เรียนออนไลน์ การศึกษาไทยพร้อมแค่ไหน : โดย รศ.ดร.ปรีดี พิศภูมิวิถี

เรียนออนไลน์ การศึกษาไทยพร้อมแค่ไหน : โดย รศ.ดร.ปรีดี พิศภูมิวิถี

เรียนออนไลน์ การศึกษาไทยพร้อมแค่ไหน : โดย รศ.ดร.ปรีดี พิศภูมิวิถี

เมื่อสภาวะของโรคระบาดที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงต่อการดำรงชีวิตของคนไทย ระบบเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปจากหน้ามือเป็นหลังมือ และระบบการศึกษาก็ต้องมีการบริหารจัดการที่เท่าทันด้วย แต่ดูเหมือนกับว่าระบบการศึกษาไทยไม่ค่อยขับเคลื่อนเท่าไหร่ในภาวะนี้ มีเป็นข่าวเบี้ยหัวแตกออกมาบ้างว่าจะดำเนินการนั่นนี่ตามแต่จะมีคนบอกกล่าวให้ทำ แต่นโยบายเร่งด่วนด้านการศึกษายังไม่ปรากฏชัดเจนเท่าใดนัก มีคำพูดที่ติดปากกันมากว่าให้สถานศึกษาทั้งหมดดำเนินการสอนออนไลน์ หรือใช้ระบบเทคโนโลยีเข้าช่วยสอน เพราะว่าผู้สอนและผู้เรียนอยู่ห่างกัน

การสอนนอกระบบชั้นเรียนไม่ใช่ของใหม่ที่เกิดขึ้น เพราะสถาบันอุดมศึกษาแบบมหาวิทยาลัยเปิดในประเทศไทย ใช้วิธีการสอนแบบที่ผู้สอนและผู้เรียนไม่ได้อยู่ในห้องเรียนเดียวกันมาช้านานแล้ว ฉะนั้นก็ควรไปพิจารณาดูว่าที่มหาวิทยาลัยเปิดทั้ง 2 แห่งในประเทศไทยประสบความสำเร็จนั้นเพราะอะไร มีวิธีการอย่างไร การวัดประเมินผลใช้วิธีการใดเป็นแบบอย่างเป็นต้น แต่ก็ต้องระลึกไว้ก่อนว่า ประการแรกโรคระบาดนี้ไม่ใช่ของถาวร พึงมีเกิดขึ้นและก็จะพึงหมดไปตามเวลา ไม่ต้องตีโพยตีพายอะไรให้วุ่นวายนัก ประการที่ 2 การเรียน แปลว่าการที่ผู้สอนและผู้เรียนต้องมีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน เพราะการถ่ายทอดความรู้จะเกิดขึ้นได้ไม่ใช่ว่าผู้เป็นครูพูดอย่างเดียวในระยะทางไกล

การสอนออนไลน์ เป็นเรื่องที่ดูตื่นเต้นมากในช่วงแรกที่ประกาศปิดสถาบันการศึกษา เพราะต่างก็ไม่รู้ว่าจะสอนอย่างไร โปรแกรมคอมพิวเตอร์ต่างๆ ถูกงัดขึ้นมาใช้เพื่อว่านักเรียนจะได้อยู่บ้าน ครูจะอยู่ที่ไหนก็ได้ แล้วก็สอนพร่ำไป แต่แนวคิดนี้ไม่ใช่การสอน เพราะการสอนมีนัยยะที่ลึกกว่าการพร่ำให้ความรู้ที่เป็นเนื้อหา การจัดการสอนออนไลน์จึงต้องคำนึงเรื่องความพร้อมของอุปกรณ์ที่ผู้เรียนและผู้สอนมีก่อนว่า จะสามารถสื่อสารได้มากน้อยเพียงใด ไม่ใช่ว่าเด็กทุกคนมีโทรศัพท์ที่จะกลายเป็นภาระของนักเรียนนักศึกษาต่อไป หรือเครื่องคอมพิวเตอร์ PC ก็ไม่ได้แปลว่ามีที่บ้านทุกคน

Advertisement

สิ่งสำคัญที่สุดของการสอนออนไลน์ ไม่ใช่เรื่องพวกนี้เลย แต่เป็นวินัยในการเรียน ซึ่งการศึกษาไทยขาดเรื่องนี้มานานมาก วินัยเป็นเรื่องสำคัญที่สุดที่จะเป็นตัววัดว่าเด็กมีความพร้อมมากน้อยเพียงใด จะตื่นมาตามเวลาที่ครูจะสอนหรือไม่ จะอ่านหนังสือ จะทำการบ้าน จะส่งงาน ฯลฯ ตามตารางที่กำหนดให้ไว้มากน้อยเพียงใด ตราบใดที่นักเรียนนักศึกษาไม่มีวินัยในตนเอง โปรแกรมดีที่สุดอย่างไรก็ไม่ได้ช่วยให้ผู้เรียนมีความขยันหมั่นเพียรขึ้น สื่อการสอน เทคโนโลยีการสอน จึงเป็นเพียงกระพี้ประกอบเท่านั้น เพียงว่าเราจะวัดความมีวินัยของเด็กได้อย่างไร และคำถามนี้จะไม่มีปัญหา ถ้าเราปลูกฝังความมีวินัยให้กับเด็กมาตั้งแต่ยังเล็ก วินัยในที่นี้หมายความถึงความรับผิดชอบในหน้าที่ ความซื่อตรง ซื่อสัตย์ต่อตนเอง ต่อสังคม ฯลฯ

นโยบายชั่วคราวที่กระทรวงที่มีหน้าที่รับผิดชอบด้านการเรียนการสอนทั้ง 2 กระทรวงในปัจจุบันนี้ยังไม่เชื่อมต่อกัน กล่าวคือกระทรวงศึกษาธิการก็เน้นไปที่นักเรียนทั่วประเทศ แต่ก็ยังไม่ได้ถามไปทางกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ว่าจะให้ช่วยเหลืออย่างไรในเรื่องของเทคโนโลยี เอกสารการสอน สื่อการสอนและผู้สอน กระทรวงการอุดมศึกษาฯก็ยังไม่มีอะไรเคลื่อนไหว เพราะแต่ละแห่งก็ดูเหมือนมีปัญหามากพอที่จะต้องสะสางอยู่แล้ว ผลก็คือภาวะสุญญากาศท่ามกลางโควิด-19

สรุปก็คือการศึกษาไทยตายไปก่อนโควิด-19 ระบาด

Advertisement

รศ.ดร.ปรีดี พิศภูมิวิถี
คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image