จิตวิวัฒน์ : โควิดกับกูรูทางจิตของโลก : โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย

จิตวิวัฒน์ : โควิด กับ กูรูทางจิตของโลก : โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย

จิตวิวัฒน์ : โควิด กับ กูรูทางจิตของโลก : โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย

เมื่อไม่นานมานี้ มีคลิปที่พระสงฆ์รูปหนึ่งของไทยออกมาเทศนา และยกเอาคำพูดของฆราวาสท่านหนึ่งที่พูดว่า “โควิดคือ ของขวัญ เพราะทำให้เธอมีเวลาที่ได้อยู่กับครอบครัวมากขึ้น” เมื่อคลิปถูกเผยแพร่ออกไปก็มีกระแสตีกลับในทางไม่พอใจของคนจำนวนมาก ซึ่งบางคนอาจจะอ่านเพียงแค่พาดหัวข่าว แต่ไม่ทราบว่านั่นมิใช่เป็นคำพูดของท่านโดยตรง เพียงแต่ยกกรณีศึกษามาเทศน์ญาติโยมในวัดของท่านเอง แต่โลกข้อมูลข่าวสารในปัจจุบัน เป็นที่แน่นอนว่า ไม่ว่าใครก็ไม่อาจจะพ้นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ไปได้

ผมไม่ได้รู้สึกว่าต้องปกป้องพระสงฆ์รูปนั้น เพราะท่านคงปกป้องตัวเองได้ด้วยคุณธรรมของท่านเอง รวมทั้งไม่อยากโทษผู้วิพากษ์วิจารณ์ว่าทำไม่ถูก เพราะผมเห็นด้วยกับการแสดงความคิดเห็นโดยอิสระ ดังนั้นใครจะด่าพระก็เชิญ ใครจะไม่ด่าก็เชิญอีกนั่นแหละ

แต่จากประเด็นร้อนดังกล่าว ทำให้ผมสะดุดใจว่า ในช่วงเวลาวิกฤตที่อาจจะเกิดเพียงครั้งเดียวในชั่วชีวิตนี้ บรรดากูรูทางจิตร่วมสมัยเขาคิดเห็นกันอย่างไร และเราจะเรียนรู้อะไรได้บ้าง จากข้อคิดเห็นหรือคำแนะนำต่างๆ ของพวกเขาได้บ้าง ผมจะเริ่มจากกูรูคนแรกที่ผมติดตามงานของเขามานาน เจ้าของทฤษฎีจตุภาคบูรณาการ (Integral Theory) อันลือลั่น

Advertisement

เคน วิลเบอร์

ผมฟังเทปสัมภาษณ์ล่าสุดของเขา วิลเบอร์ในวัย 71 ปี ดูแก่ไปมาก แต่การพูดจายังคมคาย แสดงให้เห็นพลังทางปัญญาที่ยังคล่องแคล่วว่องไว วิกสีทองทำให้เขาดูคล้ายแอนดี้ วอร์ฮอล์ หน่อยๆ สิ่งที่น่าสนใจในการให้สัมภาษณ์ของเขาก็คือ เรื่องของการเว้นระยะห่างทางสังคม วิลเบอร์บอกว่า โรคนี้สร้างความหวาดกลัวต่อผู้อื่น เพราะเราไม่แน่ใจเลยว่าใครกันที่ติดโรคนี้แล้วบ้าง ซึ่งนำไปสู่ความรุนแรงต่อกัน แต่ในความระมัดระวังตัวดังกล่าว ก็มีข้อดีคือ มันสร้าง “วินัย” (agency) ให้เกิดกับเรา ให้เราได้ตระหนักรู้เรื่องสิทธิและหน้าที่ของเราที่มีต่อผู้อื่น ผมค่อนข้างจะประหลาดใจที่พบว่า วิลเบอร์เน้นพูดเรื่องการมีเมตตา และเห็นอกเห็นใจผู้อื่น เขายกประเด็นที่น่าสนใจว่า ในช่วงเหตุการณ์ที่ไม่ปกตินี้ ผู้คนมีแนวโน้มที่จะตกไปในอารมณ์ความรู้สึกที่เป็นลบ ไม่ว่าจะเป็นการโทษคนอื่น หรือแม้กระทั่งโทษตัวเองในเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัว เขาบอกว่าการทำอย่างนั้นจะทำร้ายระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ซึ่งมีงานวิจัยมากมายที่พิสูจน์ในเรื่องนี้ ส่วนวิธีแก้ก็คือ การให้อภัยซึ่งกันและกัน ซึ่งผลดีก็คือ มันจะไปสร้างเสริมภูมิคุ้มกันในร่างกายให้แข็งแรงที่จะสู้กับเชื้อโรคร้ายที่เข้ามาในร่างกายของเรา

เคน วิลเบอร์ ยังเน้นอีกเรื่องหนึ่งคือ ความรู้สึกขอบคุณ เขายกตัวอย่างการทดลองหนึ่งที่ให้ผู้ทดลองเขียนรายการของสิ่งที่รู้สึกขอบคุณในวันนี้สักสามรายการก่อนนอน ทำติดต่อกันหนึ่งสัปดาห์ ระดับฮอร์โมนที่เกี่ยวกับความสุขจะขึ้นมาถึง 20-30% และจะคงอยู่ต่อไปอีกถึง 6 เดือน หลังการทำการทดลอง เขาอธิบายว่าที่เป็นอย่างนั้น เพราะสมองมนุษย์ไม่คุ้นชินกับการคิดเรื่องขอบคุณคนอื่น ส่วนใหญ่เราอยู่แต่ในโหมดเอาตัวรอด

Advertisement

ดังนั้นจึงต้องฝึกวินัยใหม่เพื่อทะลุเข้าสู่ระดับจิตสำนึกแบบใหม่ที่สูงขึ้น

ส่วน แอ็คฮาร์ท โทลลี คุรุทางจิตวิญญาณซึ่งหนังสือของเขา พลังแห่งจิตปัจจุบัน เป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดี และได้รับการแปลไปถึง 33 ภาษาทั่วโลก การไลฟ์สดล่าสุดเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด เขายกหัวข้อธรรม มัทธิว 7:24 ใน คัมภีร์ไบเบิล มากล่าวซึ่งมีใจความว่า

“เหตุฉะนั้นผู้ใดที่ได้ยินคำเหล่านี้ของเรา และประพฤติตาม เขาก็เปรียบเสมือนผู้ที่มีสติปัญญา สร้างเรือนของตนไว้บนศิลา ฝนก็ตกและน้ำก็ไหลเชี่ยว ลมก็พัดปะทะเรือนนั้น แต่เรือนมิได้พังลง เพราะว่ารากตั้งอยู่บนศิลา”

ซึ่งเขาอธิบายไว้น่าสนใจว่า “เรือน” ในที่นี้ก็คือสภาวะจิตของเรานั่นเอง ส่วนลมฝนกับน้ำก็คือเรื่องราวที่เข้ามากระทบจิตใจในช่วงการระบาดของโรค โทลลีชี้ให้เห็นว่า ในวิกฤตมีโอกาส เพราะมันบังคับให้เราออกจากพื้นที่ปลอดภัย และต้องวิวัฒน์จิตของเราให้ไปสู่ระดับที่ลึกขึ้นกว่าเดิม เพราะมิฉะนั้นก็จะเปรียบเหมือนการสร้างบ้านบนทรายที่ง่อนแง่นและสั่นไหวเมื่อเผชิญกับปัญหา เขาเปรียบเทียบการสร้างบ้านบนผืนทรายว่าเป็นการเอาจิตใจไปจับอยู่กับความคิด ความคิดที่ลากเราไปในอนาคต ซึ่งมีแต่จะสร้างความวิตกกังวลต่อสิ่งที่จับต้องไม่ได้และยังมาไม่ถึง

กูรูผู้มีชื่อเสียงอีกท่านหนึ่งคือ ดีพัค โชปรา เมื่อถูกสัมภาษณ์ก็กล่าวคล้ายๆ กัน ว่าวิธีรับมือต่อสถานการณ์โควิดที่ทำให้เราวิตกกังวลก็คือ การกลับมาที่ลมหายใจ หรือความรู้สึกตัวในร่างกาย เขาอธิบายว่า เป็นเพราะว่าความคิดและอารมณ์ความรู้สึกมันเป็นวงจรที่เชื่อมโยงซึ่งกันและกัน ดังนั้นวิธีการก็คือ ให้ย้ายกลับมาสังเกตที่ความรู้สึกในร่างกาย เพื่อตัดวงจรความคิดที่จะนำไปสู่เรื่องราวที่ทำให้เราวิตกกังวล

ส่วน ท่านทะไล ลามะ กล่าวในวาระครบรอบ 50 ปี ของวันเอิร์ธเดย์ว่า การแพร่ระบาดของไวรัสครั้งนี้ คือการสอนบทเรียนให้กับมนุษยชาติ และพวกเราทุกคนจะต้องกลับมาให้ความสำคัญกับสิ่งที่เรียกว่า “ความการุณย์อันแผ่ไพศาล” หมายถึงต้องกลับมาเผื่อแผ่ความเมตตาและแบ่งปันความกรุณาให้กับมนุษย์ทุกผู้ทุกนามโดยไม่แบ่งแยกชาติพันธุ์ วัฒนธรรม หรือเพศ แต่ขอให้มนุษยชาติทั้งผองรวมใจกันเป็นหนึ่งเดียว เพื่อแบ่งปันช่วยเหลือกันให้ผ่านความทุกข์ยากนี้ไปพร้อมกัน

ซึ่งเราจะเห็นว่าเป็นเรื่องเดียวกับสิ่งที่ เคน วิลเบอร์ ได้กล่าวไว้แล้วนั่นเอง แต่ในระดับที่เป็นสากลมากกว่า

ผมขอกลับมาที่ วิลเบอร์ อีกครั้ง เขาได้ยกตัวอย่างเรื่องผู้หญิงคนหนึ่งที่เป็นมะเร็ง ผู้หญิงคนนี้แน่นอนว่าจะต้องประสบความทุกข์ยากแสนสาหัสจากความเจ็บป่วย แต่เธอได้กล่าวว่าความเจ็บป่วยนี้ได้มอบประสบการณ์บางอย่างที่มีค่ากับเธอด้วยเช่นกัน เธอบอกว่าเธออาจจะเลือกมองความเจ็บป่วยว่าเป็นโชคร้าย แต่เธอกลับรู้สึกขอบคุณโรคมะเร็งของเธอ เพราะมันทำให้เธอรู้ว่าคนเรามีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันก็คือ ความเจ็บป่วย และความตาย “เมื่อฉันป่วย ทำให้ฉันได้รับรู้ถึงความเชื่อมโยงของฉันที่มีต่อมนุษย์คนอื่นๆ ที่เจ็บป่วยได้เหมือนกับฉันเช่นกัน”

และ ณ จุดนี้เองที่วิลเบอร์บอกว่า ระดับจิตของเธอได้ถูกยกให้สูงข้ามเลเวลไปอีกหนึ่งขั้น เพราะเธอหมกมุ่นอยู่กับตัวเองน้อยลง และวิวัฒน์จิตไปสู่จิตที่กว้างขวางขึ้น แต่ในฐานะที่ผมศึกษาเคน วิลเบอร์ ก็อยากเสริมให้ผู้อ่านทราบเรื่องสำคัญที่เป็นหลักการของวิลเบอร์ ซึ่งก็คือ “pre/trans fallacy” หมายถึงเรามักจะมองสลับกันระหว่างพฤติกรรมที่ข้ามพ้นไปกับพฤติกรรมก่อนข้ามพ้น

ผมขอยกตัวอย่างเรื่อง “ตู้ปันสุข” ที่เป็นประเด็นในขณะนี้ บางคนให้ของไปแล้วก็ยังต้องเอากล้องวงจรปิดไปติดตั้งว่าใครจะมาเอาของไปทีละมากๆ หรือเปล่า อันนี้เป็นจิตที่ติดอยู่ในระดับ “ก่อน” ข้ามพ้น เพราะดูเหมือนทำเพื่อความการุณย์อันไพศาล แต่แท้จริงแล้วทำเพื่อสนองความต้องการของอีโก้ตนเอง หรือเรียกว่า “อาการเห่อบุญ” ส่วนการ “ข้ามพ้น” ที่แท้ ก็คือการให้โดยไม่ได้คำนึงว่าใครบ้างจะเอาไป หรือเอาไปใช้ทำอะไรบ้าง ซึ่งการให้ในแบบหลังนั้นทำได้ยากกว่า ดังนั้นจึงไม่ได้สำคัญว่าให้เท่าไร แต่ให้อย่างไร ด้วยระดับจิตระดับไหนด้วย

การดำรงอยู่ในสภาวะโควิดก็เช่นกัน ถึงแม้เราต้องแยกห่างทางกายภาพกับผู้คน แต่อย่างที่กูรูทั้งหลายแนะนำมาแล้วการเผื่อแผ่ความกรุณา รู้จักให้อภัย และขอบคุณในสิ่งที่คนอื่นทำให้เรา และลดละการโทษผู้อื่นในช่วงนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก และอาจจะมากกว่าช่วงเวลาปกติ ในขณะเดียวกันนี่ก็เป็นโอกาสสำหรับฝึกจิตใจในชีวิตประจำวัน ด้วยการกลับมารู้สึกตัว และไม่ปล่อยให้วิ่งวุ่นไปติดตามเรื่องราวความคิด ซึ่งจะก่อให้เกิดความวิตกกังวลตามมา เพื่อที่เราจะได้ผ่านเหตุการณ์ครั้งนี้ไปได้ด้วยความตื่นรู้และเติบโตไปด้วยกัน

ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
www.thaissf.org, twitter.com/jitwiwat

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image