ภาพเก่าเล่าตำนาน :ธนบัตรสยาม…เคยพิมพ์ในอังกฤษ โดย พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

ได้ยินได้ฟังมาตั้งแต่เด็กๆ ว่า “ธนบัตร” ที่เราเคยหยิบใช้จ่ายในอดีตนั้นพิมพ์ในประเทศอังกฤษ โดยบริษัท โทมัส เดอ ลา รู (Thomas de la Rue) คนไทยเรียกธนบัตรว่า “แบงก์”

เขาเป็นใคร มีดีอะไร จึงอาจหาญมา “พิมพ์ธนบัตร” หนักเป็นตัน บรรทุกธนบัตรหนักเป็นตันใส่เรือข้ามมหาสมุทรมาให้ชาวสยามใช้ในอดีตที่ผ่านมา…

นายโทมัส เดอ ลา รู เกิดเมื่อ พ.ศ.2336 ในหมู่บ้านเล็กๆ ที่เกาะเกิร์นซีย์ (Guernsey เป็นเกาะในช่องแคบอังกฤษนอกชายฝั่งนอร์มังดี ซึ่งเป็นเมืองขึ้นของบริติชคราวน์) เป็นเด็กที่มีโอกาสเรียนเพียงระดับมัธยมแต่มีความเฉลียวฉลาด ขยัน ชีวิตตั้งแต่เด็กทำงานอยู่กับเครื่องพิมพ์ โดยผลิตหนังสือพิมพ์ในเมืองหลวงของเกิร์นซีย์

ต่อมา โทมัสได้เข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนกับชาวอังกฤษ ชื่อนายทอม กรีนสเลด ในการผลิต “politique et litteraire”

Advertisement

กิจการงานพิมพ์รุ่งเรือง ไปได้สวย จึงย้ายไปทำมาหากินในมหานครลอนดอน ริเริ่มทดลองงานพิมพ์บนพื้นผิววัสดุใหม่ๆ

ปี พ.ศ.2373 (ตรงกับรัชสมัยในหลวง ร.3) คือปีทองของโทมัส เมื่อบริษัทพิมพ์ของเขาคือผู้ผลิต “ไพ่” สมัยใหม่ มีเทคนิคการพิมพ์บนกระดาษเคลือบมันเป็นเจ้าแรกในประวัติศาสตร์การพิมพ์สี

โทมัส เดอ ลา รู ผงาดขึ้นเป็นเจ้าตำรับผู้ผลิต “ไพ่” ชั้นนำ กิจการผลิตไพ่เติบโตพุ่งเป็นจรวด แพร่หลายไปทั่วโลก (ถ้าจำไม่ผิด ไพ่ที่นำเข้ามาในประเทศไทยต้องเสียภาษีและแพงมาก : ผู้เขียน)

Advertisement

บริษัทนี้ก้าวขึ้นมาเป็นหมายเลข 1 ของกิจการพิมพ์ ขยายธุรกิจไปผลิตเครื่องเขียน ผลิตตั๋วรถไฟ เอกสาร สิ่งพิมพ์ระดับคลาสสิก ซึ่งผลิตภัณฑ์ของเขาก็เป็นของดีจริง

พ.ศ.2386 โทมัสขยายกิจการในระดับการค้าระหว่างประเทศเป็นครั้งแรก การเล่นไพ่ การพนันก็เบ่งบานขยายตัวไปทั่วโลก

ผู้เขียนพอจำได้ว่าในอดีต…มีไพ่ที่ผลิตในจีนถูกส่งเข้ามาในประเทศไทยในลักษณะลักลอบเพราะราคาถูกกว่ามาก…

สมองอัจฉริยะของโทมัสยังสร้างสรรค์ไม่หยุด งานชิ้นยักษ์ ชิ้นใหญ่ คือคิดรูปแบบซองจดหมาย และผลิตซองจดหมายที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ ช่วงแรกเครื่องจักรนายโทมัสและครอบครัวผลิตซองจดหมายได้ 2,700 ซอง/ชั่วโมง รูปแบบ ขนาดของซองจดหมายได้รับการยอมรับจากไปรษณีย์ เลยกลายเป็นมาตรฐานโลก

งานพิมพ์ไหลมาเทมาไม่หยุด อีก 2 ปีต่อมาเขาได้รับสัมปทาน 4 ปี จากกรมสรรพากรอังกฤษ เพื่อผลิต “อากรแสตมป์” แบบมีกาวบนพื้นหลัง แล้วตามมาด้วยงานการผลิต “แสตมป์” ของสหราชอาณาจักร

ทุกฝ่ายให้การยอมรับงานทุกประเภทของโทมัสเพราะประหยัดและใช้งานได้จริง ประการสำคัญคือหมึกแบบพิเศษที่สามารถป้องกันการปลอมแปลง ลวดลายที่ไม่สามารถนำกลับมา “เวียนเทียน” ใช้ซ้ำได้อีก

“งานการพิมพ์” ที่คุณภาพสูง ไว้ใจได้ สร้างความร่ำรวยมหาศาล ผลงานขจรขจายออกไปยังอาณานิคมของอังกฤษทั่วโลก

เริ่มแรกพิมพ์ธนบัตร

พ.ศ.2403 (ตรงกับรัชสมัยในหลวง ร.4) บริษัท De La Rue ได้รับการว่าจ้างให้พิมพ์สกุลเงินกระดาษสำหรับ “ประเทศมอริเชียส” ที่เป็น 1 ในประเทศอาณานิคมของอังกฤษ

ขอแถมเป็นข้อมูลให้ลูกหลานไทยนะครับ…ปี พ.ศ.2403 ในหลวง ร.4 โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงกษาปณ์ในพระบรมมหาราชวัง เพื่อผลิตเหรียญ บาท กึ่งบาท สลึง เฟื้อง และกึ่งเฟื้อง โดยเครื่องจักรใช้พลังไอน้ำ

ในช่วงกลางทศวรรษศตวรรษที่ 19 บริษัท โทมัส เดอ ลา รู ได้กลายเป็นแหล่งพิมพ์ธนบัตรให้กับหลายประเทศด้วยเหตุผลหลัก คือความปลอดภัย ไว้ใจได้สูงสุด…

โทมัส เดอ ลา รู กลายเป็นแบรด์เนม ที่เชี่ยวชาญด้านการพิมพ์ไปรษณีย์และสกุลเงิน ผลงานที่จัดจ้านอีก 1 ชิ้นคือ ระหว่างสงครามกลางเมืองในอเมริกา บริษัทนี้ได้รับการว่าจ้างจากสมาพันธรัฐเพื่อผลิตแสตมป์อเมริกันเพียงเล่มเดียวที่เคยพิมพ์ในต่างประเทศ : ห้าเซ็นต์สีน้ำเงินตกแต่งด้วยภาพของประธานาธิบดีเจฟเฟอร์สัน เดวิส

วอร์เรนและวิลเลียม บุตรชายของเขา ปรับปรุงกระดาษและกระบวนการพิมพ์แบบ “1 เดียวในโลก”

คุยกันเล่นๆ ระหว่างเพื่อนฝูงนะครับ เรามักจะหยอกล้อกันเสมอว่า ทำยังไงดีเราถึงจะมีโอกาสเป็นเจ้าของโรงพิมพ์ธนบัตรกะเค้าบ้าง ถ้าเรามีเครื่องพิมพ์อยู่ที่บ้านคงสุขสำราญบานฉ่ำ… ซึ่งก็ทำไม่ได้เด็ดขาดเพราะเป็นเรื่องผิดกฎหมาย

พ.ศ.2439 บริษัทที่เคยเป็นกิจการของครอบครัวเดอ ลารู ถูกแปรสภาพเป็น “บริษัทมหาชน”

แล้วสยามไปทำยังไง… จึงไปจ้างบริษัทนี้พิมพ์ธนบัตร?

ก่อนที่จะมีการนำธนบัตรเข้ามาใช้ร่วมกับเงินตราชนิดอื่นๆ ในระบบการเงินของสยาม เราเคยใช้หอยเบี้ยประกับ (ดินเผาที่มีตราประทับ) เงินพดด้วง ปี้กระเบื้อง และเหรียญกษาปณ์ เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน

จนกระทั่งในรัชสมัยในหลวง ร.4 ฝรั่งมังค่า แขก ชาวจีน ญี่ปุ่น เข้ามาค้าขายอย่างเอิกเกริก เงินพดด้วงซึ่งเป็นเงินตราหลักในขณะนั้นไม่เหมาะกับการใช้งานและขาดแคลน และมีปัญหาคือ มีคนช่วยรัฐผลิตเงินพดด้วงโดยไม่ประสงค์จะออกนาม ก็คือพดด้วงปลอม

พ.ศ.2396 ในหลวง ร.4 จึงโปรดให้จัดทำเงินกระดาษชนิดแรกขึ้นใช้ในระบบเงินตราของประเทศ เรียกว่า หมาย

ปัญหายังไม่จบไม่สิ้น ช่วงต่อมา ในรัชสมัยในหลวง ร.5 เกิดปัญหาดีบุกและทองแดงขาดแคลน ผลิตเหรียญกษาปณ์ไม่ทัน ประชาชนนำ “ปี้” ซึ่งเป็นเงินที่ใช้ในบ่อนมาใช้แทนเงินตรา

พ.ศ.2417 จึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดทำเงินกระดาษชนิดราคาต่ำเรียกว่า อัฐกระดาษ ให้ราษฎรได้ใช้จ่ายแทนเงินเหรียญที่ขาดแคลน แต่อัฐกระดาษก็ไม่เป็นที่นิยมใช้เช่นเดียวกับ “หมาย”

ธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ 3 ธนาคารที่เข้ามาเปิดสาขาในสยาม ได้แก่ ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ ธนาคารชาร์เตอร์แห่งอินเดีย ออสเตรเลีย และจีน และธนาคารแห่งอินโดจีน ได้ขออนุญาตนำ “บัตรธนาคาร” ออกใช้ในสยาม

บัตรธนาคาร ชาวสยามเรียกเป็นภาษาอังกฤษทับศัพท์ว่า แบงก์โน้ต เลยทำให้ชาวสยามเรียกว่า แบงก์ ติดปากมาถึงทุกวันนี้

พ.ศ.2440 ในหลวง ร.5 เสด็จประพาสยุโรป พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ได้ตามเสด็จ สยามคิดเรื่องการตั้งธนาคาร และการออกใช้ธนบัตร

พ.ศ.2441 พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย ได้ทรงดำเนินการมอบหมายให้ Alfred Mitchell-Innes ที่ปรึกษาชาวอังกฤษเป็นผู้ศึกษาการออกธนบัตรโดยรัฐบาลไทย

การออกธนบัตรของรัฐบาลไทยยังต้องแข่งขันกันกับบัตรธนาคารของสาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ ซึ่งแม้ว่าจะออกมาเป็นเวลาหลายปี ก็ยังจำกัดการใช้อยู่แต่เพียงภายในพระนคร

ในปี พ.ศ.2443 กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัยได้ทรงยืนกรานที่จะออกใช้ธนบัตร โดยครั้งนี้ นาย Charles James Rivett-Carnac รับหน้าที่เป็นที่ปรึกษาคนใหม่ของกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ และได้แนะนำให้ขอยืมตัวนายวิลเลียมสัน (W.F.J Williamson) ที่ปรึกษาชาวอังกฤษของรัฐบาลอินเดียเข้ามาช่วยงานราชการด้านการออกธนบัตร

นายวิลเลียมสันเข้ามาร่างกฎหมายและระเบียบต่างๆ โดยทันที และแนะนำให้รัฐบาลสยามติดต่อธนาคารแห่งประเทศอังกฤษ ซึ่งได้แนะนำไปที่บริษัท โทมัส เดอ ลา รู จำกัด (Thomas de la Rue) ให้จัดพิมพ์ธนบัตรไทย

พ.ศ.2445 บริษัท โทมัส เดอ ลา รู ในอังกฤษคือเอกชนที่รับพิมพ์ธนบัตรให้กับสยามประเทศตามคำแนะนำจากที่ปรึกษากระทรวงพระคลังมหาสมบัติชาวอังกฤษ และธนาคารแห่งประเทศอังกฤษ

พ.ศ.2484 ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 สยามได้ทำสัญญาเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น สยามไม่สามารถสั่งซื้อธนบัตรจากอังกฤษ ซึ่งทำให้ธนบัตรในประเทศขาดแคลน

รัฐบาลสยามตัดสินใจพิมพ์ธนบัตรโดยใช้วัสดุในประเทศและมอบหมายให้ “กรมแผนที่ทหารบก” กรมอุทกศาสตร์กองทัพเรือ และโรงพิมพ์อื่นๆ เพื่อพิมพ์ธนบัตร

ดังนั้น ธนบัตรสยามช่วงหนึ่งจึงมีข้อความ “กรมแผนที่ทหารบก” อยู่ตรงกลางด้านหน้าและด้านหลัง เอกสารชุดนี้จัดพิมพ์โดยใช้กระดาษจากโรงงานผลิตกระดาษไทยจังหวัดกาญจนบุรี

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุด ทางการไทยก็ได้เริ่มติดต่อกับบริษัท โทมัส เดอ ลา รู จำกัด เพื่อจัดพิมพ์ธนบัตรให้ประเทศไทยอีกครั้ง แต่เนื่องจากบริษัทในอังกฤษโดนกองทัพอากาศของฮิตเลอร์ทิ้งระเบิดถล่มได้รับความเสียหายจึงไม่สามารถรับพิมพ์ให้ได้

กระทรวงการคลังจึงได้ติดต่อกับรัฐบาลสหรัฐอเมริกา โดยให้บริษัท The Tudor Press เป็นผู้จัดพิมพ์ และเรียกธนบัตรที่พิมพ์จากสหรัฐอเมริกานี้ว่า ธนบัตรแบบ 8 โดยนำออกใช้ในปี 2489 เนื่องจากลักษณะของธนบัตรพิมพ์เส้นราบ ไม่มีเส้นนูน ไม่มีลายน้ำ ใช้น้อยสี จึงง่ายต่อการปลอมแปลง

สยามได้หวนกลับไปสั่งพิมพ์ธนบัตรจากบริษัทโทมัส เดอ ลา รู จำกัด อีก เมื่อทราบว่าบริษัทมีความพร้อม

ในเวลาเดียวกัน สยามก็คิดอ่านจะผลิตธนบัตรเอง…

พ.ศ.2502 ในสมัยของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ โดยนายสุนทร หงส์ลดารมภ์ รมว.การคลัง ได้จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคมเพื่อวางหลักการ

จัดส่งพนักงานไปดูงานและฝึกงานในประเทศเบลเยียม เตรียมอุปกรณ์ วัสดุ ผู้เชี่ยวชาญ ก่อสร้างโรงงาน ที่บางขุนพรหม และในที่สุดความพยายามในการจัดตั้งโรงพิมพ์ธนบัตรก็เป็นผลสำเร็จ

พ.ศ.2512 จึงสามารถเดินเครื่องจักรผลิตธนบัตรเองได้ รวมเป็นระยะเวลาเตรียมการ เตรียมคน วัสดุอุปกรณ์ นานเกือบ 10 ปี นับตั้งแต่ ครม.มีมติให้จัดตั้งโรงพิมพ์ธนบัตรขึ้นภายในประเทศ

โรงพิมพ์ธนบัตรแห่งแรกอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา บางขุนพรหมด้านถนนท่าเกษม เขตพระนคร มีเนื้อที่ 11 ไร่เศษ เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ.2506 แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ.2512

โรงพิมพ์ธนบัตร ธนาคารแห่งประเทศไทยที่ทันสมัย ปัจจุบันอยู่ที่พุทธมณฑล สาย 7

จะพิมพ์ธนบัตรออกมาใช้ได้จำนวนแค่ไหน ทำไมไม่พิมพ์เยอะๆ แล้วเอามาแจกกันให้อิ่มหนำสำราญ เป็นเรื่องทางวิชาการที่น่าสนใจ

ผู้เขียนจนปัญญา คงต้องให้ “ผู้รู้จริง” อธิบายหลักการ…เพราะใครๆ ก็อยากให้พิมพ์ทั้งวันทั้งคืน มาแจกกันแบบจุใจ…

พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image