สถานการณ์โควิดกับชายแดนใต้ ; โดย โคทม อารียา

ขบวนการที่ก่อความไม่สงบที่มีกองกำลังที่เข้มแข็งที่สุดในชายแดนใต้คือ บีอาร์เอ็น เมื่อเกิดสถานการณ์โควิด บีอาร์เอ็นได้ประกาศเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2563 ความตอนหนึ่งว่า “เพื่อสร้างบรรยากาศที่มีความสงบและความสะดวกมากขึ้นสำหรับประชาชนปาตานี เกี่ยวกับความพยายามทุกประเภทโดยบรรดาเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หน่วยงานที่ทำงานเพื่อป้องกันและควบคุมโรคระบาด
โควิด-19 บีอาร์เอ็นจะยุติปฏิบิติการทุกรูปแบบเพื่อเปิดช่องทางให้แก่ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม โดยตระหนักว่า ณ เวลานี้ ศัตรูหลักของมนุษยชาติคือ โควิด-19 การประกาศนี้จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 3 เมษายน 2020 ตรงกับวันที่ 9 ชะอ์บาน 1441 ฮ. ตราบใดที่บีอาร์เอ็นไม่ได้รับการโจมตีจากฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐบาลไทย”
อันที่จริง การประกาศนี้น่าจะเป็นข่าวใหญ่มากในรอบ 16 ปีเศษที่มีการสู้รบกันมา เพราะเป็นเหมือนการประกาศหยุดยิงฝ่ายเดียวที่ทำให้เกิดความหวังว่าความรุนแรงจะลดลง และสันติภาพจะเปิดกว้างขึ้น แต่สื่อมวลชนมุ่งความสนใจไปที่วิกฤตโควิด-19 และทางการก็ไม่มีปฏิกิริยาชัดเจนนัก ว่าจะตอบสนองการประกาศหยุดยิงนี้ด้วยการหยุดยิงด้วยหรือไม่ อย่างน้อยก็เป็นการตอบสนองต่อองค์การสหประชาชาติที่เรียกร้องให้หยุดยิงในการสู้รบทุกแห่ง ไม่ว่าจะเป็นการสู้รบระหว่างรัฐหรือภายในรัฐ ทั้งนี้ เพราะโคโรนาไวรัสกำลังคร่าชีวิตผู้คนมากมาย
เกินพอแล้ว
ในโอกาสของเดือนรอมฎอน ที่คาดว่าจะอยู่ระหว่างวันที่ 24 เมษายน ถึง 23 พฤษภาคม 2563 ขอให้ทุกฝ่ายให้ความเคารพต่อวาระอันศักดิ์สิทธิ์นี้ และเว้นจากการประทุษร้ายต่อกันด้วยเถิด

มีข่าวว่าพระภิกษุ แม่ชี และฆราวาส ที่ไปเยี่ยมสังเวชนียสถานในอินเดีย ได้ประสบความยากลำบากในการกลับเข้ามาในประเทศไทย ทางราชการจึงกำลังให้ความช่วยเหลือ โดยคาดว่าในวันที่ 24 และ 25 เมษายน จะมีคนไทยเดินทางกลับจากอินเดียประมาณ 170 รูป/คนในแต่ละวัน ในวันแรกนี้ จะมีพระสงฆ์จำนวน 120-130 รูป สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติกำลังเตรียมสถานที่กักตัวสำหรับ
พระสงฆ์อยู่ คาดว่าจะเป็นที่พุทธมณฑล นครปฐม เพราะจะปฏิบัติกิจของสงฆ์ได้สะดวก
มีข่าวว่ามีคนไทยจากชายแดนใต้จำนวนหนึ่งไปติดค้างอยู่ที่ประเทศอินโดนีเซีย และมาเลเซีย มีบ้างที่เดินทางกลับมาบ้านแล้ว พวกที่เดินทางกลับมาตอนแรกๆ ส่วนใหญ่เป็นคนที่มีจิตศรัทธาไปเผยแผ่ศาสนาในประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนที่กำลังทยอยกลับมานั้น ส่วนใหญ่คือคนที่ไปทำมาหากิน เช่น ไปเปิดร้านอาหาร ร้านต้มยำกุ้ง ในมาเลเซีย
เราอาจคุ้นเคยกับการเผยแผ่ศาสนาของพระสงฆ์ ที่เรียกว่าพระธรรมทูต แต่ในศาสนาอิสลาม ถือว่าไม่มีนักบวช ทุกคนเข้าถึงพระเจ้าและช่วยเผยแผ่ศาสนาได้เท่าเทียมกัน คนมักเข้าใจว่าอิหม่ามคือนักบวช แต่อิหม่ามคือผู้สอนและปฏิบัติการละหมาด เป็นประธานของกิจการในชุมชน เช่น การเกิด การสมรส การตาย เป็นผู้ทำให้เกิดความก้าวหน้าแก่มัสยิดและชุมชน อิหม่ามทำมาหากินและมีครอบครัวเหมือนคนธรรมดา หาใช่นักบวชไม่ สำหรับกิจการเผยแผ่ศาสนานั้น มักใช้คำในภาษาอาหรับว่า “ดาวะห์” ซึ่งมีความหมายว่าเชิญชวนให้ปฏิบัติศาสนกิจและรำลึกถึงพระเจ้า กิจกรรมที่ทำมี อาทิ การเรียนรู้โดยอ่านจากหนังสือ การไปเยี่ยมที่บ้านและที่มัสยิด ทั้งที่อยู่ในละแวกบ้านของตน หรือที่สามารถเดินทางไปกลับได้ภายในวันเดียว หรือที่เดินทางไปถึงได้ใน 3 วัน แต่จะมีการประชุมที่มัสยิด
ต่างๆ ทุกวัน
ดาวะห์ จึงหมายถึงการเผยแผ่โดยการเน้นย้ำคำสอน และการปฏิบัติแก่ผู้ที่มีศรัทธาแล้ว มิได้มุ่งสอนคนต่างศาสนาให้หันมาถือศาสนาอิสลาม คนที่ไปปฏิบัติดาวะห์มักมีกำหนดเวลาที่ชัดเจน ตามธรรมเนียมคือ 3 วัน 40 วัน หรือ 4 เดือน โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องไม่ทำให้ครอบครัวเดือดร้อน ต้องใช้เงินของตัวเองโดยไม่ขอบริจาคจากใคร ห้ามเกี่ยวข้องกับการเมือง และห้ามสร้างความเดือดร้อนแก่มัสยิดที่เดินทางไปพักพิง ปฏิบัติการดาวะห์มีทั้งที่เดินทางอยู่ในประเทศและที่ออกไปนอกประเทศ ในบรรดาคนที่กลับจากดาวะห์ เช่น จากอินโดนีเซีย มีบางคนที่ติดเชื้อโคโรนาไวรัส และต้องถูกกักตัว แต่พอมีข่าวในเรื่องนี้ คนที่ตั้งข้อรังเกียจต่อมุสลิม อาจตั้งข้อรังเกียจผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ว่าพวกเขาเอาเชื้อเข้ามาแพร่ อันที่จริงเราต่อต้านเชื้อไวรัส มิใช่ต่อต้านคน คนคงไม่อยากจะติดเชื้อและไม่ต้องการเอาเชื้อมาติดใคร โปรดอย่าโทษเขาเลย คนไม่ว่าเชื้อชาติ ศาสนาใด ล้วนเป็นเพื่อนมนุษย์ของเรา
โปรดต้อนรับเขาเถิด โดยเฉพาะในยามที่เรามีความทุกข์ยากร่วมกัน

คนไทยอีกกลุ่มหนึ่งที่อยากกลับบ้าน ได้แก่ คนที่ทำมาหากินอยู่ที่มาเลเซีย และคงขาดรายได้เพราะเกิดวิกฤตโควิด รัฐได้วางระเบียบการเดินทางเข้าประเทศสำหรับคนกลุ่มนี้คือ ให้ไปลงทะเบียนที่สถานทูต หรือสถานกงสุล ปรากฏว่ามีผู้ประสงค์จะเดินทางกลับระหว่างวันที่ 18 ถึง 30 เมษายน อยู่ 2,548 คน แต่ตัวเลขยังไม่นิ่ง รัฐจึงวางแผนรับกลับมาประมาณวันละ 350 คน ทั้งนี้ เพื่อกระจายให้ลงพื้นที่กักตัวได้อย่างเป็นระเบียบ ทราบข่าวมาว่าในบรรดาคนที่ผ่านการกักตัวแล้ว บางคนมีครอบครัวและถิ่นฐานรองรับ บางคนประสบปัญหาในชีวิตความเป็นอยู่และการหารายได้ แต่ทุกคนต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์การแพร่ระบาด และการไม่ให้ออกนอกบ้านโดยไม่จำเป็น
ขณะเดียวกันก็มีข่าวคนที่ลักลอบเข้าเมือง โดยไม่ผ่านกระบวนการตรวจ ซึ่งข่าวเมื่อวันที่ 18 เมษายน รายงานว่า มีกว่า 400 คนที่ถูกจับกุมและมีโทษปรับ รวมทั้งถูกกักตัวอยู่ดี
สมาคมจันทร์เสี้ยวการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งปฏิบัติงานด้านสาธารณสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้เปิดเผยว่า ยังมีผู้ที่ตกค้างในมาเลเซีย และมาลงทะเบียนไว้กับสมาคม ประมาณ 4,000 คน ซึ่งกำลังประสบความลำบากและไร้ญาติมิตรในต่างแดน ศอ.บต. และองค์กรอื่นรวมทั้งสมาคมกำลังหาทางช่วยเหลือ (สอบถามข้อมูลได้ที่ 08-0863-5552)
ในขณะที่ความรุนแรงจากเหตุการณ์ความไม่สงบจากขบวนการต่างๆ โดยเฉพาะจากบีอาร์เอ็นมีแนวโน้มจะลดลง ในขณะที่ความทุกข์จากโควิดกำลังกระทบแก่ทุกคน จึงเป็นโอกาสที่ชาวพุทธและมุสลิม โดยเฉพาะในชายแดนใต้ จะแสดงความเห็นอกเห็นใจกัน อย่างน้อยก็ไม่ตั้งข้อรังเกียจต่อคนที่หนีภัยโควิดกลับบ้านจากต่างแดน หรือจะแสดงน้ำใจให้ความช่วยเหลือบ้างก็ยิ่งดี ไม่เฉพาะแก่คนที่อยากกลับบ้านในจังหวัดชายแดนใต้เท่านั้น หากยังมีคนไทยที่ลงทะเบียนไว้เพื่อขอเข้ามาตามด่านอื่นๆ ทั่วประเทศอีก 3,211 คน เราคงต้องสนับสนุนนโยบาย “ไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง” อย่างจริงจัง
ขณะที่แพทย์หลายคนให้คำแนะนำการรับมือกับเชื้อไวรัสนี้อย่างรัดกุม ขณะที่นักธุรกิจและนักเศรษฐศาสตร์ ฯลฯ กำลังคิดวิธีการเยียวยาและฟื้นฟู นักอนาคตศาสตร์อาจต้องเริ่มคิดถึงฉากทัศน์ต่างๆ ที่มีทางเป็นไปได้ (plausible scenarios) เพื่อเชิญชวนให้ประชาชนในวงกว้างได้ช่วยคิดและพิจารณา ว่ามีฉากทัศน์ใดที่เราควรเลือกขับเคลื่อนให้เป็นจริง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image