ฟิลิปปินส์กับมาตรการ COVID-19 : โดย สีดา สอนศรี

City workers wearing protective suits disinfect a street, as a preventive measure against the COVID-19 coronavirus, in Manila on March 19, 2020. (Photo by Ted ALJIBE / AFP)

สถานการณ์ระบาดของ COVID-19 ในฟิลิปปินส์ เกิดจากชาวจีน 3 คน เดินทางมาจากประเทศจีนและเจ้าหน้าที่ที่ควบคุมตู้วัดไข้ก่อนถึงการตรวจคนเข้าเมือง ตรวจพบว่ามีไข้สูงเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ จึงได้นำไปรักษา หายป่วย 2 คน เสียชีวิต 1 คน จากนั้นการระบาดก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้รัฐบาลต้องประกาศให้ประเทศอยู่ในสภาวะภัยพิบัติของประเทศ (A State of Calamity No.929) โดยอาศัยรัฐธรรมนูญ มาตราที่ II ตอนที่ 15 และคำแนะนำของกระทรวงสุขภาพ (Department of Health (Department ของฟิลิปปินส์ เรียกว่ากระทรวง) และ Inter-Agency Task Force for Emerging Infectious Diseases-IATF) รัฐบาล ได้ประกาศข้อบังคับ N0.922 และกฎหมายของรัฐ (Republic Act No.10121) หรือที่เรียกว่า The Philippine Disaster Risk Reduction and Management Act 0f 2010 ซึ่งเคยประกาศเมื่อมีภัยพิบัติโดยการแนะนำของ National Disaster Risk Reduction and Management Council ให้รัฐบาลกลาง รัฐบาลท้องถิ่นและภาคเอกชนร่วมมือกันและระดมความช่วยเหลือทุกวิถีทางเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ติดเชื้อและขจัดภัยจาก COVID-19 ให้หมดไป การประกาศนี้มีผลบังคับใช้เป็นเวลา 6 เดือนนับจากวันประกาศ (16 มีนาคม 2020) นอกจากนี้ ยังได้กำหนดให้มีการเฝ้าระวังและกักบริเวณในเกาะลูซอนโดยเริ่มขึ้นในเวลาเที่ยงคืนของวันที่ 16 มีนาคม จนถึงวันที่ 12 เมษายน

รัฐบาลได้ให้ทุกหน่วยงานของรัฐบาลกลางและหน่วยงานการปกครองท้องถิ่นทั่วประเทศร่วมมือและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน รวมทั้งระดมทรัพยากรที่จำเป็นและเร่งด่วนแก่เขตที่ได้รับเชื้อ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยและไม่ก่อให้เกิดความวุ่นวาย ให้หน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมายร่วมมือกับทหารเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของประเทศ ให้รัฐมนตรีฝ่ายบริหาร รัฐมนตรีกระทรวงสุขภาพ และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งทุกกรมที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามประกาศของรัฐบาล NO.929

จากประกาศนี้เองรัฐบาลห้ามประชาชนเดินทางออกจากมหานครมะนิลา (Metro Manila) ทั้ง 17 เมือง ในขณะเดียวกันห้ามประชาชนนอกมหานครมะนิลา เดินทางเข้ามาในมหานครมะนิลา ทั้งทางบก ทางน้ำและทางอากาศ โดยจะมีตำรวจและทหารตรวจตราอยู่ทุกเขตแดน

นอกจากนั้นให้ปิดห้างสรรพสินค้า แหล่งบันเทิงทุกชนิดตั้งแต่โรงภาพยนตร์ สถานที่นวดแผนโบราณ กาสิโน (ที่ทำรายได้ให้กับประเทศ) กิจกรรมต่างๆ ที่รวมคนหมู่มาก สนามบาสเกตบอล โรงเรียน มหาวิทยาลัย (ให้สอนทาง Online) โรงแรมไม่ให้รับผู้เข้ามาพักใหม่ ภัตตาคาร (ให้ซื้อทาง online) ส่านรถไฟฟ้า รถบริการสาธารณะ โรงพยาบาล คลินิก ศูนย์บริการทางการแพทย์ ธนาคาร ร้านขายยา Supermarket ให้เปิดบริการได้ตามปกติ แต่ต้องทำตามมาตรการของรัฐบาลที่กำหนดไว้ นอกจากนี้ นายกเทศมนตรีของทั้ง 17 เมืองในมหานครมะนิลา ได้ประกาศ Curfew ตั้งแต่ 2 ทุ่ม จนถึงตี 5 ของวันรุ่งขึ้น ยกเว้น โรงพยาบาล คลินิก ร้านขายยา ตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม จนถึงวันที่ 14 เมษายน ส่วนบุคลากรที่ทำงาน ในธุรกิจรับจ้างบริการ BPO (Business Processing Outsourcing–) คือการรับงาน บริหารห่วงโซ่อุปทาน การปฏิบัติการทางการวิจัยและพัฒนา งานการเงินและการบัญชี การบริการลูกค้าด้านการตลาด จากบริษัททั้งต่างประเทศและในประเทศ (งานด้านนี้ทำรายได้ให้กับประเทศเป็นอันดับแรกๆ) บริษัทประเภทนี้มีมากในฟิลิปปินส์และมี Call Center ที่ทำงานทั้งกลางวันและกลางคืนเพื่อติดต่อกับต่างประเทศ ที่ได้รับการอบรมในแต่ละธุรกิจมาอย่างดี เพื่อช่วยเหลือพนักงานเหล่านี้ บริษัทได้ตกลงกับกระทรวงแรงงานโดยให้จัดที่พักให้ในช่วงที่มี Curfew

Advertisement

นอกจากนี้ บริษัทใหญ่ๆ ทางด้านอสังหาริมทรัพย์ ห้างสรรพสินค้า บริษัทผลิตเพื่อการส่งออก และโรงแรม กว่า 10 บริษัท ได้ทำความตกลงกับกระทรวงแรงงานและการจ้างงานให้จ่ายเงินโบนัสล่วงหน้าให้กับพนักงาน เช่น บริษัท Solaire Resort Hotel, Ayala Group of Company, Jollibee, Lucio Tan Group เป็นต้น และหน่วยงานรัฐบาลก็จ่ายเงินล่วงหน้าให้กับพนักงานหน่วยงานภาครัฐด้วย อีกทั้งหน่วยงาน PhilHealth ก็บริการตรวจเชื้อฟรีด้วย

เพื่อป้องกันการระบาดของ COVID-19 รัฐบาลมีมาตรการการป้องกันดังนี้

Advertisement

1.หมู่บ้าน (Barangay) จะถูกกักบริเวณ ถ้ามีผู้ติดเชื้อ 2 คนอยู่ในบ้านหรือในบารังไกย์เดียวกัน

2.เทศบาลจะถูกกักบริเวณ ถ้ามีผู้ติดเชื้อที่มาจากบารังไกย์ต่างๆ 2 คน

3.จังหวัดจะถูกกักบริเวณ ถ้ามีผู้ติดเชื้อที่มาจากเทศบาล/เมืองต่างๆ 2 คน

4.รัฐบาลท้องถิ่นจะต้องจัดหางบประมาณช่วยเหลือให้ทันท่วงที

ผู้ใดฝ่าฝืนการประกาศของรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นจะถูกปรับ 20,000 เปโซ หรือ 50,000 เปโซ แล้วแต่กรณี หรือจำคุก 6 เดือน

ความช่วยเหลือจาก NGOs ก็มีมากเช่นกัน หน่วยงานต่างๆ ต่างประกาศให้บริจาค ถุงมือ หน้ากาก และอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับแพทย์ เช่น มูลนิธิทางการแพทย์ได้จัดรถเสบียงเพื่อทำอาหารให้บุคลากรทางการแพทย์ รัฐบาลร่วมกับเอกชนจัดรถไฟฟ้า (E-trikes) เพื่อรับส่งบุคลากรทางการแพทย์ เป็นต้น นอกจากนี้ รัฐบาลจีนยังได้บริจาคชุดทดสอบ COVID-19 จำนวน 100,000 ชุด และ UP (มหาวิทยาลัยแห่งชาติฟิลิปปินส์) ร่วมกับหน่วยงานทางการแพทย์ได้ทดสอบและบริจาคชุดทดสอบให้จำนวน 1,000 ชุด และจะบริจาคให้อีกภายใน 2 สัปดาห์ WHO ได้บริจาคชุดทดสอบและอุปกรณ์ทางการแพทย์มาให้เป็นจำนวนมาก รัฐบาลฟิลิปปินส์ประกาศห้ามสายการบินทุกสายการบินเข้าประเทศในวันที่ 22 มีนาคมนี้ รวมทั้งการให้วีซ่าแก่ชาวต่างชาติด้วย จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย ฟิลิปปินส์จึงปิดประเทศชั่วคราว Duterte กล่าวว่า การปิดประเทศครั้งนี้เป็นการรักษาชีวิตคน

ที่สำคัญที่สุดในยามนี้คือ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งฟิลิปปินส์ (Communist Party of the Philippines) ได้ประกาศสงบศึกและหยุดยิงกับรัฐบาลและมาช่วยรัฐบาลท้องถิ่นเท่าที่จะทำได้ นี่คือความรักชาติของชาวฟิลิปปินส์ Duterte กล่าวว่า “เราไม่แบ่งแยกแต่เรารวมกันเป็นรัฐเดียว ช่วยเหลือกันในยามมีภัยพิบัติ”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image