เดินหน้าชน : การใช้ดุลพินิจ โดย เสกสรรค์ กิตติทวีสิน

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยผู้ฝ่าฝืนเคอร์ฟิวทั่วประเทศ ภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่เริ่มตั้งด่าน ตั้งแต่ 3 เมษายนที่ผ่านมา จนถึงคืนวันที่ 16 เมษายน จับกุมมากกว่า 7 พันราย ความผิดแบ่งเป็นการดำเนินคดี การออกนอกเคหสถาน รวมทั้งมีบางส่วนที่ใช้วิธีการตักเตือน แต่ยืนยันว่ามีแนวโน้มการจับกุมลดลงทุกวัน เพราะประชาชนให้ความร่วมมือมากขึ้น

ในส่วนสถานประกอบการยังเปิดกิจการในช่วงเคอร์ฟิว ตั้งแต่ 20 มีนาคม-16 เมษายน ถูกดำเนินคดีไปทั้งสิ้น 62 กิจการ

ที่น่าสนใจ ยังมีพวกฉวยโอกาสหากินด้วยการขายหน้ากากอนามัยในราคาแพงลิบลิ่ว ตั้งแต่ 4 มีนาคม-16 เมษายน มีการจับกุมแล้ว 398 คดี

เมื่อมีมาตรการทางกฎหมายและขอความร่วมมือในมาตรการทางสังคมให้เว้นระยะห่างทุกย่างก้าว ยังสะท้อนตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เพิ่มขึ้นลดลงมาอย่างมีนัยยะเช่นกัน เมื่อ 17 เมษายน เพิ่ม 28 ราย, 16 เมษายน พบผู้ติดเชื้อ 29 ราย, 15 เมษายน ติดเชื้อ 30 ราย ตามด้วย 14 เมษายน ผู้ติดเชื้อ 34 ราย ส่วนวันที่ 13 เมษายน พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 28 ราย และ 12 เมษายน พบติดเชื้อเพิ่ม 33 ราย

Advertisement

ขณะที่ นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม เปิดเผยกรณี นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา ออกคำแนะนำเกี่ยวกับแนวปฏิบัติในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ฉบับที่ 4 กรณีมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร มีข้อกำหนดห้ามมิให้บุคคลใดออกนอกเคหสถานในระหว่างเวลาที่ระบุในข้อกำหนดเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่หรือเป็นบุคคลซึ่งได้รับยกเว้นนั้น ได้อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 แห่งพระธรรมนูญ ศาลยุติธรรม

การใช้ดุลพินิจกำหนดโทษแก่จำเลย ที่กระทำความผิดฝ่าฝืนข้อกำหนดออกนอกเคหสถานระหว่างเวลาที่กำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เฉพาะในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ศาลพึงคำนึงถึงวัตถุประสงค์ของการออกข้อกำหนดดังกล่าว เป็นไปเพื่อป้องกันมิให้ประชาชนไปประกอบกิจกรรมไม่พึงประสงค์อันนำไปสู่การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส การกำหนดโทษแก่จำเลยในอัตราโทษที่เหมาะสมและมีผลในการบังคับโทษโดยทันทีย่อมส่งผลให้จำเลยเข็ดหลาบไม่กล้ากระทำความผิดอีก ตลอดระยะเวลาตามข้อกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉินส่งผลดีต่อการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคและส่งผลต่อประชาชนโดยทั่วไปที่จะยับยั้งชั่งใจและระมัดระวังที่จะไม่กระทำความผิดในฐานดังกล่าว

ในภาวะเช่นนี้ ก็ควรหลีกเลี่ยงการส่งจำเลยเข้าไปรับโทษกักขังในสถานที่กักขังหรือจำคุกในเรือนจำเพราะเป็นการเสี่ยงที่จำเลยจะเป็นพาหะนำเชื้อไวรัสไปแพร่ระบาดในสถานที่กักขังหรือเรือนจำ ส่งผลเสียหายต่อระบบสาธารณสุขโดยรวมของประเทศ จึงสมควรที่ศาลจะได้นำมาตรการที่มีอยู่หลากหลายในประมวลกฎหมายอาญามาใช้เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ทั้งในทางลงโทษผู้กระทำความผิดและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดต่อร้ายแรง

Advertisement

ทางโฆษกศาลยุติธรรม ยังได้อธิบายด้วยว่า การกำหนดการลงโทษผู้กระทำผิดก็มีหลายรูปแบบด้วยกัน เช่น การลงโทษปรับ การรอการลงโทษ การรอการกำหนดโทษ การกังขังในสถานที่อื่นที่กำหนด อาจจะเป็นในเคหสถาน

ต่อมา ประธานศาลฎีกา ยังประชุมหารือข้อราชการทางไกลผ่านจอภาพกับอธิบดีผู้พิพากษาภาค และอธิบดีผู้พิพากษาศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาความผิดในคดีฝ่าฝืนคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ที่เกี่ยวกับการให้สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากป้องกันในช่วงการป้องกันแพร่ระบาดโควิด-19 โดยกล่าวถึงผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจออกคำสั่งห้ามบุคคลออกจากเคหสถานโดยไม่สวมหน้ากากอนามัย ที่ประชุมมีความเห็นว่า ในการใช้ดุลพินิจของศาล พึงต้องใช้ดุลพินิจเป็นรายคดี คำนึงถึงสภาพแห่งข้อหาและการกระทำความผิด ตลอดจนโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคมของจำเลย ควบคู่ไปกับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

นับได้ว่า ทางประธานศาลฎีกามีการออกคำแนะนำและความเข้าใจที่เป็นความรู้และเป็นประโยชน์ไม่ใช่แค่ข้าราชการศาลเท่านั้น แต่ยังหมายถึงประชาชนก็ได้รับทราบด้วย

เสกสรรค์ กิตติทวีสิน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image