ไบโพลาร์การเมือง กับปรากฏการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 : โดย รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร

ไบโพลาร์การเมือง กับปรากฏการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ไบโพลาร์การเมือง กับปรากฏการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

 

ไบโพลาร์หรือโรคอารมณ์สองขั้ว ในทางการแพทย์ระบุว่าเป็นโรคที่ผู้ป่วยมีอารมณ์แปรปรวนผิดปกติ โดยมีอารมณ์ดีมากจนผิดปกติหรืออยู่ในภาวะอารมณ์ดีตื่นตัวผิดปกติ สลับกับการมีภาวะซึมเศร้าอย่างหนักทำให้เกิดความยากลำบากในการทำงาน การเข้าสังคมและการใช้ชีวิตทั่วไป

ที่ผู้เขียนหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมากล่าวเพราะในสภาวการณ์ ปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีทั่วโลกแล้วว่ามวลมนุษยชาติรวมทั้งบ้านเรากำลังเผชิญอยู่กับมฤตยูร้ายที่ชื่อว่าไวรัสโควิด-19 ที่ได้ทำลายล้างชีวิตผู้คนไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งจากปรากฏการณ์ดังกล่าวย่อมนำมาซึ่งความตื่นตระหนกของประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เมื่อปรากฏการณ์การแพร่ระบาดนับวันที่จะรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จำเป็นอยู่เองที่รัฐบาลในฐานะผู้มีบทบาทหน้าที่ในการรับผิดชอบต่อสังคมและประเทศชาติจะต้องมีการเตรียมการ ทั้งการเฝ้าระวังและป้องกันด้วยมิติต่างๆ ซึ่งในการดำเนินการของรัฐบาลจะเห็นได้ว่านำมาซึ่งความพึงพอใจและไม่พอใจของประชาชนบางกลุ่มบางพวกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

Advertisement

อย่างไรก็ตาม ด้วยสถานการณ์ดังกล่าวในความเป็นจริงคงไม่มีรัฐบาลใดที่จะปล่อยให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนและผลกระทบอย่างแน่นอนแต่ในห้วงเวลานี้จะพบว่าบ้านเราหากได้ติดตามข้อมูลข่าวสารจากสื่อแขนงต่างๆ โดยเฉพาะข่าวทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองจะพบว่ากลับมีผู้คนทั้งที่เป็นประชาชนทั่วไป นักการเมืองและนักเลงคีย์บอร์ดต่างออกมานำเสนอข้อมูลข่าวสารที่หลากหลายทั้งที่เป็นจริงและเป็นเท็จผสมผสานกัน

ที่น่าสนใจจากการนำเสนอข้อมูลข่าวสารดังกล่าวจะพบในส่วนของนักการเมืองนั้นกลับมีนักการเมือง (บางคน) ทั้งที่อยู่ในและนอกสภาต่างออกมาแสดงทรรศนะที่ส่อไปในทางที่ไม่ค่อยจะสร้างสรรค์ด้วยรูปแบบลีลา และวาทะที่หลากหลายอยู่ตลอดเวลา ซึ่งการเสนอแนวคิดเพื่อที่จะร่วมผนึกพลังให้ประเทศฝ่าวิกฤตไปได้ถือว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนย่อมที่จะทำได้ แต่กรณีของนักการเมืองบางกลุ่มโดยเฉพาะฝ่ายที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลออกมาแสดงทรรศนะและแนวคิดที่คัดค้านหรือไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลภายใต้ความเดือดร้อนของประชาชน ก็ไม่ทราบว่าคนกลุ่มนั้นคิดได้อย่างไร หรือจากปรากฏการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดจึงนำไปสู่อาการของไบโพลาร์ทางการเมืองที่ไม่มีขอบเขตของความพอเพียงหรือกาลเทศะก็อาจจะเป็นได้

อันที่จริงในสภาวการณ์อย่างนี้เชื่อว่าผู้คนทั้งประเทศตลอดจนรัฐบาลต่างมุ่งหวังที่จะหาทางออกและฝ่าวิกฤตไปด้วยกัน ยิ่งนักการเมืองซึ่งถือได้ว่าเป็นบุคคลสาธารณะด้วยแล้ว ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหนก็ตาม วันนี้หากได้หันหน้าเข้าหากันนำองค์ความรู้และนวัตกรรมที่เห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมก็ควรที่จะนำหรือหยิบยกมาเสนออย่างสร้างสรรค์ การที่นักการเมือง (บางคน) ใช้สถานการณ์บนความทุกข์ยากและเดือดร้อนของประชาชนมาเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวด้วยท่วงทีวาจาหรือวาทะในลักษณะที่จะดิสเครดิตรัฐบาล ถือว่าไม่สมควรยิ่ง และด้วยพฤติกรรมดังกล่าวย่อมนำมาซึ่งความเสื่อมศรัทธาของประชาชนที่มีต่อการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

Advertisement

ต่อกรณีพฤติกรรมของนักการเมืองสอดคล้องกับการที่นิด้าโพลได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง “1 ปีหลังการเลือกตั้งทั่วไป” เกี่ยวกับบทบาทของ ส.ส.ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาหลังเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 พบว่าร้อยละ 36.99 ระบุว่า ส.ส.แสดงบทบาททางการเมืองแบบเดิมๆ เช่นด่ากันไปมา และชอบอ้างประชาชน ในการสำรวจดังกล่าวได้มีการเปรียบเทียบผลการสำรวจ 3 เดือนหลังการเลือกตั้ง พบว่าสัดส่วนของผู้ที่ระบุว่า ส.ส.ส่วนใหญ่แสดงบทบาททางการเมืองแบบเดิมๆ เช่นด่ากันไปมา และชอบอ้างประชาชนมีเพิ่มขึ้น (มติชนออนไลน์ 28 มีนาคม 2563)

จากผลการสำรวจดังกล่าวจะเห็นได้ว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ยังมีทัศนคติและมอง ส.ส.ไปในทางด้านลบ ซึ่งประเด็นนี้คงจะเป็นข้อคิดให้กับนักการเมืองที่อาสาเข้ามารับใช้ประชาชนได้ตระหนักและนำไปขบคิดว่าตนเองเป็นหนึ่งใน ส.ส.น้ำดีหรือน้ำเน่า ทำอย่างไรที่คนจะเข้ามาสู่เส้นทางสายนี้จะมีจิตสำนึกบนพื้นฐานของความพอเพียงและเพียงพอสำหรับการปฏิบัติตนเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมและประเทศชาติเป็นที่ตั้ง

ในบางสถานการณ์โดยเฉพาะห้วงเวลาที่สังคมและประเทศชาติกำลังเผชิญกับวิกฤตอันนำมาซึ่งความเดือดร้อนของเพื่อนร่วมชาติ วันนี้หากนักการเมืองไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาลร่วมผนึกพลังสร้างสรรค์เพื่อสังคมด้วยรูปแบบหรือแนวทางที่จะนำไปสู่การยุติของปัญหาลงได้ ถือว่าเป็นสิ่งที่ควรกระทำและน่าชื่นชมยิ่ง ต่อกรณีการนำเสนอแนวทางที่สร้างสรรค์ให้กับรัฐบาล ขณะนี้พบว่ามีนักการเมืองบางคนได้ดำเนินการอยู่บ้างแล้ว แต่ถ้าหากนักการเมืองรายใดที่ดูเหมือนว่าจะเป็นขาประจำและออกมาค้านทุกเรื่องและมีแนวโน้มหรือส่อไปในทางลักษณะของอาการไบโพลาร์ทางการเมืองกำเริบควรจะใช้สภาวการณ์ ณ เวลานี้ พักอยู่บ้าน หยุดเชื้อเพื่อชาติก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติได้บ้างไม่มากก็น้อย

การปฏิรูปทางการเมืองของประเทศเพื่อยกระดับและก้าวผ่านวังวนหรือหลุมดำของคำว่า “การเมืองน้ำเน่า” ซึ่งเป็นไปตามเป้าประสงค์ของคนส่วนใหญ่ได้นั้นหัวใจที่สำคัญคงอยู่ที่นักการเมืองทั้งมวลว่าตนเองควรจะเริ่มต้นและปฏิบัติอย่างไร หรือจะปล่อยให้เป็นไวรัสที่ประชาชนต้องรังเกียจเดียดฉันท์ตลอดไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image