คุณภาพคือความอยู่รอด : กำลังใจแด่ผู้เสียสละ : โดย วิฑูรย์ สิมะโชคดี

คุณภาพคือความอยู่รอด : กำลังใจแด่ผู้เสียสละ : โดย วิฑูรย์ สิมะโชคดี

คุณภาพคือความอยู่รอด : กำลังใจแด่ผู้เสียสละ : โดย วิฑูรย์ สิมะโชคดี

กระแสเรื่อง เชื้อไวรัส COVID-19 ระบาด ได้สร้างความตระหนกตกใจแก่ผู้คนในสังคมไทย (และสังคมโลก) ไม่น้อยเลยทีเดียว

นอกจาก ผู้คนจะกังวลอย่างมากในเรื่องของโรคติดต่อนี้แล้ว ยังตามมาด้วยความวิตกในปัญหาปากท้อง อันเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 กันทั่วหน้าด้วย

เรื่องนี้ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับ รศ.ดร.นพ.ยงยุทธ ศิริวัฒนอักษร รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช เมื่อวันที่ท่านเป็นผู้แทนรับมอบชุดป้องกันร่างกาย และอุปกรณ์ดูแลสุขภาพจาก “บริษัท TKK CORPOR ATION จำกัด” เพื่อการดูแลรักษาผู้ป่วยอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

Advertisement

คุณหมอยงยุทธได้พูดถึงการทุ่มเทของหมอ พยาบาล และผู้ที่เกี่ยวข้องที่ทำงานกันอย่างหนัก โดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยเพื่อสังคมไทย ทั้งที่ปัจจุบันยังขาดชุดอุปกรณ์ทางการแพทย์และอื่นๆ ที่จำเป็นอีกจำนวนมาก

คุณหมอยังเล่าให้ฟังว่า ช่วงนี้ หมอหรือพยาบาลต้องไม่เป็นอะไรเลย เพราะใครคนใดคนหนึ่งติดเชื้อไวรัสแล้วต้องหยุดงานหรือต้องกักตัว 14 วัน หอผู้ป่วยคงจะวุ่นวายเกินคาด

พูดง่ายๆ ว่า ถ้าหมอ พยาบาล หรือใครคนใดคนหนึ่งป่วยเพราะติดโรค COVID-19 จนต้องลาหยุดหรือต้องกักตัว หมอคนอื่นๆ และคนที่เกี่ยวข้องก็จะต้องถูกกักตัวอย่างน้อย 14 วันไปด้วย ในภาวะที่หมอมีความสำคัญเพราะขาดใครไม่ได้เลย จะทำกันอย่างไรต่อไป เพราะฉะนั้นนอกจากหมอจะต้องป้องกันตนเองอย่างเต็มที่แล้ว ชุดที่ต้องสวมใส่เพื่อป้องกันการติดต่อของเชื้อไวรัส และอุปกรณ์ของใช้เพื่อทำความสะอาดต่างๆ ก็มีความสำคัญอย่างยิ่งด้วย

Advertisement

ผมได้ฟังแล้วถึงกับอึ้งเลยและมีความเชื่อมั่นในความทุ่มเทของบุคลากรทางการแพทย์ของเราเพิ่มมากขึ้น

ยิ่งผมได้อ่านบทความของ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช เรื่อง “ทำไมประเทศไทยจึงชะลอการระบาดของโรค COVID-19 ได้” ผมยิ่งมั่นใจว่า พวกเราจะผ่านพ้นปัญหานี้ได้ในเร็ววัน

นพ.วิจารณ์ได้กล่าวอ้างถึง นพ.วิชัย โชควิวัฒน ในเวทีเสวนาที่สวนสามพรานเมื่อเร็วๆ นี้ว่า ประเทศไทยรับมือ COVID-19 ได้ดี เพราะเรามีระบบงานด้านระบาดวิทยาที่ดีมาก ดีทั้งด้านการจัดระบบการเฝ้าระวังโรคระบาด และดีด้านการเตรียมพัฒนากำลังคน คือ นักระบาดวิทยาภาคสนาม (fieldepidemiologist) โดยเอาระบบมาจาก US CDC ดังนั้น การรับมือ COVID-19 ของกระทรวงสาธารณสุขไทย จึงทำอย่างเป็นระบบ ใช้ความรู้ และวิธีการที่ถูกต้อง

จีนพบผู้ป่วยที่มีอาการปอดบวมในวันที่ 2 ธันวาคม 2562 วันที่ 8 ธันวาคม ก็บอกได้ว่า เกิดจากโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ จากการทำ Sequencing เชื้อไวรัส และประกาศให้โลกรู้วันที่ 31 ธันวาคม 2562

ประเทศไทยเราตั้งรับอย่างรวดเร็ว วันที่ 1-2 มกราคม 2563 ก็เริ่มตรวจคัดกรองที่สนามบิน และพบผู้ติดเชื้อรายแรกวันที่ 8 และประกาศว่าพบผู้ติดเชื้อรายแรกวันที่ 13 มกราคม ต่อมาวันที่ 2 กุมภาพันธ์ จึงพบผู้ติดเชื้อที่ติดภายในประเทศ

เป้าหมายของมาตรการควบคุมโรค COVID-19 คือ ให้มีการเพิ่มจำนวนผู้ติดเชื้อช้าๆ สามารถดูแลผู้มีอาการได้ และกักบริเวณผู้ติดเชื้อได้ทั้งหมด และจัดการให้ผู้ที่ตรวจพบว่าติดเชื้อไม่แพร่เชื้อต่อได้ และที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่าการจัดการโรค ก็คือการจัดการความตื่นตระหนก (panic) ของสาธารณชน ซึ่งไทยเราก็ทำได้ดีพอสมควร

ผมจึงขอแสดงความคารวะอย่างสูง แด่ “ผู้เสียสละ” ทั้งคุณหมอ คุณพยาบาล บุคลากรทางสาธารณสุข และทุกผู้คนที่เกี่ยวข้องกับการดูแลคนไทยทุกคนในวันนี้ โดยขอร่วมให้กำลังใจทุกท่านแบบเต็มร้อย ด้วยความเชื่อมั่นเหมือนคนไทยทุกคน ครับผม !

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image