ขาลงลายาว ผันผวนผสมโรง มหาวิกฤตเศรษฐกิจ

ขาลงลายาว ผันผวนผสมโรง มหาวิกฤตเศรษฐกิจ

ขาลงลายาว ผันผวนผสมโรง มหาวิกฤตเศรษฐกิจ

ที่มาพร้อมกับวิกฤตโรคระบาดโควิด-19

ก็คือวิกฤตทางเศรษฐกิจและปากท้องของคนทั่วโลก

เป็นวิกฤตที่แม้แต่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ ระบุว่า

Advertisement

รุนแรงระดับ “สงครามโลก”

มีผลกระทบกับประชากรโลกในระดับที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (The Great Depression) ช่วง ค.ศ.1929-1935

เพราะเป็นวิกฤตที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว รุนแรง และนอกเหนือไปจากความคาดหมาย

รวมทั้งไม่มีใครสามารถคาดการณ์ได้ว่า เหตุการณ์จะคลี่คลายลงเมื่อใด

อาการที่ปรากฏของวิกฤตครั้งนี้ก็คือ “ความผันผวน”

ผันผวนเพราะความไม่แน่ใจ ไม่วางใจ

ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนก็คือ ราคาทองคำและราคาน้ำมัน

ราคาทองคำในตลาดโลกที่เคยพุ่งทะยานในช่วงระหว่าง ค.ศ.2011-2012

เฉลี่ยอยู่ที่ 1,688 เหรียญสหรัฐ/ออนซ์

ตกต่ำต่อเนื่องมาตลอด อยู่ในระดับ 1,200-1,300 เหรียญ/ออนซ์

กระทั่งถึงช่วงครึ่งปีหลังของ ค.ศ.2019

ก่อนจะกระโดดพรวดมาอยู่ที่ราคาเฉลี่ย 1,597 เหรียญ/ออนซ์ในปี 2020

โดยราคาสูงสุดของปีอยู่ที่ 1,717 เหรียญ/ออนซ์

ขณะที่ราคาน้ำมันยิ่งผันผวนกว่า

หากยึดราคาน้ำมันเวสต์ เท็กซัส (WTI) ของสหรัฐอเมริกาเป็นดัชนี

จะพบว่า ราคาน้ำมันที่เคยอยู่ในระดับเฉลี่ย 60 เหรียญ/บาร์เรล ในปี 2019

หล่นพรวดลงมาเหลือต่ำกว่า 15 เหรียญ/บาร์เรล ในปัจจุบัน

และในตลาดซื้อขายน้ำมันล่วงหน้าเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา

ราคาน้ำมัน WTI ส่งมอบในเดือนข้างหน้าติดลบเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การค้าน้ำมัน

ที่ลบ 40 เหรียญ/บาร์เรล

ก่อนจะกระเด้งกลับมาอยู่ที่ระดับประมาณ 10 เหรียญในวันถัดมา

ความผันผวนรุนแรงนี้ ไม่ได้ส่งผลสะเทือนเฉพาะบริษัทผู้ขุดเจาะน้ำมัน

โดยเฉพาะของสหรัฐอเมริกา

แต่ยังกระทบไปถึงบริษัทผู้ค้าน้ำมันทั่วโลก

เริ่มต้นด้วยบริษัทค้าน้ำมันใหญ่ในสิงคโปร์ ยื่นขอพิทักษ์ทรัพย์ตัวเอง

และทิ้งหนี้คงค้างกับธนาคารเจ้าหนี้เอาไว้ 130,000 ล้านบาท

ยังไม่รู้ว่าจะมีอีกกี่บริษัทที่เดินซ้ำรอย

ธนาคารอีกกี่แห่งที่จะมีลูกหนี้เช่นนี้

เพราะภาระสต๊อกน้ำมันราคาแพงค้ำคอ

ภาวะเศรษฐกิจ “ขาลง”

เมื่อผนวกเข้ากับความ “ผันผวน”

ยิ่งทำให้ “ความไม่แน่นอน” เพิ่มมากขึ้น

ความไม่แน่นอนคือปัจจัยที่ธุรกิจทั้งหลายเกลียดและกลัวที่สุด

เพราะไม่สามารถคำนวณรายได้และต้นทุนได้ชัดเจน

เมื่อยังไม่ชัดเจน ก็ต้องดำเนินธุรกิจด้วยความ “ระมัดระวัง”

หมายถึงการใช้จ่ายให้น้อยที่สุด ลงทุนให้น้อยที่สุด

ซึ่งจะย้อนกลับมาทำให้สภาพเศรษฐกิจชะลอตัวต่อไป

ทำให้ “ขาลง” นั้นยืดยาวออกไปอีก

แม้กระทั่งสามารถควบคุมการระบาดของโรคได้แล้วในระดับหนึ่ง

ก็มิได้หมายความว่าเศรษฐกิจโลกโดยรวมจะกลับฟื้นตัวในทันที

และในหลายภาคธุรกิจ ยังจะ “ลากยาว” ต่อออกไป

เช่น ภาคการท่องเที่ยว

อันประกอบธุรกิจสายการบิน โรงแรม ภัตตาคาร ไปจนถึงกิจการต่อเนื่องอื่นๆ

เมื่อขาลงที่ลากยาว ผสมเข้ากับความผันผวน

โอกาสที่เศรษฐกิจจะกลับฟื้นตัวเข้าสู่ระดับก่อนหน้าโรคระบาด

เป็นเรื่องที่ไกลเกินฝัน

เป็นประเด็นที่ผู้กำหนดนโยบายเศรษฐกิจจะต้องเตรียมมาตรการรองรับ

เป็นกรณีที่ธุรกิจน้อยใหญ่ต้องศึกษา และหาทางปรับตัวเพื่อความอยู่รอด

เป็นทั้งวิกฤตและโอกาสของคนทำงาน ไม่ว่าลูกจ้างบริษัทห้างร้านหรือผู้ประกอบอาชีพอิสระ

ในฐานะสมาชิกของสังคมโลก

ประเทศไทยไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบหรือแนวโน้มนี้ได้

คำถามก็คือ มีการถกเถียงหารือ รวบรวมความคิดเพื่อรับมือกับมหาวิกฤตครั้งนี้มากน้อยเพียงใด

ในภาคเอกชนนั้นยังพอเห็นความเคลื่อนไหว

แต่ในภาครัฐ สัญญาณที่ออกมานั้นอ่อนเต็มที

อ่อนจนน่ากังวลใจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image