โรงพยาบาลนครปฐม COVID-19:OneStopService โดย ดร.นพ.วิชัย เทียนถาวร อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข

เย็นวันที่ 22 เมษายน 63 ผู้เขียนได้มีโอกาสติดตามรายงานข่าว COVID-19 กับการรักษาของโรงพยาบาลนครปฐม มีความประทับใจในฐานะเป็นโรงพยาบาลศูนย์ของส่วนภูมิภาคของกระทรวงสาธารณสุข ที่มีศักยภาพสูงไม่แพ้โรงเรียนแพทย์ จึงได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครปฐมถึงแรงบันดาลใจ ปัจจัยความสำเร็จของคำว่า COVID : One Stop Service ซึ่งน่าสนใจมาก

โรงพยาบาลนครปฐมภายใต้การนำของ ดร.พญ.ดารารัตน์ รัตนรักษ์ ตั้งอยู่เลขที่ 196 ถนนเทศา ต.พระปฐมเจดีย์ อ.เมืองนครปฐม จ.นครปฐม มีศักยภาพเป็นโรงพยาบาลศูนย์ระดับตติยภูมิ ขนาด 722 เตียง อัตราครองเตียงเฉลี่ย 102% จำนวนผู้ป่วยนอกเฉลี่ยวันละ 3,400 ราย ผู้ป่วยฉุกเฉิน (ER) จำนวน 83,960 รายต่อปี รับผู้ป่วยส่งต่อ 90,253 รายต่อปี มีแพทย์ 127 คน แพทย์ใช้ทุน 40 คน และพยาบาลวิชาชีพ 764 คน ทั้งนี้ โรงพยาบาลขับเคลื่อนการดำเนินงานด้วยวิสัยทัศน์การเป็นศูนย์การแพทย์ชั้นนำของประเทศซึ่งสอดรับตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขและยึดหลัก “ทีมมีสุข ทุกคนปลอดภัย เครือข่ายเข้มแข็ง : Team Safety Network”

โดยโรงพยาบาลนครปฐมวางแผนยุทธศาสตร์ในปี 2561-2570 และดำเนินการตามแผนดังนี้ 1.เป็นศูนย์การแพทย์เฉพาะทางชั้นสูงแห่งปริมณฑลตะวันตก 2.พัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ 3.พัฒนาระบบบริการสาธารณสุขเขตเมืองร่วมกับภาคีเครือข่าย 4.พัฒนาความเป็นเลิศด้านบริหารจัดการโรงพยาบาลและเครือข่าย 5.พัฒนาระบบสารสนเทศดิจิทัล นอกจากนี้ ยังมียังแผนการลงทุนในการพัฒนาโดยเน้นในด้านการพัฒนาศักยภาพและมาตรฐานการรักษาทั้งในระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิและตติยภูมิ ด้านการพัฒนาระบบสนับสนุนที่มีมาตรฐาน ด้านพัฒนาโครงสร้างทางกายภาพและสิ่งแวดล้อม (Infrastructure) ด้านการพัฒนาระบบสารสนเทศ ด้านการพัฒนาและธำรงรักษากำลังคน และมุ่งเป้าลดปัญหาของประชาชน ลดความแออัด ลดการรอคอย โดยการกระจายบริการออกนอกโรงพยาบาลไปอยู่ในพื้นที่สะดวกต่อการเข้าถึงบริการ เช่น คลินิกตรวจโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง บริการเจาะเลือดและรับสิ่งส่งตรวจล่วงหน้า โดยใช้ระบบ logistic ในการนำตัวอย่างส่งห้องปฏิบัติการกลางและรายงานผลด้วยระบบ IT ของโรงพยาบาล และบริการรับยาในชุมชนโดยใช้เครือข่ายในจังหวัด เป็นต้น

“COVID-19 one stop service” วลีนี้จากบทสัมภาษณ์ ดร.พญ.ดารารัตน์ รัตนรักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครปฐม ในตอนหนึ่งของรายการเรื่องดังหลังข่าวช่อง NBT เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2563 กระตุ้นความสนใจของผู้เขียนอย่างแรงจนนำไปสู่การค้นหารายละเอียดของที่มาที่ไปของวลีดังกล่าว

Advertisement

นับตั้งแต่ COVID-19 เริ่มมีรายงานการระบาดเข้าสู่ประเทศไทยครั้งแรกเมื่อกลางเดือนมกราคม 2563 โดยผู้ป่วยคนไทยรายแรกคือผู้ที่เดินทางกลับมาจากเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย์ สาธารณรัฐประชาชนจีน และก็เป็นโรงพยาบาลนครปฐมแห่งนี้เองที่ผู้ป่วยรายนี้ได้เข้ารับการรักษาจนหาย สามารถกลับไปใช้ชีวิตปกติอยู่บ้านได้จนถึงปัจจุบัน นับเป็นโรงพยาบาลรัฐและเป็น “โรงพยาบาลต่างจังหวัดแห่งแรก” ที่สะท้อนความพร้อมศักยภาพด้านการแพทย์ ด้านการรักษา COVID-19 หาย เทียบได้กับโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยหรือโรงพยาบาลขนาดใหญ่ของกรมการแพทย์ในเมืองหลวง

หากใครมีโอกาสสัมผัสโรงพยาบาลนครปฐมในช่วงระยะเวลาประมาณ 3 เดือนตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมานี้ คงต้องยอมรับว่าโรงพยาบาลแห่งนี้มีวิวัฒนาการอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดบริการเพื่อดูแลผู้ป่วย COVID-19 ครบวงจรแบบ “one stop service”

ดร.พญ.ดารารัตน์ รัตนรักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครปฐม เปิดเผยว่าแนวคิดหลักที่นำมาใช้เพื่อดำเนินการจัดการในสถานการณ์วิกฤต COVID-19 โรงพยาบาลนครปฐมมีปัจจัยแห่งความสำเร็จ 2 ประการ ประการแรก คือ การควบคุมและป้องกันการแพร่กระจายเชื้ออย่างมีประสิทธิภาพ ประการที่ 2 คือ ระบบบริหารจัดการอย่างมีมาตรฐาน มีระบบและขั้นตอนที่ชัดเจน ซึ่งเครื่องมือสำคัญที่ ดร.พญ.ดารารัตน์ รัตนรักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครปฐม นำมาใช้ตั้งแต่เริ่มสถานการณ์วิกฤต COVID-19 คือ แผนปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข (Emergency Operation Center: EOC) และระบบบัญชาการเหตุการณ์ (Incidence Command System: ICS)

Advertisement

ทั้งนี้ ประการแรกที่ได้ดำเนินการคือการจัดการกายภาพโครงสร้างสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เจ้าหน้าที่และผู้รับบริการมีความปลอดภัย สะดวกสบาย เน้นหลักป้องกันและควบคุมการแพร่กระจายเชื้ออย่างมีประสิทธิภาพ อุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์และอุปกรณ์สนับสนุนบริการถูกจัดเตรียมเฉพาะ เช่นกันกับกระบวนการทำงานที่ถูกออกแบบและวางระบบให้จบอยู่ในพื้นที่เดียวกัน เป็น “one stop service” โดยได้ประยุกต์และปรับปรุงอาคารเดิมที่เป็นอาคารเดี่ยวแยกจากอาคารบริการอื่นๆ สำหรับใช้บริการผู้ป่วย HIV มาปรับเป็นหน่วยบริการคลินิกโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ (ARI Clinic) ซึ่งที่คลินิกแห่งนี้ผู้ป่วยจะได้รับการดูแลเต็มรูปแบบครบตามกระบวนการตั้งแต่ล้างมือ ใส่หน้ากากอนามัย วัดอุณหภูมิร่างกาย ซักประวัติ ตรวจร่างกาย ทำหัตถการโดยแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติการตามมาตรฐานอย่างเคร่งครัด แต่งกายด้วยชุดป้องกันเฉพาะบุคคล (PPE) ครบถ้วน แยกห้องตรวจผู้ใหญ่และเด็ก ห้องตรวจ X-ray ปอด ห้อง Swab PCR for COVID-19 รวมถึงการรับชำระค่าบริการ และอื่นๆ

หลัง Swab PCR for COVID-19 Swab PCR for COVID-19 สามารถส่งตรวจได้ที่ห้อง Lab ซึ่งอยู่บริเวณใกล้ๆ กับ ARI clinic และเป็น “ห้อง lab แห่งแรกๆ ของโรงพยาบาลต่างจังหวัด” ที่ได้รับรองคุณภาพตามมาตรฐานกรมวิทยาศาสตร์ ใช้เวลารอผล lab เพียง 4 ชั่วโมง ก็รู้ผล ปัจจุบันให้บริการตรวจวันละ 3 รอบ จำนวนการตรวจสูงสุด 270 รายต่อวัน ซึ่งสามารถรองรับการส่งตรวจจากโรงพยาบาลในเครือข่ายด้วย

กรณีผู้ป่วยที่จำเป็นต้องรับไว้รักษาตัวในโรงพยาบาล ดร.พญ.ดารารัตน์ รัตนรักษ์ และ ดร.ลภน โมกขะสมิต ที่ปรึกษาด้านกายภาพสิ่งแวดล้อมโรงพยาบาลนครปฐมเปิดเผยว่าได้มีการเตรียมห้องแยกผู้ป่วยติดเชื้อทางอากาศเพื่อรองรับผู้ป่วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ (Airborne Infection Isolation room:) AIIR) และ Modify AIIR ไว้รองรับผู้ป่วยแล้วเสร็จแล้ว 48 ห้อง และ Cohort ward อีก 2 wards โดยปรับจากห้องพิเศษเดี่ยวเดิม ภายใต้การวิเคราะห์ความต้องการกำหนดและการมี “ส่วนร่วมของบุคลากรผู้ปฏิบัติงาน” แพทย์ พยาบาล โดยเฉพาะพยาบาลซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่ โดยเน้นความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่เป็นลำดับแรก เพื่อให้เจ้าหน้าที่มั่นใจ สบายใจ สะดวกสบาย เช่นเดียวกันกับผู้ป่วย คำนึงถึงหลักการที่ถูกต้องตามหลักการการป้องกันและควบคุมการแพร่กระจายเชื้อ (Infectious control: IC) จัดระบบการขนส่งทางเดียว ระบบห้องความดันลบ ระบบการสื่อสารระหว่าง
ผู้ป่วยกับบุคลากรทางการแพทย์ กล้องวงจรปิด ระบบการเฝ้าระวังผู้ป่วยศูนย์กลาง (central monitor ) ระบบจัดการขยะ ของเสียและสิ่งปนเปื้อน เป็นต้น ทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้งบประมาณที่เป็นไปได้ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากงบบริจาคของประชาชนด้วยซึ่งผลลัพธ์ของการออกแบบและปรับปรุงที่ถูกต้องตามหลักการการป้องกันและควบคุมการแพร่กระจายเชื้อ (Infectious control) นี้ นอกจากความปลอดภัย สะดวก สบายแล้วยังสามารถประหยัดเวลา ประหยัดค่าอุปกรณ์ PPE ลดการสัมผัสระหว่างผู้ป่วยกับแพทย์และพยาบาลผู้ดูแล นอกจากนี้ หลังจากหมดวิกฤตการณ์ COVID-19 แล้ว ห้องผู้ป่วยเหล่านี้ได้ถูกวางแผนไว้สำหรับใช้ดูแลผู้ป่วยโรคติดเชื้อ หรือผู้ป่วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงสามารถใช้เป็นห้องสำหรับผู้ป่วยวิกฤต (ICU) โรคทางเดินหายใจได้อย่างเต็มประสิทธิภาพเช่นกัน

อนึ่ง ผู้อำนวยการฯ ได้รายงานว่ามีคนป่วยมารักษาที่โรงพยาบาลด้วยการวินิจฉัยว่าเป็น COVID-19 จำนวน 22 ราย หายเป็นปกติไม่มีผู้ป่วยเสียชีวิต มีผู้ป่วย 1 ราย ที่ทางโรงพยาบาล มีความภาคภูมิใจและดีใจในความสำเร็จ เป็นคนไข้เพศหญิง ชื่อ นางบุญชู อายุ 56 ปี อาชีพรับจ้าง อยู่ อ.บางเลน จ.นครปฐม

ผู้ป่วยรายนี้ Admit ครั้งแรกที่ รพ.บางเลน ด้วย ไข้ ไอ หอบ “แพทย์วินิจฉัยว่า ปอดอักเสบ” ซักประวัติ พบว่า เดิมเป็นโรคความดันโลหิตสูงและเบาหวานอยู่ ได้ติดเชื้อมาจากอดีตลูกเขยซึ่งเป็น COVID-19 (บ้านอยู่ติดกัน) ซึ่งการป่วยครั้งนี้เนื่องมาจากไปดูมวยที่สนามมวย และได้ส่งน้ำคัดหลั่งพบเชื้อ COVID-19 ด้วยอาการไม่ดีขึ้นจึง Refer ไปโรงพยาบาลนครปฐม Admit เมื่อ 29 มีนาคม 2563 : ผู้ป่วยอยู่ รพ.ได้ 3 วัน เกิดภาวะ Stroke แขนข้างขวาไม่รู้สึกตัว (Rt- Hemiplegia) อาการปอดอักเสบรุนแรงมากขึ้นจนต้องใช้ท่อหายใจอยู่ 5 วัน อาการดีขึ้นที่สำคัญแพทย์ได้ทุ่มเทการรักษาเต็มที่ทุกรูปแบบในการให้ยาฆ่าไวรัสและปอด เอกซเรย์ล่าสุดปกติเกือบ 100% แต่ยังหลงเหลือเรื่องอัมพฤกษ์ต้องกายภาพบำบัดอยู่จนถึงปัจจุบัน คาดว่าจะกลับบ้านได้เร็วๆ นี้ ผู้ป่วยชื่อนางบุญชู รายนี้นับเป็นผลงานที่ประสบผลสำเร็จผู้ป่วยรอดชีวิตของทีมแพทย์ พยาบาล นักกายภาพบำบัดภายใต้การนำของผู้อำนวยการ ดร.พญ.ดารารัตน์ รัตนรักษ์ แต่ผู้อำนวยการ ขอฝากให้พี่ๆ น้องๆ คนไทยทุกคนร่วมมือร่วมใจกัน

“ป้องกันโรค ดีกว่า รักษาโรค” เริ่มที่ “ตัวเรา” โดยยึดหลัก “2ล. 2ส.” 2ล : เลี่ยงคนป่วย เลี่ยงพื้นที่เสี่ยง 2ส : สัมผัส, กินร้อน ช้อนฉัน ล้างมือ ใส่หน้ากาก แว่นตา เว้นระยะห่าง 2 เมตร (Social Distancing) ขณะเดียวกัน…

“สร้างสุขภาพ นำซ่อมสุขภาพ” ยุคโควิด-19 ด้วย “3อ. 3ลด” 3อ. : กินอาหารครบ 5 หมู่ ออกกำลังกาย 30 นาที/วัน อารมณ์ดีเป็นนิจ 3 ลด : ลดอ้วน ลดเหล้า ลดบุหรี่

ด้วยเหตุสุดวิสัยที่ยังไม่มีวัคซีนฉีดป้องกัน ไม่มียารักษา ถ้าเกิดป่วยเป็นโควิด-19 จริงๆ ไม่ว่าท่านเป็นใคร ที่ไหน อย่างไร… “โรงพยาบาลนครปฐม” ยินดีต้อนรับทุกท่านเป็น “ผู้ป่วย” ของโรงพยาบาลด้วยความเต็มใจ เสมือนญาติ ด้วยระบบ COVID-19 : One Stop Service “หายป่วย รอดปลอดภัย กลับบ้าน” ได้ด้วยตามภาคภูมิใจของ Team Safety Network ไงเล่าครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image