โอกาสท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 โดย รศ.ดร.นพ.บุญสิน ตั้งตระกูลวนิช คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ท่ามกลางวิกฤตการระบาด (pandemic) ของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือที่เรียกกันว่าโรคโควิด-19 ทั่วโลกในปัจจุบัน ประชาชนทุกเชื้อชาติ ศาสนา เผ่าพันธุ์ และวรรณะ ต่างประสบชะตากรรมเดียวกัน จากผลกระทบทั้งต่อระบบสาธารณสุข เศรษฐกิจ สังคม รวมทั้งต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ดูเหมือนวิกฤตจะยังรุนแรงเพิ่มขึ้น ไม่คลี่คลายหรือจบลงในเร็ววัน บทความนี้ต้องการสะท้อนมุมมองภาพกว้าง (global perspective) ของวิกฤตโควิด-19 ทั้งด้านบวกและลบ รวมทั้งเสนอข้อคิดที่จะช่วยให้รู้เท่าทันและปรับตัวเองให้ผ่านสถานการณ์อันยากลำบากนี้ไปด้วยกันได้

โรคโควิด-19 เกิดขึ้นได้อย่างไร ทำไมถึงระบาดอย่างรวดเร็ว

โรคโควิด-19 เกิดจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (SARS-CoV-2) ซึ่งเป็นเชื้อในตระกูลเดียวกับเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคซาร์ส (SARS) เชื่อว่าเกิดจากการติดเชื้อข้ามสายพันธุ์จากค้างคาวสู่คน ทำให้เกิดการอักเสบอย่างรุนแรงโดยเฉพาะในปอดและอวัยวะส่วนอื่นๆ เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่มีความสามารถในการติดต่อ (infectivity) สูง โดยสามารถกระจายจากคนสู่คนได้ทางละอองฝอย (droplet) หรือ เสมหะ โดยเฉพาะถ้าอยู่ใกล้กันในระยะห่างน้อยกว่า 1 เมตร โดยหลังจากได้รับเชื้อจะใช้เวลาฟักตัว 1-4 วัน โดยผู้ป่วยที่รับเชื้อจะสามารถแพร่เชื้อได้ 1-2 วันหลังได้รับเชื้อ แม้ยังไม่มีอาการแสดงทางคลินิก

ส่วนอาการทางคลินิกที่สำคัญได้แก่ ไข้ ไอ เหนื่อย ปวดเมื่อย ท้องเสีย หอบ โดยผู้ป่วยร้อยละ 80 มีอาการเพียงเล็กน้อยคล้ายไข้หวัด อย่างไรก็ดี ผู้ป่วยร้อยละ 15-20 มีอาการปานกลางถึงรุนแรง และมีอัตราการเสียชีวิต ร้อยละ 1-10 ขึ้นกับอายุ โรคประจำตัว และความพร้อมของระบบสาธารณสุข

Advertisement

ส่วนสาเหตุที่แพร่กระจายได้รวดเร็วทั่วโลกเป็นเพราะความสามารถในการแพร่และการอยู่รอดของเชื้อ รวมทั้งปัจจัยเรื่องการใกล้ชิดในสังคมและการเดินทางติดต่อระหว่างกันทั้งในและต่างประเทศผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 วิกฤตโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อทั่วทุกภูมิภาคของโลก ในหลายระดับและมิติ ตั้งแต่การดำเนินชีวิตประจำวัน เศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของแต่ละประเทศ และอาจจะรุนแรงกว่าวิกฤตโลกที่ผ่านมา เช่น สงครามโลก หรือวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง โดยผลกระทบแบ่งเป็นประเด็นได้ดังนี้

ระบบสาธารณสุข วิกฤตโควิด-19 ส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบสาธารณสุขของทุกประเทศ ทำให้สูญเสียทรัพยากร ได้แก่ ค่าใช้จ่ายในการวินิจฉัย ดูแล และรักษาพยาบาล รวมทั้งกระทบต่อการให้บริการปกติด้านสาธารณสุข ที่สำคัญก่อให้เกิดการสูญเสียของบุคลากรทางการแพทย์ เช่น แพทย์ และพยาบาล ในประเทศอิตาลี ปัจจุบันมีแพทย์เสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ขณะปฏิบัติงานเพื่อรักษาผู้ป่วยโควิด-19 กว่า 60 คน และมีบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อกว่า 6,000 ราย

ระบบเศรษฐกิจ วิกฤตโควิด-19 ส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการเดินทาง การท่องเที่ยว การค้า รวมถึงภาคอุตสาหกรรม และปิโตรเคมี จากการหยุดกิจกรรมต่างๆ ตามนโยบายของรัฐบาลและจากความต้องการที่ลดลง (low demand) รัฐบาลแต่ละประเทศใช้นโยบายการเงินและการคลังเข้าพยุงภาวะเศรษฐกิจเพื่อแก้ปัญหาคนตกงาน สินค้าเกษตรตกต่ำ การผลิตและการส่งออกรวมทั้งการท่องเที่ยวที่ลดลงกว่าร้อยละ 50 ในสหรัฐอเมริการัฐบาลกลางได้อนุมัติงบประมาณฉุกเฉินกว่า 3 ล้านล้านดอลลาร์ เพื่อพยุงเศรษฐกิจในช่วงวิกฤตนี้ อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มเข้าสู่ระยะถดถอย (recession) ในปีนี้และอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึง 5-10 ปี

Advertisement

ปัญหาสังคม จากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำส่งผลให้เกิดปัญหาสังคม เช่น ปัญหาหนี้สิน ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาครอบครัว เช่น การหย่าร้าง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

ปัญหาทางการเมือง รัฐบาลทุกประเทศทำงานอย่างหนักเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดจากวิกฤตโควิด-19 ประเทศที่การเมืองไร้เสถียรภาพ และ/หรือมีผู้นำที่ไม่เข้มแข็ง ไร้ความสามารถในการบริหารภาวะวิกฤต
(crisis management) อาจเกิดปัญหาทางการเมือง ได้แก่ การประท้วง การทำรัฐประหาร หรือการแย่งชิงอำนาจทางการเมือง เป็นต้น

โดยสรุป วิกฤตโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อระบบโลกาภิวัตน์ (globalization) การดำรงชีวิตโดยเฉพาะของคนเมือง (urbanization) และระบบทุนนิยมโลก (capitalization) อย่างรุนแรง ก่อให้เกิดความขัดแย้ง (conflict) การเผชิญระหว่างประชาชนและ/หรือรัฐบาล (confrontation) ความโกลาหล (chaos) และทำให้เกิดวิกฤต (crisis)

การบริหารจัดการวิกฤตโควิด-19

วิกฤตโควิด-19 เปรียบได้กับเกิดสงครามโลก แต่เป็นสงครามเชื้อโรค (germ war) ระหว่างมนุษย์ทั้งโลกกับเชื้อโรคไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ประชากรในกว่า 200 ประเทศ ตกอยู่ท่ามกลางความกลัว ความไม่มั่นใจ ความท้อแท้สิ้นหวัง จากทั้งโรคโควิด-19 และผลกระทบ รวมทั้งมาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลใช้ต่อสู้กับโรค เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้เตรียมความพร้อมทั้งทางร่างกาย จิตใจ และทางการเงิน เมื่อเกิดวิกฤตอย่างรวดเร็ว รุนแรง ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน ทุกระดับ และทุกภูมิภาค ทำให้เกิดความกลัว (panic) และความโกลาหล (chaos) เช่น การแห่ซื้อหน้ากากอนามัย กักตุนอาหาร ทำให้สินค้าขาดตลาดและราคาเพิ่มสูงขี้น การบริหารจัดการภาวะวิกฤต เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องใช้สรรพกำลัง ทั้งทรัพยากรบุคคล งบประมาณ รวมทั้งวิธีบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ

ปัจจุบันแนวทางที่รัฐบาลในประเทศต่างๆ ใช้ควบคุมโรคโควิด-19 แบ่งเป็น 2 แนวทาง ได้แก่

การเว้นระยะห่างทางสังคมและควบคุมการติดต่อและการเดินทาง (social distancing and lock down) ประเทศที่ประสบความสำเร็จจากการใช้แนวทางนี้ ได้แก่ ประเทศจีน สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ไต้หวัน และญี่ปุ่น โดยรัฐบาลออกมาตรการที่เด็ดขาดเพื่อควบคุมการแพร่กระจายเชื้อทั้งจากในและต่างประเทศ โดยให้งดกิจกรรมที่มีการชุมนุม จำกัดการเดินทาง ปิดจังหวัดหรือประเทศ

ทำให้เกิดภูมิต้านทานตามธรรมชาติ (herd immunity) โดยปล่อยให้เกิดการระบาดตามธรรมชาติเหมือนไข้หวัด ซึ่งถ้าประชากรส่วนใหญ่ติดเชื้อและมีภูมิต้านทาน โรคจะสงบไปได้เอง อย่างไรก็ดี อาจทำให้มีประชากรติดเชื้อสูงถึงร้อยละ 60 ซึ่งจะทำให้มีผู้ป่วยจำนวนมากจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลเกินกว่ากำลังทรัพยากรที่ทางระบบสาธารณสุข เช่น เครื่องช่วยหายใจ เตียงผู้ป่วย อุปกรณ์ทางการแพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์ที่มี ประเทศอังกฤษในระยะแรกประกาศใช้แนวทางนี้ แต่ต่อมาพบมีผู้ป่วยติดเชื้อจำนวนมากขึ้นจนไม่สามารถบริหารจัดการได้ จึงปรับมาใช้แนวทางแรกในปัจจุบัน

โอกาสจากวิกฤตโควิด-19

เรามักได้ยินคำกล่าวอยู่เสมอว่า “ท่ามกลางวิกฤต มีโอกาสซ่อนอยู่” แต่จะทำอย่างไรให้สามารถพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส คำแนะนำเบื้องต้นเมื่อต้องเผชิญกับวิกฤต สิ่งแรกที่ควรทำคือ ต้องตั้งสติ สำรวจตรวจสอบทั้งตนเองและครอบครัวว่าเกิดผลกระทบอะไรบ้าง ทั้งทางด้านสุขภาพกาย ใจ เศรษฐกิจและครอบครัว แล้วพิจารณาหาแนวทาง ทางเลือก ทางออก เทียบระหว่างประโยชน์กับความเสี่ยง และวางแผนเผื่อกรณีเลวร้าย (worst case scenario) ซึ่งต้องขึ้นกับบริบท อาชีพ เศรษฐานะ แนวทางการดำเนินชีวิต ผู้เขียนเสนอแนวคิดที่จะพลิกวิกฤตเป็นโอกาสจากวิกฤตโควิด-19 ดังนี้

ปรับทัศนคติ (change mindset) ได้เแก่ การมองโลกในแง่ดี (positive thinking) เช่น การมองว่า “ปัญหาก่อให้เกิดปัญญา” ทำให้ได้เรียนรู้และมีประสบการณ์โดยเฉพาะเรื่องการบริหารจัดการตัวเองและครอบครัวในภาวะวิกฤต หรือการคิดว่าเชื้อโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เป็นเรื่องที่ธรรมชาติที่ต้องการจัดสมดุลใหม่ (set new balance) จากการที่กว่า 300 ปีที่ผ่านมา มนุษย์ได้ทำลายธรรมชาติจนเกิดหายนภัยทางธรรมชาติต่างๆ มากมาย มนุษย์จึงควรต้องปรับวิถีชีวิตใหม่ให้อยู่ร่วมกันกับธรรมชาติแบบสมดุล

วินัยและความรับผิดชอบต่อสังคม (integrity and social responsibility) จะเห็นได้ว่าประเทศบริหารจัดการวิกฤตโควิด-19 ประสบความสำเร็จ ประชาชนในประเทศเหล่านั้นมักมีวินัยและความรับผิดชอบต่อสังคมสูง จึงเป็นโอกาสดีที่รัฐบาลและคนไทยหันมาร่วมกันปลุกจิตสำนึก การมีวินัย และมีความรับผิดชอบต่อสังคมในอนาคต

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (sufficient economy) ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีสายพระเนตรที่ยาวไกล คิดหลักดำเนินชีวิต 3 ประการ คือ หลักพอเพียง มีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกัน ให้พสกนิกรชาวไทยได้ดำเนินชีวิตอย่างพอเพียง ไม่ประมาทและรู้เท่าทันพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง เป็นโอกาสดีที่เราจะได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิตอย่างจริงจัง รวมทั้งรัฐบาลต้องใช้วิกฤตโควิด-19 เป็นโอกาสในการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ไม่ควรพึ่งพารายได้จากการส่งออก และการท่องเที่ยวมากเกินไป และควรปรับโครงสร้างระบบสาธารณสุขให้รองรับวิกฤตที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต

หลักพุทธศาสนา เป็นโอกาสที่พุทธศาสนิกชนจะได้เรียนรู้ เข้าใจสัจธรรมว่าทุกสรรพสิ่งล้วนเป็น “อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา” วิกฤตโควิด-19 คือการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่เกิดตามเหตุปัจจัย (อิทัปปัจจยตา) และเป็นเช่นนั้นเอง (ตถตา) สอนให้เราดำเนินชีวิตด้วยความไม่ประมาท พร้อมรับทุกสถานการณ์ (มรณานุสติ)

สรุป
วิกฤตโควิด-19 ถือเป็นบททดสอบที่สำคัญของมนุษยชาติ แม้ขณะนี้ยังไม่สามารถคาดเดาผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น ว่ามนุษย์จะสามารถเอาชนะโรคร้ายนี้ได้หรือไม่ เมื่อไหร่ อย่างไร ดูเหมือนมาตรการการเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) จะเป็นมาตรการหลักที่เกือบทุกประเทศใช้ป้องกันและควบคุมโรค ในฐานะประชาชนคนไทย เราควรต้องรู้รักสามัคคี ให้ความร่วมมือกับทางรัฐบาล ช่วยเหลือและให้กำลังใจซึ่งกันและกัน (socially distance but spiritual connect) ให้เราก้าวพ้นวิกฤตนี้ไปให้ได้ด้วยกัน

รวมทั้งต้องช่วยกันถอดบทเรียนจากวิกฤตโควิด-19 หาแนวทางในการป้องกันโรค เพื่อไม่ให้เกิดวิกฤตโควิดอีกต่อไปในอนาคต

รศ.ดร.นพ.บุญสิน ตั้งตระกูลวนิช
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image