The Next Normal ภูมิคุ้มกันของสังคมไทยในอนาคต : โดย ธงชัย สมบูรณ์

The Next Normal ภูมิคุ้มกันของสังคมไทยในอนาคต : โดย ธงชัย สมบูรณ์

The Next Normal ภูมิคุ้มกันของสังคมไทยในอนาคต : โดย ธงชัย สมบูรณ์

การเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกทำให้เกิดมิติของการพัฒนาให้แก่มนุษยชาติในทุกประเทศโดยรวมสิ่งที่เกิดขึ้นดังกล่าวส่งผลทำให้สังคมไทยมีการเปลี่ยนแปลงไปด้วย ในอดีตสังคมไทยได้รับการยกย่องจากชาวต่างชาติในเรื่องความมีวัฒนธรรมที่ดีงามมีความเป็นมนุษยธรรมสูง

จากสถานการณ์ความผันผวนของโลกาภิวัตน์ทำให้สังคมไทยมีลักษณะสังคมสภาพไม่ปกติ (Abnormal society) และกลายเป็นสังคมดิ้นรน (Scrabble society) ในทุกๆ ด้านมากขึ้น

The Next Normal และวาทกรรมกระบวนทัศน์

Advertisement

กระบวนทัศน์เป็นวาทกรรมอีกชุดหนึ่งของข้อความรู้ที่โทมัส คุนท์ (Thomas Kuhn) ผลิตขึ้นมาใช้ในหนังสือ The Structure of Scientific Revolution ปี ค.ศ.962 ใช้แทนคำว่าการเปลี่ยนแปลงโดยเนื้อความจะหมายถึงชุดกรอบฐานคิด รูปแบบและแนวทางการศึกษาตามแบบวิธีการวิทยาศาสตร์ซึ่งหนังสือเล่มนี้ส่งผ่านข้อความรู้เชิงการเปลี่ยนแปลงด้านประวัติศาสตร์ ปรัชญา สังคมวิทยาและวิทยาศาสตร์ความรู้ การเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกในแต่ละยุคแตกต่างกันทั้งนี้มาจากการผลิตชุดฐานคิดมนุษยชาติ (The Production of Thinking) ผู้เขียนขอแบ่งกระบวนทัศน์การเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกดังนี้

1.ยุคโบราณ แนวคิดเชิงปรัชญาลัทธิต่างๆ ที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรม (Actions) ของมนุษยชาติล้วนมาจากความเชื่อในพระเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธ์ที่เป็นผู้กำหนดชะตากรรมให้ดำเนินวิถีชีวิตแบบนั้น ฉะนั้นการเซ่นสรวงต่อเทพเจ้าจึงเป็นการ “ติดสินบนต่อเจ้าพนักงาน” มาตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบันถือได้ว่าเป็นการสมยอมอย่างไม่มีเหตุผล

2.ยุควิทยาศาสตร์นิยม ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งที่ยิ่งใหญ่ของสังคมโลก อาจกล่าวได้ว่าวิทยาศาสตร์คือชุดข้อความรู้ที่แท้จริงที่สามารถนำมาพิสูจน์เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีระบบและมีกระบวนการ ทุกอย่างที่เกิดขึ้นนั้นไม่ได้มีลักษณะแบบบังเอิญแต่มีเป็นไปที่สาเหตุและผลตามมา

Advertisement

ด้วยเหตุนี้การค้นพบสิ่งใหม่ทำให้เกิด “ภูมิคุ้มกัน” ทางสังคมของมนุษย์มากขึ้นในทางกลับกันความเจริญทางด้านวิทยาศาสตร์นิยมกลับทำให้จิตใจของมนุษย์ผุกร่อนมากยิ่งขึ้น ยุคนี้มีการทดลองและทดสอบมากมายโดยบางครั้งถึงกับใช้ชีวิตมนุษย์เป็นเดิมพันเพื่อการทดลองเพื่อการค้นพบมนุษย์กลายเป็นทาสของวิทยาศาสตร์อย่างไม่รู้ตัว ผลของวิทยาศาสตร์นิยมทำให้เกิดวาทกรรมการแบ่งขั้วของสังคมอย่างชัดเจนเกิดบริบทที่เรียกตนเองว่ากลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วและมองกลุ่มประเทศอื่นที่ไม่เหมือนตนว่ากลุ่มด้อยพัฒนาจากการแบ่งขั้วดังกล่าวส่งผลต่อการย่ำยีและการเอาเปรียบซึ่งกันและกันในที่สุด

3.ยุคพลังสงคราม ถึงแม้ว่าสังคมของมนุษยชาติจะเกิดสภาพสงครามตลอดเวลา แต่ภาพที่เป็นจริงสงครามโลกทั้งครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 นั้นเป็นสงครามที่มีความรุนแรงและส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ที่สุด เมื่อสิ้นสุดสงครามกระบวนทัศน์ของวาทกรรมชุดการส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างชาติจึงเกิดขึ้นในปริมณฑลข้อความรู้ที่ว่า “ในสงครามไม่มีผู้ที่ชนะอย่างแท้จริง สงครามสร้างความหายนะให้มวลหมู่มนุษยชาติโดยรวม”

ผลที่ตามมา จึงเกิดองค์กรสหประชาชาติ (United Nations) เพื่อสร้างสันติภาพให้กับมนุษยชาติโดยรวม

4.ยุคพัฒนาประชาคมโลกทุกมิติ เป็นยุคที่มนุษยชาติหันมาปรับรื้อโครงสร้าง (Deconstruct) กรอบฐานคิดและมุมมองแบบใหม่ การพัฒนาแบบยั่งยืน (Sustainability) และสังคมความสุขมวลรวม (Green and Happiness society) กลายเป็นวาทกรรมที่มีความสำคัญมากขึ้น การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ทั้งด้านการรู้หนังสือการปราศจากโรคภัยและการกินดีอยู่ดีจึงเป็นวาระแห่งชาติที่ทุกรัฐชาติให้การตระหนักมากขึ้น

5.ยุคพลังสร้างสรรค์เทคโนโลยี หลังจากยุคพลังสงครามทำให้มนุษย์เริ่มเข้าใจว่าเทคโนโลยีมีบทบาททั้งทางตรงและทางอ้อมมากขึ้นกับการดำเนินชีวิตและช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ได้ดียิ่งขึ้นในยุคนี้จึงมีการผลิตเทคโนโลยีและความรู้ชุดต่างๆ เพื่อการพัฒนาทั้งความรู้ทางด้านการแพทย์และสาธารณสุข การค้นพบยาปฏิชีวนะที่สามารถยืดและช่วยชีวิตของมนุษยชาติให้ยาวขึ้น การติดต่อสื่อสารและการคมนาคมมีการใช้ระยะเวลาที่สั้นลง เทคโนโลยีสารสนเทศและคอมพิวเตอร์กลายเป็นปัจจัยสำคัญพื้นฐานในการใช้ชีวิตของผู้คน

ในยุคนี้มีคำต่างๆ เกิดขึ้นมากมายเช่น สังคมข้อมูลความรู้ สังคมดิจิทัล เป็นต้น

ภูมิคุ้มกันของสังคมไทยกับ The Next Normal

ภูมิคุ้มกันทางสังคมถือว่าเป็นเรื่องท้าทายมากกับสภาพของรัฐชาติที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ ฉะนั้นทุกคนต้องหันมาไตร่ตรองเชิงวิเคราะห์ให้มากขึ้นเพื่อให้สังคมไทยสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมีความสุขและไม่เกิดสภาพชะงักงันแต่อย่างใดซึ่งสามารถทำได้ดังนี้

1.ด้านสังคมวัฒนธรรม คนไทยมีแนวโน้มของการใช้พฤติกรรมเสี่ยงมากขึ้นขาดความมีวินัยและใส่ใจในภาพรวมของสังคมมีปัญหาด้านคุณภาพเกือบทุกช่วงวัย ยิ่งไปกว่านั้นสิ่งที่เป็นข้อมูลเชิงประจักษ์คือขาดการพินิจพิเคราะห์สถานการณ์ต่างๆ ทางสังคมที่เกิดขึ้นมีความเปราะบางอ่อนไหวในการเลือกใช้ชีวิตซึ่งส่งผลทำให้พฤติกรรมในการใช้ชีวิตประจำวันไม่มีคุณภาพที่ดีเท่าที่ควร ด้วยเหตุนี้ภูมิคุ้มกันของสังคมทางด้านนี้คือต้องถูกปลูกฝังจากสถาบันครอบครัวและสถาบันการศึกษาเป็นหลักรัฐจะต้องไม่เพิกเฉยกับครอบครัวในทุกระดับที่ผ่านดูเหมือนว่ารัฐ “ยังเข้าไม่ถึง” กับคำว่าครอบครัวแบบไทยแท้ การส่งมอบความศักดิ์สิทธิ์ยังอยู่ในกลุ่มครอบครัวที่มีอำนาจทางสังคมรวมทั้งครอบครัวที่มีชื่อเสียง

ส่วนครอบครัวเกษตรกรหรือชนชั้นกลางที่เป็นมวลสารส่วนใหญ่ของประชากรประเทศยังไม่ได้รับ “คุณค่า” เท่าที่ควร ภูมิคุ้มกันที่จะเกิดขึ้นนั้นควรอยู่ในกระบวนทัศน์ทั้งสี่ขอบเขตหลักคือ ความพอเพียง ความมีระเบียบวินัยและคุณธรรม จิตสาธารณะและความรับผิดชอบที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทำให้เกิดขึ้นให้เป็นรูปธรรมทั้งในสถาบันศึกษาและสถาบันทางสังคมอื่นๆ ด้วย

2.ด้านการศึกษา ปรากฏการณ์ New Normal นี้ส่งผลต่อการจัดการเรียนรู้ให้กับผู้เรียนในทุกระบบและทุกระดับ สถานศึกษาบางแห่งได้นำวิกฤตที่เกิดขึ้นสร้างโอกาสให้กับตนเอง การจัดการเรียนรู้ภายใต้วาทกรรม Learn from Home โดยการใช้ปฏิสังสรรค์ระหว่างผู้สอนกับผู้เรียนจึงขึ้นอยู่กับระบบออนไลน์เป็นสำคัญ

อย่างไรก็ตาม หากไตร่ตรองพิจารณาให้รอบคอบแล้วการเรียนการสอนแบบนี้คงเหมือนลักษณะ “การรับประทานอาหารตอนกลางคืนแต่ลืมเปิดไฟ” ผู้รับประทานรับรู้รสชาติของอาหารแต่ขาดอรรถรสของการรับประทาน ซึ่งดูไม่แตกต่างกับบรรยากาศในการจัดการเรียนรู้ในสถานการณ์ปัจจุบันแต่อย่างใดทั้งสิ้น การสร้างภูมิคุ้มกันที่เป็นทางออกในการจัดการศึกษาของรัฐชาตินั้นควรมีระบบการเข้าถึงช่องสัญญาณสื่อสารที่สะดวกสบายและที่สำคัญรัฐชาติต้องลงทุนการศึกษาทางด้านเทคโนโลยีเพื่อช่วยการเรียนรู้มากกว่านำงบประมาณไปใช้ในการป้องกันประเทศกับอาวุธที่ไม่สมควรจัดซื้อ

ยิ่งไปกว่านั้นสถาบันการศึกษาทุกที่ต้องช่วยกันพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาให้มีคุณลักษณะเป็น “ผู้คล่องแคล่วทางการจัดการเรียนรู้” ก็จะไม่ทำให้เกิดภูมิคุ้มกันที่บกพร่องทางการศึกษาได้

3.ด้านสาธารณสุข กระบวนทัศน์ในสังคมยุค The Next Normal ผู้นำรัฐชาติจะต้องเป็นผู้ “ตื่นรู้ ตื่นตระหนักและตื่นรับผิดชอบ” กล่าวคือต้องรู้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของพยาธิวิทยาและโรคภัยที่เกิดขึ้นทั้งที่เกิดจากสภาพทางชีวภาพและกายภาพของสังคม การตื่นตระหนักในข้อมูลข่าวสารหรือการป้องกันและการรักษาสุขสภาวะที่ดีทั้งของตนเองและส่วนรวม การตื่นรับผิดชอบคือความรู้สึกนึกคิดถึงผลดีที่จะตามมาตัวอย่างเช่น ข้อแนะนำของบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวกับสภาวะอนามัยต่างๆหากผู้คนในรัฐชาติปฏิบัติตนเองให้เป็นผู้ตื่นรับผิดชอบในตนเองก่อนเท่ากับเป็นผู้รับผิดชอบประเทศชาติโดยรวม

4.ด้านเศรษฐกิจ สังคมต้องช่วยกันปลูกฝังเรื่องการใช้จ่ายเบื้องต้นของผู้คน สร้างวิธีคิดที่อยู่บนหลัก อะไรบ้างที่จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในครอบครัวลงได้ สร้างฐานเศรษฐกิจพอเพียงให้เป็นเสาเข็มที่มั่นคงของทุกครอบครัว

อนึ่ง การทำงานของภาครัฐต้องมองว่า การกู้ยืมเงินทุนจากต่างประเทศมาใช้แก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้นมิใช่การสร้างคะแนนนิยม หากเป็นการสร้างกรรมร่วมที่ยาวนาน

การกู้ยืมเงินทางด้านเศรษฐศาสตร์เป็นการลงทุนมิใช่ “การเยียวยา” แต่อย่างใด การกู้เงินจากต่างประเทศให้น้อยที่สุด แต่นี้หากมีความจำเป็นนั้นจะต้องเป็นการกู้มาเพื่อการพัฒนาที่แท้จริงเท่านั้นก็จะไม่มีคำถามที่ตามมาว่า “อีกกี่ร้อยปีหนี้สินของรัฐชาติจะหมดไป?” รัฐชาติต้องช่วยกันคิดถึงบทบาทของผู้นำที่สร้างหนี้สินหรือสร้างทรัพย์สินให้มากขึ้น

ทั้งนี้ การรื้อฟื้นหรือการคงอยู่ทางด้านเศรษฐกิจ (Economic persistence) จะต้องพิจารณาถึงการออมของผู้คนด้วย การคงอยู่ที่ดีที่สุดทางด้านเศรษฐกิจคือความสามารถในสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าตนเองให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

5.ด้านการเมือง ในสังคมแบบปกติข้างหน้านั้นการเมืองต้องถูกลอกคราบจากวาทกรรมที่ว่าการเมืองเป็นเรื่องผลประโยชน์ นักการเมืองทุกระดับตั้งแต่ระดับท้องถิ่นจนถึงระดับประเทศต้องหันมาสนใจในวาทกรรมใหม่ที่ว่า “การเมืองเป็นเรื่องการรักษาผลประโยชน์ของชาติ”

ฉะนั้น ผู้ที่ก้าวเข้ามาเป็นตัวแทนของประชาชนต้องถามตนเองก่อนว่ามีสามัญสำนึกทางการเมือง (Political consciousness) มากน้อยเพียงใดหรือเป็นบุคคลที่ถึงพร้อมด้วยจริตเพื่อส่วนรวมหรือเพื่อส่วนตนเองก็จะทำให้รูปแบบการบริหารจัดการทางด้านการเมืองเข้าถึงความจริงสูงสุดของคำว่า การเมืองคือแก่นแกนของประชาชนมิใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง

อนึ่ง นักการเมืองในสังคม The Next Normal นั้น ต้องเคารพการกระทำที่เหมาะสมของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งและที่สำคัญอย่าทำร้ายกันด้วยระบบอาวุโสเป็นเด็ดขาด

ข้อคิดเชิงไตร่ตรองของบทสรุป

ถึงแม้ว่าสังคมไทยจะได้มีการปรับเปลี่ยนไปตามครรลองที่ควรจะเป็น แต่สิ่งสำคัญคือทุกคนในรัฐชาติจะต้องหันมาพินิจคิดไตร่ตรองให้รอบคอบว่าการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขและเป็นปกติสุขนั้นเป็นความจริงสูงสุดของสังคมไทยตั้งแต่อดีตไปจนถึงอนาคต และที่สำคัญหากมีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นคนไทยในรัฐชาติห้ามหยิบยื่นความเป็นอื่นให้แก่กันเป็นเด็ดขาด

เพียงแค่นี้สังคมไทยก็จะได้รับการอิจฉาจากสังคมโลกอย่างแน่นอน

ธงชัย สมบูรณ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image