คุณภาพคือความอยู่รอด : พฤติกรรมที่เปลี่ยนไป : โดย วิฑูรย์ สิมะโชคดี

คุณภาพคือความอยู่รอด : พฤติกรรมที่เปลี่ยนไป : โดย วิฑูรย์ สิมะโชคดี

คุณภาพคือความอยู่รอด : พฤติกรรมที่เปลี่ยนไป : โดย วิฑูรย์ สิมะโชคดี

ก่อนเกิดกระแสไวรัส COVID-19 ระบาดเมื่อปลายปี พ.ศ.2562 เราเห็นแต่ “สื่อ” ต่างๆ ทยอยล้มหายตายจากไปทีละค่ายสองค่าย โดยเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์ เช่น โพสต์ทูเดย์ คมชัดลึก เป็นต้น และได้เห็น ช่อง TV Digital หลายช่องก็ไม่สามารถอยู่รอดได้ จนต้องเลิกการออกอากาศ และต้องคืนสัญญาณให้ภาครัฐในที่สุด

เมื่อไม่กี่เดือนก่อน ผมยังเชื่อว่า “หนังสือเป็นเล่ม” ไม่มีทางหมดไปจากโลกนี้ เพราะผู้คนไม่นิยมอ่านหนังสือ E-Book ทางหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือจอโทรศัพท์มือถือ จน E-Book ของค่ายต่างๆ เริ่มหายไป ในขณะที่หนังสือที่พิมพ์เป็นเล่มๆ ก็ยังคงขายได้อยู่ ไม่ว่าจะเป็นร้านหนังสือ Asia Book หรือ Kinokuniya ในบ้านเรา ก็ยังมีผู้คนจำนวนมากที่แวะเวียนไปซื้ออ่านประจำ

จะมีก็แต่ร้านหนังสือของไทยเรา เช่น SE-ED และ B2S เท่านั้นที่ดูเหมือนว่าหนังสือไทยจะมีรายได้ลดลง แต่เมื่อดูจากที่วางโชว์บนชั้นหนังสือแล้ว ก็ยังคงเห็นหนังสือใหม่ๆ ออกมาวางจำหน่ายจำนวนมาก
ผมจึงเชื่อว่า หนังสือที่พิมพ์เป็นเล่มจะยังคงอยู่ได้อีกนาน แต่จะขายได้หรือไม่ได้นั้น จะอยู่ที่ “คุณภาพ” ของหนังสือเป็นสำคัญ ซึ่งรวมทั้งการออกแบบรูปเล่ม การนำเสนอเนื้อหาของผู้เขียนและการโปรโมตของผู้จัดจำหน่ายด้วย

Advertisement

แต่ถึงวันนี้ วันที่พวกเราต้องอยู่กับบ้านด้วยหลักการ “คงระยะห่าง” (Social Distancing) ตามนโยบาย “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” แล้ว ผมเริ่มไม่แน่ใจในเรื่องที่ผมเชื่ออีกแล้ว

วันนี้ทุกอย่างเปลี่ยนไปจริงๆ ตั้งแต่ต้นปี พ.ศ.2563 เป็นต้นมาที่มีข่าวไวรัสโควิด-19 ระบาดรุนแรง จนถึงขั้นมีประกาศ Lockdown และ พ.ร.ก.ภาวะฉุกเฉิน เมื่อประมาณเดือนกว่าๆ มานี้ กระแสของสื่อ Social Media และการขายของ On-line ก็พัฒนาและเติบใหญ่จนมาแรงขึ้นเรื่อยๆ

เมื่อเราต่างต้องอยู่บ้านเพื่อลดความเสี่ยงทั้งจากการติดและแพร่เชื้อโรคร้าย แต่ก็กลับกลายเป็นว่า “หยุดติดโรค มาติดจอ” มากขึ้นทุกที

Advertisement

แต่เดิมนั้น โฆษณาขายสินค้า On-line จะปรากฏบนจอโทรทัศน์เฉพาะหลังเที่ยงคืนเป็นส่วนใหญ่ แต่เดี๋ยวนี้ปรากฏทั้งวันทั้งคืน แม้แต่ช่วงเวลาที่เรียกกันว่า Prime Time ตอนละครสองทุ่ม ก็มีการโฆษณาสินค้า On-line มากขึ้น

หนังสือพิมพ์ “ไทยรัฐ” ฉบับวันพุธที่ 15 เมษายน 2563 หน้า 1 เปิดเผยว่า “….. พฤติกรรมการเสพสื่อโทรทัศน์และสื่อออนไลน์ของคนไทยเปลี่ยนไป เมื่อเจอไวรัส ‘โควิด-19’ ที่ระบาดอย่างรุนแรง จนส่งผลกระทบกับชีวิตประจำวันของคนไทยเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินชีวิตประจำวัน หรือการเปลี่ยนแปลงการทำงานเป็นทำงานจากที่บ้าน (Work from Home) การจับจ่ายใช้สอย ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ แม้กระทั่งกิจกรรมการรวมกลุ่มกันหลายๆ กิจกรรม ก็ต้องงดเว้นกันไป เพื่อลดการระบาดของไวรัสร้ายนี้ แต่อีกหนึ่งในพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด คือ การติดตามรับข่าวสารของสถานการณ์ไวรัส โควิด-19 ผ่านทางช่องทางต่างๆ ทั้งสื่อโทรทัศน์ สื่อหนังสือพิมพ์ และสื่อออนไลน์.”

ทุกวันนี้ สื่อออนไลน์จึงมีความสำคัญมากขึ้นทุกทีจากการที่คนไทยตอบรับมาตรการป้องกันการระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 ด้วยการอยู่บ้าน การทำงานจากที่บ้าน และการงดออกไปสังสรรค์นอกบ้าน

เมื่อต้องอยู่บ้าน จึงเปิดโทรทัศน์เพื่อติดตามข่าวสารต่างๆ และเปิดเป็นเพื่อนไว้ตลอดทั้งวัน ดังนั้น สื่อต่างๆ ในวันนี้ จึงมีอิทธิพลต่อ “พฤติกรรม” ของคนในสังคมมากขึ้นทุกที

ปัญหาจึงอยู่ที่ “คุณภาพและความรับผิดชอบ” ของสื่อ และพวกเราทุกคนทุกภาคส่วนที่จะช่วยกันทำให้เกิด “สังคมที่มีคุณภาพ” เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขบนพื้นฐานของการแบ่งปันและไม่ทิ้งกัน ครับผม !

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image