สถานีคิดเลขที่ 12 : ‘ระยะห่าง’ในยามวิกฤต

“การเว้นระยะห่างทางสังคม” (social distancing) ถือเป็นวิธีป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในระดับเบื้องต้นที่ชัดเจนที่สุด เป็นไปได้มากที่สุด และน่าจะทำได้ง่ายที่สุด

แต่ในเชิงรูปธรรมที่เป็นจริง ก็ใช่ว่าทุกคนจะสามารถ “เว้นระยะห่างทางสังคม” ได้อย่างสมบูรณ์

ไม่ว่าจะเป็นผู้คนและครอบครัวซึ่งต้องใช้ชีวิตอยู่ในที่พักอาศัยอันแออัด หรือห้องเช่าขนาดเล็กๆ

ผู้คนที่ต้องเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ ตราบใดที่การทำงานขององค์กรภาครัฐ-เอกชนต่างๆ ยังต้องดำเนินไป (แม้จะไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์)

Advertisement

ผู้คนที่อาจจะยังทำงานจากบ้านไม่ได้หรือไม่คล่องตัว เพราะปัญหาเรื่องการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตที่ยังไม่ครอบคลุมครบถ้วนเสียทีเดียว

ขณะเดียวกัน ต้องยอมรับว่าข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็นสำหรับ “การเว้นระยะห่างทางสังคม” อาทิ หน้ากากอนามัย หรือแอลกอฮอล์ล้างมือนั้นไม่ใช่ทรัพยากรที่หาซื้อมาใช้สอยกันได้ง่ายๆ ในสภาวะปัจจุบัน ส่วนจานชามช้อนส้อม-แก้วน้ำส่วนตัว ก็ไม่ใช่วัสดุอุปกรณ์ในการดำเนินวิถีชีวิตประจำวันอันเป็นปกติของผู้คนทั่วไป

ในการพูดถึง “การเว้นระยะห่างทางสังคม” จึงย่อมมีมิติเรื่องความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจหรือชนชั้นแฝงอยู่ด้วยอย่างมิอาจหลีกเลี่ยง

Advertisement

ในอีกด้านหนึ่ง ขณะที่กำลังมีการรณรงค์ให้ประชาชนในสังคม “เว้นระยะห่าง” ระหว่างกัน

ทว่าสำหรับการดำเนินนโยบาย-มาตรการต่างๆ และการสื่อสารกับสาธารณชน ในประเด็นว่าด้วยการแพร่ระบาดของโควิด-19 นั้น รัฐจะมี “ระยะห่าง” จากสังคมไม่ได้โดยเด็ดขาด

การเพิ่งประกาศใช้ “ยาแรง” ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ได้ช่วยย่น “ระยะห่าง” ในการตระหนักถึงสภาพการแพร่ระบาดของโรคระหว่างรัฐกับประชาชนให้แคบลง

หลังจากก่อนหน้านี้ ภาครัฐมี “ระยะห่าง” จากประชาชนอยู่มากพอสมควร ยังไม่ต้องรวมถึง “ระยะห่าง”    ในการประสานงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐด้วยกันเองดังปรากฏให้เห็นเป็นระยะ

กระทั่งเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา “ระยะห่าง” เช่นนี้ก็ยังคงดำรงอยู่ ผ่านการส่งสารที่ไม่ตรงกันระหว่าง กทม.กับโฆษกรัฐบาล

ยังมีอีกหนึ่ง “ระยะห่างสำคัญ” ที่เริ่มก่อตัวขึ้น ภายหลังการออกคำสั่งให้ปิดห้างร้าน-สถานบริการ-สถานบันเทิงทั่วเมือง นั่นก็คือการมีแนวโน้มจะหลั่งไหลเดินทางกลับต่างจังหวัดของแรงงานรับจ้างจำนวนมากในกรุงเทพฯ ซึ่งยังไม่มีมาตรการทางเศรษฐกิจ-สวัสดิการทางสังคมอย่างชัดเจนมารองรับพวกเขาโดยทันที

ดังนั้น แม้จะมีการตัดความเสี่ยงของการแพร่กระจายโรคจากเมืองสู่ชนบทออกไปส่วนหนึ่งแล้ว ผ่านนโยบายงดการหยุดยาวช่วงเทศกาลสงกรานต์ แต่ความเสี่ยงดังกล่าวก็อาจมาอุบัติขึ้นท่ามกลางกระแสการเคลื่อนตัวของประชาชนระลอกนี้แทน

นี่เป็น “ระยะห่าง” ที่กำลังจะถ่างขยายออก ซึ่งทางผู้รับผิดชอบคงต้องตามแก้-ป้องกันปัญหาต่อไป

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image