ที่เห็นและเป็นไป วันที่ 26 เมษายน 2563 : ถึงเวลา‘ของจริง’

ที่เห็นและเป็นไป วันที่ 26 เมษายน 2563 : ถึงเวลา‘ของจริง’

ที่เห็นและเป็นไป วันที่ 26 เมษายน 2563 : ถึงเวลา‘ของจริง’

แม้ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกมือวางอันดับหนึ่งของไทยเราตอนนี้จะเน้นย้ำแล้วย้ำอีกในทำนองว่า การรับมือกับโควิด-19 ยังต้องเข้มงวดต่อไป ยังประมาทไม่ได้ ซึ่งให้อารมณ์ไปในทางที่ว่า สถานการณ์ฉุกเฉินยังจำเป็นสำหรับการบริหารจัดการประเทศ และชีวิตคนไทยยังต้องถูกควบคุม

แต่ในความรู้สึกนึกคิดของคนทั่วไป โดยเฉพาะกลุ่มนักธุรกิจ หรือคนที่ต้องทำมาหากินต่างเห็นว่านั่นเป็นเพียงคำแถลงของโฆษกเท่านั้น ถึงนาทีนี้ไม่มีทางที่จะเข้มงวดอย่างเข้มข้นอย่างเดือนหรือสองเดือนที่ผ่านมาไม่ได้อีกแล้ว

แน่นอนว่าส่วนหนึ่งเกิดจากการได้รับรู้ว่าสถานการณ์การระบาดเป็นไปในทางดีขึ้น

Advertisement

ตัวเลขผู้ป่วยใหม่เหลือน้อยมาก คุมการเสียชีวิตได้ รักษาหายมากขึ้น และนอนรักษาตัวอยู่โรงพยาบาลน้อยลงเรื่อยๆ ความเป็นห่วงว่าระบบสาธารณสุขของไทยเราจะรองรับไม่ไหวเป็นไปในทางที่เบาใจได้

เมื่อความกังวลต่อโรคภัยน้อยลง

ความรู้สึกนึกคิดก็เริ่มกลับสู่ “มิติอื่นๆ ของชีวิต”

Advertisement

เริ่มจากความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน ที่นึกถึงการกลับไปทำมาหาเลี้ยงชีวิตกันมากขึ้น

คนที่ยังมีฐานะเป็นข้าราชการ หรือพนักงานบริษัทห้างร้านที่ยังไม่ถูกให้ออกจากงานนั้นไม่เท่าไร ส่วนใหญ่ยังไม่รู้สึกเดือดร้อนและอะไร อย่างมากที่สุดก็แค่กังวลว่าบริษัทหรือนายจ้างที่ประสบปัญหาภาวะฝืดเคืองในภาพรวมจะแก้ปัญหาในทางที่กระทบต่อชีวิตการงานของตัวเองหรือไม่ เจ้านายจะหาทางรอดอย่างไร

ที่หนักจะเป็นคนกลุ่มกินเงินเดือนจำนวนมากที่บริษัท ห้างร้าน หรือนายจ้างเลิกกิจการไป หรือถูกเลิกจ้าง คนกลุ่มนี้ย่อมมีความยากลำบากไม่น้อยในการหางานใหม่ เพื่อมีรายได้หล่อเลี้ยงชีวิตให้อยู่ได้ ความเดือดร้อนกระทบต่อชีวิตโดยตรง หากมีภาระต้องรับผิดชอบต่อครอบครัวต่อชีวิตอื่นจะยิ่งหนักขึ้น

หนี้สินต่างๆ จะหาทางจัดการอย่างไร

เช่นเดียวกับคนที่ชีวิตไม่ได้อยู่ด้วยเงินเดือน แต่พึ่งพาอาชีพอิสระ ตั้งแต่รับจ้างทั่วไป ค้าขายส่วนตัว หรืออาชีพอื่นๆ การหางานหลังภาวะฉุกเฉินจะได้พอเลี้ยงชีวิตหรือไม่ ถ้าไม่ได้จะทำอย่างไร โดยเฉพาะหนี้สินที่ผูกอยู่กับบ้าน รถยนต์ และข้าวของเครื่องใช้อื่นๆ จะจัดการอย่างไร

ล้วนแล้วแต่เป็น “ทุกข์ที่หนีไม่พ้น”

บริษัทห้างร้านต่างๆ คงไม่ต่างกัน โดยเฉพาะที่มีรายได้จากธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโรคร้ายโดยตรง อย่างการท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวไม่มีทางที่จะเริ่มเข้ามาในเร็ววันนั้น กิจการที่ผลิตสินค้าส่งออกในยามที่ทุกประเทศทั่วโลกเผชิญสภาวะเดียวกันคือต้องเน้นการกินใช้สินค้าในประเทศ

ธุรกิจอื่นๆ ก็เช่นกัน เพราะเมื่อกำลังซื้อไม่ดี ทุกอย่างย่อมกระทบไปหมด

มันหมายถึงวงจรธุรกิจกำลังถูกตัดขาด ความต้องการสินค้านั้นมีอยู่ แต่กำลังซื้อขาดแคลน

แม้ว่า “หมอทวีศิลป์” จะย้ำว่าต้องระมัดระวังการติดเชื้อกันต่อไป

แต่เป็นที่รู้กันว่าถึงที่สุดแล้ว ผู้มีอำนาจไม่มีทางที่จะต้านทานการเปิดทางให้ประชาชนได้ออกมาหาทางรับมือกับภาระของชีวิตในมิติอื่น

และหากยิ่งควบคุมปัญหาที่เกิดจากแรงกดดันจากชีวิตด้านอื่นจะยิ่งส่งผลกระทบหนัก และหลากหลายขึ้น ซึ่งบางทีความสูญเสียอาจจะมาก และรุนแรงกว่าความเจ็บไข้ได้ป่วย

เมื่อความรุนแรงของการระบาดลดลง และผู้คนตื่นตัวกลับมาคิดถึงความจำเป็นของชีวิตในด้านอื่นมากขึ้น

ผู้มีอำนาจบริหารจัดการประเทศย่อมถึงเวลาที่จะต้องเผชิญกับความเป็นจริง

ช่วง “วิกฤตโควิด” มี “ทีมเสื้อกาวน์” มารับหน้าเสื่อ เป็นภาวะเดินนำประชาชนเพื่อสู้กับวิกฤตให้

แต่ “วิกฤตปากท้อง” หรือ “หายนะเศรษฐกิจ” ย่อมไม่ใช่วาระของ “ทีมอื่น” จะมารับภาระแทนให้

แม้จดหมายถึง “20 มหาเศรษฐี” ขอความช่วยเหลือ

แต่ “มหาเศรษฐี” ย่อมไม่ใช่ “ดรีมทีม” ที่จะมารับภาระเป็นหนังหน้าไฟให้

ความสามารถของรัฐบาลมีพอคลี่คลายหายนะของชาติหรือไม่

สถานการณ์หนีไม่พ้นที่จะเดินหน้าสู่การพิสูจน์ โดยมีความอยู่รอดของประเทศเป็นเดิมพัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image