เดินหน้าชน วันที่ 7 เมษายน 2563 : โควิดมา-ถุงผ้าหลบ โดย สราวุฒิ สิงห์เอี่ยม

เดินหน้าชน วันที่ 7 เมษายน 2563 : โควิดมา-ถุงผ้าหลบ โดย สราวุฒิ สิงห์เอี่ยม

เดินหน้าชน วันที่ 7 เมษายน 2563 : โควิดมา-ถุงผ้าหลบ โดย สราวุฒิ สิงห์เอี่ยม

พิษสง โควิด-19 ยังไม่หยุดง่ายๆ กิจกรรมทางสังคมต่างๆ ต้องหยุดลง ส่วนกิจกรรมทางเศรษฐกิจแม้จะชะงักแต่มีหลายเซ็กเตอร์ต้องขับเคลื่อนต่อ โดยเฉพาะการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ

รวมถึงการผลิตวัตถุดิบสำหรับผลิตภัณฑ์และอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ป้องกันการแพร่เชื้อและใช้ทางการแพทย์ ทั้งหน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ อุปกรณ์ชุดตรวจ และเสื้อกาวน์

กลุ่มบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ “จีซี กรุ๊ป” เป็นหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานวัตถุดิบหลายชนิดที่จำเป็น จึงต้องเดินสายการผลิตอย่างต่อเนื่อง ภายใต้ข้อจำกัดในการป้องกันการแพร่ระบาด

Advertisement

โดยได้รับแนวทางการปฏิบัติมาจากพาร์ตเนอร์คือ บริษัท Wuhan Youji ในเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย์ ประเทศจีน ศูนย์กลางการระบาดของโควิด-19 ซึ่งเป็นบริษัทผลิตสารเคมีที่ใช้ผลิตเวชภัณฑ์ยา รวมถึงยาฆ่าเชื้อต่างๆ ที่ต้องมีมาตรการป้องกันอย่างเข้มข้น เพื่อให้ผลิตต่อเนื่อง

นอกจากการผลิตวัตถุดิบที่จำเป็นแล้ว “จีซี กรุ๊ป” ยังมอบเสื้อกาวน์ 41,000 ชุด ให้กับโรงพยาบาล 12 แห่ง เป็นเสื้อกาวน์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ผลิตจากเม็ดพลาสติกชนิดโพลีเอทิลีนคุณภาพดี เป็นวัสดุสังเคราะห์กันน้ำ

ออกแบบให้สวมใส่ง่าย ปลายแขนยาว น้ำหนักเบา ระบายอากาศได้ดี มีความเหนียว และยืดหยุ่นสูง ป้องกันเชื้อโรค เลือด และสารคัดหลั่ง ไม่เป็นสื่อนำไฟฟ้า บริเวณคอและบ่าด้านหลังมีรอยบาก สามารถกระตุกเพื่อให้เสื้อฉีกขาดหลังการใช้งานได้เลย ช่วยลดความเสี่ยงติดเชื้อจากคนไข้

Advertisement

รวมทั้ง บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ “จีจีซี” บริษัทใน “จีซี กรุ๊ป” จัดทำ โครงการกรีน เฮลธ์ ผลิตเจลแอลกอฮอล์นำแจกจ่ายให้ประชาชนทั่วไป และมอบกลีเซอรีน 1,250 กิโลกรัม ให้กองเรือยุทธการใช้เป็นส่วนผสมในการจัดทำเจลแอลกอฮอล์แจกจ่ายให้กำลังพลและครอบครัว รวมถึงประชาชนในพื้นที่

ทั้งนี้ ในภาวะวิกฤตโควิด-19 นี้ ทำให้เกิดปรากฏการณ์พลิกกลับสำหรับพลาสติก จากเดิมที่ทั่วโลกรณรงค์ลด ละ เลิก ใช้พลาสติก โดยเฉพาะพลาสติกใช้แล้วทิ้ง เช่น ถุงก๊อบแก๊บ

ประเทศไทยเพิ่งเริ่มเมื่อวันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา ห้างร้านต่างๆ งดให้ถุงพลาสติกกับลูกค้า โดยให้ใช้ “ถุงผ้า” แทน

แต่เมื่อเชื้อโควิด-19 ระบาด ร้านค้าต่างๆ มีมาตรการป้องกันการแพร่เชื้อ เช่น “สตาร์บัคส์” ร้านกาแฟใหญ่ระดับโลกประกาศงดรับแก้วที่นำมาเอง เช่น ร้านกาแฟ “อเมซอน” ของไทย ก็มีมาตรการทำนองเดียวกัน
เมื่อไม่ให้นำแก้วมาเอง ก็ต้องพึ่งแก้วและหลอดพลาสติก

นอกจากนี้ จากมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ที่ให้คนอยู่กับบ้าน จึงแห่ใช้บริการ “ฟู้ดดิลิเวอรี” สั่งซื้ออาหารส่งถึงบ้านกันมากขึ้น ก็จะมีทั้งกล่องใส่อาหาร ถ้วยใส่น้ำจิ้ม และช้อนส้อมพลาสติก

อีกทั้งในทางการแพทย์ก็มีการใช้อุปกรณ์ต่างๆ อาทิ กระบอกสูบของเหลว อุปกรณ์ชุดตรวจที่ทำจากพลาสติก ซึ่งต้องเปลี่ยนใหม่ทุกครั้ง เพื่อลดความเสี่ยงติดเชื้อ เมื่อมีผู้ป่วยมากขึ้นการใช้อุปกรณ์ต่างๆ ก็มากขึ้นตาม

“พลาสติก” จึงกลับมามีบทบาทอีกครั้ง เพราะต้นทุนการผลิตต่ำ ใช้แล้วทิ้งโดยไม่เสียดาย ช่วยลดการสัมผัสเชื้อโรค

นั่นหมายความว่าจะมีขยะพลาสติกมากขึ้นกว่าเดิม แต่ต้องกระตุ้นให้รู้วิธีจัดการ โดยคัดแยกก่อนทิ้ง

ขณะที่ “ถุงผ้า” ที่เคยเป็นพระเอกแทนพลาสติก ผู้คนเริ่มวิตกว่าจะเป็นพาหะแพร่เชื้อโรค โดยมีงานวิจัยพบว่าเชื้อโรคบางชนิดสามารถเกาะอยู่บนถุงผ้าได้นานเกือบ 10 วัน

ดังนั้น ในภาวะวิกฤตเช่นนี้ จำเป็นต้องพึ่งพิง “พลาสติก”ส่วน “ถุงผ้า” คงต้องหลบไปพักใหญ่ๆ จนกว่าโควิด-19 จะไปแล้วไปลับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image