การปรับเมืองก่อนเปิดเมือง เมื่อพลเมืองไม่เท่ากับคนไข้ โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

ข้อเสนอ ข้อกังวล และข้อถกเถียงในเรื่องของการเปิดเมืองในสถานการณ์ที่การติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ภาวะที่ตัวเลขของผู้ติดเชื้อและผู้ที่เสียชีวิตนั้นอยู่จำนวนที่ไม่ได้ทำให้ระบบการดูแลรักษาในระดับโรงพยาบาลนั้นล่มลง รวมไปถึงแรงกดดันจากประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการปิดเมือง (ซึ่งแม้ไม่ได้ปิดทั้งหมด แต่ก็ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง) ที่มีในเรื่องของการเยียวยาและการชดเชย ซึ่งรัฐบาลเองก็ยังต้องเผชิญกับความท้าทายมากมายในภาวะภัยพิบัติใหม่ด้านสาธารณสุขในรอบนี้

คงต้องใส่หมายเหตุเอาไว้ว่า คำว่าภัยพิบัติใหม่ด้านสาธารณสุขนี้เป็นการนิยามของผมเอง ไม่ใช่คำนิยามทางกฎหมายของรัฐ ซึ่งดูจะไม่ได้ให้ความสนใจในการนิยามในทิศทางนี้ ซึ่งถ้าพิจารณาจากการใช้กฎหมายสถานการณ์ฉุกเฉินก็ควรจะต้องประกาศให้ชัดไปเลยว่า สถานการณ์ในครั้งนี้ ไม่เข้าข่ายสถานการณ์โรคระบาดที่เคยเป็นมา และไม่เข้าข่ายสถานการณ์ภัยพิบัติ แต่เป็นสถานการณ์ฉุกเฉินใหม่ทางด้านสาธารณสุขที่ส่งผลกระทบในวงกว้างทั้งทางด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจ

ข้อเสนอและขั้นตอนในการเปิดเมือง ซึ่งบางส่วนพิจารณาในแง่ของการ “ผ่อนคลายมาตรการเข้มงวดในการปิดเมือง” กำลังเป็นที่เรียกร้องจากหลายภาคส่วน ซึ่งการปิดเมืองในรอบนี้นั้นส่งผลกระทบกว้างขวางครอบคลุมทั้งในมิติทางการเมือง (การไม่ใช้กลไกรัฐสภาในการตัดสินใจและการข้ามขั้นตอนการบริหารราชการแผ่นดินในระดับรัฐมนตรี โดยนายกรัฐมนตรีรวบอำนาจในการตัดสินใจและสั่งการไปที่ระบบราชการโดยตรงและมีศูนย์บริหารสถานการณ์พิเศษขึ้นมา)

ในด้านการเศรษฐกิจ (ความชะงักงันและความถกถอยทางเศรษฐกิจ รวมทั้งการชดเชยเยียวยาที่ยังล่าช้าและไม่ครอบคลุม ที่ล้วนมาจากการตัดสินใจของรัฐในการปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจบางประการ รวมทั้งขอความร่วมมือในการลดการเคลื่อนที่และการทำงานในที่ทำงานในหลายกิจการ รวมทั้งการปิดสถานศึกษา สถานบันเทิง และกิจกรรมการรวมตัวของผู้คน และการสั่นสะเทือนของภาคเศรษฐกิจการท่องเที่ยวที่ล่มทั้งระบบ)

Advertisement

และในด้านสังคม (การเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ในครอบครัวและมิติอื่นๆ ภายใต้การเว้นระยะห่างทางสังคม ถึงขั้นเลื่อนเทศกาลสงกรานต์โดยไม่มีกำหนด และไม่สนับสนุนให้กลับบ้านต่างจังหวัดในช่วงเวลานี้ ซึ่งรวมไปถึงการกักตัว 14 วัน ก่อนเข้าพื้นที่ หรือภายในพื้นที่ รวมทั้งการลด-ชะลอและห้ามการเคลื่อนที่เดินทาง)

จะพบว่าข้อเสนอในเรื่องของการเปิดเมืองนั้นแม้จะมีการนำเสนอจากหลายฝ่าย และจากนักวิชาการ รวมทั้งสถาบันวิจัยต่างๆ แต่กระนั้นก็ดีข้อกังวลสำคัญของรัฐอำนาจนิยมแบบเวชกรรมในสถานการณ์ฉุกเฉินนั้นก็ยังวนเวียนอยู่กับความรู้สึกห่วงกังวลว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตนั้นอาจจะเพิ่มขึ้นอีก เพราะในกรณีของหลายประเทศในโลกที่เริ่มมีมาตรการผ่อนคลายการปิดเมือง ไม่ว่าจะเรื่องของการพูดถึงภาค/กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ควรได้รับการผ่อนปรนมากขึ้นด้วยข้อจำกัดและแนวปฏิบัติใหม่ๆ หรือในแง่ของช่วงวัย อาทิ คนหนุ่มสาวที่ไม่ติดเชื้อและไม่ได้อยู่กับครอบครัวก็ควรจะมีโอกาสได้กลับสู่โลก “ปกติใหม่” (new normal) ที่กำลังจะเกิดขึ้น ก็จะมีการกลับมาติดเชื้อเพิ่มขึ้น

วาทกรรม “การ์ดอย่าตก” จึงกลายเป็นทั้งข้อห่วงใยและข้อแนะนำจากรัฐสู่ประชาชนในช่วงนี้ ที่พูดและอภิปรายกันอย่างกว้างขวางทั้งประเด็นที่ว่า การ์ดไม่ควรตก และการ์ดควรจะอยู่ประมาณไหน เพราะถ้าการ์ดไม่ตกเลยแต่อาจไม่มีอะไรตกถึงท้องจนสุดท้ายการ์ดที่ไม่ตกก็อาจจะไม่ทำให้คนอีกจำนวนหนึ่งมีชีวิตรอดได้

Advertisement

อย่างไรก็ตาม ในข้อเสนอ ข้อกังวล และข้อถกเถียงเรื่องการเปิดเมืองในบ้านเรา มักจะได้รับการพูดกันหรือสนใจจากสื่อเฉพาะเรื่องของการ “ปฏิบัติตัว” ของประชาชน ว่าจะต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ ต้องร่วมมือกัน ต้องมีวินัย ต้องรักษาระยะห่างทางสังคม ต้องกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ ต้องเชื่อฟังคำแถลงการณ์ ซึ่งเรื่องเหล่านี้ไม่ได้มีแค่จากถ้อยแถลงรายวันของศูนย์บริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน

นอกจากนี้จะต้องไม่ฝ่าฝืนกฎระเบียบที่ออกมาภายใต้กรอบกฎหมาย เพราะตอนนี้การบังคับใช้กฎหมายรุนแรงอย่างเฉียบขาด

สิ่งที่ยังไม่มีการพูดถึงกันมากนักก็คือ การเปิดเมืองนั้นจะเปิดได้ต้องเปลี่ยนเมืองไปพร้อมๆ กัน หรือต้องมีการปรับเปลี่ยนเมืองไปพร้อมๆ กับการเปิดเมือง และสิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องแค่ประชาชนและเอกชนจะต้องทำตามคำสั่งและแนวทางที่รัฐเป็นผู้กำหนดเท่านั้น

แต่ภาครัฐเองทั้งในระดับท้องถิ่น (องค์กรปกครองท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น เทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด และกรุงเทพมหานคร) ท้องที่ (หมู่บ้าน ตำบล) ภูมิภาค (อำเภอ จังหวัด) และส่วนกลาง (กระทรวง ทบวง กรม รวมทั้งฝ่ายความมั่นคง) ก็จะต้องมีภาระหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติเช่นกัน

และสิ่งที่หน่วยงานภาครัฐหรือหน่วยงานสาธารณะเหล่านี้มีความจำเป็นที่จะต้องทำนี้จำเป็นต้องเริ่มทำเสียแต่วันนี้ เพื่อเตรียมการให้พร้อมก่อนที่จะมีการเปิดเมือง

กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ ในการพร้อมจะเปิดเมืองนั้นนอกจากประชาชน (และเอกชน) จะถูกเรียกร้องให้ปฏิบัติตามสิ่งที่รัฐต้องการแล้ว รัฐเองก็มีภาระหน้าที่ที่จะต้องทำเช่นเดียวกัน นอกเหนือจากเรื่องของการให้ความช่วยเหลือประชาชน

ดังนั้นประชาชนจึงไม่ใช่คนไข้ที่จะต้องเชื่อฟังและปฏิบัติตัวตามคำสั่งของรัฐ/หมอเท่านั้น แต่รัฐเวชกรรมก็มีพันธกิจที่จะต้องปรับเปลี่ยนพื้นที่และโครงสร้างพื้นฐานอีกมากมายที่จะทำให้ประชาชนนั้นปลอดภัย นอกเหนือไปจากการบริหารจัดการโรงพยาบาล

โดยการเข้าใจการต้องปรับเปลี่ยนชีวิตของทั้งประชาชนและพื้นที่สาธารณะนี้เองที่การก้าวเข้าสู่สภาวะปกติใหม่นั้นจะเกิดขึ้นได้และยั่งยืน และคืนความเป็นพลเมืองให้กับประชาชนที่ไม่ได้เป็นแค่คนไข้ที่ต้องเชื่อฟัง ถูกดุ และให้ความร่วมมือทุกวันกับรัฐเวชกรรมโดยไม่ต้องสงสัยหรือตั้งคำถาม

ความเป็นพลเมืองนั้นส่วนหนึ่งคือประชาชนต้องสามารถตรวจสอบการทำงานของภาครัฐได้ด้วย

เราจำเป็นต้องยอมรับสภาพร่วมกันก่อนว่า ตราบใดที่ยังไม่มีวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 เราก็ยังไม่ปลอดภัย และต้องอยู่กับการระมัดระวังป้องกันตัวเองและปรับเปลี่ยนพื้นที่และโครงสร้างพื้นฐานอีกมากมายที่จะรองรับสภาวะปกติใหม่นี้ต่อไป ซึ่งตอนนี้การคาดการณ์ว่าวัคซีนนั้นจะออกมาได้ก็คงต้องใช้เวลาอย่างน้อยถึงปลายปีนี้เป็นอย่างเร็ว และก็ไม่มีหลักประกันว่าไวรัสตัวใหม่ๆ จะไม่เกิดขึ้นอีกอยู่ดี

ผมจะขอนำเสนอความเห็นในเรื่องการปรับเปลี่ยนเมืองและพื้นที่สาธารณะที่มีความจำเป็นในการสร้างความพร้อมในการเปิดเมืองอีกครั้งหนึ่ง

1.การปรับเปลี่ยนรูปแบบการคมนาคมขนส่ง

1.1 สนามบิน : เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะเป็นที่ยืนยันว่าในกรณีบ้านเราในช่วงต้น (ก่อนที่จะไปสู่เรื่องชายแดนทางใต้) มีข้อกังวลและข้อเรียกร้องมากมายต่อการบริหารจัดการสนามบินที่สร้างความเคลือบแคลงใจเป็นอย่างมาก นอกเหนือจากเรื่องนโยบายภาพรวมของการตรวจคนเข้าเมืองตั้งแต่การอนุมัติวีซ่า การไม่ยกเลิกวีซ่าประเภทที่เข้าเมืองง่ายโดยไม่ต้องมีเอกสารมากมายจากต้นทาง ด้วยความกังวลต่อเรื่องรายได้ที่ลดลงจากการท่องเที่ยว

ในอีกด้านหนึ่ง ระบบการตรวจสุขภาพที่มีการสงสัยว่าตรวจจริงจังแค่ไหนก็คงจะต้องมีการปรับปรุง การจัดพื้นที่ในสนามบินไม่ให้มีความแออัด รวมทั้งระบบมาตรฐานการบินต่างๆ ก็คงจะต้องมีการปรับเปลี่ยนมากขึ้นเช่น การตรวจสุขภาพพื้นฐานก่อนขึ้นเครื่อง ซึ่งจากเดิมหลังเหตุการณ์การก่อวินาศกรรมในอเมริกา (9/11) การตรวจคัดกรองผู้โดยสารก็มีความเข้มงวดมากขึ้น ซึ่งผมคาดว่าในอนาคตการตรวจคัดกรองผู้โดยสารนอกเหนือจากมิติความมั่นคงมาสู่มิติด้านสุขภาพนั้นก็จะยิ่งทำให้การเดินทางต่างๆ นั้นจำต้องเตรียมเวลาไว้มากขึ้น และมีขั้นตอนต่างๆ มากขึ้น ซึ่งน่าจะส่งผลให้การเดินทางนั้นมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น

1.2. สถานีและรถประจำทางข้ามจังหวัดและรถตู้ : สถานีเหล่านี้และตัวรถเองจะต้องมีมาตรการอย่างไรที่จะมีความเปลี่ยนแปลงและไม่ส่งผลกระทบและภาระกับประชาชนมากขึ้น เช่น การไม่นั่งติดกันนั้นใครจะแบกภาระค่าใช้จ่าย ระบบมาตรฐานความสะอาดและการระบายอากาศ เหล่านี้จะใช้ใครเป็นคนตรวจสอบ จะใช้องค์กรรัฐที่ประชาชนอาจไม่เชื่อมั่นศรัทธา และไม่มีประสิทธิภาพ หรือจะต้องมีระบบการควบคุมคุณภาพใหม่ที่โปร่งใสและรับมืออย่างทันท่วงที

1.3 ระบบการขนส่งในเมือง : ทั้งรถเมล์ รถปรับอากาศ รถไฟฟ้า ใต้ดิน การรักษาระยะห่าง และความสะอาดในอาคารและตัวรถเองนั้นจะต้องมีมาตรฐานและมาตรการอย่างไร รวมทั้งระบบตรวจสอบ อย่าลืมว่า รถประจำทางข้ามจังหวัดนั้นอย่างน้อยก็ไม่มีระบบยืนโหนหรือเบียด แต่ในกรณีรถเมล์ รถไฟฟ้านั้นย่อมต้องมีการเบียด สิ่งเหล่านี้จะมีมาตรการสาธารณะในการดูแลควบคุมคุณภาพอย่างไร และประชาชนจะเข้าร่วมสะท้อนปัญหา และร่วมตรวจสอบได้อย่างไร นอกจากนี้ระบบการจ่ายค่าโดยสารแบบใช้ธนบัตรและเหรียญจะต้องยกเลิก ให้ใช้บัตรและเติมเงินในบัตรเพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสกัน ทั้งนี้จะต้องไม่เพิ่มภาระให้ประชาชน อาทิ การมีจุดจำหน่ายบัตรและเติมเงินอย่างเพียงพอ

1.4 รถแท็กซี่ และบริการรถแท็กซี่ใหม่ๆ จากแอพพลิเคชั่นออนไลน์ : ความสะอาดของรถรับจ้างเหล่านี้จะต้องมีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจน การตรวจสภาพรถเหล่านี้และสุขภาพของผู้ขับ รวมทั้งระบบการป้องกันความปลอดภัยทางสุขภาวะของผู้ขับเองจากผู้โดยสารก็มีส่วนสำคัญ เรื่องนี้มีประเด็นที่ควรพิจารณาอยู่หลายเรื่อง ตั้งแต่ระบบคัดกรองผู้โดยสารก่อนขึ้นรถ การปรับเปลี่ยนห้องโดยสารที่กั้นคนขับจากผู้โดยสาร รวมทั้งเรื่องของการทำความสะอาดทุกครั้งก่อนและหลังการเดินทาง ทั้งนี้จะต้องไม่ให้สิ่งเหล่านี้เป็นภาระแก่ประชาชนและคนขับมากจนเกินไป และมีระบบการตรวจสอบที่เชื่อถือ-เป็นที่ยอมรับของประชาชน

 

1.5 การปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งในเมืองในระดับปัจเจกบุคคล : การส่งเสริมการเดินเท้าและการเคลื่อนที่ด้วยพาหนะที่ไม่สร้างมลภาวะ ที่ขนาดเล็กกว่ารถยนต์และจักรยานยนต์ อาทิ เรื่องของจักรยานจะต้องมีการส่งเสริมกันอย่างจริงจัง ทั้งนี้ เพราะการเคลื่อนที่ในระดับส่วนบุคคลเช่นนี้มีแนวโน้มที่จะลดความเสี่ยงในการอยู่ในพื้นที่ที่แออัดเป็นเวลานาน เช่น ไม่อยู่ในห้องโดยสารเดียวกันในสภาวะที่อากาศไม่ถ่ายเท โดยการส่งเสริมให้เกิดการเดินเท้า และใช้จักรยานนั้นจะต้องมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมที่ชัดเจนและสร้างแรงจูงใจในการเดินและขี่จักรยานมากขึ้น การมีทางจักรยาน การมีระบบแบ่งปันจักรยานที่สะอาดปลอดภัย หรือการปิดถนนบางเวลาให้ใช้จักรยาน หรือเดินเท้าได้มากขึ้นนั้นจะต้องทำในระดับรัฐบาล โดยเฉพาะในระดับเมืองต้องมีการศึกษาเส้นทางให้ดี ทั้งในระดับละแวกบ้าน ในระดับเขต และในระดับข้ามเขต เรื่องราวเหล่านี้จะต้องเป็นเรื่องที่ประชาชนร่วมกับสำนักงานเขตเข้ามาร่วมกำหนดเส้นทางการเดินและเส้นทางจักรยานที่สร้างประโยชน์สูงสุดในพื้นที่เขต รวมทั้งสัดส่วนทางเดินเท้า (รวมทั้งกิจกรรมต่างๆ ที่ไม่จำเป็นต้องขัดกับการเดินเสมอไป เช่น ร้านค้าริมทางที่ไม่หนาแน่นจนเกินไป) และสัดส่วนทางจักรยานต่อพื้นที่ถนนซึ่งเป็นเรื่องของหน่วยงานส่วนกลางที่จะต้องมีมาตรฐานใหม่ๆ ขึ้นมาเพื่อส่งเสริมให้เกิดการคมนาคมในรูปลักษณะใหม่ และความโปร่งใสในระบบการจัดซื้อจัดจ้าง การมีส่วนร่วมในการออกแบบ และติดตามผลการปฏิบัติงาน รวมทั้งความพึงใจของผู้ใช้บริการก็เป็นส่วนสำคัญ

2.การปรับเปลี่ยนอาคารและสถานที่สาธารณะ : การปรับเปลี่ยนอาคารสาธารณะและพื้นที่สาธารณะให้มีมิติของความปลอดภัยด้านสาธารณสุขเพิ่มไปจากมิติมาตรฐานการก่อสร้างเดิมเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ เป็นอย่างมาก ซึ่งอาคารและพื้นที่สาธารณะเหล่านี้มีผลสำคัญต่อเศรษฐกิจ และการใช้ชีวิตในเมือง อย่างในกรณีของบ้านเรา สนามมวยซึ่งเป็นหนึ่งในสถานที่แพร่กระจายเชื้อนั้นประเด็นไม่ได้มีแค่ว่าใครเป็นเจ้าของหรือใครพลาดในการปฏิบัติตัวตามคำสั่งของหน่วยงานรัฐ (ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องมีการสอบสวนและลงโทษกันไป) แต่อยู่ที่ว่าพื้นที่และอาคารเหล่านี้มีบทบาทต่อการใช้ชีวิตสาธารณะ สร้างสำนึกการอยู่ร่วมกันในเมือง และมีผลต่อการส่งเสริมการท่องเที่ยว

การพิจารณาแต่เรื่องของการปิด เปิด หรือเว้นระยะห่างนั้นเป็นเพียงมิติด้านสาธารณสุขที่ไม่ได้ครอบคลุมไปถึงมิติด้านการใช้ชีวิตร่วมกันในสังคม หรือความเป็นอารยะ (civic หรือ civility) ไม่ว่าจะสนามมวย สนามกีฬา อาคารคอนเสิร์ต อาคารประชุมและแสดงสินค้า และศิลปะ พิพิธภัณฑ์ ทั้งหมดที่กล่าวนี้นั้นนอกเหนือจากเรื่องของความปลอดภัยแล้ว ยังมีมิติเรื่องการนันทนาการ การพักผ่อนหย่อนใจ และเรื่องการสร้างเสริมเศรษฐกิจและธุรกิจของผู้คนในเมืองด้วย ดังนั้นการพิจารณาเรื่องการเปิดปิดสถานที่เหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องมีมิติเรื่องการส่งเสริมความเป็นพลเมือง การอยู่ร่วมกัน และมิติด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวร่วมไปด้วย ไม่ใช่มีแต่มุมมองด้านความปลอดภัยเท่านั้น การปรับปรุงการออกแบบและปรับแต่งอาคารและพื้นที่เหล่านี้เป็นเรื่องที่มีความสำคัญและต้องสร้างข้อตกลงร่วมกันระหว่างรัฐกับเจ้าของสถานที่

ในส่วนของเอกชนนั้น อาคารห้างสรรพสินค้าก็มีความจำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนมาตรฐานใหม่ๆ ที่จะส่งผลระยะยาว ไม่ใช่แค่เอาสก๊อตเทปมาติดเก้าอี้นั่ง หรือเขียนรูปเท้าเพื่อกำหนดระยะห่างในลิฟต์เท่านั้น

อาคารสาธารณะยังรวมไปถึงสถานที่ราชการ โรงพยาบาล โรงเรียน และบริษัทเอกชนที่จำต้องมีการให้บริการ การออกแบบและการสร้างมาตรฐานใหม่เป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องมีการพิจารณาร่วมกันระหว่างผู้ออกแบบ ผู้ใช้ และมาตรฐานใหม่ๆ ที่จะต้องมีขึ้นด้วย

3.การปรับปรุงอาคารเพื่อความสะอาดปลอดภัย : รูปแบบมาตรฐานอาคารส่วนบุคคลทั้งบ้านเรือน และคอนโดจำต้องมีการปรับเปลี่ยนมาตรฐานใหม่ๆ เพิ่มเติมขึ้น การมีระบบการทำความสะอาดส่วนกลางของคอนโดที่มากกว่าพนักงานทำความสะอาดและการทำความสะอาดแบบเดิม หรือการฉีดยุงและแมลงน่าจะต้องมีการพูดถึงมาตรฐานใหม่ๆ เรื่องความสะอาดเชิงสาธารณสุขในอาคาร ในจุดที่ต้องสัมผัส เช่น ลิฟต์ ราวบันได พื้นที่ส่วนรวม หรือการต้องคิดถึงอุปกรณ์พื้นฐานอย่างเจลล้างมือ หรือแม้กระทั่งห้องพยาบาลพื้นฐานที่น่าจะต้องระบุเอาไว้ในคอนโดขนาดใหญ่ในกรณีมีสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข รวมทั้งการวางแผนระยะยาวเมื่อมีการติดเชื้อในอาคาร

4.การขยายและปรับปรุงระบบการค้ารายย่อยในฐานะทางเลือกและเส้นเลือดใหญ่ใหม่ของการค้าปลีก : ผมหมายถึงการปรับปรุงให้เกิดพื้นที่การค้ารายย่อย ตั้งแต่ระดับตลาดนัด ตลาด และร้านค้าเล็ก ซึ่งในประเทศไทยกำลังหายไปเรื่อยๆ ขณะที่ในต่างประเทศ Main Street หรือถนนสายหลักในเมืองที่มีร้านค้าห้องแถวประมาณ 1-3 คูหานั้นยังมีให้เห็นอยู่ทั่วไปและยังเป็นสีสันของเมือง แต่ในเมืองไทยนั้นรายย่อยเหล่านี้กำลังจะพังจากการไม่มีที่จอดรถ ถูกเบียดโดยโครงสร้างใหม่เช่น สะพานลอย การขยายถนน การก่อสร้างรถไฟฟ้า และการรื้อสร้างใหม่เป็นคอนโด

ภัยพิบัติใหม่ด้านสาธารณสุขในรอบนี้ทำให้เห็นว่า พื้นที่สำหรับการค้ารายย่อยเหล่านี้เป็นเส้นเลือดหลักในการหล่อเลี้ยงชีวิตของผู้คนในยามที่ห้างปิดและกิจกรรมที่มีคนแออัดนั้นทำไม่ได้ แต่ในอีกด้านหนึ่ง เราก็จะต้องเริ่มคิดระบบสนับสนุนให้ร้านขนาดเล็กนั้นอยู่ได้และอยู่รอดกับราคาค่าเช่า อีกทั้งการช่วยเหลือในแง่ของการกู้ยืมในยามที่ธุรกิจประสบภัย นอกจากนี้ยังต้องคิดถึงการมีระบบสนับสนุนเช่น พื้นที่จอดรถ หรือบริการส่งสินค้า การมีพื้นที่ล้างมือ หรืออาจจะต้องเริ่มคิดว่าในเมืองนั้นควรจะมีห้างขนาดใหญ่อยู่จริงหรือไม่ เพราะในหลายประเทศนั้นห้างค้าปลีกขนาดใหญ่จะไม่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในเมือง

5.การสร้างกลไกการสนับสนุนการทำงานจากบ้านและการปรับเปลี่ยนบทบาทของแรงงาน : เรื่องนี้เป็นเรื่องที่จะต้องสร้างระบบสนับสนุนในแง่ของการยังยืนยันระบบสวัสดิการการจ้างงานและประกันสุขภาพ เพราะในอนาคตลักษณะการจ้างงานแบบเหมาช่วง หรือเป็นรายโครงการอาจจะมีมากขึ้น เพราะความจำเป็นและต้นทุนในการเช่าอาคารสำนักงานขนาดใหญ่ที่เต็มไปด้วยความเสี่ยงนั้นอาจจะมีมากขึ้น นอกจากนี้ระบบอินเตอร์เน็ตพื้นฐานจะต้องมีการกำหนดมาตรฐานที่เพียงพอแก่การใช้งานภาพรวม ทั้งในแง่ของเด็กที่ไปโรงเรียนและมหาวิทยาลัยไม่ได้ รวมทั้งระบบการทำงาน การเตรียมระบบสนับสนุนของทางภาครัฐ และการสร้างเงื่อนไขให้เอกชนต้องร่วมรับผิดชอบต้นทุนของพนักงานหรือนิสิตนักศึกษาที่จะต้องเพิ่มขึ้นโดยที่พวกเขาต้องแบกรับไว้เองทั้งหมดเป็นเรื่องที่จะต้องมีเจ้าภาพในการดูแล

นอกจากนี้ ระบบการอบรมและยกระดับคุณภาพการศึกษาและแรงงานให้มีความเข้าใจและร่วมรับผิดชอบปัญหาภัยพิบัติใหม่ด้านสาธารณสุข เมื่อมีสถานการณ์ฉุกเฉินก็เป็นสิ่งที่มีความสำคัญเพื่อทำให้ทุกภาคส่วนสามารถร่วมกันดูแลปัญหาพื้นฐานบางประการได้ในเบื้องต้น ตั้งแต่การที่พนักงานบริการมีความเข้าใจและใส่ใจในความสะอาดเพิ่มขึ้น ตั้งแต่ส่งของ เสิร์ฟของ และให้บริการด้านอื่นๆ

6.การสร้างระบบปกป้องและดูแลธุรกิจและชุมชนที่เปราะบางในพื้นที่ : การพยายามสนับสนุนด้านการเงินในรอบนี้ของรัฐบาลทำให้เห็นว่าปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจและการสาธารณสุขนั้นมีความสลับซับซ้อนยิ่ง บางกลุ่มนั้นรัฐเองก็มองไม่เห็น หรือมีเกณฑ์พิจารณาที่ไม่ครอบคลุม ดังนั้นบทเรียนจากความไม่ลงตัวในรอบนี้ควรจะเริ่มมีการทบทวนระบบการรองรับ-สนับสนุนธุรกิจ กิจกรรมทางเศรษฐกิจและการใช้ชีวิตในเมืองเพิ่มขึ้น เพื่อให้เห็นถึงความเปราะบางที่เกิดขึ้นในทุกภาคส่วนทางสังคม ตั้งแต่ธุรกิจภาคบริการตั้งแต่ร้านอาหาร สถานบันเทิงที่ต้องถูกจำกัดกิจกรรม หรือถูกปิด กิจการตลาดนัดของพ่อค้ารายย่อย กิจการการขับรถรับจ้างสาธารณะเช่น แท็กซี่กับมอเตอร์ไซค์ หรือผู้คนในชุมชนแออัดที่ต้องตกงานจากการหยุดงานหรือเลิกจ้างในช่วงนี้

การทำความเข้าใจความยากจน ความเปราะบาง ความเหลื่อมล้ำ และอคติต่างๆ ที่เรามีกับคนที่ไม่ใช่พวกเราจากการรับรู้และสร้างมโนภาพต่อคนอื่นๆ เช่น แรงงานที่ไม่กักตัว หรือคนที่ไม่มีการสร้างระยะห่างทางสังคมทั้งที่โดยสภาพการดำรงชีพของพวกเขานั้นทำได้ยากลำบากนัก จะทำให้เราสามารถที่จะเผชิญกับปัญหามากมายที่มาพร้อมกับวิกฤตในรอบนี้

การสร้างระบบการแบ่งปัน ที่นำเอาเทคโนโลยีมารองรับและสนับสนุนการพึ่งพาอาศัยและช่วยเหลือซึ่งกันและกันในพื้นที่ อาทิ การแบ่งปันข้อมูลชุมชนที่ขาดแคลน การระดมทรัพยากรไปช่วยสนับสนุนหน่วยงานที่ขาดแคลน เป็นเรื่องที่ต้องร่วมกันสนับสนุนและทำให้เกิดขึ้นทั้งในระดับอาสาสมัครซึ่งเป็นพื้นฐานของการมีประชาสังคมที่เข้มแข็ง และในระดับของรัฐเองที่ไม่ทำให้การช่วยเหลือนั้นล่าช้าและไร้ประสิทธิภาพ ทั้งนี้เพราะสภาวะภัยพิบัติในรอบนี้เป็นเสมือนการรบที่ยืดเยื้อยาวนาน และเป็นสถานการณ์ที่ไม่เคยมีใครเผชิญมาก่อน

7.การปรับเปลี่ยนวิธีคิดในเรื่องของการพัฒนาและออกแบบเมือง : จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ทำให้เราต้องคิดกันใหม่ว่า การพัฒนาและออกแบบเมืองจากวันนี้ไปสู่อนาคตนั้นมีอีกหลายเรื่องที่จะต้องพิจารณาและข้ามพ้นจากกรอบคิดในแบบเดิม อาทิ แนวคิดเรื่องความหนาแน่น และการขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ การออกแบบระบบสนับสนุนใหม่ๆ และการเน้นถึงการปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดและคงทนต่อสภาพความผันผวนจากสิ่งที่เราคาดไม่ถึงจึงเป็นอีกส่วนสำคัญในการกำหนดการวางแผน พัฒนา และออกแบบเมืองเป็นอย่างยิ่ง

การปรับบ้าน-เปลี่ยนเมือง ให้มีความพร้อมก่อนที่จะเปิดเมือง และผู้ที่จะมีบทบาทในส่วนนี้ไม่ใช่มีแต่ประชาชน ชุมชน และเอกชนเท่านั้น แต่องค์กรภาครัฐ ก็จะต้องเข้ามามีบทบาทสำคัญในการรับผิดชอบและถูกกดดัน วิพากษ์วิจารณ์ และถูกตรวจสอบว่าได้คิดในเรื่องอย่างน้อย 7 ประเด็นที่ผมได้ลองนำเสนอขึ้นมาหรือไม่

หมายเหตุ ผู้เขียนขอขอบคุณ รองศาสตราจารย์ ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่ให้ข้อคิดและคำแนะนำที่มีประโยชน์ในการเขียนงานชิ้นนี้ รวมทั้งงานของนักวิชาการหลายท่าน ได้แก่ Richard Florida. “Well need to reopen our cities. But not without making changes first.” Citylab.com. 27/03/2000. Richard Florida. How our cities can reopen after COVID-19 pandemic. Brookings.edu. 24/03/2020. ณัฐวุฒิ เผ่าทวี “เปิดเมืองอย่างไรให้เศรษฐกิจฟื้นและโรคไม่ระบาด” Thaipublica.org. 15/04/2020. และ สมชัย จิตสุชน “วิกฤตโควิด-19 ในประเทศไทย : การเปลี่ยนผ่านจากมาตรการกึ่งล็อกดาวน์” เข้าสู่มาตรการ “สร้างเสถียรภาพ” เอกสารเพื่อการระดมความคิด TDRI. 9/04/2020

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image