นวัตกรรมการสื่อสาร กับสภาวการณ์วิกฤติไวรัสโควิด-19 : รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร

นวัตกรรมการสื่อสาร กับสภาวการณ์วิกฤติไวรัสโควิด-19 : รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร

นวัตกรรมการสื่อสาร กับสภาวการณ์วิกฤติไวรัสโควิด-19 : รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร

เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าปรากฏการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นำมาซึ่งความเสียหายและส่งผลกระทบต่อสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมทั่วโลกอย่างที่ไม่เคยปรากฏให้เห็นมาก่อนในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา

วันนี้จากปรากฏการณ์ดังกล่าวทำให้ทุกประเทศทั่วโลกต่างตระหนักและให้ความสำคัญในการที่จะใช้มาตรการต่างๆ สำหรับการป้องกันและแก้ไขเพื่อให้ประชาชนรอดพ้นจากมฤตยูร้ายด้วยมิติที่หลากหลายซึ่งหนึ่งในมาตรการหรือนวัตกรรมที่ทั่วโลกได้นำมาใช้กันอย่างแพร่หลายสำหรับการขับเคลื่อนที่คาดว่าจะทำให้ประชาชนเข้าใจและรับรู้เพื่อกับการรับมือในการป้องกันและแก้ไขได้แก่นวัตกรรมด้านการสื่อสาร

อย่างไรก็ตามในสภาวการณ์ของโลกที่ไร้พรมแดนหรือการเข้าสู่ยุคดิจิทัลกระบวนการสื่อสารถือได้ว่าเป็นหนึ่งในกลยุทธ์หรือหัวใจที่สำคัญสำหรับการบริหารจัดการเพื่อให้ภารกิจต่างๆ บรรลุตามเป้าประสงค์ภายใต้แผนงานและยุทธศาสตร์ที่กำหนด และจากกรณีวิกฤตของไวรัสโควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้หากภาครัฐโดยเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตระหนักและให้ความสำคัญสำหรับการนำนวัตกรรมการสื่อสารโดยผ่านสื่อหรือช่องทางในมิติที่หลากหลายมาใช้อย่างจริงจังก็จะเป็นหนึ่งในพลังของการขับเคลื่อนที่จะสามารถบรรเทาภาวะวิกฤติลงได้ในระดับหนึ่ง

Advertisement

อย่างไรก็ตาม เมื่อการสื่อสารเป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่มีความสำคัญสำหรับการป้องกันและแก้ไขเพื่อนำไปสู่การลดปรากฏการณ์ของความเสี่ยงที่กำลังลุกลามและส่งผลกระทบต่อชีวิตของมวลมนุษย์ทั่วโลกอยู่ในขณะนี้นั้นวันนี้หลายประเทศได้นำกระบวนการหรือนวัตกรรมของการสื่อสารร่วมกับมาตรการที่เข้มข้นจนสามารถทำให้ประชาชนก้าวผ่านวิกฤติและลดการแพร่ระบาดไปได้อย่างพึงพอใจ

การนำแนวคิดและทฤษฎีการสื่อสารในภาวะวิกฤติมาเป็นหนึ่งในนวัตกรรมของการเผชิญหน้ากับการทำสงครามเพื่อต่อสู้กับสภาวการณ์ความเสี่ยงนั้นสอดคล้องกับแนวคิดที่เกี่ยวกับงานจิตวิทยามวลชนและงานด้านการสื่อสารของนักวิชาการหลายสำนักที่สะท้อนมุมมองเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติดังความว่า “การใช้กลยุทธ์การสื่อสารและการประชาสัมพันธ์เป็นวิธีการเพื่อนำไปสู่การยอมรับวิธีปฏิบัติให้แพร่กระจายออกไปอย่างกว้างขวางและต่อเนื่องโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการให้กลุ่มเป้าหมายเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมจนนำไปสู่ความร่วมมือร่วมใจสำหรับการแก้ปัญหาในภาวะวิกฤตที่กำลังเผชิญ”

หันกลับมาที่บ้านเราในวันที่ประเทศกำลังเผชิญกับสภาวการณ์วิกฤตอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19จะพบว่าทั้งภาครัฐและเอกชนต่างตื่นตัวในการร่วมแรงร่วมใจและพร้อมที่จะขับเคลื่อนโดยมีการนำเอามิติของการสื่อสารในรูปแบบที่หลากหลายเพื่อป้อนข้อมูลสู่ประชาชนผ่านช่องทางต่างๆมากขึ้นตามลำดับซึ่งจากการสื่อสารดังกล่าวส่งผลให้ผู้สื่อสารตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับทราบถึงพฤติกรรมการรับรู้ข้อมูลข่าวสารและการดำเนินชีวิตในภาวะวิกฤตของประชาชนได้ในระดับหนึ่งเช่นกัน

สำหรับพฤติกรรมการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนในสภาวการณ์วิกฤตของไวรัสโควิด-19 นั้นสอดคล้องการสำรวจความคิดเห็นประชาชนโดยศูนย์นวัตกรรมการพัฒนาทุนมนุษย์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต เรื่อง “ปรากฏการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ปัญหาทางออกกับมุมมองของประชาชน “เมื่อเร็วๆ นี้ซึ่งจากผลการสำรวจดังกล่าวเมื่อถามถึงความสนใจในการติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาด กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 89.06 สนใจติดตามอย่างต่อเนื่อง สำหรับสื่อหรือช่องทางในการติดตามและรับทราบข้อมูล ส่วนใหญ่ติดตามผ่านโซเชียลมีเดีย ตามด้วย วิทยุโทรทัศน์ วิทยุกระจายเสียง หนังสือพิมพ์ และสื่อประชาสัมพันธ์ของหน่วยราชการ ตามลำดับ

วันนี้สำหรับการสื่อสารของภาครัฐนั้นหนึ่งในช่องทางที่เห็นว่าทำได้ดีและน่าสนยิ่งได้แก่การนำบุคคลที่เกี่ยวข้องมาแถลงข่าวผ่านสถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT) โดยมีสถานี Thai PBS ร่วมเชื่อมสัญญาณถ่ายทอดคู่ขนานไปสู่สาธารณชนภายใต้การดำเนินการของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แต่การดำเนินการดังกล่าวจะครอบคลุมหรือเข้าถึงประชาชนได้มากน้อยแค่ไหนคงเป็นบทบาทหน้าที่ของผู้เกี่ยวข้องที่จะประเมินและ ติดตามผลกันต่อไป

เมื่อกล่าวถึงการสื่อสารของภาครัฐในสภาวการณ์ที่ประชาชนส่วนหนึ่งของประเทศโดยเฉพาะคนในระดับรากหญ้าที่กำลังเผชิญกับปัญหาปากท้องซึ่งจะส่งผลไปสู่ความอ่อนล้าของเศรษฐกิจครัวเรือนในอนาคตจะพบว่าวันนี้ยังมีปัญหาของการสื่อสารที่จะทำให้ประชาชนเข้าใจเข้าถึงในบางมิติจนนำไปสู่การเรียกร้องหรือการเคลื่อนไหวของมวลชนดังนั้นเพื่อระงับและลดความขัดแย้งทางสังคมอันเนื่องมาจากความเดือดร้อนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงจำเป็นที่ต้องเร่งในการที่จะนำนวัตกรรมตลอดจนกลยุทธ์หรือกระบวนการของการสื่อสารที่บ่งบอกได้ซึ่งผลสัมฤทธิ์อย่างแท้จริงไปสู่การปฏิบัติอย่างเร่งด่วน

ด้วยความสำคัญของการสื่อสารสู่สาธารณะเพื่อลดความเสี่ยงจากวิกฤตและภัยร้ายในครั้งนี้นอกเหนือจากการดำเนินการผ่านสื่อหลักของภาครัฐแล้วที่น่าชื่นชมยิ่งเมื่อสังคมไทยได้เกิดการตื่นตัวนำไปสู่กระบวนการการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมไม่ว่าจะเป็นองค์กรธุรกิจ หรือปัจเฉกบุคคลรวมทั้งสื่อมวลชนแขนงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสถานีโทรทัศน์ สถานีวิทยุกระจายเสียงและสื่อสิ่งพิมพ์ทั้งรัฐและเอกชนรวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างก็เข้าไปมีส่วนร่วมด้วยกันอย่างที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อน

ในขณะเดียวกันถึงแม้ว่าภาครัฐจะตระหนักและให้ความสำคัญกับการสื่อสารแต่ในทางกลับกันก็อาจจะมีการตั้งข้อสังเกตของสังคมว่านวัตกรรมที่ดำเนินการอยู่นั้นนำไปสู่การตอบโจทย์หรือบรรลุวัตถุประสงค์ได้มากน้อยแค่ไหนโดยเฉพาะการสื่อสารที่จะนำไปสู่การเข้าถึงของชาวบ้านในระดับรากหญ้า ซึ่งวันนี้ต้องยอมรับว่าวิถีชีวิตของคนไทยส่วนใหญ่ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศเมื่อเย็นย่ำค่ำลงผู้คนมักจะอยู่หน้าจอโทรทัศน์เพื่อเสพความบันเทิงเป็นหลัก

ด้วยสภาวการณ์เช่นนี้ยิ่งในห้วงที่รัฐบาลได้ประกาศพ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉินด้วยแล้วจะเป็นไปได้หรือไม่ในขณะที่ผู้คนส่วนใหญ่กำลังอยู่หน้าจอโทรทัศน์รัฐบาลจะใช้ห้วงเวลานั้นรายงานข้อมูลข่าวสารตลอดจนความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ผ่านรายการโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยหรือวิธีการอื่นที่เหมาะสมเพิ่มขึ้นสัปดาห์ละ1-2 ครั้ง ครั้งละ 10-15 นาทีก็น่าจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการสร้างการรับรู้และสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อนำไปสู่การป้องกันและแก้ไขปัญหาอันเนื่องจากวิกฤตโควิด-19 ได้ในระดับหนึ่งเฉกเช่นเดียวกัน

แต่เหนือสิ่งอื่นใดการสื่อสารที่คาดว่าจะสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้โดยตรงอย่างมีประสิทธิภาพและดีที่สุดในยามนี้คงจะหนีไม่พ้นสมาชิกหรือคนในครอบครัวที่จะเข้ามามีส่วนร่วมสำหรับการสื่อสารซึ่งกันและกัน

รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร
ศูนย์นวัตกรรมการพัฒนาทุนมนุษย์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image