บทความ : ‘ไข่ไก่’สินค้าอ่อนไหวในทุกเทศกาล โดย ดำเกิง คำแหง

บทความ : ‘ไข่ไก่’สินค้าอ่อนไหวในทุกเทศกาล โดย ดำเกิง คำแหง

บทความ : ‘ไข่ไก่’สินค้าอ่อนไหวในทุกเทศกาล โดย ดำเกิง คำแหง

“ไม่รู้ไข่มันเป็นอะไร เวลาไม่มีเหตุการณ์ใดๆ เกิดขึ้นก็ไม่มีใครสนใจ พอมาวันนี้มีเหตุการณ์ไม่ปกติ ไข่ก็มีความสำคัญขึ้นมาทันที ประชาชนตื่นตระหนกไปซื้อตุนกันจนขาด” เสียงรำพึงของเกษตรกรคนเลี้ยงไก่ไข่ภายหลังความต้องการไข่ไก่สูงขึ้นผิดปกติจากวิกฤตโควิด-19 จนทำให้กลไกตลาดทำงาน เมื่อความต้องการมีมากกว่าจำนวนผลผลิตจึงเกิดปัญหาไข่ขาดแคลน และส่งผลให้ราคาสูงขึ้น ทำให้หลายฝ่ายออกมาแก้ไขปัญหาจริงจัง ทั้งกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรฯ ภาคเอกชน และเกษตรกรเอง จนทำให้วันนี้สถานการณ์ไข่ไก่คลี่คลายขึ้นอย่างรวดเร็ว

“ไข่ไก่” เป็นสินค้าอ่อนไหวที่สุดชนิดหนึ่ง ออกสู่ตลาดทุกวัน วันละ 41 ล้านฟอง คนไทยบริโภคกันวันละ 39 ล้านฟอง เหลือส่วนเกินทุกวัน วันละ 2 ล้านฟอง คำว่าอ่อนไหวคือจะเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ง่ายจากปัจจัยกระทบมากมาย ทั้งสภาพอากาศ เทศกาลต่างๆ กินเจ ปิดเทอม เปิดเทอม ฯลฯ หรือแม้กระทั่งความตื่นตระหนกจากเหตุการณ์การเมือง ปัจจัยมากมายเหล่านี้ส่งผลให้ราคาไข่ไก่ไม่มีเสถียรภาพ และไข่ไก่ก็ยังเหมือนสินค้าเกษตรทั่วไปที่เมื่อใดไข่มีราคาดี เกษตรกรก็พากันเฮโลลงไก่เข้าเลี้ยงมากเกินไปจนไข่ล้นตลาด นำไปสู่ราคาไข่ตกต่ำอีกครั้ง วนเวียนเป็นวัฏจักรเช่นนี้ ทำให้เกษตรกรประสบปัญหาขาดทุนจากราคาไข่ไก่อยู่เสมอจนถึงขั้นเลิกอาชีพไปก็มาก

นี่จึงเป็นที่มาของการจัดตั้ง คณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ หรือ Egg Board ที่มีบทบาทแก้ปัญหาไข่ไก่ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มุ่งสร้างความยั่งยืนแก่เกษตรกรไทย โดยเฉพาะการรักษาเสถียรภาพราคาไข่ไก่ ด้วยการปรับสมดุลการผลิตให้เหมาะสมกับความต้องการบริโภคในประเทศ ลดผลกระทบต่ออุตสาหกรรมไข่ไก่ของไทยจากปัญหาไข่ไก่ล้นตลาด เพื่อให้เกษตรกรสามารถขายไข่ไก่ได้ในราคาที่เหมาะสม โดยไม่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค

Advertisement

การส่งออกไข่ไก่หรือปลดแม่ไก่ยืนกรง เป็นมาตรการที่มักจะถูกนำมาใช้ช่วยเกษตรกรเมื่อเกิดสถานการณ์ไข่ไก่ล้นตลาด ปกติแล้วกรมปศุสัตว์จะขอความร่วมมือไปยังผู้ผลิตไข่ทั้งที่เป็นบริษัทและกลุ่มเกษตรกร ซึ่งคำว่าขอความร่วมมือไม่ใช่บังคับ ก็อาจจะมีทั้งคนที่ให้ความร่วมมือเพื่อช่วยเกษตรกร กับคนที่ไม่ร่วมด้วยช่วยกัน แต่นับว่ายังดีที่คนส่วนใหญ่ร่วมมือ เพื่อช่วยให้ห่วงโซ่การผลิตไข่ของไทยอยู่รอด

ขณะเดียวกัน เพื่อรักษาความมั่นคงทางอาหาร ประเทศต่างๆ ก็มักจะปกป้องเกษตรกรของตนเอง อย่างสหรัฐอเมริกาไม่ยอมให้ต่างชาติส่งสินค้าไก่เนื้อเข้าขายแข่งก็เพื่อปกป้องเกษตรกรของเขา ญี่ปุ่นปกป้องชาวนาของตนไม่ให้ไทยส่งข้าวราคาถูกกว่าที่เขาขายเข้าไปได้ ฉันใดก็ฉันนั้น เอ้กบอร์ดก็ต้องปกป้องเกษตรกรให้แต่ละพื้นที่มีที่ทำมาหากินของตนเองและประชาชนในพื้นที่นั้นๆ ไม่เดือดร้อน… เมื่อไข่ทั้งประเทศล้นประเทศ ยังต้องขอความร่วมมือให้ส่งออกไข่เพื่อลดปริมาณในประเทศ และถ้าไข่ในพื้นที่ภาคใดภาคหนึ่งล้นตลาดและแม่ไก่ก็ออกไข่มาทุกวัน หากไม่มีกฎหมายรองรับ ผู้ค้าไข่ก็จะหาทางระบายโดยส่งไปดัมพ์ราคาที่ภาคอื่น แบบนี้คงปั่นป่วนกันทั้งประเทศ ก็ยังดีเช่นกันที่มีกฎหมายห้ามขายไข่ข้ามเขตออกมารองรับ จัดเป็นอีกมาตรการที่ช่วยป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นได้

ชีวิตเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ต้นทุนไข่ไก่ย้อนหลัง 10 ปี อยู่ที่เฉลี่ยฟองละ 2.22-2.99 บาท มาโดยตลอด ไม่เคยมีปีใดเลยที่ต้นทุนการผลิตไข่ไก่จะต่ำลงไปถึง 1.90 บาท ขณะที่ราคาขายไข่ไก่คละหน้าฟาร์มก็อยู่แต่เพียงฟองละประมาณ 1-3 บาท มาตลอด 50 ปี (ขณะที่ค่ารถเมล์จาก 1.50 บาท ขึ้นเป็น 10 บาทแล้ว) เกษตรกรผู้ผลิตไข่จึงเป็นอีกอาชีพที่น่าเห็นใจ ไม่เหมือนล้งไข่หรือพ่อค้าคนกลางที่ซื้อไข่มาเท่าไหร่ สามารถบวกกำไรก่อนขายได้เสมอ

Advertisement

ไข่ไก่ฉายความอ่อนไหวอีกครั้งเมื่อวิกฤตโควิด-19มาเยือน และก็ด้วยการบริหารจัดการที่ยอดเยี่ยมของกระทรวงเกษตรฯ-กระทรวงพาณิชย์ซึ่งเป็นคณะกรรมการเอ้กบอร์ด ตลอดจนเกษตรกรและผู้ผลิตไข่ทุกราย ทำให้สามารถบริหารจัดการให้ทุกอย่างคลี่คลายลงได้ในเร็ววัน

สินค้าอ่อนไหวขนาดนี้ ถ้าไม่ใช่ยอดฝีมือคงบริหารจัดการให้ดีไม่ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image