เดินหน้าชน : โควิด-ค้อน-ระบำ : โดย สราวุฒิ สิงห์เอี่ยม

เดินหน้าชน : โควิด-ค้อน-ระบำ : โดย สราวุฒิ สิงห์เอี่ยม

เดินหน้าชน : โควิด-ค้อน-ระบำ : โดย สราวุฒิ สิงห์เอี่ยม

ภาวะวิกฤตโควิดทั่วโลกในขณะนี้ แม้หลายประเทศยังหนักหนาอยู่ แต่ก็มีบางประเทศ อย่างจีน ต้นตอการแพร่ระบาดก็เริ่มเอาอยู่แล้ว

รวมทั้งไทยที่ดูจะตั้งหลักรับมือได้ดีขึ้น ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลง ขณะที่ผู้ป่วยที่รักษาหายแล้วเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

ดังนั้น ต้องเริ่มผ่อนคลายกฎเหล็กต่างๆ ลงมาบ้าง

Advertisement

ทั้งนี้ เชื้อไวรัสพันธุ์ใหม่ ที่ติดต่อกันง่ายและยังไม่มียารักษาโดยตรงนี้ ไม่เพียงจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพและชีวิตเท่านั้น แต่ยังกระทบไปยังภาวะเศรษฐกิจและสังคม เป็นวงกว้างและลึก

การรับมือกับเชื้อโควิด-19 ภาครัฐต้องชั่งน้ำหนัก 3 ด้าน ทั้งสาธารณสุข-เศรษฐกิจ-สังคม ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์

ทั้ง 3 ด้านนี้มีเส้นด้ายที่มองไม่เห็นยึดโยงถึงกัน ผลจากด้านใดด้านหนึ่งจะกระทบชิ่งไปยังด้านอื่นๆ

Advertisement

แน่นอนว่า สถานการณ์เบื้องแรกจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ต้องยึดเอาด้านสาธารณสุขเป็นปราการด่านแรกในการรับมือ เพื่อไม่ให้ไวรัสโควิด-19 แพร่กระจายเป็นวงกว้าง เพราะหากทัพหน้าเอาไม่อยู่ กำลังพลและทรัพยากรทางการแพทย์ จะมีไม่เพียงพอในการรับศึกได้

อย่างที่เห็นในบางประเทศ ที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก จนนักรบชุดขาวรับมือไม่ทัน จำเป็นต้องตัดสินใจที่ยากลำบากว่าจะเลือกรักษาคนไหน และต้องปล่อยให้ใครเสียชีวิต เป็นเรื่องที่สลดหดหู่ยิ่งนัก จึงจำเป็นต้องให้น้ำหนักไปยังด้านสาธารณสุขที่เป็นด่านแรกอย่างเต็มที่

แต่กระนั้น กฎเหล็กและมาตรการที่เข้มงวดเพื่อไม่ให้ปราการด่านแรกพัง ก็ต้องแลกมาด้วยความเสียหายที่มีต่อด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างมากมายมหาศาล

ไม่ว่าจะเป็นการหยุดกิจการธุรกิจต่างๆ ที่มีการสัมผัสใกล้ชิดกัน ลดการเดินทางเคลื่อนย้าย และอื่นๆ ที่ทำให้ระบบเศรษฐกิจหยุดชะงัก

คนจำนวนมากต้องตกงาน หรือถูกพักงาน รายได้หดหายมีไม่พอใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ส่งผลชิ่งต่อไปยังด้านสังคม ที่มีบางคนหาทางออกไม่ได้ ต้องอัตวินิบาตกรรม

การมุ่งแต่ใช้กฎเหล็กด้านสาธารณสุข เพื่อหวังกำราบไวรัสโควิดให้อยู่หมัดก่อน โดยละเลยด้านเศรษฐกิจและสังคม ผลสรุปในตอนท้ายอาจเลวร้ายไม่ต่างกัน

ดังนั้น เมื่อกฎเหล็กด้านสาธารณสุขได้ผลระดับหนึ่งแล้ว ก็ต้องไปเพิ่มน้ำหนักด้านเศรษฐกิจและสังคมมากขึ้น

3 พฤษภาคมที่ผ่านมา เริ่มทยอยให้เปิดธุรกิจและกิจกรรมบางประเภท รวมถึงการเปิดให้จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ก็พอจะช่วยผ่อนคลายอารมณ์และความรู้สึกตึงเครียดลงได้บ้าง

แล้วหวังว่าจะได้เห็นธุรกิจอื่นๆ กลับมาเปิดได้มากขึ้นในเร็ววัน

ส่วนเคอร์ฟิว ก็ควรลดเวลาห้ามออกจากเคหสถานจาก 4 ทุ่มถึงตี 4 ของอีกวัน ไปเริ่มเที่ยงคืนถึงตี 4 เพื่อให้ประชาชนมีเวลาที่จะทำมาหากินเพิ่มขึ้นอีกหน่อยก็น่าจะดี

ตามทฤษฎี “ทุบด้วยค้อนแล้วให้ฟ้อนรำ” ที่ นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล บอกไว้

เมื่อถูกทุบด้วยค้อนมาน่วมพอสมควร และผลก็เห็นเป็นที่น่าพอใจระดับหนึ่งแล้ว ก็ควรให้เริงระบำกันเล็กๆ น้อยๆ บ้าง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image