เดินหน้าชน : ทรงผมนร.-วิทยฐานะครู โดย นายด่าน

ช่วง 2 สัปดาห์ก่อนมีสองเรื่องใหญ่ที่เกิดขึ้นในแวดวงการศึกษา เป็นความเปลี่ยนแปลงในรอบหลาย 10 ปี

ทั้ง 2 เรื่องเกี่ยวข้องโดยตรงกับนักเรียนและครูทั่วประเทศ

เริ่มจากเรื่องแรก “ทรงผมนักเรียน” ที่ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ.2563

สาระสำคัญของประกาศ ระบุว่า เป็นการกำหนดข้อปฏิบัติและข้อห้ามปฏิบัติในการไว้ทรงผมของนักเรียนเพื่อให้เกิดความชัดเจนในการดำเนินการของสถานศึกษา

Advertisement

มีความเหมาะสมกับสภาวการณ์ปัจจุบันและการปฏิบัติตนของนักเรียนเป็นไปด้วยความถูกต้อง รวมทั้งเป็นการคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

โดยในข้อ 4(1) ของระเบียบ นักเรียนชายจะไว้ผมยาวหรือผมสั้นก็ได้ กรณีไว้ผมยาวด้านหลังต้องยาวไม่เลยตีนผมด้านหน้าและกลางศีรษะให้เป็นไปตามความเหมาะสมและเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

(2) นักเรียนหญิงจะไว้ผมสั้นหรือผมยาวก็ได้ กรณีไว้ผมยาวให้เป็นไปตามความเหมาะสมและต้องรวบให้เรียบร้อย

การออกระเบียบทรงผมนักเรียน ปี’63 ในมุมของเด็กนักเรียนถือว่ามีความสำคัญกับสิ่งที่พวกเขาได้ต่อสู้เรียกร้องกันมานานในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา

การอนุญาตให้นักเรียนไว้ผมสั้นผมยาวได้จึงเป็นการคลายล็อกทรงผมนักเรียนได้ระดับหนึ่งเท่านั้น

เพราะระเบียบข้อ 6 ยังให้ขึ้นอยู่กับ “การพิจารณาอนุญาตของผู้อำนวยการสถานศึกษา”

ทั้งหมดจึงอยู่ที่สถานศึกษาแต่ละแห่งว่าจะคลายล็อกทรงผมตามระเบียบฉบับนี้มากแค่ไหน

สิ่งที่น่าห่วงหากสถานศึกษาตึงเป๊ะเกินไปไม่ผ่อนสั้นผ่อนยาว ก็จะเกิดข้อขัดแข้งระหว่างนักเรียนกับโรงเรียน จนกลายเป็นข้อพิพาทที่เคยมีมาในอดีต เช่น ครูทำโทษนักเรียนจนถูกร้องเรียนว่าไม่ปฏิบัติตามระเบียบ ศธ.

ตรงกันข้ามหากโรงเรียนปล่อยมากเกินไปก็จะถูกตั้งคำถามถึงความพอเหมาะพอควรในวัยเรียน

อีกสิ่งหนึ่งที่จะกลายเป็นปัญหาคือแต่ละโรงเรียนอาจมีแนวปฏิบัติที่แตกต่างกัน บางโรงเรียนให้ไว้ยาวได้ บางโรงเรียนให้ไว้สั้น ไว้ผมเกรียนตามเดิม

กรณีนี้สมัย นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา เป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ. ช่วงปี 2556 เคยออกแนวปฏิบัติแจ้งไปยังโรงเรียนทั่วประเทศ

เนื่องจากโรงเรียนเข้าใจแนวปฏิบัติเรื่องทรงผมที่แตกต่างกัน จนเกิดปัญหานักเรียนร้องเรียนว่าไม่ยึดตามแนวปฏิบัติของ ศธ.

สรุปแล้วเรื่องทรงผมนักเรียนจึงต้องพอเหมาะพอควรไม่มากจนเกินความพอดีในวัยเรียน

ส่วนเรื่องที่สอง นับเป็นข่าวดีกับครูในเรื่องการประเมินวิทยฐานะรูปแบบใหม่ ที่อยู่ระหว่างการศึกษารูปแบบจนใกล้ได้ข้อสรุป

โดยแนวทางการประเมินตามที่ นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ระบุ จะเน้นการประเมินในรูปแบบที่เน้นคุณภาพของเด็ก เดิมครูจะต้องมีการประเมินหลายอย่าง

ทั้งการประเมินเพื่อผ่านการทดลองงาน การประเมินเพื่อเลื่อนขั้นเงินเดือน และการประเมินเพื่อขอมีและเลื่อนวิทยฐานะ

จะทำอย่างไรให้เหลือการประเมินเพียงรูปแบบเดียว เพื่อช่วยลดภาระงานของครูลง ไม่ให้ครูต้องทำงานเอกสาร และให้การประเมินสะท้อนคุณภาพผู้เรียนอย่างแท้จริง

การปรับปรุงการประเมินวิทยฐานะของครูนับว่ามีความสำคัญต่อความก้าวหน้าในวิชาชีพของครู

เพราะนับตั้งแต่เข้าสู่ยุคการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ผ่านมา

มีการมุ่งเน้นคุณภาพของครูผู้สอน ผ่านมาตรฐานการประเมินต่างๆ การประเมินวิทยฐานะเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่จะสร้างภาระงานให้แก่ครูมากมาย โดยเฉพาะงานด้านเอกสาร

แม้ก่อนหน้านี้จะมีการปรับแก้การประเมินโดยเน้นผลสัมฤทธิ์ตัวผู้เรียน การประเมินเชิงปฏิบัติการ ด้วยการลงไปประเมินการเรียนการสอน

แนวทางการประเมินวิทยฐานะใหม่ที่จะออกมาน่าจะได้เริ่มใช้กันภายในปีนี้

สิ่งที่คาดหวังนอกจากการลดภาระงานของครูผู้สอนแล้ว การประเมินควรจะต้องส่งผลให้คุณภาพการเรียนการสอนดีขึ้นด้วย

ทั้งสองเรื่องถือเป็นการเปลี่ยนแปลงทางบวกในด้านการศึกษา

แม้เรื่องทรงผมนักเรียนจะไม่ได้ส่งผลต่อคุณภาพการเรียนการสอน

แต่อย่างน้อยก็เห็นภาพการที่ผู้ใหญ่ยอมรับฟังเสียงสะท้อนจากเด็กๆ มากขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image