ผู้เขียน | พลเอกนิพัทธ์ ทองเล็ก |
---|
“เมื่อกล่าวถึงการแต่งกายของชาวสยามแล้ว ข้าพเจ้าใคร่จะกล่าวถึงการเปลือยกาย อันเป็นสิ่งที่ปฏิบัติกันอยู่ในประเทศ… มีประเพณีที่ปล่อยให้เด็กทั้งสองเพศเปลือยกายล่อนจ้อนอยู่ จนกระทั่งถึงวัยที่จะนุ่งผ้าโจงกระเบนได้เอง….
…เด็กหญิงจะปกคลุมหน้าอก ก็ต่อเมื่อถึงวัยแตกเนื้อสาวแล้ว และหญิงสาวเมื่อแต่งงานแล้วได้ปีสองปี ก็เอาผ้าแถบออกเมื่ออยู่ในบ้าน อันเป็นประเพณีที่ชาวยุโรปตั้งข้อรังเกียจมาก แต่ในเมืองสยามนั้น ไม่เห็นเขารู้สึกแปลกอะไรกัน…”
ข้อความพรรณนาข้างต้น คือ บันทึกของ มงซิเออร์ ปาลเลกัวซ์ (Pallegoix) บาทหลวงฝรั่งเศสที่เข้ามาทำงานในอยุธยาในสมัยแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ ในช่วงระหว่างปี พ.ศ.2372-2397 (แปลโดย สันต์ ท. โกมลบุตร.เล่าเรื่องกรุงสยาม)
บาทหลวงบันทึกสภาพการแต่งกายและวิถีชีวิตของชาวสยามอย่างน่าสนใจต่อไปว่า…
“เขาแต่งงานกันแต่อายุน้อยเหลือเกิน ตามปรกติก็ระหว่าง 15 ถึง 17 ปี …คนไทยมีความสำรวมมากในกรณีที่เกี่ยวกับการติดต่อกับผู้หญิง และมีกฎหมายกำหนดโทษไว้อย่างหนักหน่วง การลูบคลำสตรีแม้เพียงเล็กน้อยก็อาจเป็นสาเหตุให้เกิดเป็นคดีได้ …”
นั่นเป็นข้อมูลของบาทหลวงปาลเลกัวซ์ ที่แสดงให้เห็นว่าการเปลือยกายท่อนบนนั้นเป็นเรื่อง “ปกติ” ของหญิงสามัญชนคนสยาม
ส่วนชายชาวสยาม…ไม่ต้องพูดถึง ท่อนบนเปลือยอก เป็นปกติ
ในรัชสมัยของในหลวง รัชกาลที่ 4 มีข้อมูลของอดีตนายกเทศมนตรีเมืองบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม นามว่า Charles Buls ซึ่งเดินทางเข้ามาบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับสยามประเทศ เมื่อปี พ.ศ.2443 เพิ่มเติมความหนักแน่น ความว่า…
“…หญิงชาวสยามสวมใส่เสื้อผ้าน้อยชิ้นมาก… มีเพียงผ้าแถบชิ้นเดียวที่พวกหล่อนใช้คลุมเต้านม บ่อยครั้งที่ผ้าชิ้นนี้จะหลุดร่วงเวลาเคลื่อนไหวในชีวิตประจำวัน ซึ่งพวกหล่อนก็เพียงแต่ดึงมันกลับมาไว้ที่เดิม แต่หลังจากมีลูกคนแรก หญิงเหล่านี้ก็จะไม่ให้ความสำคัญมากนักกับการปกปิดร่างกาย …”
เนื้อความข้างต้น ผู้เขียนมิได้ตั้งใจเจาะจง จับจ้องในเรื่องของ “สตรีเพศ” หากแต่ประสงค์จะสะท้อนถึงวิถีชีวิตที่ชายหญิงชาวสยาม ที่โบราณนานมา มีพัฒนาการของเครื่องแต่งกาย การใช้ชีวิตที่ “สมดุล” เกี่ยวข้องรองรับกับ “สภาพอากาศ” ในบ้านเมืองของเรา
เมื่อฝรั่งชาวยุโรปเดินทางข้ามโลกเข้ามาพบเห็น “วิถีชีวิต” จึงกลายเป็นเรื่องน่าตื่นตาตื่นใจ…
ลองมาอ่านบันทึกของ นิโกลาส แชร์แวส (Nicolas Gervaise) ชายชาวเมืองน้ำหอมอีก 1 คนที่ติดตามคณะเผยแผ่ศาสนาฝรั่งเศสเข้ามาบันทึกประวัติศาสตร์สยาม…
“…ผู้ชายที่เป็นชาวบ้านทั่วไปมักไม่สวมท่อนบน หรือแม้แต่ขุนนางถึงพระมหากษัตริย์ก็สวมเสื้อบ้างตามแต่ความเหมาะสม …เสื้อผ้ายังเป็นอีกหนึ่ง ‘รางวัล’ ที่พระมหากษัตริย์พระราชทานให้ผู้ประกอบความดีความชอบเช่นรบชนะศัตรู รางวัลเป็นทั้ง ขันเงิน ขันทอง และ เสื้อผ้า…”
นิโกลาส แชร์แวส แสดงความคิดเห็นอย่างถึงพริกถึงขิงว่า “อาชีพที่อัตคัดที่สุดในราชอาณาจักรสยามก็คืออาชีพช่างตัดเสื้อ เพราะพลเมืองสามัญเขาไม่สวมเสื้อกัน…”
ในจดหมายเหตุของ โยส เซาเต็น (Joost Schouten) พ่อค้าชาวฮอลันดาในสมัยพระเจ้าทรงธรรม และพระเจ้าปราสาททอง อรรถาธิบายถึงการแต่งกายอย่างละเอียด…กล่าวว่า
“ทั้งหญิงชายแต่งตัวด้วยผ้าผ่อนน้อยชิ้น เพราะประเทศนี้ เป็นประเทศร้อน เขาชอบผ้าสีต่างๆ นุ่งสำหรับส่วนล่างของร่างกาย ส่วนบนนั้นชายใส่เสื้อชั้นใน แขนครึ่งท่อน ส่วนหญิงนั้นมีผ้าบางๆ พาดไหล่ หรือปิดหน้าอก บนศีรษะมักจะมีปิ่นทองปักผมไว้ และสวมแหวนทองที่นิ้วมือ การแต่งกายเช่นนี้ แต่งด้วยกันทั้งคนจนคนมี จึงยากที่จะดูว่า ใครรวย ใครจน นอกจากจะรู้ราคาชนิดผ้าที่นุ่งห่มนั้น”
“ในฤดูหนาว ลางทีชาวสยามก็ใช้ผ้าตามความกว้าง หรือผ้าลินินมีดอกดวงคลุมไหล่ เป็นทำนองเสื้อคลุม หรือผ้าคลุมไหล่ โดยพันชายผ้าเข้าไว้กับลำแขนอย่างค่อนข้างโก้พอใช้”…
ข้อมูลทั้งปวง ฝรั่งช่างพูด น่าจะมาจากการพบเห็นชาวสยามในพื้นที่ภาคกลางเป็นหลัก…
ภาพที่ฝรั่งต่างชาติบันทึกไว้ก็พอจะอนุมานได้ว่า…ในอดีตของบรรพบุรุษสยาม เสื้อผ้า เครื่องแต่งกายของชาวสยามชายหญิงมิใช่เรื่องใหญ่ มิใช่เรื่องคอขาดบาดตายอะไร…สบายๆ ไม่สิ้นเปลือง อากาศร้อนจะใส่อะไรกันนักหนา
เมื่อชาวสยามเริ่มใส่เสื้อ….
ในรัชสมัยในหลวง ร.3 สยามเปิดประเทศ ทำมาค้าขายรุ่งเรือง มีชาวต่างชาติแล่นเรือเข้ามาติดต่อค้าขายกันอุตลุด โดยเฉพาะฝรั่งจากยุโรป กรุงเทพฯ มีสีสัน กระชุ่มกระชวย…
การเปลี่ยนแปลงของการแต่งกายของชนชั้นนำสยามเกิดขึ้นหลังจากบางกอกทำสัญญาเบาว์ริง (Bowring) กับประเทศอังกฤษใน พ.ศ.2398 และชาติตะวันตกชาติอื่นๆ
กาลเวลาล่วงมาถึงสมัยในหลวงรัชกาลที่ 4 …ชาวสยามโดยเฉพาะราชสำนัก เริ่มปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต รูปแบบการแต่งกายไปตามธรรมเนียมแบบตะวันตกหลังจากติดต่อกับยุโรปมากขึ้น
รัชกาลที่ 4 ทรงโปรดให้สวมเสื้อเข้าเฝ้าฯ สืบเนื่องจากช่วงก่อนหน้าพระราชพิธีบรมราชาภิเษก มีข้าราชการมาเข้าเฝ้าฯพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พลับพลาที่ประทับชั่วคราว
พระองค์ทอดพระเนตรเห็นว่าผู้แทนจากต่างประเทศสวมเสื้อกันหมด มีเพียงแต่ชาวสยามที่ยังเปลือยท่อนบน ดังบันทึกพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ 4 ตอนหนึ่งว่า
“…ครั้งนั้นยังไม่มีธรรมเนียมที่จะสวมเสื้อเข้าเฝ้า จึงดำรัสว่า ดูคนที่ไม่ได้สวมเสื้อเหมือนเปลือยกาย ร่างกายจะเป็นกลากเกลื้อนก็ดีหรือเหงื่อออกมาก็ดี โสโครกนัก”
อ่านแล้ว…ไม่ต้องตีความให้เสียเวลา…
หลังจากนั้น จึงเริ่มมีธรรมเนียมให้ข้าราชการสวมเสื้อมาเข้าเฝ้าฯ แต่ช่วงแรกยังไม่เป็นแบบแผนเสื้อผ้าที่ชัดเจน
ขอแถมเป็นข้อมูลให้ท่านผู้อ่านทราบว่า ในครั้งกระโน้น มีกล้องถ่ายภาพเกิดขึ้นในยุโรปแล้ว
ในหลวงรัชกาลที่ 4 ทรงฉายพระบรมฉายาลักษณ์ เป็นพระองค์แรก ซึ่งทรงสวมสนับเพลา (กางเกง) และฉลองพระองค์ (เสื้อ) แบบฝรั่ง จึงทำให้ชาวสยามเริ่มได้เห็นภาพ เสื้อ กางเกง แบบชาวยุโรป
ผู้คนทั้งปวงจึงมีโอกาสได้เห็น เสื้อ กางเกง
ในเวลาต่อมา…สยามปรับเปลี่ยนทุกอย่าง สร้างบ้าน สร้างเมืองใหม่ วางระบบงานการปกครองใหม่ จ้างฝรั่งเข้ามารับราชการหลังจากที่รัชกาลที่ 5 ทรงเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2413
โปรดให้ผู้ตามเสด็จไว้ผมยาวตั้งแต่ก่อนออกเดินทาง จากนั้นพระองค์ทรงเปลี่ยนแบบพระเกศาด้วย ข้าราชการทั้งหลายก็เปลี่ยนตามพระราชนิยม ทำให้ “ทรงมหาดไทย” ค่อยๆ หายไป
เรื่องของเสื้อผ้าสำหรับข้าราชสำนัก ถูกนำมาปรับปรุงอีกครั้ง
พ.ศ.2415 เสื้อ “ราชปะแตน” เกิดขึ้นจากที่ในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงเห็นว่าเสื้อนอกแบบฝรั่งใส่แล้วร้อนอบอ้าว เพราะต้องมีเสื้อใน ผ้าผูกคอ จึงทรงคิดฉลองพระองค์คอปิด กระดุม 5 เม็ด ไม่ต้องสวมเสื้อชั้นใน เรียกกันว่า ราชปะแตน เพราะมาจากคำว่า ราช กับคำว่า Pattern (แปลว่า : รูปแบบ)
สตรีชาวสยามก็เปลี่ยนลุค เปลี่ยนแปลงเสื้อผ้า หน้า ผม สำหรับทรงผม เปลี่ยนจากผมปีกแบบเก่ามาไว้ผมยาว
พ.ศ.2416 สตรีในราชสำนัก เริ่มใส่เสื้อแขนยาว แล้วจึงห่มสไบทับ โดยโปรดให้ผู้หญิงสวมชายเสื้อเพียงบั้นเอว และห่มแพร สไบเฉียงบ่านอกเสื้อ และให้สวมบู๊ตกับถุงเท้าตลอดน่อง
สภาพอากาศในภูมิภาค สยาม พม่า ลาว เขมร ก็คงใกล้เคียงกัน ส่วนพี่หม่องพม่าใส่โสร่งมาตลอด เราเรียก โสร่ง หรือ ปะโซ หรือ ลองจี ก็เพราะระบายอากาศได้ดี โสร่งใส่แล้วคล่องแคล่วในทุกลีลา เปียกน้ำก็แห้งเร็ว ผู้ชายพม่านุ่งโสร่งมาแสนนานจนกระทั่งปัจจุบัน
นุ่งโสร่งแล้ว สามารถลงไปเตะฟุตบอล เล่นตะกร้อ ทำงานแบกหาม เป็นกรรมกร สังสรรค์เฮฮา ปาร์ตี้ สุภาพบุรุษพม่า มีวิธีการนุ่งโดยที่โสร่งไม่มีทางหลุดแม้ยามคับขัน
ผู้เขียนมีเพื่อนเป็นนายทหารพม่าจำนวนมาก ประชุมหารือ ทานอาหาร ไปเยี่ยมเยือนกันนับครั้งไม่ถ้วน ถ้าจะคุยให้สนุกต้องคุยถึงวิธีการนุ่งโสร่งที่ชาวพม่าแสนจะภาคภูมิใจ
เพื่อนนายทหารพม่าเล่าว่า…ถ้าเป็นผู้ใหญ่ จะเหน็บชายผ้าที่ใต้สะดือแต่ไม่ต่ำมาก แต่ถ้าต้องการเท่ ก็ให้โหลดชายโสร่งลงมาให้ต่ำกว่าสะดือมากๆ หลุด มิหลุดแหล่ เป็นรูปแบบของพวกวัยรุ่นพม่า
มีข้อมูลทางประวัติศาสตร์ระบุว่า …การนุ่งโสร่งของชาวพม่า สืบทอดมาจากชาวอินเดียตอนใต้ ที่มีพรมแดนเชื่อมต่อ ไปมาหาสู่กับพม่าตั้งแต่ยุคที่เป็นอาณานิคมอังกฤษ
สุภาพบุรุษพม่านุ่งโสร่ง เสื้อคลุม มีผ้าโพกศีรษะ รองเท้า (คล้ายรองเท้าแตะ) แต่งชุดประจำชาติชุดนี้ ไปร่วมพิธี ออกงานได้ทั่วโลก เท่ระเบิด
กลับมาที่การแต่งกายของชาวสยามที่ใกล้เคียงฝรั่ง..
ในช่วงรัชสมัยในหลวง ร.6 และในหลวง ร.7 กรุงเทพฯ ยังไม่มีร้านตัดเสื้อเชิ้ต เสื้อนอก กางเกง ผ้าแบบชาวตะวันตก
ห้างจอห์นแซมสันแอนด์ซัน จากประเทศอังกฤษ (ปัจจุบัน คืออาคารอนุรักษ์ เป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว บริเวณสะพานผ่านฟ้าฯ) คือ ห้างตัดเสื้อผ้าแบบฝรั่งก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงการแต่งกายของชนชั้นนำไทย
นักเรียนไทย ที่ไปศึกษาต่างประเทศ กลายเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ล้วนแต่งกาย “อย่างฝรั่ง” บุคคลในราชสำนัก เป็นผู้นำของการเปลี่ยนแปลง
ในหลวงรัชกาลที่ 7 มีพระราชประสงค์ที่จะปรับประเทศเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่แบบตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งของสตรีในราชสำนัก มีการกำหนดเครื่องแบบโดยเฉพาะของข้าราชการทหารที่มีรูปแบบของเครื่องแบบของกองทัพในโลกตะวันตกเป็นส่วนใหญ่
ภาพถ่ายในอดีต จะเห็นได้ว่าชาวสยามที่เป็นข้าราชการระดับสูง นักการเมือง พ่อค้า คนที่ต้องการเป็นอีลีต ฯลฯ ล้วนแต่งกายตามแบบชาวตะวันตก คือ ใส่ชุดสากลเป็นหลัก ส่วนสุภาพสตรีก็เช่นกัน
แถมท้าย..คุณปู่ของผู้เขียน ท่านเสียชีวิตไปนานแล้ว เมื่อเกือบ 100 ปีที่แล้ว ท่านทำนาอยู่ไกลโพ้น ที่ อ.ประจันตคาม ปราจีนบุรี ทุกครั้งที่ไปเยี่ยมท่าน ไม่เคยเห็นใส่เสื้อ ใส่แต่กางเกงจีนเก่าๆ มีผ้าขาวม้า คาดเอว ทำงานสารพัด แม้ยามนอน…
ท่านเล่าว่า วันหนึ่ง…ท่านต้องนั่งเรือไปเกือบ 3 ชั่วโมงเพื่อไปร้านถ่ายรูปในตัวเมือง…รูปที่แขวนอยู่ที่บ้านนอก ปู่ใส่สูทผูกเนกไทโก้มาก
ผู้เขียนเคยถามว่า…ปู่มีชุดสากลด้วยหรือ ?
…ปู่ตอบว่า… ที่ร้านถ่ายรูปเค้ามีเสื้อสากลให้ยืมใส่ตอนถ่ายรูป ไม่มีกางเกง… ปู่ก็เพิ่งเคยใส่…ปู่จะต้องนำรูปไปยืนยันกับราชการว่าเป็นคนไทย เลยต้องใส่ชุดสากล ผูกเนกไท…ปู่เคยใส่ครั้งเดียวในชีวิต …!
พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก