เดินหน้าชน : อย่าซ้ำเติม โดย นายด่าน

ครบ 23 วันแล้วตั้งแต่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.ศูนย์โควิด-19 หรือ ศบค. ได้ลงนามข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ประกาศเคอร์ฟิวทั่วประเทศ ห้ามออกนอกเคหสถานช่วงเวลา 22.00-04.00 น. มาตั้งแต่ต้นเดือน วันที่ 3 เมษายนที่ผ่านมา

การประกาศเคอร์ฟิวสะท้อนผลออกมาทางตัวเลขคนติดเชื้อโควิด-19 ว่ามาตรการนี้มีส่วนที่ทำให้สถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ในไทยมีแนวโน้มที่ดีขึ้น

ด้วยตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 2,907 ราย รักษาหาย 2,547 ราย เสียชีวิต 51 ราย (ข้อมูล 25 เม.ย.)

เป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าที่คาดการณ์กันไว้

Advertisement

แม้การประกาศเคอร์ฟิวจะช่วยลดการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19

แต่ก็มีเสียงสะท้อนอีกมุมถึงการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในแต่ละด่านเคอร์ฟิว

จนกลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ อย่างกรณีล่าสุด มีการเผยแพร่คลิปวิดีโอในโลกโซเชียลอย่างแพร่หลาย ที่อ้างว่าตำรวจฉีกเอกสารหนังสือรับรองในการเดินทางช่วงเคอร์ฟิว

Advertisement

และจับกุมคนงานเทปูนทั้งหมด 15 คน ดำเนินคดี ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

ในเวลาต่อมา พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษก ตร. ได้ออกมาชี้แจงข้อเท็จจริงว่า ทั้ง 15 คน มีอาชีพกรรมกรก่อสร้าง รับเหมาก่อสร้างเทคอนกรีตลานจอดรถสถานีรถไฟฟ้าสาย
สีเหลือง

ผู้ต้องหาแสดงสำเนาหนังสือของบริษัท เรื่อง ขอทำงานล่วงเวลา ลงวันที่ 20 เม.ย.63 โดยเจ้าหน้าที่เห็นว่าทั้งหมดไม่ได้รับการยกเว้นให้ออกนอกเคหสถานในช่วงเวลาห้าม และไม่ได้ประกอบอาชีพซึ่งจำเป็นต้องกระทำภายในช่วงเวลาพิเศษ

หากดูจากข้อเท็จจริงที่ชี้แจงแล้วแม้การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่จะถูกต้องตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

แต่ก็มีคำถามตามมาว่า ในภาวะที่ประชาชนต้องเจอผลกระทบโควิดกันอย่างถ้วนหน้านี้

เจ้าหน้าที่ควรพิจารณาจากเหตุผลและความจำเป็นหรือไม่ โดยอาจว่ากล่าวตักเตือนในครั้งแรกก่อน

ไม่เช่นนั้นแล้วจะยิ่งเป็นการซ้ำเติมประชาชนในภาวะวิกฤตโควิด

ในหลายด่านเคอร์ฟิวนั้นต้องยอมรับว่ามีมาตรฐานการปฏิบัติหน้าที่ที่แตกต่างกัน

โดยเฉพาะเรื่องเอกสารรับรองของกลุ่มอาชีพที่ได้รับการยกเว้น และมีความจำเป็นต้องเดินทางช่วงเวลาเคอร์ฟิว เช่น กลุ่มขนส่งสินค้า

บางพื้นที่ให้ใช้เอกสารรับรองจากหน่วยงานต้นสังกัด และบางพื้นที่ต้องมีหนังสือรับรองจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ เท่านั้น

เหล่านี้ควรจะประกาศออกมาเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด

โดยล่าสุด นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย จะได้ออกหนังสือเน้นย้ำ ให้จังหวัดดำเนินการตามข้อกำหนด ตามมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในเรื่องการขนส่งสินค้าเพื่อประโยชน์ของประชาชน เช่น ผู้ขนส่งอาหาร ยาเวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ สินค้าอุปโภคบริโภค ผลผลิตการเกษตร น้ำมันเชื้อเพลิง อย่างเคร่งครัด

“รวมทั้ง กำชับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานใกล้ชิดประชาชนให้เจรจาด้วยท่าทีที่ประนีประนอม ใช้วิธีการสร้างความเข้าใจแก่ประชาชนอย่างละมุนละม่อม”

นอกจากกรณี ด่านเคอร์ฟิวแล้ว เรื่องการจับกุมกลุ่มคนที่ไปบริจาคสิ่งของช่วยประชาชนที่เดือดร้อนจากโควิด

เป็นอีกประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในการใช้อำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ว่ามีความเหมาะสมมากน้อยแค่ไหน

เพราะบางกรณีถูกแจ้งข้อกล่าวหาในความผิดฐาน “ฝ่าฝืนประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามการจัดกิจกรรมมั่วสุมในลักษณะเสี่ยงต่อการติดเชื้อ”

โดยสังคมอาจมองว่า เป็นการดำเนินการที่เกินกว่าเหตุโดยไม่ได้ดูเจตนาของการช่วยเหลือคนที่เดือดร้อนหรือไม่

เหล่านี้เป็นสิ่งที่จะต้องนำมาคิดทบทวน เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ และการใช้อำนาจ ไม่มาซ้ำเติมกันในช่วงเวลานี้

นายด่าน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image