ภาพเก่าเล่าตำนาน : เริ่มมีแพทย์+โรงพยาบาล+โรงเรียนแพทย์ ‘หนทางหมื่นลี้ เริ่มต้นที่ก้าวแรก’ โดย พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

เริ่มมีแพทย์+โรงพยาบาล+โรงเรียนแพทย์ ‘หนทางหมื่นลี้ เริ่มต้นที่ก้าวแรก’

 ชาวสยามเคยล้มตายมหาศาล จากโรคระบาดมาแล้ว…เผาไม่ไหว ฟืนไม่พอ เลยต้องปล่อยให้อีแร้งกินซากศพ ประสบการณ์อันน่าสะพรึงกลัว ความตายที่ไม่รู้หัวนอนปลายตีน ผลักดันให้สยามต้อง “สร้างระบบ” งานทางการแพทย์ เพื่อให้ประชาชนหลุดพ้นจากทุกข์เข็ญ ต้องให้ความรู้ ให้การศึกษา ไกลห่างจากความงมงาย

ที่ผ่านมา ไม่มีใครเคยบอกได้ว่า ปีศาจร้ายที่ทำให้คนป่วยตายว่า มันคือใคร มาจากไหน ไปทางไหน เลยเรียกแบบง่ายๆ ว่า โรคห่า

ครั้งแรก คือปี พ.ศ.2363 สมัยนั้นบ้างก็เรียก โรคป่วง บ้างเรียก โรคลงราก เหตุการณ์ครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิตทั้งในพระนคร และหัวเมืองใกล้เคียงมากถึงราว 3 หมื่นคน

ครั้งต่อมา คือ พ.ศ.2392 ช่วงปลายรัชกาลที่ 3 อหิวาตกโรคระบาดขึ้นในพระนครเป็นช่วงเวลาราว 1 เดือน หนังสือพิมพ์ข่าวภาษาอังกฤษได้รายงานว่ามีผู้เสียชีวิตราว 5,000 คน

Advertisement

สถานการณ์มืดมน อลเวง สยามยังตั้งหลักไม่ได้ งงๆ ว่ามันเกิดอะไรขึ้น

ลองไปตรวจสอบสถานการณ์ในอดีตทางภาคเหนือ…

เมื่อ พ.ศ.2410 ศาสนาจารย์ ดานิเอล แมคกิลวารี มิชชันนารีชาวอเมริกัน เดินทางไปเพื่อเผยแพร่ศาสนาคริสต์ที่จังหวัดเชียงใหม่ และได้พบผู้เจ็บป่วยไร้ที่พึ่ง รายงานกลับไปอเมริกา….

Advertisement

พ.ศ.2415 คณะเพรสไบทีเรียนจากอเมริกา ได้ส่งนายแพทย์แพทย์มิชชันนารีหลายท่านมาสยาม ได้แก่ นพ.นูแมน นพ.ชีค นพ.แครี่ ฯลฯ เพื่อให้บริการรักษาพยาบาลแก่ผู้เจ็บป่วย การรักษาพยาบาลในเชียงใหม่ก้าวหน้าไปมากเนื่องจากได้รับเงินบริจาคจากมหาเศรษฐีอเมริกัน จนสามารถสร้างโรงพยาบาล ซึ่งต่อมาก้าวหน้ากลายเป็นเป็น โรงพยาบาลแมคคอร์มิค

คณะแพทย์อเมริกันทำงานเพื่อชาวล้าน สร้างความรู้ต่อเนื่อง ท่านที่เป็นเสาหลักนาน 40 ปี ทุ่มเทชีวิตเพื่อชุมชน คือ นายแพทย์ อี. ซี. คอร์ท

ตัดฉากกลับมาที่กรุงเทพฯ …เรื่องการตั้งโรงเรียนแพทย์ครับ..

พ.ศ.2416 ช่วงต้นรัชสมัยในหลวง ร.5 อหิวาตกโรคหวนกลับมาเยือนอีกครั้ง ในเวลาเพียง 1 เดือนเศษ หนังสือพิมพ์ ข่าวภาษาอังกฤษได้รายงานตัวเลขผู้เสียชีวิตมากถึง 6,660 คน

สยามประเทศยังไม่ได้ “ตั้งหลัก” กิจการแพทย์ แบบเป็นทางการ ความรู้ทางแพทย์สมัยใหม่ยังไม่ลงหลักปักฐาน ชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานในสมัยในหลวง ร.3 ที่ชาวสยามไม่ขอลืม คือ นายแพทย์ แดน บีช บรัดเลย์ (Dan Beach Bradley M.D.) คนไทยรู้จักกันดีในนามคุณ หมอปลัดเล ชาวอเมริกัน และต่อมา คือ นายแมคฟาร์แลนด์ ศาสนาจารย์จากอเมริกา ซึ่งไปตั้งหน่วยมิชชันนารีที่ จ.เพชรบุรี ไม่ใช่แพทย์แต่ดูแลคนป่วยได้ ชาวบ้านเพชรบุรีเรียกว่า หมอฟ้าลั่น

ลองมาดูปฐมบทของโรงพยาบาลในสยาม….

ศิริราชพยาบาล เป็นโรงพยาบาลแห่งแรกที่ตั้งขึ้น โดนมีมูลเหตุมาจากการเกิดอหิวาตกโรคระบาดครั้งใหญ่ใน พ.ศ.2424 ในหลวง ร.5 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ขอรับบริจาคจากพระบรมวงษานุวงศ์และข้าราชการให้จัดตั้งโรงพยาบาลขึ้นในที่ต่างๆ โดยจัดตั้งขึ้นในที่ชุมนุมชนถึง 48 แห่ง

เมื่ออหิวาตกโรคสงบแล้ว ทรงมีพระราชปรารภที่จะให้มีโรงพยาบาลประจำท้องที่อย่างถาวรขึ้นต่อไป จึงโปรดเกล้าให้ตั้งคณะกรรมการจัดตั้งโรงพยาบาลขึ้น เรียกว่า กอมมิตตีจัดการโรงพยาบาล (กอมมิตตี คือ committee : คณะกรรมการ)

ในระหว่างนั้น คณะกรรมการได้ปรึกษากันเห็นว่าการตั้งโรงพยาบาลเป็นเรื่องใหม่ที่พึ่งจะมีขึ้นเป็นครั้งแรก จึงควรตั้งเพียงแห่งเดียวเพื่อจัดการรักษาพยาบาลให้คนทั่วไปมองเห็นคุณประโยชน์เสียก่อน

“ศิริราชพยาบาล” จึงเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกและแห่งเดียวที่ตั้งขึ้นใน พ.ศ.2430 เริ่มจากสร้างเรือนคนไข้ 4 หลัง รับคนไข้ได้ประมาณ 50 คน เรือนผสมยา 1 หลัง เรือนผู้จัดการ 1 หลัง และโรงครัวอีก 1 หลัง บนที่ดิน

วังหลังข้างตอนใต้ ฝั่งธนบุรี

ต่อมา…ในหลวง ร.5 มีพระประสงค์ให้จัดตั้งโรงเรียนแพทย์…

ย้อนไปในสมัยในหลวง ร.4 ศาสนาจารย์ ซามูเอล แม็คฟาร์แลนด์ (Samuel Gamble McFarland) พร้อมนางเจนนี ภรรยาเดินทางเข้ามาในสยาม เจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค) ข้าหลวงเมืองเพชรบุรี ซึ่งใกล้ชิดกับในหลวง ร.4 กราบทูลฯขอให้มิชชันนารีท่านนี้ไปตั้งสำนักงานที่ จ.เพชรบุรี เพื่อให้ชาวเพชรบุรีและเมืองใกล้เคียงมีโอกาสได้เรียนหนังสือ

ในหลวง ร.4 พระราชทานอนุญาต

ศาสนาจารย์และนางเจนนี แมคฟาร์แลนด์ ไปตั้งสำนักงานเผยแผ่ศาสนาที่เพชรบุรี สอนหนังสือ ตั้งโรงเรียน (ต่อมาคือ โรงเรียนอรุณประดิษฐ์) นางเจนนี ทยอยให้กำเนิดบุตริดา 4 คน (ชาย 3 หญิง 1) โดยทารกคนที่ 3 นางเจนนี เดินทางเข้ามาคลอดบุตรที่กรุงเทพฯ ที่บ้านหมอบรัดเลย์ แพทย์ชาวอเมริกัน ณ ปากคลองบางกอกใหญ่ คุณพ่อเลยตั้งชื่อให้ว่า ยอร์ช บรัดเลย์ แมคฟาร์แลนด์

ครอบครัวนี้ ทำงานด้านศาสนาที่ จ.เพชรบุรี เป็นหลัก ต่อมาลูกๆ กลับไปเรียนหนังสือในอเมริกาและ 1 ในบุตรของตระกูลนี้ คือ คนสำคัญ

พ.ศ.2427 เด็กหนุ่ม ยอร์ช บรัดเลย์ แม็คฟาร์แลนด์ บุตรคนที่ 3 เดินทางกลับไปสหรัฐแล้วเข้าศึกษาแพทย์ศาสตร์ สำเร็จเมื่อ พ.ศ.2431 จากวิทยาลัยวอชิงตันและเจฟเฟอร์สัน ได้ปริญญาแพทยศาสตร์ใน พ.ศ.2433 จากวิทยาลัยเวสเทอร์นเมดิคอล

พ.ศ.2433 หมอยอร์ชเข้าเรียนต่อศัลยแพทย์เฉพาะทาง ที่วิทยาลัยบัลติมอร์ จากนั้นได้เข้าศึกษาต่อด้านศัลยกรรมและทันตกรรมจนได้รับปริญญาทันตแพทยศาสตรบัณฑิต D.D.S อีกหนึ่งใบ จาก College of Dentistry

พ.ศ.2434 หมอยอร์ชเดินทางกลับประเทศไทย เมื่ออายุ 26 ปี

สิ่งที่โดดเด่นที่สุดในตัวของนายแพทย์หนุ่มหล่อ คือ พูดภาษาไทยได้คล่อง เพราะเติบโตไปจาก จ.เพชรบุรี

ในเวลานั้น ยังมีนายแพทย์อีก 1 ท่านชื่อ นายแพทย์ เฮยส์ (Dr. Thomas Heyward Hays) ที่ทำงานในราชสำนัก ท่านเคยได้รับโปรดเกล้าฯ จากในหลวง ร.5 ให้เป็นผู้จัดตั้งสถาบันการศึกษาแพทย์ในสยาม

หมอเฮยส์เคยพยายามจัดตั้งโรงเรียนแพทย์มาก่อนแล้วใน พ.ศ.2433 แต่เพราะเขาเพิ่งมาอยู่สยามได้เพียง 2 ปีและยังมีอุปสรรคด้านภาษา จึงทำให้การเรียนการสอนดำเนินไปอย่างยากลำบาก นักเรียนแพทย์ที่เรียนอยู่ทยอยลาออกกันไป โรงเรียนแพทย์ไปไม่รอด…

คุณหมอโธมัส เฮย์วาร์ด เฮยส์ ทราบว่าหมอยอร์ช สำเร็จกลับมาสยามแล้ว…จึงไปทาบทาม นายแพทย์หนุ่มยอร์ช ให้เข้ามาช่วยเป็น “เสาหลัก” ตั้งโรงเรียนแพทย์

ข่าวดี ! คุณหมอยอร์ชตอบรับ และดำรงตำแหน่งครูใหญ่ของโรงเรียนแพทย์ ตั้งโรงเรียนแพทย์ใช้ชื่อว่า “โรงเรียนราชแพทยาลัย”

ส่วนคุณหมอเฮยส์ เป็นที่ปรึกษาคนสำคัญ และทุ่มเทให้กับการรักษาผู้ป่วยที่โรงพยาบาลศิริราชอย่างเต็มที่

ภารกิจการตั้งโรงเรียนแพทย์ มิได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เครื่องมือต่างๆ ทางการแพทย์ยังไม่พร้อม ติดขัดไปหมด ล้มลุกคลุกคลาน และยิ่งไปกว่านั้นชาวสยาม ก็ยังไม่ยอมเข้ารักษาตามแบบแพทย์ฝรั่ง

หมอยอร์ชไม่ยอมแพ้ เข้าใจปัญหาอย่างถ่องแท้ จึงได้ริเริ่มเรียบเรียงตำราแพทย์และบัญญัติศัพท์แพทย์ขึ้น “เป็นภาษาไทย” ใช้ในการสอนและการปฏิบัติงาน นอกจากนี้ยังเป็นผู้นำอุปกรณ์การสอนที่เป็นเครื่องฉายกระจกสไลด์มาใช้เป็นคนแรก

โรงเรียนราชแพทยาลัย…เป็นตัวเป็นตน …แจ้งเกิดได้

ในทางส่วนตัว… ท่านยังเปิดคลินิกทำฟัน รักษาฟัน ทำฟันปลอมสีดำ รักษาทั้งชาวบ้านและชาววัง

ขอแถมข้อมูลสำคัญนะครับ…พี่ชายของหมอยอร์ช ที่เติบโตมาใน จ.เพชรบุรีด้วยกัน เข้ารับราชการในกระทรวงกลาโหม 7 ปี พูดได้ 2 ภาษา และท่าน คือคนที่บัญญัติศัพท์ทางทหาร เช่นคำว่า กลับหลังหัน วันทยาวุธ…

คุณหมอยอร์ชสอนนักศึกษารุ่นแล้วรุ่นเล่าเป็นเวลากว่า 35 ปีจนเกษียณอายุราชการ โรงเรียนราชแพทยาลัยได้ขยายเติบใหญ่ขึ้นตามลำดับจนกลายเป็น “คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล” ในปัจจุบัน

นี่คือประวัติและผลงานอันยิ่งใหญ่ของ นายแพทย์ George McFarland ชายผู้เป็นอิฐก้อนแรกบรมครู เป็นปฐมอาจารย์ ของศิริราช และทำให้เกิดคณะแพทย์ฯ ศิริราชพยาบาล

แค่นี้ยังไม่พอ… คุณหมอยอร์ชยังมุ่งมั่นแต่งตำราแพทย์เป็นภาษาไทย สร้างพจนานุกรมไทย-อังกฤษ เป็นเจ้าของกิจการเครื่องพิมพ์ดีดภาษาไทยของบริษัทแม็คฟาร์แลนด์ เป็นครูผู้สอนวิชาแพทย์ทุกวิชาได้อย่างน่ามหัศจรรย์ รวมทั้งเป็นทันตแพทย์ประจำพระองค์ด้วย

ท่านมีความรู้ความเชี่ยวชาญในภาษาบาลีและภาษาไทยอย่างลึกซึ้ง สังเกตจากการที่ท่านตั้งชื่อร้านทันตกรรมของท่าน ว่า “ออฟฟิตประดิษฐทนต์” และแปลศัพท์เรียกชื่อเส้นเลือดใหญ่ Aorta ว่า “มหาวารีรัตโลหิต”

ความสำเร็จของการจัดตั้งโรงเรียนแพทย์ในสยาม ส่งผลให้การแพทย์แผนตะวันตกในประเทศไทยเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว รวมทั้งผลิตคุณหมอชาวไทยเก่งๆ จำนวนมาก

ด้วยคุณความดีเป็นล้นพ้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลวง ร.6 จึงพระราชทานบรรดาศักดิ์ ให้คุณหมอยอร์ชเป็น “พระอาจวิทยาคม” รวมทั้งพระราชทานที่ดินจำนวน 4.5 เอเคอร์ (ราวๆ 11 ไร่กว่า) ที่หัวหินให้เป็นที่พักอาศัย

ขอย้อนไปที่คุณหมอปลัดเล หมอเทวดาชาวอเมริกันที่ประดิษฐ์พิมพ์ดีดภาษาไทยใช้ได้เป็นครั้งแรกในสยาม ท่านได้มอบเครื่องพิมพ์ให้แก่พ่อของหมอยอร์ช เพื่อพิมพ์ตำราคำสวด พ่อของท่านจึงค้นคว้าด้านการพิมพ์และเชี่ยวชาญภาษาไทย จนเขียนปทานุกรมและพูดภาษาไทยได้ชัดเจน

ครอบครัวนี้ มีความชำนาญและรู้ภาษาไทยดีมาก จนบัญญัติศัพท์ต่างๆ ได้อย่างดี

คุณหมอยอร์ชยังพัฒนาเครื่องพิมพ์ดีดให้แพร่หลาย โดยเริ่มต้นที่ยี่ห้อ สมิทพรีเมียร์ และในภายหลังยี่ห้อเรมิงตันมาร่วมทุนกับหมอยอร์ช ท่านเป็นผู้คิดการพิมพ์สัมผัสจนแพร่หลาย โดยท่านได้ตั้งกิจการดังกล่าวขึ้น มีพนักงานกว่า 50 คน

ผู้เขียน เรียบเรียงเรื่องราวของนายแพทย์ท่านนี้ด้วยความปลื้มใจ และประหลาดใจ ที่ชาวต่างชาติจำนวนมากที่ “เก่ง-ขยัน-คิดค้น-ไม่หยุดนิ่ง” มาทำงาน สร้างนวัตกรรมหลายสิ่งให้สังคมไทย

ยังมีแพทย์และครู อาจารย์ ชาวต่างชาติอีกหลายท่าน ที่เข้ามาสร้างความรู้ สร้างระบบ สร้างรากฐานในราชการงานเมืองของไทย

นับเป็นความอัจฉริยะของบรรพบุรุษสยาม ที่กล้าหาญเลือกใช้คนให้เหมาะกับงาน สร้างรากฐานอยู่ดีมีสุขให้บ้านเมืองมาถึงทุกวันนี้

พระอาจวิทยาคมลาออกจากราชการเมื่อ พ.ศ.2469 และได้มีส่วนในการย้ายโรงเรียนกุลสตรีวังหลังไปตั้งที่โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัยในปัจจุบัน…ท่านเสียชีวิตอย่างสงบเมื่ออายุ 75 ปี ในสยาม

หมอยอร์ช บี. แมคฟาร์แลนด์ ที่ถือว่าเป็น “อิฐก้อนแรก” ของรากฐานการศึกษาแพทย์ในประเทศไทย ท่านเคยเขียนบันทึกไว้ในหนังสือว่า…

 “คนเรา…จะรู้คุณค่าของการงานใดๆ ได้ก็ต่อเมื่อตนเองได้หยิบจับงานนั้นตลอดไป ได้เจอกับอุปสรรค ความผิดหวัง ความไม่แยแสนำพาของใครๆ อื่น ตลอดจนกระทั่งความเหนื่อยยากแทบสายตัวขาด… ข้าพเจ้าได้ลิ้มรสสิ่งเหล่านี้ตลอดเวลา 35 ปี ล้มแล้วล้มเล่า ไม่ทราบว่ากี่ครั้งต่อกี่ครั้งสิ่งตอบแทนที่ข้าพเจ้าได้รับก็คือ ได้เป็นผู้เริ่มงานให้คนอื่นเขาต่อ ข้าพเจ้าพอใจแล้ว”

พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image