สำนึก การเมือง ในยุค ไวรัส คุกคาม จิตสำนึก ‘ใหม่’

ลักษณะโกลาหลอันเกิดขึ้น ณ สนามบินสุวรรณภูมิ เป็นปัญหา เป็นความขัดแย้ง อย่างเด่นชัดและน่าเป็นห่วงยิ่ง

แต่นี่คือสถานการณ์ “ไวรัส”

น่าแปลกใจที่มีคนจำนวนไม่น้อยมองเห็นและรู้สึกว่าเป็นสถานการณ์ทางการเมือง เป็นสถานการณ์เหมือนกับความขัดแย้งในอดีต

ไม่ว่าก่อนรัฐประหาร 2549 ไม่ว่าก่อนรัฐประหาร 2557

Advertisement

จึงนำมาตรการ จึงใช้วิธีการอย่างเดียวกันกับที่เคยใช้ในห้วงเวลานั้นมาเป็นอาวุธ มาเป็นเครื่องมือในการทำลายล้าง

ไล่ล่าเหมือนกระทำกับ “อาชญากร”

ทั้งๆ ที่ปฏิกิริยาอันกลายสภาพเป็นโกลาหล ณ สนามบินสุวรรณภูมิ มาจากความไม่เป็นเอกภาพมาตรการและคำสั่ง มาจากความไม่เข้าใจ

คล้ายกับเป็น “การเมือง” แต่ก็เป็นการเมืองเนื่องจาก “ไวรัส”

ปฏิกิริยาต่อเนื่องจากสภาพโกลาหล ณ สนามบินสุวรรณภูมิ จึงสะท้อนสภาวะตกค้างในความคิดจากยุคแห่งสงครามการเมือง

ยุคแห่งการทำลายล้างอันดุเดือด เข้มข้น

จำเป็นต้องสร้างเป้า กำหนดศัตรู และจำเป็นต้องรวมศูนย์กำลัง ความสามารถเพื่อบดขยี้ให้แหลกละเอียดเป็นผงฝุ่น

เหมือนที่ทำกับ “ทักษิณ” เหมือนที่ทำกับ “ยิ่งลักษณ์” และเพิ่งทำกับ “ธนาธร”

จึงได้มีการเปิดรายชื่อคนไทยซึ่งเดินทางมาจากต่างประเทศ สร้างความเกลียดชัง ก่อกระแสในลักษณะชังชาติ

เหมือนที่ทำได้ผลมาแล้วในอดีต

ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง ทั้งหมดล้วนเป็นคนไทย ทั้งหมดล้วนประสบชะตากรรมจากวิกฤตของไวรัสเช่นเดียวกับคนไทยอื่นๆ

ไวรัสต่างหากคือคนร้าย ขณะที่คนไทยเหล่านั้นคือ “เหยื่อ”

จากพื้นฐานความเชื่อและยึดติดจากยุคแห่งสงครามความขัดแย้งทางการเมืองเช่นนี้เองจึงนำไปสู่บรรยากาศแปลกๆ

ไม่สามารถแยก “มิตร” แบ่ง “ศัตรู” ได้

ยังติดกับความเชื่อเก่าและมองอีกฝ่ายด้วยสายตาแบบเก่า เหมือนกับเป็นศัตรูที่จะต้องทำลายล้างอย่างบ้าคลั่ง

ฆ่ามัน ฆ่ามัน สถานเดียว

แม้กระทั่งการเสนอความเห็น “ต่าง” ทั้งๆ ที่มีเป้าหมายเดียวกัน นั่นก็คือ ทำอย่างไรจะต่อกรกับไวรัสได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำอย่างไรจึงจะช่วยเหลือ เยียวยาประชาชนได้อย่างทันท่วงที

กลับมองเห็นเป็นการเมือง มองเห็นว่ามาจากความไม่หวังดี

ไม่ว่าจะมองไปยังการบริหารจัดการในเรื่องไวรัสก็เป็นปัญหา ไม่ว่าจะมองไปยังการบริหารจัดการในเรื่องไฟป่า พีเอ็ม 2.5 ก็เป็นปัญหา

ลักษณะ “ประชาร่วมใจ” จึงไม่บังเกิดในทางเป็นจริง

จำเป็นต้องสรุปปัญหาและความขัดแย้งในห้วงก่อนรัฐประหาร ไม่ว่าจะเป็นเมื่อเดือนกันยายน 2549 ไม่ว่าจะเป็นเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 มาเป็นบทเรียน

นี่คือปัญหา “ไวรัส” มิใช่ปัญหา “การเมือง”

หากติดอยู่กับปมในทางการเมืองก็จะนำไปสู่การช่วงชิง เบียดขับ ฝ่ายหนึ่ง และไม่อาจสร้างความร่วมมือร่วมใจ เพราะมีแต่การแข่งขัน มีแต่การทำลายล้าง

ในอีกด้าน “ไวรัส” จึงน่าจะทำให้เกิดการตื่นและสำนึกใหม่ในทางความคิด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image