จิตวิวัฒน์ : อยู่กับ‘ความว่าง’ ช่วงไวรัสระบาด : ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย

จิตวิวัฒน์ : อยู่กับ‘ความว่าง’ ช่วงไวรัสระบาด : ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย

จิตวิวัฒน์ : อยู่กับ‘ความว่าง’ ช่วงไวรัสระบาด : ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย

สองสามวันที่ผ่านมานี้ ผมใคร่ครวญกับคำว่า “Business as Usual” หรือแปลเป็นไทยได้ว่า “ยุ่งอยู่” หมายถึงเคยทำอะไรก็ทำอย่างนั้นต่อไป ทำงาน ดิ้นรนกับการใช้ชีวิต พยายามตกหลุมรัก สร้างครอบครัว และก็ตาย แต่ไวรัส COVID-19 มันเข้ามาทำลายแบบแผนการดำเนิน “ชีวิตปกติ” ลงไป

ชีวิตปกติของคนทั่วไป เป็นชีวิตแบบ “อยู่ยุ่ง” คือยุ่งกับเรื่องที่ประเดประดังเข้ามาตรงหน้า ไม่ว่าจะเรื่องงาน เรื่องส่วนตัว เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องการเมือง เรื่องหัวใจ เรื่องลูกหลาน จนแทบทุกวินาที ไม่มีเวลาที่จะพักเบรกจากชีวิตที่สตรีมมิ่งเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย หลายคนคิดว่ามันเป็นเรื่องของสถานการณ์บังคับ แต่สำหรับบางคน เขาเสพติด “ความยุ่ง” โดยไม่รู้ตัว

อาการเสพติด “ความยุ่ง” หรือที่เรียกภาษาอังกฤษว่า Busyness Addiction นักจิตวิทยาบอกเราว่าอาการเสพติดคือการที่ร่างกายหรือจิตใจเราต้องพึ่งพิงอยู่กับบางสิ่งบางอย่าง “ความยุ่ง” เองก็ไม่ต่างกับสารเสพติดบางอย่างเช่นยาเสพติดหรือแอลกอฮอล์ มันไปกดบางอย่างลงและไปกระตุ้นบางอย่างในตัวเรา ในกรณีนี้ “ความยุ่ง” อาจจะเป็นเครื่องมือที่เราใช้ในการเก็บกดความรู้สึกบางอย่างที่เราไม่อยากสัมผัส หรืออาจจะเป็นวิธีการที่เราใช้ในการรับมือกับความไม่สบายใจ มันเป็น “กระบวนท่าหลบหลีก” ที่เรางัดมาใช้เมื่อชีวิตเราพัง ไม่ว่าจะเกิดจากสัมพันธภาพที่ล้มเหลว จากการถูกบูลลี่ หรืออะไรก็ตาม ดังนั้นสิ่งที่น่ากลัวที่สุดสำหรับคนประเภทนี้ก็คือ “ความว่าง” หรือการไม่มีอะไรจะทำ

Advertisement

ทีนี้เมื่อเราใช้กระบวนท่าแห่งความยุ่งขิงบ่อยๆ จนมันติดตัวเรา กลายเป็นส่วนหนึ่งแล้ว มันก็จะค่อยๆ กลายมาเป็น “เครื่องหมายการค้า” ของตัวเรา หมายถึงเราไม่เพียงรู้สึกปลอดภัยที่จะยุ่งตลอดเวลา แต่เรารู้สึกว่าการที่เรายุ่งนั้นหมายถึงว่าตัวเรายังเป็นคนที่ “มีคุณค่า” มีตัวตน การนำเอาตัวตนของเราไปแปะเอาไว้กับตารางงานที่ยุ่งเหยิง ถ้าถอยออกมาดูสักนิดก็จะพบว่ามันเป็นเรื่องเหลวไหลไม่น้อย ผมจึงรู้สึกเป็นห่วงมิตรสหายหลายคนในช่วงนี้ที่ไวรัสระบาด ออกมาบ่นในโซเชียลเรื่องความว่างที่มาเยือนเขาโดยไม่รู้ตัวภายในวันเดียว

“จากคนที่ยุ่งมากๆ กลายเป็นว่างมากๆ ภายในวันเดียว งงเลย ช็อก”

ไวรัสตัวนี้จึงเป็นสิ่งที่เข้ามาพังทลายแบบแผนเดิมของความคุ้นชิน สร้างให้เกิดรอยแยกในชีวิต…

Advertisement

ผมเคยอบรมทักษะการฟังให้กับบริษัทแห่งหนึ่ง ในระหว่างอบรม ผู้บริหารระดับสูงที่เชิญผมไปมาแอบกระซิบว่า ต้องขอออกไปโทรศัพท์ ผมแกล้งบอกไปว่าไม่ได้หรอก เพราะพนักงานของคุณทั้งหมดก็อยู่ที่นี่แล้ว ถ้าคุณออกไปก็เท่ากับว่าไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องที่เรากำลังทำอยู่น่ะสิ ระหว่างที่บอกเธอไปอย่างนั้น ก็สังเกตเห็นอาการกระสับกระส่าย เหมือนกับเธอจะตายให้ได้ถ้าไม่ได้ออกไปโทรศัพท์ สีหน้าแววตามีความวิตกกังวล ทรมาน จะว่าไปการอบรมของผมก็เหมือนกับ “รอยแยก” ของการดำเนินชีวิตตามแบบ “ยุ่งตามปกติ” ของเธอ ในที่สุดผมก็ปล่อยเธอไป น่าเสียดายว่าเธอไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย

มีอยู่ช่วงหนึ่งผม เทพกีตาร์ และแมนนี่ จัดคอร์สอบรมที่เราตั้งชื่อกันเล่นๆ ว่า “ศิลปะแห่งการไม่ต้องทำอะไรเลย” หรือ The Art of Doing Nothing เป็นเวลา 7 วัน และมันก็เป็นเหมือนชื่อที่ตั้งคือ ใน 7 วันนี้ เราไม่ได้ทำอะไรเลย นอกจากการนั่งๆ นอนๆ คุยกัน และเดินไปมาในบ้าน แทบจะไม่ได้ออกไปไหนเลย ในขณะที่คนทั่วไปกำลังสนุกสนานกับเทศกาลสงกรานต์ คอร์สนี้ฟังดูเหมือนง่าย แต่เป็นแบบทดสอบที่ยากมากสำหรับคนที่เสพติดความยุ่ง เพราะมันไม่มีอะไรให้ทำ ยิ่งเป็นช่วงหยุดเทศกาลที่ปราศจากการทำงานตามปกติ การติดต่อสื่อสารเรื่องงานก็หยุดชะงัก ผมแอบคิดว่า ถ้าผู้บริหารผู้มีความยุ่งเป็นสรณะท่านนั้นมาอยู่ในคอร์สนี้ จะอยู่ได้กี่วัน กี่ชั่วโมง กี่นาที

อันที่จริงไวรัสตัวนี้เป็นสิ่งที่พิเศษ เพราะมันคายคืนเวลากลับมาให้เรา แต่ในขณะเดียวกันมันก็แอบขโมยสายสัมพันธ์ที่เรามีกับชุมชนไปด้วย

มันจึงไม่ใช่การอยู่กับความว่าง แต่เป็นการว่างด้วย “ท่าบังคับ” นอกจากนั้นมันยังเป็นการแยกตัวอยู่กับความโดดเดี่ยวโดยสมัครใจ มันเป็นคนละเรื่องกับการสโลว์ไลฟ์ แต่เป็น High Alert หรือสภาวะของการเฝ้าระวัง ในสภาวะแบบนี้ถ้าคุณมีโอกาสที่จะมีเวลาว่าง “ตามปกติ” เราก็สามารถจะไปเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ แต่ตอนนี้คุณทำอย่างนั้นไม่ได้

แต่ถึงไม่มีไวรัสตัวนี้ ผมก็จะไม่แนะนำผู้ที่เสพติดความยุ่งให้หาเวลาไปเที่ยวพักผ่อน คือคุณเคยเห็นคนแบบนี้ไหม ที่สามารถ “เอาเรื่องเที่ยวมาเป็นงาน” เวลาไปเที่ยวเหมือนกำลังเดินตามแผนที่หาขุมทรัพย์ ต้องไปถ่ายรูปสถานที่แนะนำของที่นั่น ต้องไปทานอาหารมิชลินที่ร้านนั้นร้านนี้ ต้องไปพักที่โรงแรมนั้นโรงแรมนี้ คนที่เสพติดความยุ่งจะทำให้คนที่ติดตามไปเที่ยวด้วย แทนที่จะได้พักผ่อนกลับกลายเป็นเพิ่มความเครียดเข้าไปอีก วิทยาศาสตร์กายภาพอธิบายเรื่องนี้เอาไว้ว่า เป็นเพราะเวลาที่คนเราอยู่ในสภาพเฝ้าระวังอันตราย ร่างกายจะใช้ระบบประสาทซิมพาเธติก หรือที่ภาษากระบวนกรเรียกว่าอยู่ใน “โหมดปกป้อง” สภาวะแบบนี้ร่างกายจะผลิตฮอร์โมนซึ่งทำให้ระบบกล้ามเนื้อเกร็งแข็ง ประสาทสัมผัสการรับรู้ตื่นตัว มีความพร้อมที่จะเข้าเกียร์สู้หรือหนีตลอดเวลา ทำให้เกิดความตึงเครียดตรงกันข้ามกับโหมดปกติ ที่เราช้าลงและสามารถเรียนรู้ เติบโต คนที่ยุ่งตลอดเวลาจึงเสพติดสภาวะของการอยู่ในโหมดปกป้องนี้เอง

ดังนั้นอย่าเข้าใจว่าไวรัสตัวนี้จะพาให้ทุกคนไปนั่งสมาธิ เล่นโยคะ หรือเดินทางเข้าสู่ความสงบภายใน เปล่าเลย สำหรับคนที่ยุ่งเป็นปกติ ก็จะยิ่งยุ่งขึ้น เฝ้าระวังขึ้น และอาจจะเครียดขึ้นอีก เพราะบวกกับความวิตกกังวลที่มีต่อปฏิทินที่เต็มไปด้วยการขีดฆ่า “เลื่อน” หรือ “ยกเลิก”

เช่นเดียวกับการเที่ยวที่ไม่ได้หมายความแค่พาตัวเองไปอยู่ในสถานที่เที่ยว แต่มันเป็นทัศนคติ (ซึ่งจริงๆ ผมไม่ชอบคำนี้ เพราะมันลึกลงไปถึงระดับของ “เจตนา”) ตัว “ความว่าง” ก็เช่นกัน ต้องอาศัยทัศนคติที่ถูกต้อง เราจึงจะได้ประโยชน์จากมัน

แล้วถ้าผมจะแนะนำให้คุณใช้เวลาที่ได้มาใหม่นี้ไปเทคคอร์สอบรมเต้น หรือจ้างอาจารย์มาสอนที่บ้านล่ะ ก็เช่นเดียวกัน หากปราศจากทัศนคติที่ถูกต้อง คุณจะมองเห็นการเต้นเป็นเรื่องงาน และก็จะเอาจริงเอาจังกับมัน ผมมีเพื่อนที่จ้างอาจารย์มาสอนเต้นซัลซ่าที่บ้านและก็ทำตัวเองคอเคล็ด เพราะตั้งใจจะทำให้ได้ดี แต่การเต้นก็เหมือนกับศิลปะของการต่อสู้ซึ่งต้องมีสภาพจิตที่เข้มแข็งแต่ผ่อนคลาย

ดังนั้นแม้แต่การอยู่กับความว่างก็เป็นเรื่องที่ต้องฝึกฝน โชคไม่ดีที่การฝึกฝนนั้น คุณต้องพาตัวเข้าไปอยู่ในที่ชุมชน ไม่ว่าจะเป็นคอร์สอบรมภาวนาต่างๆ เช่น โอโช หรือโกเอ็นก้า แต่จริงๆ คุณฝึกเองที่บ้านก็ได้ โดยเริ่มจากสิ่งที่ง่ายๆ เช่น การสร้างพิธีกรรมของคุณเองในช่วงเช้า ว่าตื่นมาจะต้องทำอะไรบ้าง โดยไม่จำเป็นต้องใช้เวลานาน แต่สามารถทำซ้ำๆ ได้ทุกวันโดยต้องไม่เกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยี แต่เป็นช่วงเวลาที่คุณจะได้อยู่กับตัวเองอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นการทำโยคะ รดน้ำต้นไม้ หรือการเดินรอบบ้าน ส่วนในระหว่างวัน ก็อาจจะฝึกการดื่มกินอย่างมีสติของหมู่บ้านพลัม ซึ่งคุณสามารถหาข้อมูลบนอินเตอร์เน็ตได้ง่าย แต่สิ่งที่ผมปฏิบัติอยู่และได้ผลสำหรับผม ก็คือการก้าวย่างด้วยความรู้สึกตัว หมายถึงว่าไม่ว่าผมกำลังจะทำอะไร ยุ่งอยู่แค่ไหนในชีวิตประจำวัน แต่เมื่อฝ่าเท้าสัมผัสที่พื้นระหว่างเดิน ความรู้สึกตัวจะกลับมา และออกจากความคิดที่ยุ่งเหยิงในขณะนั้น ฟังดูง่าย แต่ผมฝึกมาเป็นสิบปี

ดังนั้นแต่ละคนจะต้องหาวิธีที่ใช้ได้ผลสำหรับตัวเอง ขอให้พวกเราสามารถผ่านวิกฤตนี้ไปได้อย่างปลอดภัยด้วยความรู้สึกตัวนะครับ

ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
www.thaissf.org, twitter.com/jitwiwat

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image