เดินหน้าชน : เยียวยาทั่วถึง โดย นายด่าน

การแจกเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เดือนละ 5,000 บาท เป็นมาตรการที่ประชาชนสนใจลงทะเบียนจนทะลุ 26 ล้านคน ภายในระยะเวลา 10 กว่าวันเท่านั้น นับตั้งแต่เปิดลงทะเบียนวันแรก 28 มีนาคม

ในจำนวน 26 ล้านคน มีผู้ผ่านการคัดกรองไปแล้ว 2.2 ล้านคน ในจำนวนนี้ 1.6 ล้านคน จะได้รับเงิน 5,000 บาทเป็นกลุ่มแรกๆ โดย 1.4 ล้านคน ได้รับเงินตั้งแต่วันที่ 8-10 เมษายนที่ผ่านมา

ส่วนอีกกว่า 2 แสนคน มีชื่อลงทะเบียนกับชื่อบัญชีเงินฝากไม่ตรงกันต้องไปแก้ไขข้อมูลบัญชีเงินฝากให้ตรงกับชื่อลงทะเบียนที่ www.เราไม่ทิ้งกัน.com

และในวันที่ 13-14 เมษายน จะมีการทยอยโอนเงินให้แก่ผู้ผ่านการคัดกรองอีก 6 แสนคน

Advertisement

มาตรการที่ออกมานับว่าเป็นประโยชน์ยิ่งหากเงินส่วนนี้แจกให้กับคนที่เดือดร้อนได้รับผลกระทบจากวิกฤตไวรัสโควิด-19 นี้จริงๆ

การตรวจสอบคุณสมบัติผู้ลงทะเบียนด้วยระบบ AI ที่กระทรวงการคลังออกมาการันตีตั้งแต่ช่วงแรกๆ ว่ามีความแม่นยำนั้น

เริ่มถูกตั้งคำถามว่าแม่นยำ เชื่อถือได้มากแค่ไหน

Advertisement

การกรอกข้อมูลที่ไม่เป็นจริงระบบจะตรวจสอบได้หรือไม่

เพราะเริ่มมีเสียงสะท้อนในเรื่องเหล่านี้ อย่างกรณีดราม่าในโซเชียล คนที่ได้รับเงินเยียวยาหลายคนโพสต์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ว่าได้เงินมาอย่างที่ไม่ควรจะได้

แม้กรณีนี้กระทรวงการคลังจะได้แจ้งความ และจะตรวจสอบข้อมูลย้อนกลับ หากพบว่าผู้นั้นขาดคุณสมบัติจริงก็จะทำการระงับการจ่ายเงิน และให้ส่งเงินที่ได้รับ 5,000 บาทคืนให้กับรัฐบาล

แต่เชื่อว่ายังมีอีกหลายกรณีที่เดือดร้อนจริง แต่ไม่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติรับเงินเยียวยา

สิ่งเหล่านี้จะต้องมีการปรับปรุงระบบการตรวจสอบ คัดกรอง เพื่อให้เงินเยียวยาถึงผู้ที่เดือดร้อนจริงๆ

ทั้งนี้แม้มาตรการจ่ายเยียวยาเดือนละ 5,000 บาท จะครอบคลุมคนประมาณ 9 ล้านคน

แต่ก็อาจไม่ครอบคลุมกลุ่มคนที่เดือดร้อนและเป็นสิ่งที่ภาครัฐจะต้องมีการทบทวนมาตรการ

อย่างข้อเสนอแนะของ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.พรรคก้าวไกล ที่เห็นว่า ประเทศไทยมีแรงงาน 38.4 ล้านคน เป็นแรงงานนอกระบบ 18.7 ล้านคน อยู่ในภาคบริการ และภาคการผลิต ที่ถือได้ว่าเผชิญกับผลกระทบจากโควิด-19 แบบเต็มๆ รวมกันอยู่ที่ 9.5 ล้านคน รวมกับแรงงานในระบบประกันสังคม ที่ยังไม่ได้รับสิทธิการคุ้มครองการว่างงานอีกประมาณ 5 ล้านคนเศษ ฉะนั้นประชาชนที่ต้องการการเยียวยาประมาณ 14.5 ล้านคน

ขอให้รัฐบาลทบทวนมาตรการแจกเงิน 9 ล้านคน เป็นเวลา 6 เดือน ซึ่งรัฐบาลต้องใช้งบประมาณ 270,000 ล้านบาท โดยยังมีประชาชนที่เดือดร้อนรอความช่วยเหลืออีกถึง 5.5 ล้านคน ไม่เป็นผลดีต่อการสร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ในการผ่านพ้นวิกฤตการณ์นี้ไปด้วยกัน ขอให้ใช้วิธีเยียวยาด้วยจำนวนเงิน 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน เพื่อเยียวยาแบบถ้วนหน้า ให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบทุกคน 14.5 ล้านคน

ส่วน นายกรณ์ จาติกวณิช ว่าที่หัวหน้าพรรคกล้า สะท้อนว่า ทำไมรัฐบาลจึงเลือกที่จะขยายสิทธิ 5,000 บาท เป็น 6 เดือน แทนที่จะขยายจำนวนผู้ได้รับสิทธิจาก 9 ล้านคน เป็น 18 ล้านคน เพื่อให้ทั่วถึงมากขึ้น

ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่จะต้องรับฟังเพื่อให้การเยียวยาผลกระทบโควิดถึงคนที่เดือดร้อนทั้งหมด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image