คุณภาพคือความอยู่รอด : โลกของความรู้และเทคโนโลยี : โดย วิฑูรย์ สิมะโชคดี

คุณภาพคือความอยู่รอด : โลกของความรู้และเทคโนโลยี : โดย วิฑูรย์ สิมะโชคดี

คุณภาพคือความอยู่รอด : โลกของความรู้และเทคโนโลยี : โดย วิฑูรย์ สิมะโชคดี

“โควิด-19” กำลังทำให้โลกเปลี่ยนไปจริงๆ ครับ เปลี่ยนไปเร็วกว่าที่คิดกันไว้เสียอีก และเปลี่ยนไปแบบที่คิดไม่ถึงด้วย จนอาจทำให้แนวความคิดเรื่อง “อุตสาหกรรม 4.0” และ “ประเทศไทย 4.0” กลายพันธุ์ไปง่ายๆ

ใครจะไปคิดว่า สิ่งที่เราพร่ำสอนกันมากันนานแล้ว ในเรื่องของการต่อสู้ชีวิตเพื่อความสำเร็จด้วยความมานะพยายามให้ “เต็มที่” โดยไม่ให้นั่งๆ นอนๆ อยู่กับบ้าน แต่ในวันนี้กลับกลายเป็นต้อง “อยู่กับบ้าน” ตามนโยบาย (อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ) เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของไวรัส “โควิด-19” ที่เคยต้องวิ่งด้วย “ความเร็ว” ก็ต้องติดเบรกกะทันหันจนหัวทิ่ม

ใครจะไปคิดว่า สิ่งที่ปรมาจารย์พร่ำสอนในทฤษฎีแนวความคิดเกี่ยวกับเรื่องของ “การบริหารจัดการ” ทั้งภาครัฐราชการและภาคเอกชน ก็กำลังเปลี่ยนไปทั้งรูปแบบและวิธีการ

Advertisement

ใครจะไปคิดว่า อาชีพนักบินและนักกีฬาอาชีพจะต้องตกงาน สนามบินสุวรรณภูมิที่คนยังแน่นมากตลอดทั้งวันเมื่อปลายปีที่แล้ว แต่วันนี้เหมือนสนามบินร้างแทบไม่มีคนเดินทาง สนามบินเกือบทุกแห่งในโลกกลายเป็นที่จอดเครื่องบินที่ไม่มีกำหนดเดินทาง

ใครจะไปคิดว่า ศูนย์การค้าจะร้าง โรงภาพยนตร์จะไม่มีคนดูหนัง และคอนเสิร์ตต่างๆ จะต้องยกเลิกหรือเลื่อนไปไม่มีกำหนด

และอื่นๆ อีกมากมายที่พวกเราไม่เคยคิดไม่เคยฝันมาก่อนว่า จะได้เห็นได้เจอในชีวิตนี้ อาทิ ร้านอาหารจะห้ามคนนั่งทานในร้าน รถส่งอาหารวิ่งกันทั่ว ห้างสรรพสินค้า ผับ บาร์ ปิด ตลาดหุ้นต้องติดเบรก น้ำมันราคาถูก ถนนโล่งไม่มีรถติด ภาคการท่องเที่ยว และธุรกิจอุตสาหกรรมแทบทุกประเภทหยุดนิ่ง หวยหยุดออก ญี่ปุ่นเลื่อนการแข่งโอลิมปิก ร้านนวด สปา ร้านตัดผม ร้านเสริมสวย ปิดบริการ ติวเตอร์เรียนพิเศษต้องหยุด ผู้คนใส่หน้ากากอนามัย คนเก็บตัวอยู่แต่ในบ้าน จนถึงขนาดต้องปิดประเทศกันชั่วคราวไปหลายประเทศ ทำให้โลกต้อง “หยุด” ชั่วคราวด้วย

Advertisement

แต่การเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดที่สุดในวันนี้ ก็คือ การรายงานข่าว “สถานการณ์ COVID-19” ของ “ศูนย์บริหารสถานการณ์ COVID-19” (ศบค.) ณ ตึกมิตรไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ที่โฆษก ศบค. แถลงโดยต้องอาศัย ตาราง กราฟ ข้อมูลตัวเลข รูปภาพ เอกสาร PowerPoint ประกอบการแถลงข่าวทุกวันด้วยการอธิบายหรือเล่าให้ประชาชนเข้าใจง่ายๆ

ทั้งหมดทั้งปวงนี้ ต้องถือว่าเป็น “จุดเริ่มต้น” (ที่จริงจังมากขึ้น) คือ จากนี้ไปจะมีการใช้ “ความรู้ทางวิชาการ” และ “เทคโนโลยี” ใหม่ๆ เพื่อการถ่ายทอด สื่อสาร ตัดสินใจ แก้ปัญหา และบริหารจัดการ เพิ่มมากขึ้นทุกทีทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ

ต่อแต่นี้ไป โลกของผู้บริหาร และวิธีการบริหารจัดการ โดยใช้เพียง “สามัญสำนึก” และ “ประสบการณ์” จะน้อยลง แต่จะต้องอาศัย “ความรู้” และ “เทคโนโลยี” มากขึ้น

เพราะคนทุกวันนี้ ฉลาดมากขึ้น และต้องการ “ความรู้” และ “ความจริง” ที่รวดเร็วขึ้น เพื่อจะแก้ปัญหาและตัดสินใจได้ทันการณ์ ครับผม !

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image