เดินหน้าชน : สุกี้ ชาบู โดย เสกสรรค์ กิตติทวีสิน

มาตรการคลายล็อก 6 กิจการและกิจกรรมของศูนย์โควิด-19 หรือ ศบค. จะเริ่มในวันที่ 3 พฤษภาคม 2563 คนให้ความสนใจกันมาก เรื่องเข้าร้านกินชาบูกับสุกี้ เมื่อนักข่าวสอบถาม กลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ถึงเรื่องมาตรการผ่อนปรนกลุ่มร้านอาหาร ได้ให้คำตอบว่า คำสั่งประกาศได้คลายให้ร้านอาหารทั่วไป ไม่เกิน 2 คูหา ร้านอาหารใหญ่ยังไม่เปิด ต้องรอเฟสถัดไป ร้านอาหารที่ติดแอร์ก็ต้องติดเครื่องดูดอากาศออก

แล้วร้านอาหารประเภทสุกี้ ชาบู เปิดได้หรือไม่

ได้คำตอบว่า “เปิดได้ แต่ต้องนั่งห่างๆ หรือกินคนเดียว และต้องแยกหม้อ หากไปเป็นครอบครัวก็ต้องนั่งแยกกัน”

นักข่าวถามอีก “คนที่ไปครอบครัวเดียวกัน จะนั่งกินอาหารโต๊ะเดียวกันได้หรือไม่” คำตอบคือ “จะต้องทิ้งระยะห่าง 1 เมตร ตามกติกา แต่ถ้าเป็นไปได้ให้ซื้อกลับไปกินที่บ้านในช่วงนี้”

Advertisement

สำหรับคนที่เคยรวมกลุ่มเพื่อนหรือจะเป็นครอบครัว จะมีบรรยากาศเข้านั่งกินร้านชาบู ประเภทคีบเนื้อลงจุ่มน้ำซุปที่ร้อนปุดๆ เพียงแป๊บๆ ก่อนยกขึ้นใส่ถ้วยน้ำจิ้มแล้วเอาเข้าปาก จะได้รสชาติความอร่อยของเนื้อ ส่วนหม้อสุกี้ ทุกคนช่วยกันปรุง คนหนึ่งตอกไข่ อีกคนเทเนื้อลง มีทั้งช่วยกันเด็ดผักใส่ลงหม้อ ปิดฝารอเดือดทีเดียวแล้วคีบกินพร้อมกัน ดังนั้น หากต้องเสียเงินเข้าไปกินชาบูหรือสุกี้ ให้นั่งได้คนเดียวหรือนั่งลวกกันคนละหม้อห่างกัน 1 เมตร คงไม่ตอบโจทย์ ยกเว้นพวกที่ชอบนั่งกิน
คนเดียว

ในช่วงโควิด-19 กำลังระบาด การใช้มาตรการให้คนอยู่ในบ้าน แม้จะมีข้อแนะนำเรื่องการเว้นระยะห่างทางสังคม แต่คนอยู่ในบ้านเดียวกัน ยังไงก็ต้องเจอหน้ากัน ทำกิจกรรมร่วมกันและกินข้าวโต๊ะเดียวกันอยู่แล้ว บนความเข้าใจถึงการป้องกันดูแลสุขภาพอย่างดี ยิ่งท่ามกลางโควิด ได้มีโปรโมชั่นบรรดาร้านประเภทสไตล์นี้ ใช้ฟู้ดออนไลน์ส่งตรงถึงบ้าน บางเจ้ามีหม้อต้มชาบูกับสุกี้ด้วย เมื่อกินที่บ้านก็ต้องล้อมวงกินกันเหมือนเดิม และน่าจะมีความปลอดภัยมากกว่า ประเด็นความเสี่ยงติดเชื้อจากปัจจัยอื่นก็ลดน้อยลงไป

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข อธิบายไว้เป็นเหตุเป็นผลอย่างมากว่า วิธีการติดเชื้อไวรัสมี 2 เส้นทาง คือ 1.ผู้ที่มีเชื้อไวรัส เมื่อไอ จาม สารคัดหลั่งออกมาสู่ผู้อื่นจะติดเชื้อได้ จึงต้องสวมใส่หน้ากากอนามัย 2.ผู้ที่มีเชื้อไวรัส อาจจะมีสารคัดหลั่งติดอยู่ที่ฝ่ามือ เมื่อไปจับสิ่งของหรือสิ่งสัมผัสร่วม แล้วมีผู้อื่นมาสัมผัสต่อโดยไม่ได้ระวัง ก็จะเป็นการรับเชื้ออีกทางหนึ่ง

Advertisement

หมอศุภกิจบอกอีกว่า “หากประชาชนป้องกันตัวเอง ไม่นำมือมาสัมผัสปาก จมูก ก็ไม่มีวันติดเชื้อได้ อยากให้ทุกคนกลับมาดูว่าเส้นทางการติดเชื้อจากคนหนึ่งไปสู่คนหนึ่งจะเกิดขึ้นได้อย่างไร แล้วเราจะป้องกันอย่างไร ตรรกะง่ายๆ ดังนั้น เมื่อมีการผ่อนปรน การเข้าไปกินอาหารในร้านสุกี้ 1 โต๊ะ และอยู่คนละฝั่งกัน อาหารที่กินก็ต้มสุกแล้ว แยกกินถ้วยใครถ้วยมัน อย่าไปใช้อุปกรณ์ร่วมกัน โอกาสติดเชื้อก็ใกล้ๆ เป็นศูนย์ นี่คือตัวอย่างการจัดการให้เกิดความปลอดภัย”

ส่วนการตั้งวงกินกันนั้น ทาง นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค อธิบายว่า “ขึ้นอยู่กับว่าไปรับประทานกับใคร เช่น เป็นคนในครอบครัวที่เดิมทีก็รับประทานอาหารร่วมบ้านกันอยู่แล้ว การนั่งโต๊ะรับประทานอาหารนอกบ้าน ก็ไม่ได้เสี่ยงมากกว่าเดิม แต่อาจจะเสี่ยงเพิ่มเติม คือ พนักงานที่เสิร์ฟ ผู้ที่นั่งอยู่โต๊ะข้างๆ จึงต้องกำหนดให้มีการจัดโต๊ะนั่งให้ห่างกัน พนักงานเสิร์ฟจะต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา แยกอุปกรณ์ในการรับประทาน”

นพ.โสภณยังกล่าวแนะให้กับทางร้านได้เตรียมพร้อมด้วยว่า เว้นระยะห่างของโต๊ะ แต่ละโต๊ะจัดให้มีการนั่งอย่างเหมาะสม และให้อากาศถ่ายเทสะดวก กรณีไม่มีแอร์ แต่มีพัดลมดูดออกนอกร้าน ต่อมาเป็นการจัดเวลาให้เหลื่อมกัน ใครยอมกินในเวลาที่ไม่ตรงมื้ออาหาร ได้รับส่วนลด 10% เพื่อไม่ให้เกิดความแออัดในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง

เป็นอีกทางออกหนึ่งที่ร้านเหล่านี้ก็ยังเปิดได้ แม้จะยังไม่เข้าที่เข้าทางมากนักก็ตาม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image