สถานีคิดเลขที่ 12 : จุดโหว่

การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อรับมือกับสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นั้นแสดงให้เห็นชัดเจนว่ารัฐบาลพยายามจะแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจังขึ้น ด้วยมาตรการ/เครื่องมือหลายด้านที่ชัดเจนขึ้น ด้วยการสื่อสารต่อสาธารณะที่เป็นระบบมากขึ้น

แน่นอนว่าไม่มีใครกล้าเถียงถึงแนวโน้ม-ภาพรวมที่ดีขึ้นข้างต้น

อย่างไรก็ตาม ยังมี “จุดโหว่” บางด้าน ที่ปรากฏให้เห็น หลังจากประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาได้เกือบหนึ่งสัปดาห์ อาทิ

– เรื่องงบประมาณ มีหลายเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลทำการปรับ-รื้องบประมาณ 2563 กันใหม่ โดยมีจุดมุ่งหมายหลัก ในการนำเม็ดเงินที่ถูกจัดสรรให้แก่โครงการ-ภารกิจที่ยังไม่จำเป็นเร่งด่วนหรือยังไม่ถูกใช้สอย มาใช้แก้ปัญหาเร่งด่วนเฉพาะหน้า คือ การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา

Advertisement

แม้บางฝ่ายอาจจะกังวล ไม่สบายใจ หรือไม่ชอบใจกับม็อตโต้ประเภท “ลดงบกองทัพ เพิ่มงบสู้โควิด” หรือ “งบกลางหายไปไหน”

แต่รัฐบาลก็ควรครุ่นคิดกับข้อเสนอนี้ และมีท่าทีตอบสนองที่ชัดเจนในเร็ววัน

-เรื่องเศรษฐกิจ นอกจากนโยบายเยียวยาเบื้องต้นที่หลายคนประเมินว่ายังไปไม่สุดทางและไม่ครอบคลุมผู้ประสบปัญหาทั้งหมดแล้ว

Advertisement

รัฐบาลคงจะต้องเตรียมหาแนวทางรับมือภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ ที่ย่อมจะเกิดขึ้นอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ภายหลังสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคสงบหรือบรรเทาความรุนแรงลง

ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลควรกล่าวถึงเรื่องนี้และเร่งทำนโยบายรับมือ มากกว่าจะปฏิบัติราวกับว่าจะไม่มีหายนะลูกที่สองถือกำเนิดขึ้นในอนาคตอันใกล้

-ในท่ามกลางความชัดเจน-จริงจัง ที่ปรากฏกับการปฏิบัติงานของหน่วยงานภาครัฐทั้งหมดตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็ยังมีอะไร “ล้นๆ” หลุดออกมาจากคนของรัฐบาลเป็นระยะ

ไม่ว่าจะเป็นคำพูดของรัฐมนตรีท่านหนึ่ง ซึ่งนำไปสู่ความไม่พอใจในหมู่คณะแพทย์และสังคม จนต้องมีการขอโทษขอโพยตามมา ทั้งที่ไม่ควร “หลุดปาก” ไปตั้งแต่แรก

หรือการเกิด “สงครามไข่ไก่” ระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งพรรคที่ไม่มีหน้าที่กำกับดูแลกระทรวงพาณิชย์โดยตรง ก็ดันพยายามจะทำโครงการขายไข่ให้ประชาชนเสียเอง

ส่วนพรรคที่ต้องรับผิดชอบงานซึ่งจะทำให้ประชาชนสามารถซื้อหาไข่ได้อย่างทั่วถึงในราคาที่เป็นธรรม ก็คล่องแคล่วเป็นพิเศษกับภารกิจจับไข่ขายเกินราคา ที่อาจเกี่ยวพันกับโครงการของพรรคการเมืองแรก

เหล่านี้คือตัวอย่างของ “จุดโหว่” บางส่วน ที่ยังดำรงอยู่หลังการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

ทั้งนี้ ภาครัฐและสังคมไม่ควรหลงลืมว่า สาระสำคัญสูงสุดของการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน มิได้อยู่ที่การเน้นหนัก-บังคับ-ควบคุมให้ประชาชนมีระยะห่างระหว่างกัน มุ่งมั่นกักตน หรือดูแล-คุ้มครอง-ป้องกัน-รับผิดชอบตัวเอง

สาระสำคัญของการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน มิได้อยู่ตรงการที่ประชาชนซึ่งกำลังเสี่ยงภัย ต้องระดมทุนบริจาค เพื่อจัดซื้อจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ในการรับมือโรคระบาดกันเอง

แต่สิ่งที่ทุกฝ่ายควรคาดหวังคือประสิทธิภาพการทำงานรับมือโควิด-19 อย่างเท่าทันสถานการณ์ยิ่งขึ้นของรัฐบาล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image