สถานีคิดเลขที่ 12 : วันที่ 6 พฤษภาคม 2563 : กลัดกลุ้ม

สถานีคิดเลขที่ 12 : วันที่ 6 พฤษภาคม 2563 : กลัดกลุ้ม

สถานีคิดเลขที่ 12 : วันที่ 6 พฤษภาคม 2563 : กลัดกลุ้ม

ระหว่างที่เราๆ ท่านๆ อ่านข่าวชาวบ้านหลายชีวิตเดือดร้อนเรื่องปากท้องจากผลกระทบของสถานการณ์โควิด-19 ออกอาการต่างๆ กัน ทั้งร้องไห้ ทั้งโกรธแค้นทั้งเศร้าซึม บ้างถึงขั้นจบชีวิตไปเอง ก็มีข้าราชการและสมาชิกพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลบอกว่า นี่แหละมีการเมืองอยู่เบื้องหลัง

คนที่น้ำตาไหลอยู่แล้วได้ยินแบบนี้ อาจไหลพรากกว่าเดิม ไม่ก็หัวเราะไปเลย เพื่อเป็นทางออกของการคลายเครียดอีกรูปแบบหนึ่ง

ถ้าเราไม่มองความเห็นของบรรดาผู้มีอำนาจเป็นเรื่องตลกไปเสียบ้าง อาจจะทำให้เราสุขภาพจิตแย่ตามสถานการณ์ไปด้วย

Advertisement

ที่อังกฤษ และอเมริกา ประเทศใหญ่ในโลกตะวันตกก็มีคนเดือดร้อนและกลุ้มใจอยู่ไม่น้อย ยังดีที่ไม่โดนต่อว่าซ้ำเข้าให้ว่ามีการเมืองอยู่เบื้องหลัง

บีบีซี รายงานผลการสำรวจสุขภาพจิตของคนอังกฤษ อายุ 16 ปีขึ้นไป จัดทำโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า เกือบครึ่งหนึ่ง หรือร้อยละ 49.6 มีอาการ “กลัดกลุ้มอย่างหนัก” ช่วงที่ต้องอยู่ใต้มาตรการล็อกดาวน์

เป็นตัวเลขที่สูงกว่าเมื่อปลายปีก่อนถึงสองเท่า

Advertisement

เหตุผลที่กลุ้มมาก เพราะกังวลเรื่องไม่มีเงินที่จะจ่ายค่าเช่าบ้าน และค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่รออยู่ข้างหน้า ส่วนนี้น่าจะคล้ายๆ กับบ้านเราคือ กังวลเรื่องเศรษฐกิจชีวิตความเป็นอยู่

ด้านสมาคมจิตเวชอเมริกัน ของสหรัฐอเมริกา สำรวจพบตัวเลขใกล้กันว่าราวร้อยละ 48 ของคนอเมริกันก็กลัดกลุ้ม แต่กลุ้มด้วยความกังวลว่าจะติดไวรัสโคโรนา

ยิ่งพอนึกถึงว่าคนในครอบครัว หรือบุคคลอันเป็นที่รักจะป่วยโรคโควิด-19 ไปด้วยเปอร์เซ็นต์ยิ่งสูงเป็นร้อยละ 62

ผลสำรวจนี้สอดคล้องกับที่ชาวอเมริกันติดเชื้อและเสียชีวิต เพราะโควิด-19 สูงสุดในโลก ซึ่งไปๆ มาๆ โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ บอกว่ายอดตายอาจถึง 100,000 รายในที่สุด จากตอนนี้ช่วงต้นเดือนพฤษภาฯ ก็ 7 หมื่นชีวิตเข้าไปแล้ว

หันมาดูประเทศไทย การควบคุมการระบาดของโรคดูจะน่าประทับใจในระดับโลก เพราะคนติดเชื้อน้อยและยอดผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ยังน้อยอยู่ แต่ที่ยังเป็นปัญหาตามที่ทุกคนรู้คือ ความยากลำบากในการดำรงชีวิต และความหวังในอนาคต

ใครที่มีต้นทุนเดิมอยู่สูงก็อยู่รอดได้สูง ใครเป็นข้าราชการมีเงินเดือนและสวัสดิการก็ยังพอไปได้ แต่ใครที่ไม่มีต้นทุนเลย หรือติดลบอยู่ ย่อมลำบากสาหัส

กลุ่มนักวิชาการโครงการ “คนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง” ชี้ว่าความเหลื่อมล้ำทำให้คนยากจนทุกข์ยากมากขึ้น และต้องหาทางออกด้วยการฆ่าตัวตาย

ส่วนกรมสุขภาพจิตคาดการณ์ว่าในปี 2563 ตัวเลขการฆ่าตัวตายในประเทศไทยอาจสูงมากขึ้นกว่าค่าเฉลี่ยในทุกปี ตามกลไกทางจิตวิทยาสังคมที่อยู่ในภาวะวิกฤต

อย่างที่นักจิตวิทยาระบุว่า เมื่อมองย้อนไปช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540-2541 จำนวนคนฆ่าตัวตายสูงขึ้นชัดเจน คิดเป็น 8.3 คน ต่อประชากร 1 แสนคน

เพียงแต่ตอนนั้นไม่มีใครบอกว่าคนฆ่าตัวตายสูง เพราะมีการเมืองอยู่เบื้องหลัง

คงเพราะตอนนั้นความเหลื่อมล้ำทางความคิด และจิตใจยังไม่แรงเท่ากับตอนนี้

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image