คุณหมอขา ทำได้ดีมากแล้ว แต่เราต้อง Test and Track (T&T) : โดย ผาสุก พงษ์ไพจิตร

ต้องขอบคุณคุณหมอและบุคลากรทางการแพทย์และผู้เกี่ยวข้องทั้งหลาย ที่ดูแลจัดการปัญหาการระบาดของไวรัสโควิดอย่างดีมาก จนเรามาถึงจุดนี้ (18 เมษายน 2563) ผู้เสียชีวิตด้วยโรคนี้ในไทยทั้งหมด 47 รายเท่ากับ 0.03 % ของทั้งโลก ผู้ติดเชื้อใหม่รายวันก็ลดลงเร็วขึ้น (แม้ยังอาจเพิ่มได้อีก) และมักเป็นกลุ่มเดียวกันกับที่สัมผัสกันในช่วงก่อนที่จะมีนโยบายให้เว้นระยะห่างจากคนอื่น

สำหรับจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมและยืนยันใน 68 จังหวัดทั้งหมดมี 2,733 ราย กลุ่มที่เฝ้าระวังมี 38,670 ราย

ผู้รู้ท่านหนึ่งบอกผู้เขียนว่า จำนวนผู้ติดเชื้อและยืนยันแล้วนี้ รวมกับพวกที่เฝ้าระวังอยู่ที่ยังไม่มีอาการนั้น คิดเป็นเพียงประมาณร้อยละ 20 ของทั้งหมดที่มีเชื้อนี้ในตัวโดยทั่วไป นี่เป็นสิ่งที่พบกันในประเทศซึ่งมีการสุ่มตรวจคัดกรองและติดตาม หรือ testing และ tracking (T&T) ผู้ที่มีเชื้อไวรัสในวงกว้างและละเอียดตั้งแต่เริ่มมีคนป่วยด้วยโรคนี้ในประเทศเขา

สำหรับไทยที่ยังไม่ได้ทำ T&T นี้ก็คาดได้ว่า น่าจะยังมีอีกประมาณร้อยละ 80 ที่ลอยนวลอยู่และอาจเป็นตัวแพร่เชื้อโดยไม่รู้ตัว เพราะไม่มีอาการหรือมีอาการน้อยมาก คือเป็นผู้ที่มีเชื้อแล้วโดยผ่านเส้นทางต่างๆ ที่เราไม่รู้และหลุดรอดจากการตามของเรา จำนวนนี้ผู้รู้บอกว่าในไทยประมาณการได้ว่ามี 200,000-500,000 คน คิดเป็น 0.3-0.75 ของประชากรของประเทศที่ 67 ล้านคน

Advertisement

ดังนั้น ข้อกังวลที่ยังมีอยู่คือ เราไม่ได้ทำ T&T มาตั้งแต่ต้น แล้วให้เข้าสู่มาตรการป้องกันผู้มีเชื้อทั้งหมดเหมือนเช่นที่ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ไต้หวัน และเวียดนาม สิ่งที่เราทำคือ เราตรวจหาเชื้อผู้ที่มีอาการป่วย แล้วจึงสอบถามประวัติให้รู้ว่าติดมาจากไหน ไปเกี่ยวข้องสัมผัสกับใครบ้างและติดตามเท่าที่รู้และทำได้ และต่อมาเรามีมาตรการ ทิ้งระยะห่าง หรือ social distancing และปิดบางกิจการ

ที่สำคัญ จากการศึกษาวิจัยของแพทย์นักวิทยาศาสตร์หลายสำนักทั่วโลก ทำให้เราได้ข้อมูลและข้อเสนออีกว่า มาตรการอยู่ห่างกัน ที่แทบทุกประเทศกำลังทำ รวมทั้งไทยด้วยนั้น ไม่พอ เราต้องเพิ่มทำการตรวจหาเชื้อโควิดในประชากรและติดตามผู้สัมผัส ต่ออีกหลายชั้น และมีมาตรการกับกลุ่มที่มีเชื้อ และกลุ่มที่สัมผัสผู้มีเชื้อ ที่เราไม่รู้นี้อย่างเป็นระบบ เสริมเข้ามา

ล่าสุดได้มีการทำโมเดลแสดงให้เห็นว่า เช่นที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งกำลังมีมาตรการ ทิ้งระยะห่าง ถ้าไม่ทำ T&T คนที่จะตายจากโควิดอาจสูงถึง 600,000

Advertisement

สําหรับประเทศเรา ผู้รู้ชี้ว่า ข้อมูลเหล่านี้บอกให้เห็นว่า คนเพียงน้อยกว่า 1% ของประเทศ สามารถสร้างปัญหาให้กับคนอีก 99% ได้ ซึ่งนำไปสู่ประเด็นว่า ถ้าเราไม่ทำ T&T ให้ข้อมูลปรากฏและจัดการกับพวกเขาจำนวนน้อยนี้อย่างเป็นระบบ เราอาจจะจมอยู่กับไวรัสนี้แบบไม่รู้จบ จนประเทศล้มละลายก็ได้

และยิ่งในขณะนี้แรงผลักดันทางสังคมให้ผ่อนปรนนโยบาย ทิ้งระยะห่าง ที่โยงกับการปิดสถานที่สาธารณะและกิจกรรมเศรษฐกิจต่างๆ ซึ่งส่งผลกระทบด้านลบมาก เพราะขาดการวางแผนที่ครอบคลุมและการเตรียมการก่อนอย่างลุ่มลึก ถ้าฝ่ายนโยบายเกิดบ้าจี้ เปิดสิ่งที่เคยห้ามโดยไม่พิจารณามาตรการป้องกัน อย่างรอบคอบ ผลเสียอาจมากกว่า ที่ต้องใช้จ่ายในการทำ T&T อย่าง แน่นอน

ดังนั้น ไทยจึงควรทำ T&T ก่อนที่จะสายเกินไป และนี่เป็นความเห็นของ ศ.นพ.สุรพล อิสรไกรศีล ซึ่งเป็นผู้รู้ที่ผู้เขียนกล่าวถึงข้างต้นนั่นเอง ท่านเป็นนายกราชบัณฑิตยสภา เป็นนายแพทย์ใหญ่ที่ รพ.ศิริราช ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคเลือดมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับของแพทย์ไทยและต่างชาติ ได้รับรางวัลนานาชาติ เช่น จาก National Institute of Health ที่สหรัฐ และที่สภาวิจัยแห่งชาติของไทย ท่านว่า “ต้องทำ Testing and Tracking แบบเร็วๆ แบบสุ่ม random ให้กว้างขวาง ไม่ต้องทั้งประเทศ เน้นบริเวณเสี่ยงมากๆ เราพอจะทำได้ แม้ขาดเครื่องมือ และต้องมีค่าใช้จ่าย แต่คุ้มกว่าไม่ทำ”

นอกจากนั้นแล้ว ผู้เขียนได้สุ่มถามทางโทรศัพท์อาจารย์นักวิจัยที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัดที่ภาคเหนือ อีสาน และภาคใต้ เกี่ยวกับความเห็นในเรื่องนี้พบว่า ในระดับคนชั้นกลางอยากให้มีการทำ T&T (ศ.กิตติคุณ ดร.สุทธิพันธ์ จิราธิวัฒน์ รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ คุณพรพิไล เลิศวิชา ผศ.ดร.ณัฐกานต์ อัครพงศ์พิศักดิ์ คุณหาญณรงค์ เยาวเลิศ) คุณหาญณรงค์บอกว่า “ผมเห็นทางข่าวทีวีที่ต่างประเทศเขาใช้ตำรวจจราจรตรวจ ไม่นานก็รู้ผลแจ้งให้ทราบ แล้วต้องทำตามมาตรการป้องกัน ก็ดี”

สำหรับชาวบ้านทั่วไป ซึ่งกำลังขาดเงินสดในชีวิตประจำวัน ก่อนหน้านี้ยังมองไม่ถึงเรื่องนี้ คุณพรพิไล เลิศวิชา ที่เชียงใหม่เล่าว่า “ชาวบ้านเห็นด้วยและยินดีทำตามมาตรการอยู่ห่างกัน แม้จะบ่นกันว่า กำลังไม่มีจะกิน ต้องอดตายแน่ ได้แต่หวังว่าปลายเดือนเมษายนเมื่อรัฐบาลยอมให้เศรษฐกิจกลับมาเหมือนเดิมก็จะรอดตายเท่านั้น แต่เมื่อมีการอภิปรายกันเรื่องเร่งตรวจคัดกรองนี้ ก็เริ่มสนใจว่ามีเทสกับทุกคนได้ ก็คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์”

สำหรับ T&T มีโมเดลต่างๆ ในแต่ละประเทศ ล้วนแตกต่างกันไป แต่มักดูที่อู่ฮั่น เป็นต้นแบบ แล้วปรับแปลงกันไปตามที่เคยจัดการกับโรคระบาดอื่นๆ ในอดีต 

โมเดลของเวียดนามน่าสนใจ เพราะทำก่อนต้นแบบที่อู่ฮั่น และเพราะเป็นเพื่อนบ้านเรา มีสภาพอากาศ เศรษฐกิจสังคมในแถบเดียวกัน  และเริ่มแรก ไวรัสมาจากข้างนอก คือ อู่ฮั่น และมีขั้นตอนการแพร่สามขั้นเหมือนกันดังที่ทราบกันดี

ที่เวียดนามต่างจากไทย คือระบบสาธารณสุขเขายังอ่อนแอและยังมีงบประมาณไม่มาก ไม่รวยเช่นเกาหลีใต้หรือญี่ปุ่น ที่เหมือนไทยอีกอย่างคือ ผู้ป่วยคนแรกที่พบและยืนยันก็เกิดในช่วงเวลาใกล้ๆกับเรา แต่เขาจัดการเร็วและดี จนขณะนี้ (18 เมษายน 2563) ยอดผู้ติดเชื้อและยืนยัน มีเพียง 268 ราย กำลังทุเลา 177 เสียชีวิต เป็น 0 จึงได้รับคำนิยมว่า โมเดลเวียดนาม มีประสิทธิภาพสูง ใช้เงินน้อยและโปร่งใส

เวียดนามอยู่ใกล้จีน ก็ต้องกลัวมากเป็นธรรมดา มีเตียงรับผู้ป่วยได้น้อยมากจะรับมือไม่ได้ถ้าไม่รีบป้องกัน จึงตัดสินใจตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม 2563 ที่จะต่อสู้กับโควิด จัดทำ T&T ของตัวเอง 120,000 ราย จากประชากรทั้งหมดเกือบ 100 ล้าน แต่เขาทำเกือบทันทีหลังเจอมีผู้ป่วยคนแรกโดยพัฒนาวิธีตรวจคัดกรองและติดตามของเขาเองด้วย และสามารถระงับการระบาดได้ดีมาก

การกักตัวนั้นนั้น เวียดนามทำกับคน 10,000 คนที่เมืองหนึ่ง แม้ว่า จำนวนผู้ป่วยที่ยืนยันแน่นอนในประเทศขณะนั้นมีเพียง 10 ราย และจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับผู้ที่มีโอกาสสัมผัสกับไวรัส อย่างละเอียด และติดตามผู้สัมผัสอันดับ สอง สาม สี่ และให้ทิ้งระยะห่าง ใช้การติดตามผ่าน mobile application ที่ได้ผล

ตั้งแต่แรกเริ่มเลย ใครก็ตามที่เดินทางเข้าประเทศ รัฐบาลกักตัวไว้ 14 วัน พร้อมกับปิดโรงเรียนและมหาวิทยาลัย ตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์

ใช้ทหารให้เป็นประโยชน์ในสถานการณ์คล้ายสงครามนี้ โดยให้ช่วยสอดส่องดูผู้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงทุกหัวถนน ตามหมู่บ้าน โดยเฉพาะไม่ให้ผู้ที่ถูกกักกัน หรือต้องทิ้งระยะห่างระหว่างกัน อย่าแตกแถวอย่างเด็ดขาด

การดูแลละเอียดแบบนี้ทำให้ไม่มีใครที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง หลุดรอดไปปล่อยเชื้อได้

และทำให้ผู้ที่เป็นหรือสัมผัสต้องมีวินัย เพื่อคนส่วนรวม รัฐบาลเวียดนามยังได้คำนวณผลเสียด้านเศรษฐกิจหากไม่ป้องกัน จนเป็นที่ยอมรับและทำให้ทุกคนพร้อมใจกันร่วมมืออย่างจริงจัง

ตั้งแต่แรกเลยรัฐบาลปันงบหนึ่งล้านดอลลาร์ เสริมสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจเพื่อช่วยประชาชนและบริษัทที่ต้องปิดกันเป็นแถวและการท่องเที่ยวหยุดชะงัก คาดการณ์ว่ารายได้ภาษีต้องลดจึงประกาศขอการบริจาคและได้รับความร่วมมือ พลเมืองให้บริจาคเท่าที่จะทำได้

รัฐบาลที่คิดเพื่อประชาชน แม้จะถูกวิจารณ์ว่าละเมิดสิทธิมนุษยชน เพราะเป็นรัฐบาลพรรคเดียวเช่นเวียดนาม สามารถสร้างความเชื่อถือได้ถ้าทำอะไรได้เรื่อง

สำหรับไทย การอภิปรายกันว่าควรจะขยายการทำ T&T ให้เป็นระบบไหม? ผู้ไม่เห็นด้วย แสดงเหตุผลว่าไม่จำเป็น จะสิ้นเปลืองไม่ใช่ที่ โดยเห็นว่าการติดตามของเราได้ผลดี ครบถ้วนแล้ว

แต่ผู้สนับสนุน คือผู้รู้ที่ผู้เขียนเอ่ยถึงข้างต้นคือ ศ.นายแพทย์ ดร.สุรพล อิสรไกรศีล บอกว่า ควรทำ ถ้าไม่ทำ ความสิ้นเปลือง และเสียหายจะยิ่งมากกว่า และการทำนั้นมีหลายวิธี ก็คิดให้เหมาะสมกับสภาพของเรา ไม่ต้องทำทั้งประเทศ แต่เป็นการสุ่มในเขตเมืองใหญ่ คนหนาแน่น ความเสี่ยงสูง เช่น กทม. ภูเก็ต ฯลฯ ซึ่งก็มีข้อมูลพอสมควร ลดหลั่นกันไป และเมื่อพบคนมีเชื้อไวรัสท่านย้ำว่า “ต้องกักบริเวณอย่างจริงจัง”

และท่านยังบอกอีกว่า “มีข้อควรกังวลว่า ปลายพฤษภาคม ฝนจะมา อากาศชื้น ซึ่งสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดรอบสอง และหากขยายไปต่างจังหวัดซึ่งการรองรับของ รพ.ไม่พอเพียง เราจะรับมือไม่ได้”

ยังมีผู้สนับสนุนอื่นๆ เช่น ดร.เอกพันธ์ ปิณฑวณิช บอกว่ารัฐบาลต้องให้ประชาชนได้รับการตรวจคัดกรองโควิด ตามมาตรา 47 ในรัฐธรรมนูญ 2560 กป.อพช.ก็เรียกร้องให้ทำ แทนการรอตั้งรับ

จริงๆ แล้วเราควรทำ T&T มาตั้งแต่ต้น แต่นี่ก็ไม่ได้หมายความว่าสายไปแล้ว ทำช้ายังดีกว่าไม่ทำเลย และเราก็มีเครือข่ายของผู้คนที่จะช่วยติดตามได้เช่น อสม. ที่เข้าใจว่ามีเป็นล้านคนทั่วประเทศ ถ้าลังเลเราจะเสียใจทีหลัง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image