สะพานแห่งกาลเวลา : โรคคาวาซากิมันมากับโควิด-19 โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

โควิด-19 ยิ่งเรียนรู้มากขึ้นเท่าใด ก็ยิ่งน่ากลัวมากขึ้นเท่านั้น อย่างน้อยก็ในความรู้สึกส่วนตัวของผมเอง

คำเตือนล่าสุดเมื่อวันที่ 28 เมษายน จาก สมาคมกุมารแพทย์ผู้ป่วยหนัก (พีไอซีเอส) แห่งสหราชอาณาจักร ซึ่งเผยแพร่ไปยังโรงพยาบาลทั่วประเทศที่ให้การรักษา เด็กๆ ซึ่งติดเชื้อโควิด-19 อยู่ในเวลานี้ว่า ให้ระวัง เด็กบางคนอาจมีการทับซ้อน ของโรค “ท็อกซิค ช็อก ซินโดรม” และ “คาวาซากิ ซินโดรม”
เกิดขึ้นกับเด็กๆ เหล่านั้นพร้อมไปกับการติดเชื้อโควิด-19

“ท็อกซิคช็อก” นั้นคือการเกิดอาการแน่นิ่งจากสภาพเป็นพิษในร่างกาย ไม่ไหวติง ซึ่งตามรายงานข่าวของสื่อท้องถิ่นในอังกฤษระบุว่า มีเด็กบางรายเกิดอาการเหมือน “ซอมบี้” เช่นนี้

อาการ “คาวาซากิ ซินโดรม” หรือ “คาวาซากิ ดิซีส” ที่บ้านเราเรียกทับศัพท์ว่า “โรคคาวาซากิ” นั้น อันตรายกว่ามากครับ

Advertisement

ตามรายงานของพีไอซีเอส ระบุว่า เด็กที่ติดเชื้อจะเกิดอาการไข้สูงมากต่อเนื่องกันเป็นเวลา 5 วันหรือนานกว่านั้น พร้อมๆ กันนั้นก็จะเกิดจ้ำแดง ต่อมต่างๆ ของร่างกายบวม โดยเฉพาะบริเวณลำคอ ทำให้เจ็บคอกลืนอาหารลำบาก ริมฝีปากแห้ง แตก และลอกเป็นแผ่น ลิ้นเป็นตุ่มแดง บริเวณนิ้วมือนิ้วเท้าจ้ำแดง เกือบคล้ายๆ ห้อเลือด ตาแดงซ่านเห็นชัดเจน

หนังบริเวณปลายนิ้วมือนิ้วเท้า จะลอกล่อนออกเป็นแผ่นๆ น่าสงสารเด็กๆ เหล่านี้มาก

ศ.พญ.ดวงมณี เลาหประสิทธิพร ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ จากคณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล เคยเขียนบทความถึงโรคนี้ เตือนเอาไว้ว่าความรุนแรงของโรคอาจทำให้เด็กเสียชีวิตเฉียบพลันได้

Advertisement

เหตุผลเพราะ โรคนี้อาจทําใหเกิดการอักเสบของหัวใจและหลอดเลือดเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้หลอดเลือดหัวใจเกิดการโป่งพอง ทำให้หลอดเลือดบีบแคบหรือตีบตันได้ ทำให้เสียชีวิตได้เฉียบพลันเหมือนในกรณีของผู้ใหญ่

ศาสตราจารย์ ไซมอน เคนนีย์ จากสำนักงานบริการสาธารณสุขแห่งชาติ (เอ็นเอชเอส) ของอังกฤษ บอกว่า หากรีบให้การรักษา อาการจะบรรเทาลง

ในโลกตะวันตก โรคนี้พบไม่บ่อย ถือว่าเป็นโรคหายากทีเดียว ตามข้อมูลของซีเอ็นเอ็น เด็กๆ วัยไม่เกิน 5 ขวบ แต่ที่ต้องเตือนให้รับรู้กันทั่วประเทศเป็นเพราะมันปรากฏขึ้นในเด็ก หรือวัยรุ่นที่ล้มป่วยเป็นโควิด-19 และจำเป็นต้องได้รับการรักษาทันที หรือโดยเร็วเท่านั้น

โรคนี้พบมากกว่าในแถบเอเชีย โดยเฉพาะทางเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ อย่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ เป็นต้น

ชื่อโรค ซึ่งตั้งตามผู้ที่พบผู้ป่วยรายแรกในประเทศญี่ปุ่น คือ นายแพทย์ โทมิซากุ คาวาซากิ นั่นเอง

ในสหรัฐอเมริกา พบว่าโรคนี้เป็นต้นเหตุอันดับ 1 ของการป่วยเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดในภายหลัง และเกิดการแทรกซ้อนได้มาก การรักษามาตรฐานของ ศูนย์เพื่อการควบคุมและป้องกันโรค (ซีดีซี) ในสหรัฐอเมริกา คือการให้สารฮีโมโกลบิน กับ แอสไพรินผ่านเส้นเลือดครับ

ที่น่าสนใจก็คือ แพทย์ที่อังกฤษยังไม่พบและไม่เข้าใจความเชื่อมโยงระหว่างโควิด-19 กับคาวาซากิ ดิซีส ว่าเป็นไปได้อย่างไร

จริงๆ แล้ว ผู้เชี่ยวชาญยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่า โรคคาวาซากิเกิดขึ้นได้อย่างไร

ข้อเท็จจริงก็คือ โรคคาวาซากิไม่ได้เป็นโรคติดต่อ ในขณะที่ โควิด-19 เป็นโรคติดต่อ ซึ่งเกิดจากไวรัสอย่างที่เรารู้ๆ กัน ทำให้ทั้งสองอย่างไม่น่าจะเชื่อมโยงถึงกันได้

ข้อสันนิษฐานทางการแพทย์ที่อังกฤษ ก็คือ เด็กๆ ที่เป็นโรคอาจได้รับการถ่ายทอดทางพันธุกรรมผ่านทางพ่อแม่จากคนในลำดับญาติที่เคยเป็นโรคนี้

การติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งอาละวาดโจมตีอวัยวะหลายอย่างในร่างกายของคนเรา อาจทำให้โรคนี้พลันผุดขึ้นมาก็เป็นได้

ผมหยิบเรื่องนี้มาเล่าสู่กันฟังเพราะก่อนหน้านี้ เรามักได้รับคำบอกว่า เด็กๆ เมื่อได้รับเชื้อโควิด-19 แล้วมักไม่เป็นอะไรมาก

แต่ถึงตอนนี้ต้องระวังเด็กกันมากขึ้น เพราะไม่ได้เป็นอย่างนั้นแล้ว ทั้งยังเป็นเรื่องที่ถึงแก่ชีวิตได้ และที่สำคัญก็คือ เด็กๆ จะเจ็บปวดทรมานมาก กินก็ลำบากครับ

ทำให้เรามีเหตุผลที่ต้องเอาชนะโควิด-19 ให้ได้เพิ่มขึ้นมาอีกข้อหนึ่งแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image