สถานีคิดเลขที่ 12 : แทงใจ โดย ชุมฉันท์ ชำนิประศาสน์

สถานีคิดเลขที่ 12 : แทงใจ โดย ชุมฉันท์ ชำนิประศาสน์

สถานีคิดเลขที่ 12 : แทงใจ โดย ชุมฉันท์ ชำนิประศาสน์

หลังจากเกิดกรณีมีคนยิงเลเซอร์ #ตามหาความจริง ตามสถานที่สำคัญไปเมื่อเร็วๆ นี้ก็ยิ่งตอกย้ำว่า เดือนพฤษภาฯ เต็มไปด้วยวาระการรำลึกเหตุการณ์ที่เกี่ยวโยงกับบ้านเมืองมากมายจริงๆ

ไม่เฉพาะเหตุการณ์นองเลือดครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ทางการเมืองอย่าง พฤษภาฯ 35 และพฤษภาฯ 53

เมื่อวันที่ 5 พ.ค. ยังเป็นวันรำลึก จิตร ภูมิศักดิ์ นักคิด นักเขียน ผู้นำอุดมการณ์ประชาธิปไตย และนักต่อสู้ผู้ต่อต้านการปกครองแบบเผด็จการ

Advertisement

ถูกยิงเสียชีวิตไปเมื่อ 54 ปีก่อน บริเวณชายป่าบ้านหนองกุง อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร

เป็นหนึ่งชีวิตที่ทิ้งตำนานในฐานะเหยื่อแห่งความอยุติธรรม และการใช้ความรุนแรงปิดปากคนในสังคมไทย

อย่างไรก็ตาม ผลงานการเขียนของ จิตร ภูมิศักดิ์ ยังเป็นที่ศึกษามาถึงปัจจุบันด้วยความเป็นอมตะในเนื้อหา

Advertisement

ในที่นี้รวมถึง “โฉมหน้าศักดินาไทย” ปี 2500 ผ่านมาถึงปัจจุบัน 2563 อ่านกี่รอบก็ยังตะลึง ไม่ใช่แค่ทึ่งการวิเคราะห์สังคมอย่างถึงแก่นและมีหลักวิชาการ ยังอึ้งที่สภาพสังคมไทยเมื่อ 62-63 ปีก่อนยังสืบทอดมาถึงปัจจุบัน

ดังนั้นน่าจะเป็นงานวิเคราะห์ที่แทงใจฝ่ายขวาสุดขั้วอยู่

ช่วงที่มีชีวิตอยู่ จิตร ภูมิศักดิ์ เคยถูกจับข้อหาสมคบกันกระทำความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายใน และภายนอกราชอาณาจักรและกระทำการเป็นคอมมิวนิสต์

ข้อหาคอมมิวนิสต์ได้ยินตอนนี้แล้วอาจเฉยๆ แต่สมัยอดีตร้ายแรงมาก และอ้างกันได้ง่ายมาก ง่ายถึงขั้นมีพระปลอมๆ พูดตอนยุคล่าแม่มดปี 2519 ว่า ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป

อีกชีวิตของบุคคลสำคัญของประเทศที่พัวพันข้อกล่าวหานี้ด้วย คือ ปรีดี พนมยงค์ แกนนำผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยสู่ระบอบประชาธิปไตย ผู้ก่อตั้งขบวนการเสรีไทย และผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง

เมื่อวันที่ 11 พ.ค.2563 เป็นครบรอบวันคล้ายวันเกิดปีที่ 120 ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี มีการรำลึกประวัติชีวิตและผลงานของอาจารย์ปรีดีมากมาย

ตอนที่ไทยแลนด์เปลี่ยนการปกครองใหม่ๆ อ.ปรีดีเสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจ จนกลุ่มอำนาจฝ่ายอนุรักษนิยมตะลึงงัน และไม่รอช้าที่จะกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์

ครั้งนั้นท่านถูกบีบให้ออกจากประเทศไปเมื่อปี 2476 เป็นครั้งแรก และเมื่อกลับมาสร้างผลงานพัฒนาทางการเมืองที่ยึดประชาชนเป็นใหญ่ จึงถูกบีบให้ต้องออกไปอีกครั้งในปี 2490

โศกนาฏกรรมก็คือท่านไม่ได้กลับมาประเทศบ้านเกิดอีกเลย จนจากโลกไปวันที่ 2 พ.ค. 2526 ที่ประเทศฝรั่งเศส

เป็นวาระรำลึกในเดือนพฤษภาฯ อีกเช่นเดียวกัน

แต่การรำลึกที่มีถี่ตลอดเดือนพฤษภาคมคงไม่ได้ทำให้ทุกคนซาบซึ้งใจหรือสะเทือนใจ ซึ่งเป็นเรื่องปกติของสังคมที่ย่อมมีคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

คนที่ไม่เห็นด้วยมักบอกว่า จะขุดคุ้ยอะไรนักหนา จะรื้อฟื้นทำไม หันมาแก้ปัญหาเศรษฐกิจดีกว่าไหม

แต่คนที่ต้องการรำลึก ให้เหตุผลว่าสังคมไทยควรจะเรียนรู้บทเรียนเลวร้ายเพื่อไม่ให้เกิดขึ้นอีก และสำหรับญาติเหยื่อที่ถูกทำร้ายหรือเอาชีวิต เขาก็ยังรอความยุติธรรมอยู่

ดังนั้น คงไม่ต้องแปลกใจ เมื่อมีฝ่ายหนึ่งยิงเลเซอร์คำว่า #ตามหาความจริง ที่แม้ไม่ได้เป็นอันตรายใดๆ แต่อาจจะทำให้ฝ่ายที่เคยใช้กระสุนจริงรู้สึกเหมือนโดนดาบไลต์เซเบอร์แทงหัวใจก็เป็นได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image