สะพานแห่งกาลเวลา : พัสดุกับโควิด-19 : โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

พักหลังมานี้ ผมมักได้รับคำถามบ่อยๆ ถามเล่นๆ ก็มี ที่ซีเรียสจริงจังก็มี คำถามก็คือ เราสามารถติดเชื้อโควิด-19 จากพัสดุ หรือข้าวปลาอาหารที่เราสั่งให้ “ดิลิเวอรี” ถึงประตูบ้านกันได้หรือเปล่า?

เป็นคำถามน่าคิดมากๆ ครับ แต่คำตอบที่เป็นงานเป็นการ มีข้อมูลหลักฐานบ่งชี้ชัดเจนยังไม่มี

อย่าลืมนะครับว่าเจ้าไวรัส “ซาร์ส-โคฟ-2” ที่ก่อโรคโควิด-19 นี้เป็นเชื้อใหม่เอี่ยม เราเพิ่งทำความรู้จักกันเมื่อ 3 เดือนเศษที่ผ่านมานี่เอง ยังมีอะไรใหม่ๆ เกี่ยวกับมันเผยแพร่ออกมาทุกวัน

ที่พอจะนำมาเทียบเคียงเป็นแนวทางชั่วคราวได้ในเวลานี้ เห็นจะเป็นผลศึกษาวิจัยว่าด้วยการคงอยู่ของไวรัสนี้บนพื้นผิวชนิดต่างๆ ซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการ “นิวอิงแลนด์ เจอร์นัล ออฟ เมดิซีน” เมื่อสักสัปดาห์สองสัปดาห์ที่ผ่านมา

Advertisement

ความโดยสรุปของสิ่งที่ทีมวิจัยนี้ค้นพบก็คือ เชื้อโควิด-19 จะอยู่ได้นานกว่าบนพื้นผิวพลาสติก และสเตนเลส เมื่อเทียบกับผิววัสดุที่เป็นทองแดงหรือกระดาษแข็งใช้ทำกล่อง ที่เรียกว่า คาร์ดบอร์ด ครับ

บนผิวพลาสติกและสเตนเลสนั้น ผ่านไปนาน 72 ชั่วโมง หรือ 3 วันแล้ว ยังสามารถตรวจจับได้อยู่

แต่บนผิววัสดุทองแดง มันจะหายไปหมดหลัง 4 ชั่วโมง ส่วนบนกระดาษลัง จะหายไปจนตรวจจับไม่ได้หลัง 24 ชั่วโมง

Advertisement

ข้อที่ควรตระหนักคือ ตัวเลขระยะเวลาที่ว่านี้ อาจต่ำกว่าในความเป็นจริงก็ได้

เหตุผลเป็นเพราะ การทดลองในห้องทดลองนั้น เขาใช้เชื้อที่อยู่ในสารละลาย (บัฟเฟอร์) ซึ่งช่วยให้มันยังมีชีวิตอยู่ได้ แต่ในความเป็นจริง มันอยู่ในของเหลวที่มันคุ้นเคยและชื่นชอบ อย่างเสมหะ น้ำลาย ซึ่งอาจทำให้มันมีชีวิตอยู่ได้นานกว่าในสารในห้องทดลอง

อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงที่ว่า ไวรัสคงอยู่บนผิวพลาสติกได้นานหลายวันนั้น ทำให้เราต้องระมัดระวังโทรศัพท์ในมือให้มากเข้าไว้ ทำความสะอาดบ่อยๆ (ด้วยแอลกอฮอล์ 70 เปอร์เซ็นต์) ได้ก็ดี

ที่สำคัญก็คือ อย่ายื่นโทรศัพท์ให้ใครใช้โดยไม่จำเป็น และอย่ายืมโทรศัพท์คนอื่นมาใช้เป็นดีที่สุด

มีข้อมูลอีกชิ้นของ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (ซีดีซี) ของสหรัฐอเมริกา ที่เผยแพร่ออกมาเมื่อ 24 มีนาคมนี้ว่า ผ่านไปแล้ว 17 วัน ทีมของซีดีซียังตรวจสอบพบร่องรอยของเชื้อบนพื้นผิวของเรือสำราญอยู่เลยครับ

แต่ “ร่องรอย” ที่ว่านั่นไม่ได้หมายความว่ามันยังจะติดต่อมาที่เราได้ แต่เป็นเพียงแค่พบ “อาร์เอ็นเอ” ของไวรัส ซึ่งเป็นสารพันธุกรรมของมันอยู่บางๆ เท่านั้นเอง

ถึงอย่างนั้นก็ยังชวนให้เป็นกังวลอยู่ดี

กลับมาที่พัสดุ ที่เราสั่งให้ส่งถึงบ้าน โชคดีอยู่หน่อยที่ส่วนใหญ่มักบรรจุอยู่ในกล่องกระดาษลัง หรือคาร์ดบอร์ด

กระดาษแข็งเหล่านี้มีรูพรุนจิ๋วๆ อยู่เต็มไปหมด ซึมน้ำได้ง่าย ในกรณีที่เสมหะ หรือน้ำลายปนเปื้อนเชื้อถูกพ่น (จากการไอหรือจาม) ลงไปบนพื้นผิว ก็จะถูกดูดซับเข้าไปในเนื้อกระดาษได้อย่างรวดเร็ว

นี่คือเหตุผลที่ว่า ทำไมบนผิวกระดาษมันถึงอยู่ได้ไม่นานนัก แค่ 24 ชั่วโมงเท่านั้นเอง

นั่นทำให้โอกาสที่จะติดเชื้อจากพัสดุ หรืออาหาร แม้จะมี แต่ก็จัดว่าอยู่ในระดับต่ำมาก

อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ ในช่วงเวลานี้ ไม่เพียงแต่เราที่เป็นผู้รับเท่านั้นที่ระวังตัว แม้แต่คนนำส่งเองก็ระวังตัวอยู่เหมือนกัน พวกเขาสวมหน้ากากอนามัย แทบทุกคนมีถุงมือสวมติดมือ ช่วยลดโอกาสลงไปอีก

ผมไม่รู้ว่าในเมืองไทยเป็นอย่างไร แต่ในหลายๆ ประเทศเขายกเลิกการเซ็นชื่อรับใส่แท็บเล็ตหรืออุปกรณ์อื่นๆ กันแล้วเป็นการชั่วคราว เพื่อตัดปัญหาการแพร่เชื้อจากตัวแท็บเล็ตหรือสไตลัส

ถ้าใครต้องการลดการแพร่เชื้อให้น้อยลงอีกก็ล้างมือ (20 วินาทีนะครับ อย่าลืม) ก่อนรับ รับมาแล้วเตรียมผ้าไว้เช็ดกล่องซะหน่อย แต่ที่สำคัญก็คือ จัดการกับพัสดุแล้ว รีบล้างมืออีกครั้ง

อย่างที่ว่ากันนั่นแหละ ในการรับมือกับเจ้าเชื้อโควิด-19 เนี่ย ความเสี่ยงไม่เคยเป็น “ศูนย์” ครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image