ภาพเก่าเล่าตำนาน : แรกเริ่มตั้ง‘ร้านขายยาฝรั่ง’ในสยาม โดย พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

ปรัชญาการใช้ชีวิตแบบ “ตัวกู-ของกู” ถูกนำมาประยุกต์ใช้และบังคับใช้ในยามที่ปีศาจโควิด-19 เขย่าโลกจนแทบจะหยุดหมุน

ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลงเมื่อวันที่ 2 กันยายน พ.ศ.2488 ไม่มีภัยพิบัติอะไรที่จะทำร้ายประชากรโลกให้พินาศ ล่มสลายได้มากกว่า ปีศาจโควิด-19

ขณะเขียนต้นฉบับนี้ ประชากรทั่วโลกที่ติดเชื้อมากกว่า 1 ล้านคน เสียชีวิตไปแล้วมากกว่า 5 หมื่นคน …ยังไม่มีวี่แววจะเบาบาง

สิ่งของบางอย่าง ที่ไม่เคยนึกถึงมาก่อนว่าจำเป็น คือ หน้ากาก เจลล้างมือ แอลกอฮอล์ ย่าฆ่าเชื้อโรค กระดาษชำระ กลายเป็น “ของมีค่า” สำหรับมนุษย์บนโลกใบนี้ที่ต้องแสวงหา

Advertisement

มนุษย์ต้องปรับพฤติกรรมการกิน การอยู่ แยกกันเราอยู่ ไม่ขอเข้าใกล้ใครอีกในโลกนี้ การเดินทางไป-มาหาสู่ การคมนาคม ธุรกิจร้านอาหาร โรงแรม การกักตัว 14 วัน การท่องเที่ยว สายการบิน เรือโดยสาร ธุรกิจทั้งปวงพังพินาศทั่วหน้า…

การทำงานแบบ work from home ถูกนำมาใช้

ผู้เขียนอยู่บ้านตามคำสั่ง เลยนึกถึงเรื่อง “หยูกยา” ทั้งหลายที่ชาวสยามต้องใช้ในอดีต โดยเฉพาะยาที่ถูกคิดค้น ผลิตจากโลกตะวันตก (ยาฝรั่ง) …ใครเป็นผู้แรกเริ่มนำเข้ามาขายในสยาม ?

Advertisement

ภาพเก่า…เล่าตำนาน… พอมีคำตอบครับ….

ความรู้เรื่อง “ยา” ในแผ่นดินสยาม แรกเริ่ม ได้มาจากประสบการณ์ที่สั่งสมกันมาหลายชั่วอายุคน รวมทั้งการถ่ายทอดความรู้จากอินเดียโดยอาศัยตำราจิกิจฉา ผสมผสานกับความรู้จากชาวจีนที่ได้จากตำราเน่ยจิง จนเกิดเป็นความรู้ยารักษาโรค

ผู้มีความรู้เรื่องยา เมื่อเข้ารับราชการในราชสำนัก จะดำรงตำแหน่ง “พนักงานเครื่องต้น” ซึ่งทำหน้าที่ปรุง ประกอบพระโอสถถวายองค์พระมหากษัตริย์

ระดับชาวบ้านก็มี “ผู้รู้” บอกกล่าว ดูแลกันเองโดยมีสมุนไพร ผลหมากรากไม้ เทวดา ผีสางนางไม้ น้ำมนต์ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่พึ่ง

“การค้าขายยา” มีการสันนิษฐานเบื้องต้นว่า อาจเริ่มต้นในสมัยที่ชาวโปรตุเกสแล่นเรือมาถึงอยุธยา

โปรตุเกส ส่งทูตมาขอเจริญสัมพันธไมตรีกับกรุงศรีอยุธยา และเริ่มทำการค้าขายกับไทย ประมาณปี พ.ศ.2061 ในแผ่นดินของพระรามาธิบดีที่ 2 การค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าเป็นไปด้วยดี

“ยาฝรั่ง” ที่เข้ามาถึงอยุธยา คือยาจำพวกขี้ผึ้งและยาใส่แผล

ในเวลาต่อมาฝรั่งชาติอื่นๆ คือ สเปน ฮอลันดา และอังกฤษ ก็ตามเข้ามาติดต่อค้าขาย…น่าจะมีเรื่องของหยูกยาปะปนด้วย

ประมาณปี พ.ศ.2205 ในสมัยแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ฯ มีหมอสอนศาสนาฝรั่งเศสเข้ามาในราชสำนัก และส่งคณะทูตจากอยุธยาไปกรุงปารีสหลายคณะ คาดว่าจะมีความรู้เรื่อง “ยาฝรั่ง” มากขึ้น

พ.ศ.2367 สมัยในหลวงรัชกาลที่ 3 มีชาวสกอตแลนด์ ชื่อโรเบิร์ต ฮันเตอร์ ชาวสยามเรียกแกว่า “นายหันแตร” เป็นเจ้าของเรือเดินสมุทรตระเวนค้าขายไปทั่วโลก เข้าติดต่อกับบุคคลในราชสำนัก

นายหันแตร นำสินค้า ผ้าฝรั่ง ผ้าแขก อาวุธปืน รวมทั้งยาควินิน เข้ามาจำหน่าย การค้าขายในสยามรุ่งโรจน์ จึงสร้างห้างสรรพสินค้า สร้างสโมสรเพื่อชาวต่างชาติมาพบปะสังสรรค์

นายหันแตร คนนี้แหละที่ขอซื้อตัว “แฝดอินจัน” หรือ “แฝดสยาม” จากนางนาค ไปจากเมืองแม่กลอง แล้วนำตัวแฝดไปตระเวนแสดง “คนประหลาด” ในอเมริกาและยุโรปเพื่อหาเงิน…

หันแตร ซื้อ-ขาย สินค้าสารพัด มีการโฆษณาขายยาจากต่างประเทศ ต่อมาขายกิจการ “ยาควินิน” ให้หมอบรัดเลย์ แพทย์ชาวอเมริกัน จบแพทยศาสตรบัณฑิตจากนิวยอร์ก ที่อาสาเข้ามาทำงานในสยาม

หมอบรัดเลย์ ชาวสยามเรียก ปลัดเล เมื่อมาถึงเมืองสยามพร้อมภรรยาได้เพียง 20 วัน จัดตั้ง “โอสถศาลา” เป็นเรือนไม้ 2 หลัง บริเวณวัดสัมพันธวงศ์ในปัจจุบัน

มีการจ่าย แจก ยารักษาโรค… จึงถือว่าเป็นบุคคลแรกๆ ในประวัติศาสตร์ที่เปิดห้างขายยาฝรั่งในสยาม หากแต่เป็นการแจกฟรี

ในบันทึกพงศาวดารกล่าวว่า วันที่ 30 ตุลาคม 2378 ถือเป็นวันที่ “เภสัชกรรมชุมชน” ได้ก่อกำเนิดอย่างเป็นระบบ มีเภสัชกรคือนาย ยอน แบติส เป็นผู้ช่วยผสมยาให้หมอบรัดเลย์

กิจการแจกยาไปได้ไม่สวยนัก เพราะชาวสยามในเวลานั้นไม่เชื่อถือยาฝรั่ง เนื่องจากกิจการแพทย์และเภสัชกรรมยังไม่เกิด

ในปี พ.ศ.2421 (ตรงกับรัชสมัยในหลวง ร.4) ชาวยุโรปสองคน คนแรกเป็นเภสัชกรชาวเยอรมันชื่อ แบร์นฮาร์ด กริม อีกคนเป็นหุ้นส่วนชาวออสเตรียชื่อ แอร์วิน มุลเลอร์ ได้เดินทางมายังสยาม

ฝรั่งทั้ง 2 มาบุกเบิกธุรกิจขายยา โดยก่อตั้งห้างจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางเภสัชกรรมและเคมีภัณฑ์ขึ้นที่ถนนโอเรียนเต็ล

สถานประกอบการแห่งนี้ ชื่อว่า สยามดิสเพ็นซารี (Siam Dispensary) ถือได้ว่าเป็นร้านยาในรูปแบบแพทย์ตะวันตก…สมัยใหม่ ทันสมัย โก้ที่สุด แห่งแรกในสยาม

ยาฝรั่งได้ผลชะงัดนัก…ด้วยความรู้ ความสามารถและความชำนาญในวิชาชีพของชาวต่างชาติทั้ง 2 จึงทำให้ชาวสยามเริ่มคุ้นเคย ไว้วางใจ ห้างนี้ เป็นที่รู้จักแพร่หลายและต่อมา ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น เภสัชกรหลวงแห่งราชสำนักไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5

ธุรกิจจำหน่ายยาในสยามเติบใหญ่…มีอนาคต

ในปี พ.ศ.2446 หลังจากในหลวงรัชกาลที่ 5 เสด็จกลับจากประพาสยุโรป พระองค์ทรงนำความภาพเจริญด้านต่างๆ จากยุโรปเข้ามาพัฒนาสยามในทุกด้าน โดยเฉพาะด้านคุณภาพชีวิต

ห้างสยามดิสเพ็นซารี ได้รับเภสัชกรชาวเยอรมัน ชื่อ นายอดอล์ฟ ลิงค์ ผู้มีความมุ่งมั่นแข็งขันเข้ามาร่วมงาน และขยายกิจการใหญ่โตขึ้นในสยาม

เริ่มก้าวแรกจากธุรกิจขายยา …ต่อมาห้างฝรั่งแห่งนี้ ขยายกิจการเป็นห้างสรรพสินค้าในชื่อ B.Grimm & Co. (บี.กริมแอนโก) เพื่อสนองอุปสงค์ของชาวต่างชาติ และความต้องการของชนชั้นสูงรวมถึงชาวบางกอกที่ต้องการใช้ของจากต่างประเทศ

ห้างขายยาฝรั่งแห่งนี้ คือ แก้วสารพัดนึกของชาวยุโรป

กิจการรุ่งเรืองเฟื่องฟู ต่อมาทางห้างจึงได้นำเข้าสินค้าทั้งเครื่องจักรกล วัสดุก่อสร้าง รวมถึงสถาปนิกและผู้รับเหมาในการก่อสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ

กิจการและธุรกิจขายยาจากต่างประเทศ แจ้งเกิดอย่างเต็มตัวในรัชสมัยในหลวง ร.5 เพราะชาวสยามเริ่มเชื่อถือ

สยามเริ่มใช้เงินซื้อยาจากต่างประเทศอย่างมหาศาล

ในหลวง ร.5 ได้มีพระบรมราชโองการประกาศตั้ง “โอสถสภา” โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงปราจิณกิติบดี (พระองค์เจ้าประวิตรวัฒโนดม) เป็นประธานในการซื้อยาจากต่างประเทศ และจ้างนายแพทย์ฮันส์ อดัมสัน (Hans Adamson) หรือ “พระบำบัดสรรพโรค” เป็นผู้ปรุงยา และฝึกหัดวิธีปรุงยาให้แก่ชาวสยาม

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นวิวิธวรรณปรีชา อธิบดีกรมพยาบาล กระทรวงธรรมการ ติดต่อ ฮูโก วิลเลียมส์ (Hugo Williams) นักเคมีชาวเยอรมัน มาเป็นผู้ปรุงยาในโรงงานผลิตยาแห่งแรกของรัฐบาล โดยมีคนไทยเป็นผู้ช่วยปรุงยาและจำหน่ายยา 8 รายการ คือ Quinine sulfate, Soda mint, Cathartic compound, Bismuth Pill, Mecury Iodide, Santonin and calomel, Opium compound

รัฐบาลสยามทำกำไรจากการขายยาได้กำไรมโหฬาร เปิดทำการวันแรกเมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ.2445 ณ เทพศิรินทรพยาบาล ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนไปใช้ชื่อว่า “โอสถศาลารัฐบาล”

“โอสถสภา” และ “โอสถศาลารัฐบาล” เป็นสถานที่สำหรับคนไทยได้ฝึกหัดปรุงยา จนหลายคนมีความชำนาญ โดยคนไทยคนแรกที่สอน ในแผนกแพทย์ผสมยา และเป็นเภสัชกรแผนปัจจุบันคนแรกของประเทศไทย คือ หลวงเภสัชกิจโกศล

ในเวลาเดียวกัน ก็มีชาวต่างชาติมาตั้งธุรกิจขายยาอีกหลายแห่ง ที่มีชื่อเสียงในปัจจุบันคือ ห้างขายยาอังกฤษ (ตรางู) ที่ก่อตั้งขึ้น โดยนายแพทย์ โทมัส เฮย์วาร์ด เฮย์ และ ดร.ปีเตอร์ กาแวน เปิดเป็นร้านขายยาที่ทันสมัย มีเภสัชกรประจำตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง โดยมีสัญลักษณ์รูป “งูถูกศรปัก” เป็นเครื่องหมายการค้า

บริษัทดีทแฮล์ม มาเปิดธุรกิจขายยา… ส่วนใหญ่ห้างขายยาเจ้าของจะเป็นหมอฝรั่ง การค้าขายยาเป็นไปอย่างเสรี มีผู้คนนิยมใช้ยาฝรั่งมากขึ้นเนื่องจากผลการรักษาที่หายเร็วทันใจ เช่น ผงไอโอโดฟอร์มใส่แผลกามโรค เริ่มมีชื่อเรียกยาฝรั่งเป็นภาษาไทยเช่น ยาขาว (Zinc Oxide) เกลือสมาน (Boric acid) น้ำมันระกำ (Wintergreen Oil)

สยามเริ่มตั้งหลักได้ สยามทำยาได้เอง เพราะในเวลานั้นห้างขายยาฝรั่งเขย่งราคายาแพงกว่า 2-3 เท่า และแอบกักตุนเมื่อมีโรคภัยรังแกชาวสยาม

พ.ศ.2457 เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ฝรั่งในยุโรปทำสงคราม ล้างผลาญ ฆ่ากันตายมหาศาล บ้านเมืองพังพินาศ ธุรกิจห้างดิสเพ็นซารี ได้รับผลกระทบ…

22 กรกฎาคม 2460 รัฐบาลสยามประกาศสงครามกับฝ่ายเยอรมันและขอเข้าร่วมเป็นพันธมิตรของอังกฤษ ฝรั่งเศส

พ.ศ.2461 เยอรมันแพ้สงคราม คนเยอรมันทั่วโลก รวมทั้งในสยาม ตกเป็นเชลยของรัฐบาลอังกฤษ ฝรั่งเศส

(ผู้เขียนเคยเขียนถึงกลุ่มวิศวกรชาวเยอรมัน ที่กรมรถไฟหลวงจ้างมาทำงานตั้งแต่ในสมัยในหลวง ร.5 เมื่อสยามประกาศสงคราม บรรดานายช่างจากเมืองเบียร์ที่กำลังเจาะอุโมงค์ถ้ำขุนตานที่ลำปาง ก็ต้องหยุดงาน ถูกควบคุมตัวทั้งหมด ส่งมากรุงเทพฯ แล้วถูกนำส่งต่อไปค่ายกักกันในอินเดียที่อังกฤษควบคุม หากแต่ทางราชการสยามก็ดำเนินการแบบละมุนละม่อม รวมทั้งเรือสินค้าของเยอรมันในสยามก็ถูกยึดเป็นของรัฐบาลสยามด้วย)

สถานการณ์สงครามทำให้บริษัท บี.กริม ซึ่งเป็นบริษัทของคนเยอรมันตกอยู่ในสถานะเชลยศึก นายอดอล์ฟ ลิงค์และภรรยา นางเออร์ม่า พร้อมทั้งบุตรชายทั้งสอง คือ นายเฮอร์เบิร์ตและ ดร.เกฮาร์ด ถูกส่งไปค่ายกักกันของมหาอำนาจอังกฤษในประเทศอินเดีย

เมื่อสงครามสิ้นสุดลง ต่อมาในปี พ.ศ.2463 ครอบครัวลิงค์ จึงกลับมากรุงเทพฯ เพื่อดำเนินกิจการของ บี.กริม ต่อไป

การศึกษาเภสัชศาสตร์แผนตะวันตกอย่างเป็นระบบในสยาม ได้กำเนิดขึ้นในรัชสมัยในหลวง ร.6 จัดตั้ง “โรงเรียนแพทย์ปรุงยา” ขึ้นอีกแขนงหนึ่ง

8 ธันวาคม พ.ศ.2456 มีประกาศกระทรวงธรรมการ เรื่อง “ระเบียบการจัดนักเรียนแพทย์ผสมยา พ.ศ.2457” และจัดตั้ง “แผนกแพทย์ปรุงยา โรงเรียนราชแพทยาลัย”

ผู้เข้าเรียน จะต้องเป็นผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป และต้องเป็นผู้ที่สอบไล่ได้มัธยมปีที่ 6 หลักสูตรมีกำหนด 3 ปี และได้รับ “ประกาศนียบัตรแพทย์ปรุงยา” ปีแรก… รับนักเรียนรุ่นแรกจากนักเรียนแพทย์ปี 1 ที่สนใจเข้ามาเรียนต่อเป็นปีที่ 2

พ.ศ.2477 รัฐบาลได้จัดตั้งคณะกรรมการ เพื่อพิจารณาเค้าโครงการควบคุม และวางรากฐานงานเภสัชกรรม

พ.ศ.2481 ดร.ตั้ว ลพานุกรม เป็น รมว.กระทรวงเศรษฐการ ได้สั่งให้มีการสร้าง “โรงงานเภสัชกรรม”

พ.ศ.2483 สยามประเทศสามารถผลิตยา จำนวน 25 ชนิด ต่อมาได้รวมหน่วยงานทั้งหมด ขยายกิจการ เป็นองค์กรรัฐวิสาหกิจ มีชื่อว่า “องค์การเภสัชกรรม” สังกัดกระทรวงสาธารณสุข มาตั้งแต่ พ.ศ.2509

ย้อนไป พ.ศ.2497 รัฐบาลปรับหลักสูตรเภสัชศาสตร์ให้ทัดเทียมนานาอารยะประเทศ เป็นหลักสูตร 5 ปี และได้มีผลในการใช้ตั้งแต่ พ.ศ.2500 ซึ่งเป็นแนวทางของหลักสูตรเภสัชศาสตร์ที่ใช้จนถึงทุกวันนี้

ปัจจุบัน การศึกษาเภสัชศาสตร์ เภสัชกร คุณภาพยา ของประเทศไทยมิได้เป็นรองใครในโลกหล้า

ขอบคุณบรรพบุรุษ ที่ริเริ่ม สร้าง สั่งสม บ่มเพราะ ความเจริญรุ่งเรืองให้ลูกหลาน …เมืองไทย มีคนดี คนเก่ง ที่ต้องยกย่องอีกเยอะ…

พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image