ความเข้าอกเข้าใจและความเห็นใจ ในสถานการณ์โควิด-19 ที่ซับซ้อน โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

มาจนถึงวันนี้ผมก็ยังเชื่อว่าทุกฝ่ายอยากจะแก้ปัญหาเรื่องโควิด-19 ทั้งสิ้น แต่ว่าฐานคติและมุมมองในแต่ละเรื่องนั้นอาจจะไม่ตรงกันซะทีเดียว

ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกนะครับ ในสังคมที่เปิดกว้าง หลากหลาย การเปิดให้มีการถกเถียงในเรื่องมุมมองและทางออกก็น่าจะเป็นเรื่องที่ควรส่งเสริม และไม่ควรมองว่าเป็นเรื่องที่ควรหลีกเลี่ยงแต่อย่างใด

หนึ่งในการถกเถียงพูดคุยกันในเรื่องนี้ผมคิดว่าคือเรื่องของการทำความเข้าใจคำสองคำที่มีความใกล้เคียงกัน แต่มีความแตกต่างอันละเอียดอ่อนยิ่ง นั่นคือคำว่า “เข้าอกเข้าใจ” (หรือเอาใจเขามาใส่ใจเรา) ที่ใช้คำฝรั่งว่า empathy กับคำว่า “ความเห็นใจ” (หรือสงสาร) ที่ใช้คำว่า sympathy

ในบทความของอาจารย์ ณัฐวุฒิ เผ่าทวี เรื่อง “การเอาใจเขามาใส่ใจเรา (empathy) และความสงสาร (sympathy) แตกต่างกันตรงไหน” ใน Thaipublica.com (21/1/17) อ้างคำอธิบายจากนักวิชาการฝรั่ง Brene Brown ไว้อย่างน่าสนใจว่า จุดประสงค์ของ empathy ก็คือการ “เชื่อมต่อสายสัมพันธ์ผ่านความรู้สึก” ระหว่างคนสองคน ส่วนจุดประสงค์ของ sympathy ก็คือการ “ตัดสายสัมพันธ์ทางด้านความรู้สึก”

Advertisement

Brown ขยายความว่า empathy คือการเอาทัศนคติของคนอื่นมาใส่ในใจเรา (perspective-taking) ซึ่งทัศนคติของคนอื่นตัวนี้ตัวเราเองอาจจะไม่เห็นด้วย หรืออาจจะไม่เข้าใจเลยก็ตาม เเต่เป็นเรื่องของการเข้าใจว่า ในสิ่งที่เราไม่เข้าใจมันอาจจะเป็นความจริง (truth) สำหรับคนอื่นๆ ก็ได้ นอกจากนั้นคือการไม่ตัดสินใจความผิดถูกชั่วดีในสิ่งที่คนอื่นนำมาเล่าให้เราฟัง จากนั้นก็คือการอ่านความรู้สึกของคนอื่นเป็นเเละการสื่อสารให้คนอื่นรู้ว่าเรากำลังรู้สึกอย่างที่เขากำลังรู้สึกอยู่ หรือสรุปว่า empathy ก็คือการเอาความรู้สึกของคนอื่นมาเป็นความรู้สึกของตัวเอง

ส่วน sympathy หรือความเห็นใจ/สงสาร เป็นการที่เรามีความพยายามที่ (มากจนเกินไป) ในการที่จะทำให้คนที่กำลังทุกข์นั้นรู้สึกว่าสิ่งที่เขากำลังรู้สึกอยู่นั้นเป็นเรื่องเล็ก เป็นเรื่องที่จิ๊บจ๊อย หรือถ้าจะอธิบายตามความเข้าใจของผมก็คือ เป็นการเห็นใจ สงสาร แต่ไม่ได้กระทบจิตใจของเราโดยตรง แล้วพยายามปลอบประโลมกับคนอื่นหรือแม้แต่ตัวเราเองว่า “อย่างน้อยมันก็ไม่แย่ขนาดนั้น”

ผมไม่ได้นำเรื่องนี้มาพูดในแง่ของจิตวิทยาและจิตวิทยาให้คำปรึกษาเท่านั้น แต่พยายามนำเอาเรื่องนี้มานึกถึงสถานการณ์ และการแก้ปัญหาสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้น

Advertisement

อย่างแรก สถานการณ์ฉุกเฉินที่มีการประกาศนั้น เรากำลังเข้าใจสิ่งนี้ตรงกันไหม? เรากำลังมองสถานการณ์ฉุกเฉินในฐานะเรื่องของตัวเลขการติดเชื้อไวรัส หรือเรากำลังเข้าใจสถานการณ์ฉุกเฉินในภาพที่กว้างกว่านั้น คือรวมไปถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมในช่วงเวลาของการระบาดมากน้อยแค่ไหน

อย่างที่สอง ผมคิดว่าในการแก้ปัญหาที่ผ่านมา ทางรัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องรวมทั้งฝ่ายที่มักจะมีทัศนคติในการสนับสนุนรัฐบาล มักจะมีปัญหาเรื่องของการสื่อสารและการแก้ปัญหาจริง เพราะสับสนระหว่าง ความเห็นอกเห็นใจ/สงสาร กับ ความเข้าอกเข้าใจ/เอาใจเขามาใส่ใจเรา

ที่พูดนี่ไม่ได้จะเน้นเรื่องการประเมินประสิทธิภาพของรัฐบาลนะครับ เพราะเรื่องนี้คงมีคนพูดถึงอยู่แล้ว แต่สิ่งที่จะพูดก็คือ เวลาที่มีการแถลงข่าว หรือแถลงเองว่าเข้าใจและห่วงใยประชาชนนั้น การแถลงข่าวมักจะจบโดยการ “ขอความร่วมมือ” จากประชาชนต่อ

สิ่งนี้แหละครับปัญหาใหญ่ เพราะในมุมของประชาชนที่เดือดร้อนเขาจะรู้สึกว่า ความช่วยเหลือของเขานอกจากยังไม่ได้ และยังไม่ถึง เขายังจะต้องถูกสั่งให้ทำนู่นทำนี่มากขึ้น โดยเฉพาะจากคนที่เขาเห็นว่าไม่เดือดร้อนเท่าเขา

ทีนี้ทัศนคติจากคนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรง แต่มาให้ความเห็นประเภทว่า ให้มองโลกสวย หรือมองโลกในแง่บวก เช่น อย่างน้อยอากาศก็ดีขึ้น อย่างน้อยรถก็ติดน้อยลง อย่างน้อยธรรมชาติก็กลับมาสวยงาม ตรงนี้ยิ่งทำให้เกิดความรู้สึกจากคนที่เดือดร้อนว่า ไม่เข้าอกเข้าใจสิ่งที่พวกเขากำลังเดือดร้อนอยู่ และให้ความสำคัญกับเรื่องอื่นๆ มากกว่าเรื่องของผู้คนร่วมชาติ หรือแม้กระทั่งรู้สึกว่าเสียงของเขาไม่มีความสำคัญและพวกเขากำลังถูกปิดปาก หรือเสียงของเขาไม่ได้รับความสนใจ

บางครั้งยิ่งเลวร้ายหนักคือยิ่งออกมาแถลง พูด หรือให้สัมภาษณ์ กลับพยายามที่จะเรียกร้องความเข้าใจเห็นใจจากประชาชนอีก เช่น นี่ก็เหนื่อยมากแล้วนะ พยายามทำอยู่ ทำไมไม่เห็นใจกันบ้าง

เรื่องที่ผมนำเสนอนี้เป็นเรื่องใหญ่ และบางทีอาจจะเรื่องใหญ่กว่ามิติด้านความรู้ กล่าวคือในวันนี้เรารู้เรื่องโควิดอาจจะไม่มาก เพราะยังไม่ถึงขั้นที่จะทำวัคซีนออกมาใช้ได้เลย และอะไรที่เราคิดว่ารู้ มาวันหนึ่งเราก็จะต้องยอมรับว่าที่รู้มานั้นผิด เช่น ระยะการฟักตัว ระยะห่างของการกระจายเชื้อ หรือภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยรายเดิม แต่เอาเข้าจริงสิ่งที่เราควรจะรู้ และแสดงออกถึงความเข้าอกเข้าใจได้ก็คือเรื่องของการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทย ทั้งที่กลไกของรัฐนั้นก็บริหารบ้านเมืองมานาน จากรัฐบาลหนึ่งมาสู่รัฐบาลหนึ่ง

อะไรทำให้ระบบฐานข้อมูลในการช่วยเหลือถึงได้วุ่นวายขนาดนั้น? อะไรทำให้ความช่วยเหลือถึงได้ตกหล่นได้มากมายขนาดนั้น ตรงนี้แหละครับที่เวลาที่เราพูดถึงความเข้าอกเข้าใจในระดับการบริหารงานสาธารณะ หรือการบริหารงานประเทศมันก้าวเลยไปจากมิติด้านจิตวิทยาและการให้คำปรึกษามาเป็นเรื่องของการชี้วัดว่า คนที่ต้องรับผิดชอบต่อประเทศนี้ต้องแสดงออกซึ่งความเข้าใจ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในเรื่องความเข้าอกเข้าใจ

เพราะลำพังแค่ความเห็นใจ/สงสาร ที่ปราศจากความเข้าอกเข้าใจ (คือเข้าใจในเรื่องที่เกิดขึ้น และเข้าไปอยู่ในใจของประชาชน) นอกจากแก้ปัญหาไม่ได้แล้ว ยังส่งผลต่อความนิยมและความไว้เนื้อเชื่อใจของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลมากขึ้นไปอีกเรื่อยๆ

เรื่องประการถัดมาก็คือความพยายามของรัฐในการสื่อสารกับประชาชนในเรื่องของการพยายามแก้ปัญหาสถานการณ์ฉุกเฉินที่เกิดขึ้น ซึ่งไปเน้นแต่เรื่องสถานการณ์ฉุกเฉินในแง่โรคระบาดและไวรัส โดยไม่ได้มองว่าสถานการณ์ฉุกเฉินรวมไปถึงสถานการณ์ฉุกเฉินทางเศรษฐกิจยิ่งทำให้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเลวร้ายทั้งตัวโรคระบาด เศรษฐกิจ และความรู้สึกของผู้คน

สิ่งที่พบก็คือ สถานการณ์ฉุกเฉินถูกทำให้เข้าใจว่าเป็นเรื่องของโรคระบาด และ ศบค.ก็เน้นแต่แถลงเรื่องโรคระบาด ไม่ได้แถลงเรื่องเศรษฐกิจ นอกจากขอร้องให้อดทนและ “การ์ดอย่าตก” มักจะทำให้เราเข้าใจว่า ปัญหาเศรษฐกิจเป็นเพียงผลกระทบจากโรคระบาดซึ่งเป็นราคาที่ต้องจ่าย (และจ่ายไม่ทั่ว) และปัญหาเรื่องโรคระบาดเป็นปัญหาหลักที่ต้องจัดการเป็นเบื้องแรก

เรื่องที่ไม่ชัดเจนก็คือ เรายังไม่เคยแถลงเกณฑ์ว่าเมื่อไหร่เราจะก้าวเข้าสู่ภาวะปกติใหม่ที่เราจะต้องอยู่ร่วมกับโรคระบาดนี้ก่อนที่วัคซีนจัดการไวรัสจะเริ่มใช้

ตรรกะที่ไม่มีที่สิ้นสุดและวกไปวนมาโดยไม่มีทางออก อาทิ ถ้าวันนี้ตัวเลขน้อยก็การ์ดอย่าตก ถ้าวันไหนตัวเลขเยอะก็การ์ดอย่าตก ไม่ได้ชี้ให้เราเห็นเลยว่าการทำความเข้าใจโรคระบาดนี้มีอยู่อีกหลายทาง

บางประเทศเข้าใจแล้วว่าการระบาดมีหลายระลอก เมื่อปิดแล้วเปิดเมืองการระบาดระลอกใหม่จะเข้ามา และจะต้องเผชิญกับมันต่อไปด้วยมาตรการตั้งรับที่ดี และมาตรการเชิงรุก (เช่น การตรวจเพิ่ม) ขณะที่ประเทศไทยเข้าใจง่ายๆ ว่าการระบาดมีแค่รอบเดียว ถ้าเปิดแล้วระบาดอีกคือความล้มเหลว

ประการต่อมา การทำความเข้าใจว่าเราต้องเลือกระหว่างโรคระบาดกับเศรษฐกิจในแง่ที่ทำให้เข้าใจว่า ถ้าเปิดเมืองเท่ากับโรคระบาดดำเนินต่อไป ทำให้ไม่เข้าใจถึงความซับซ้อนของปัญหาที่ไม่ใช่ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่จะต้องเข้าใจความสลับซับซ้อนของเงื่อนไขที่เกิดขึ้นในสังคม

ตัวเลขที่ออกมาล่าสุดของ คณะวิจัยในโครงการวิจัยคนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง ที่ชี้ให้เห็นว่า ตัวเลขของการฆ่าตัวตายที่เชื่อมโยงกับเงื่อนไขปัญหาโควิด-19 มีจำนวนพอๆ กับตัวเลขการตายจากการติดเชื้อโควิดโดยตรง คือประมาณ 30 ปลายๆ เป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจ และควรได้รับการกล่าวถึงในการแถลงข่าวของ ศบค.เพราะตัวเลขการเสียชีวิตด้วยการฆ่าตัวตายที่เกี่ยวเนื่องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในช่วงนี้เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดที่สำคัญ และเป็นยอดของภูเขาน้ำแข็งของปัญหาสะสมที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ฉุกเฉินในช่วงนี้ และควรที่จะถูกมองว่าเป็นสถานการณ์ฉุกเฉิน

ยิ่งเมื่อเข้าไปดูทั้งตัวเลขจากการสำรวจของคณะวิจัย และเรื่องราวในแต่ละกรณีของผู้ที่ตัดสินใจจบชีวิต สิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญคือเขาประสบปัญหาจากเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงจากการบริหารจัดการโรคระบาดของรัฐ (ทั้งไม่อนุญาตให้ดำเนินกิจการ หรือช่วยเหลือยังไม่ถึง) และเขามีฐานะยากจน หรือเป็นผู้ประกอบการรายย่อย

ผมคิดว่าการประกาศตัวเลขผู้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ และเรื่องราวของผู้ที่ตัดสินใจจบชีวิตในสถานการณ์ฉุกเฉินที่เกิดขึ้น แทนที่จะแถลงแต่เรื่องของจำนวนคนติดโรค และขอความร่วมมือจากประชาชนขณะที่ความช่วยเหลือยังไปไม่ถึงหรือไม่เพียงพอ น่าจะทำให้ประชาชนรู้สึกว่ารัฐบาลเข้าอกเข้าใจพวกเขามากขึ้น และกระตุ้นให้รัฐบาลเองรู้สึกว่าความเข้าอกเข้าใจสำคัญกว่าเพียงแค่ความเห็นใจสงสาร รวมทั้งจะเร่งเร้าให้ความเข้าอกเข้าใจที่รัฐบาลควรมีและจะต้องไปให้ถึงนำไปสู่การพยายามเข้าใจในแง่ความรู้และการบริหารงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ส่วนสื่อสาธารณะที่ใช้ภาษีประชาชนทั้งประเทศก็จะได้มองเรื่องเศรษฐกิจปากท้องและการฆ่าตัวตายในระดับที่ไม่ใช่ตัวเลขภาพรวมและจำนวนผู้เสียชีวิต แต่ต้องไปในระดับเรื่องราวของแต่ละกรณี ไม่ใช่แค่ปัญหาชาวบ้านหรือข่าวชาวบ้านที่ไม่น่าเล่นเท่าข่าวชุมชนจัดการตนเอง ช่วยเหลือกันเอง การเชิดชูบุคลากรทางการแพทย์ว่าเป็นนักรบ หรือการอุทิศรายการภาคกลางคืนเป็นเรื่องการรู้ทันโรค โดยเปิดพื้นที่รายการเป็นเรื่องของการตอบคำถามสุขภาพ และให้คำปรึกษาด้านจิตวิทยาเฉพาะในแง่การทำงานและการทำความเข้าใจกับความตื่นกลัวกับโรค ทั้งที่เรื่องราวของปัญหาทางเศรษฐกิจของการไม่มีจะกิน และการต้องรอการแจกของแทบไม่ปรากฏในพื้นที่ช่วง prime time สักเท่าไหร่ ราวกับว่าเรื่องเหล่านี้ไม่ใช่ปัญหาสาธารณะที่สำคัญมากไปกว่าข่าวชาวบ้านและข่าวต่างจังหวัดในเวลาก่อนข่าวหลัก (หรือเป็นเพราะคนเหล่านี้เขาไม่ใช่ชาวบ้านที่อยู่ในชุมชนเครือข่าย?)

ส่วนฝ่ายที่สนับสนุนรัฐบาลเองก็จะได้หาแนวทางที่จะออกมาช่วยเหลือผู้คนที่มากกว่าความเห็นใจ สงสาร สงเคราะห์ มาสู่ความเข้าอกเข้าใจในการช่วยเหลือมากขึ้น และเชื่อมโยงตัวของเขาเองกับผู้คนอีกมากมายในสังคมของเราได้อีกหลายมิติ

เขียนมาถึงตรงนี้ผมรู้สึกว่าสถานการณ์ฉุกเฉินที่ถูกประกาศ และถูกบริหารจัดการอยู่นี้ ดูท่าจะเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินอันเป็นนิรันดร์ที่ไม่มีทางจะผ่านพ้นไปด้วยความเข้าอกเข้าใจไปเสียแล้วครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image