สะพานแห่งกาลเวลา : โรคกับล็อกดาวน์ โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

(เครดิตภาพ NIAID)

คําถามสำคัญที่ทุกคนอยากรู้คำตอบก็คือ เมื่อไหร่จะเลิก “ล็อกดาวน์”? เลิกรักษาระยะห่าง เลิกปิดกิจการโน่นนี่นั่นกัน?

จริงๆ คำถามนี้ตอบได้ง่ายมาก แต่ตอบแล้วก็เหมือนไม่ได้ตอบ เพราะคำตอบก็คือ เราสามารถเลิกการระแวดระวังทุกอย่างนี้ได้ในทันทีที่การแพร่ระบาดยุติลง

ปัญหาคือ ยังไม่มีใครในโลกนี้ล่วงรู้ได้ว่า เจ้าโควิด-19 นี้จะยุติลงเมื่อใดกันแน่ เดือนนี้? ปีนี้? หรือปีหน้า? ไม่มีใครให้คำตอบที่ชัดเจนได้

แม้ไปถามนักระบาดวิทยาที่เชี่ยวชาญเรื่องการระบาดของไวรัสมากที่สุดในโลก ก็ยังไม่มีคำตอบให้ได้ เพราะเพิ่งทำความรู้จักกับ ซาร์ส-โคฟ-2 ตัวร้ายนี้เพียงแค่สามเดือนเศษๆ เท่านั้นเอง

Advertisement

แต่ในทางระบาดวิทยา สามารถบอกได้ว่า เมื่อถึงสภาวการณ์ใด เราถึงจะสามารถเลิกระแวดระวังกันได้

เช่น เมื่อมีวัคซีน ซึ่งประมาณกันว่าอย่างน้อยที่สุดต้อง 1 ปี หรือ 1 ปี 6 เดือน หรือเมื่อพบยารักษาโควิด-19 ได้โดยตรง ยาที่มีประสิทธิภาพสูงและมีผลข้างเคียงอื่นๆ น้อยหรือไม่มีเลย ซึ่งยากมากกว่าจะคิดค้นได้

ในเมื่อทั้งสองอย่างยังไม่มี เราก็ได้แต่คาดหวังว่าจะเกิดวิธีการหยุดการระบาดในทางระบาดวิทยาทางที่ 3 ได้

Advertisement

นั่นคือ เกิดภูมิคุ้มกันหมู่เกิดขึ้นในสังคมมากๆ อย่างที่เรียกกันในทางระบาดวิทยาว่า “เฮิร์ด อิมมูนิตี” นั่นแหละครับ

การเกิดเฮิร์ด อิมมูนิตีขึ้นเมื่อใด ก็เท่ากับสังคมนั้น ประเทศนั้น มีเกราะคุ้มกันโรคนี้อยู่ในตัว เพราะคนที่มีภูมิคุ้มกัน ซึ่งมีจำนวนมาก ย้ำนะครับว่าต้องมีมากเพียงพอ จะกลายเป็นเสมือนตัวตัดการแพร่ระบาด ไม่ให้ลุกลามต่อไปจนกลายเป็นปัญหาล้นโรงพยาบาล ระบบสาธารณสุขรับมือไม่ไหวขึ้นมา

เฮิร์ด อิมมูนิตี ทำหน้าที่คล้ายๆ กับฉนวน ถ้าไม่กั้นอยู่รอบตัวคนที่ติดเชื้อ ก็กั้นอยู่รอบๆ คนที่ไม่มีภูมิคุ้มกัน ทำให้เชื้อไม่สามารถเข้าถึงคนเหล่านี้ได้ การระบาดก็ไม่เกิดขึ้น

ปัญหาก็คือ ตอนนี้ผู้เชี่ยวชาญทางระบาดวิทยาเองก็ยังบอกไม่ได้ว่าผู้ที่หายจากการป่วยโควิด-19 นี้ มีภูมิคุ้มกันชนิดนี้อยู่หรือไม่

ภูมิคุ้มกันที่ร่างกายเราสร้างขึ้นมาเพื่อต่อสู้กับโรคร้ายนั้น มีอยู่หลายอย่างครับ เช่นภูมิคุ้มกันที่ทำหน้าที่ไปทำลายตัวเชื้่อที่เข้าไปในร่างกายโดยตรง ซึ่งทุกคนที่ได้รับเชื้อมีขึ้นแน่นอน แต่ยังมีภูมิคุ้มกันอีกชนิด ที่เรียกกันว่า “โปรเทคทีฟ อิมมูน” ซึ่งเป็นภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นเมื่อร่างกายเรา “รู้จัก” กับโรคแล้วสร้างขึ้นมาเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อที่รู้จักแล้วนี้เข้าไปสู่ร่างกายได้

ยังไม่รู้กันว่า ภูมิคุ้มกันนี้จะมีขึ้นหรือไม่ หรือมีแล้วจะ “คงอยู่” ได้นานเท่าใด เพราะทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมากและรุนแรงมาก ถึงตอนนี้ยังเร็วเกินไปที่จะบอกได้แน่ชัดในเรื่องนั้น

ทีนี้ ถ้าทั้ง 3 อย่างยังไม่มีอะไรชัดเจนเลยแม้แต่อย่างใด คำตอบสุดท้ายของคำถามที่ว่า เราจะเลิกการล็อกดาวน์ได้เมื่อไหร่กัน ก็ตอบได้ทางเดียวเท่านั้นครับ ยังไม่ควรจะหยุด ยังไม่ควรเลิก

เราเห็นตัวอย่างจากประเทศอย่าง ญี่ปุ่น จากประเทศอย่างสิงคโปร์ ได้ว่า ในทันทีที่เราเผลอไผลแม้เพียงเล็กน้อย การระบาดพร้อมที่จะกลับมาได้ทันที

เราเห็นเช่นกันว่า ไม่เพียงแต่ในประเทศไทยเรา แต่ยังมีในประเทศจีน และในประเทศอื่นๆ อีกหลายประเทศว่า การล็อกดาวน์ นั้นได้ผล การรักษาระยะห่างนั้นได้ผลจริงในการ “กด” ไม่ให้การระบาดลุกลามออกไปมากจนรับมือไม่ไหว

แต่ก็มีคำถามตามมาว่า อย่างนั้นเราจะไม่ตกอยู่ในสภาพ ไม่ตายเพราะโรคระบาด แต่อดตายหรือ?

เป็นคำถามที่มีเหตุผลและต้องใคร่ครวญ กันอย่างถี่ถ้วน เพื่อกำหนดหนทาง ที่สร้างสมดุลระหว่างการกำราบการระบาดให้อยู่ในระดับที่ “ควบคุม” ได้ พร้อมๆ กันนั้นก็ช่วยให้เศรษฐกิจพอกระเตื้อง พอกินพออยู่กันต่อไปได้

ซึ่งยากมากๆ ครับ! แต่ต้องทำ

เราอาจจำเป็นต้องทำแบบ “เปิดๆ-ปิดๆ” ซึ่งไม่ใช่ ลักกะปิดลักเปิด แต่เป็นการพลิกแพลงไปตามสถานการณ์ เพื่อให้ธุรกิจ พ่อค้าแม่ขาย ได้หายใจหายคอได้

การรักษาระยะห่างทางสังคม จะต้องคงอยู่ การรักษาสุขอนามัยสูงสุด ยังต้องคงอยู่ เผลอๆ การสวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะก็จะกลายเป็นสิ่งจำเป็นไปโดยปริยาย

เราต้องทำอย่างนี้ไปจนกว่าจะมียารักษา หรือมีวัคซีน ไม่เช่นนั้น หายนะมาเยือนอีกรอบหรือสองรอบแน่นอน

นี่คือสิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญเรียกว่า “นิว นอร์มอล” หรือ “สภาพปกติใหม่” ที่เราต้องทำความคุ้นเคยกันนั่นแหละครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image