จิตวิวัฒน์ : จาก‘คนไร้บ้าน ไร้คนเห็น’ สู่คนมีบ้าน แต่ไม่ยอมอยู่ : โดย จุมพล พูลภัทรชีวิน

จิตวิวัฒน์ : จาก‘คนไร้บ้าน ไร้คนเห็น’ สู่คนมีบ้าน แต่ไม่ยอมอยู่ : โดย จุมพล พูลภัทรชีวิน

เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา ผมยังคงอยู่กับบ้านตามนโยบายของรัฐบาล ในฐานะพลเมืองอาวุโส (อายุเกิน 70 ปี) ผมดูทีวีติดตามข่าวสารตลอด มีโอกาสได้ดูรายการสารคดี Invisible Homeless (คนไร้บ้าน ไร้คนเห็น) ของ NHK สื่อสาธารณะของญี่ปุ่น ซึ่งในบทความนี้ผมขอเรียกว่าพวกเขาว่า “ชีวิตติดอยู่กับรถ” ตามสภาพการดำเนินชีวิตของพวกเขา ระหว่างที่นั่งดูสารคดี ผมสะท้อนสะเทือนอารมณ์มากพอควร คิดไม่ถึงว่า ในโลกนี้ มีคนจำนวนหนึ่งที่ดำเนินชีวิตอยู่กับรถยนต์คันเล็กๆ กินนอนในรถเป็นปีๆ บางคนเป็นสิบๆ ปี จากสารคดีเรื่องนี้ มีหลายคนที่เสียชีวิตในรถ ช่วงชีวิตที่เหลืออยู่ของคนที่มี “ชีวิตติดอยู่กับรถ” ส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย ตกงาน ไม่สามารถจ่ายค่าเช่าห้องพัก ตัวคนเดียว ไม่มีญาติพี่น้อง มีบางคนเป็นผู้หญิง บางคันอยู่เป็นครอบครัว สามีภรรยา แล้วก็ตายจากกันในรถ สารคดีของ NHK พบเจอชีวิตติดอยู่กับรถครอบครัวหนึ่งอยู่รวมกัน 4 คนพ่อแม่ลูก ชีวิตติดอยู่กับรถเหล่านี้ จอดรถตามที่จอดรถสาธารณะ ที่มีอยู่ทั่วไปในประเทศญี่ปุ่น ประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่เจริญแล้ว ภายใต้ระบบเศรษฐกิจเสรีทุนนิยม และระบอบการปกครองแบบที่เรียกกันว่าประชาธิปไตย พวกเขาไม่ต้องเสียค่าที่จอดรถ พวกเขากินอยู่ และตายในรถ ไม่ต้องเสียค่าทำศพ เพราะพวกเขาไม่เหลือใครช่วยดูแล ในแง่มุมหนึ่ง ดูเหมือนพวกเขามีชีวิตที่เสรี มีสิทธิส่วนบุคคล ในการดำรงชีวิตในสังคมประชาธิปไตย ภายใต้ระบบเศรษฐกิจเสรีทุนนิยม…

แต่ละชีวิตติดอยู่กับรถ ที่ยินยอมให้คณะผู้ถ่ายทำสารคดีสัมภาษณ์ และถ่ายภาพบางส่วนได้ ล้วนมีเรื่องราวของชีวิตพลิกผันที่น่าสนใจทั้งสิ้น ทุกชีวิตล้วนมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ พวกเขาไม่ได้เรียกร้องระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย (ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง พวกเขาเป็นผู้อาศัยอยู่ในระบอบนี้อยู่แล้ว) หรือระบอบอื่นใดทั้งสิ้น พวกเขาไม่ได้เรียกร้องหรือวิพากษ์วิจารณ์ระบบเศรษฐกิจเสรีทุนนิยมหรือระบบอื่นใดทั้งสิ้น บางคนหยิ่งในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ของความเป็นตัวตนของตนเอง ปฏิเสธความช่วยเหลือจากผู้ปฏิบัติงานขององค์กรเอกชนที่เอื้อมมือจะเข้ามาช่วยเหลือ ปฏิเสธความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่และหน่วยงานของรัฐ เลือกที่จะดำเนินชีวิตตามแบบที่เป็นอยู่ บางคนมีโรคประจำตัว แต่ก็ไม่ไปรับการรักษา บางคนนอนหนาวตายในรถในช่วงฤดูหนาว บางคน…และอีกหลายคน…ดูเหมือนแต่ละชีวิตต้องดิ้นรนรักษาชีวิตตามสถานภาพของตนเอง ไม่เหมือนกัน ไม่เท่าเทียมกัน…แต่ละคน แต่ละคู่ แต่ละครอบครัว ก็ดูเหมือนจะยอมจำนน หรือศิโรราบให้กับชีวิตที่ต้องติดอยู่กับรถคันเล็กๆ จวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต…

ผมตั้งคำถามอยู่ในใจกับตัวเองว่า หรือชีวิตมีเสรีภาพ มีความเสมอภาค และมีภราดรภาพเฉพาะผลสุดท้ายของชีวิต คือความตายเท่านั้น? ช่วงระยะเวลาก่อนถึงผลสุดท้ายของชีวิต ไม่ว่าชีวิตของคนคนนั้นจะอยู่ภายใต้ระบอบการปกครองแบบใด ระบบเศรษฐกิจระบบไหน ชีวิตคนมีสิทธิเสรีภาพที่แท้จริงหรือเปล่า? มีความเสมอภาค และภราดรภาพที่แท้จริงหรือไม่? เรามีสิทธิที่จะอ้าง เรียกร้อง และใช้สิทธิตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายได้จริงแท้มากน้อยแค่ไหน? เรามีสิทธิที่จะอ้าง เรียกร้อง และใช้สิทธิตามหลักสากล เช่น สิทธิมนุษยชน หลักมนุษยธรรมอย่างได้ผลจริงๆ สักกี่มากน้อย?…คำถามเกิดขึ้นภายในใจผมเยอะมากจริงๆ ทั้งระหว่างและหลังจากที่ได้ดูสารคดีเรื่องนี้

Advertisement

หนึ่งในผู้ที่ยินยอมให้สัมภาษณ์ เป็นคู่สามีภรรยา เป็นคู่ชีวิตติดอยู่กับรถมาหลายปี สามีเป็นอดีตหัวหน้าพยาบาลในโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ภรรยาเป็นพยาบาล เมื่อโรงพยาบาลมีนโยบายปรับลดพนักงาน สามีถูกเลิกจ้างเมื่อตอนอายุ 50 ต้องออกไปหางานทำในโรงพยาบาลอื่นๆ เป็นลูกจ้างชั่วคราว สิ่งที่สามีทนไม่ได้คือสายตาท่าทางจากเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ ที่มีลักษณะดูหมิ่นดูแคลน เขารู้สึกไม่ได้รับการยอมรับเหมือนสมัยที่ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าพยาบาล รู้สึกว่าตัวเองไม่สามารถทำหน้าที่ได้ดีเหมือนเดิม กำลังวังชาเริ่มเสื่อมถอย เขาจึงตัดสินใจเลิกอาชีพพยาบาล ใช้ชีวิตติดอยู่กับรถร่วมไปกับภรรยาคู่ชีวิต รับจ้างทำงานทุกอย่างที่ทำได้ไปวันๆ ภรรยาเล่าให้ฟังว่า สามีเริ่มมีอาการซึมเศร้า มีโรคประจำตัวคือเบาหวาน ที่ดูเหมือนจะมีอาการที่ทรุดลงไปเรื่อยๆ ทั้งคู่เปรยว่า ยอมรับว่าเหนื่อย และอ่อนล้ากับ “ชีวิตติดอยู่กับรถ” ภาพ น้ำเสียง ท่าทางที่ปรากฏก็ชัดเจนว่าเป็นเช่นนั้น คำถามสำหรับผมก็คือ ทั้งคู่เลือกที่จะดำเนินชีวิตอย่างนั้นจริงๆ หรือ? หรือเพราะไม่มีทางเลือก? หรือยิ่งไปกว่านั้น ทำไมสังคมไม่เปิด และสร้างทางเลือกที่พึงประสงค์ ที่พอเพียงให้กับพวกเขาได้บ้าง? อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันทั้งคู่ก็ยังดำเนินชีวิตติดอยู่กับรถ อยู่ตามสภาพ ไม่อยากพบปะผู้คน เพราะรู้สึกว่าชีวิตมันติดลบ

ดูสารคดีเรื่องนี้แล้ว ผมรู้สึกว่าผมโชคดีเหลือเกิน ที่มีบ้านอยู่ แม้จะถูกขอร้องให้กักตัวเองอยู่ที่บ้าน ไม่ควรออกไปไหนโดยไม่จำเป็น ผมก็มีความสุขในการอยู่กับบ้านได้ แถมรู้สึกภาคภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติตนเพื่อประโยชน์ของสังคม ของสาธารณะ ตามคำขอความร่วมมือ และคำแนะนำของหมอ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข และรัฐบาล ในสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ผมจึงไม่รู้สึกว่าสูญเสียสิทธิเสรีภาพใดๆ แถมมีเวลาได้ใคร่ครวญทบทวนประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมา รู้สึกขอบคุณทุกคนที่ให้โอกาส ขอบคุณทุกสิ่งทุกอย่างที่ได้รับ ขอบคุณจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ให้ทุนผมไปเรียนปริญญาเอกที่สหรัฐอเมริกา ขอบคุณประเทศไทยที่ให้ผมมีชีวิตที่ดี มีงานทำ มีครอบครัวดี มีบ้านอยู่ ช่วงนี้ก็เพียงแสดงความเป็นพลเมืองไทยและพลเมืองโลกที่ดี ให้ความร่วมมือ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” และ “เพื่อมวลมนุษยชาติ” มันเป็นเรื่องง่ายๆ ที่คนเล็กๆ คนหนึ่งอย่างผมสามารถทำได้ เต็มใจ และมีความสุขที่จะทำ

ผู้ที่มีความจำเป็นจริงๆ ต้องออกไปหากิน ไปทำงาน ไปทำธุระที่สำคัญและจำเป็น ก็ควรมีมาตรการรักษาและปกป้องตนเองจากการติดเชื้อโรค หรือแพร่เชื้อโรคโดยไม่รู้ตัว ด้วยการสวมหน้ากากอนามัยให้มิดชิด ล้างมือบ่อยๆ พยายามรักษาระยะห่างจากคนอื่นอย่างน้อยหนึ่งเมตร

Advertisement

แต่ยังคงมีผู้คนอีกจำนวนหนึ่ง ที่ไม่ให้ความสำคัญกับการร้องขอ และคำแนะนำของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขเท่าที่ควร ไม่ปกป้องตนเองด้วยการ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” และ “กินร้อน ช้อนกลาง (ส่วนตัว) ล้างมือ ถือระยะห่าง” กลับยังคงใช้ชีวิตตามความสะดวก ตามความพึงพอใจของตนเอง ในทำนอง “กินเย็นเย็น เล่นสนุกสนุก คลุกอยู่เป็นกลุ่ม”

ถ้าหากท่านจะไม่ห่วงตัวท่านเองที่มีโอกาสจะได้รับหรือติดเชื้อโควิด-19 ก็ถือเป็นสิทธิส่วนบุคคลของท่าน แต่ในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ท่านก็ไม่มีสิทธิ และไม่ควรที่จะไปละเมิดสิทธิของผู้อื่น ด้วยการทำตัวเป็นผู้แพร่เชื้อโควิด-19 ให้ผู้อื่น โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือโดยไม่รู้ตัว เพราะเชื้อโควิดนี้มีระยะฟักตัวและแพร่กระจายได้ภายใน 14 วัน ส่งผลเสียหายใหญ่หลวงทั้งด้านจิตใจของผู้ติดเชื้อ และญาติสนิทมิตรสหายของผู้ติดเชื้อ และผู้อื่นที่จะติดเชื้อต่อๆ กันไป ส่งผลกระทบทางลบต่อสภาวะทางเศรษฐกิจของบุคคล ครอบครัว และของประเทศชาติ สังคมขาดความสงบสุขทางจิตใจ ขาดความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และอาจกลายเป็นเครื่องมือก่อให้เกิดความขัดแย้งทางการเมือง นำไปสู่ความไม่มั่นคงทางการเมือง เศรษฐกิจทรุดลงไปอีก ประชาชนดำเนินชีวิตด้วยความยากลำบากเพิ่มขึ้น กลายเป็นวงจรอุบาทว์ของสังคม

ท่านจะดีใจ หรือภาคภูมิใจหรือไม่ ที่ท่านได้เป็นผู้ริเริ่มวงจรอุบาทว์ของสังคมที่ท่านอาศัยอยู่เอง? สังคมไทย สังคมโลก มันกว้างใหญ่กว่าสังคมชีวิตส่วนตัวของท่าน มันกว้างใหญ่กว่ารถคันเล็กๆ ของคนที่มีชีวิตติดอยู่กับรถมากมายนัก มิใช่หรือ?

คนไทยทุกคนควรมีจิตสำนึกสาธารณะที่กว้างใหญ่ เราทุกคนควรร่วมมือ รวมใจ ช่วยกันฝ่าฟัน ภัยพิบัติโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 ซึ่งกำลังระบาดไปทั่วโลก ไปด้วยกัน ตามศักยภาพ และความพร้อมของแต่ละคน ขอเพียงมีความมุ่งมั่น ตั้งใจ และเต็มใจที่จะปฏิบัติตนตามคำแนะนำของผู้รู้ซึ่งได้แก่บุคลากรทางการแพทย์ พยาบาล และสาธารณสุข ปฏิบัติตามประกาศของรัฐบาล และผู้มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารจัดการในเรื่องนี้อย่างเต็มที่

รีบทำ และทำอย่างจริงจังต่อเนื่อง จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย มันไม่สายเกินไปที่จะเริ่มทำ อย่าปล่อยปละละเลย จนประเทศเข้าสู่สภาวะ สายไปเสียแล้ว เพราะหากเวลานั้นมาถึง บ้านที่เราไม่ยอมอยู่ ตามคำร้องขอของผู้ที่เกี่ยวข้อง ก็อาจจะกลายไปเป็น บ้านที่เราเคยอยู่ เพราะไม่มีเราอยู่แล้ว…

ขอปิดท้ายบทความด้วยข้อความสั้นๆ เล่นคำนิดหน่อยว่า

“โควิด-19 ป้องกันได้ ถ้าไม่ออกจากบ้านเกิน 10 ก้าว”

จุมพล พูลภัทรชีวิน
www.thaissf.org, twitter.com/jitwiwat

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image