพาะหลังคาเหล็กและระเบียงสไตล์นีโอคลาสสิกของทั้ง 14 ชานชาลา ถือเป็นความสำเร็จทางด้านวิศวกรรมล้ำสมัยในแบบนีโอคลาสสิก โดยสถาปนิกและวิศวกรชาวอิตาลี มาริโอ ทามาคโน และอันนิบาล ริกอตติ ปี พ.ศ.2459

สนามมวยราชดำเนิน เริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ.2484 ดูแลการก่อสร้างโดยบริษัทสัญชาติอิตาเลียน ชื่ออิมเพรส อิตาเลียน ออลเอสเตโร-โอเรียนเต (Imprese Italiane All’Estero-Oriente)

พระบรมราชานุสาวรีย์ พระพุทธยอดฟ้า เป็นผลงานการออกแบบของ ศ.คอร์ราโด เฟโรซี (Corrado Feroci) หรือศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี

สะพานมหาดไทยอุทิศ หรือ “สะพานร้องไห้” สร้างโดย คาร์โล อัลเลกรี ในปี พ.ศ.2457 เพื่อรำลึกถึงการเสด็จสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 5 ในปี พ.ศ.2453 สะพานประดับด้วยผลงานปูนปั้นนูนต่ำ โดย วิตตอรีโอ โนวี (Vittorio Novi) ที่สร้างเลียนแบบศิลปะยุคโรมันโบราณ

หอนาฬิกาจีน ในสวนลุมพินี แบบอาร์ตเดโค เป็นผลงานการออกแบบของมาริโอ ทามาคโน

ห้องสมุดเนลสันเฮส์ สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2464 โดยมาริโอ ทามาคโน

อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ มีรูปปั้นทั้งห้าที่ฐานของอนุสาวรีย์เป็นสัญลักษณ์แทน 4 เหล่าทัพ และพลเรือน เป็นผลงานของคอร์ราโด เฟโรซี หรือศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี

อาคารที่ทำการศุลกากรเก่า ออกแบบโดย โยคิมกราสซี่

โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล มีประวัติศาสตร์ยาวนาน ได้รับการออกแบบโดยบริษัทสถาปนิกสัญชาติอิตาเลียน สเตฟาโน คาร์ดู (Stefano Cardu) เป็นต้น

กลุ่มและทีมงานชาวอิตาลียังมีส่วนร่วมในการกำหนด “ตัวเมือง-ผังเมือง” โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณอาคารหรือสิ่งก่อสร้างที่เกี่ยวข้องและมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์

บุคคลสำคัญชาวอิตาลีที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้คือ ศาสตราจารย์คอร์ราโด เฟโรซี หรือศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ผู้ได้รับมอบหมายว่าจ้างจากราชการสยามให้สอนวิชาศิลปะที่โรงเรียนประณีตศิลปกรรม ในสมัยในหลวง ร.6 เป็นผู้วางรากฐาน จัดระบบการศึกษาด้านศิลปกรรม ตั้งสถานศึกษา สอนและทำงาน

ต่อมาสถาบันแห่งนี้คือ มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยชาวอิตาลีท่านนี้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีคนแรกของมหาวิทยาลัย

ผลงานศิลปกรรมต่างๆ อันงดงามที่ปรากฏในแผ่นดินไทยเป็นการทำงานร่วมกัน ผสมผสานระหว่างศิลปกรรมจากอิตาลีและของไทยอย่างกลมกลืน คนไทยที่มีฝีไม้ลายมือ เป็นส่วนหนึ่งของความเลอเลิศ

ชาวอิตาลีเข้ามาสร้างผลงานที่ทรงคุณค่าอนันต์ในแผ่นดินไทย… แต่ที่ฉลาดยิ่งกว่านั้นคือ บรรพบุรุษสยามที่ตัดสินใจ “เลือกใช้คนถูกกับงาน”

ท่ามกลางวิกฤต COVID-19 ที่แสนโหดร้าย ชาวไทยทั้งปวงขอให้เพื่อนชาวอิตาลี ชาวโลกและคนไทยด้วยกัน ผ่านพ้นไปโดยเร็วครับ

พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image